เมื่อเอ่ยถึงคำว่า “เบาหวาน” หลายคนคิดว่า ชีวิตนี้คงแย่แล้ว จะหาความสุขไม่ได้ ต้องยุ่งยากในเรื่องอาหารการกิน ไม่สามารถกินของอร่อยได้
ที่จริงแล้ว คนเป็นเบาหวานยังคงมีความสุขได้เหมือนคนอื่นๆ ทั่วไป ถ้ามีความเข้าใจในเรื่องโรค รู้จักเลือกกินอาหาร และมีวินัยในการดูแลตนเอง
• มารู้จักโรคเบาหวาน
เบาหวานคือการที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ หลายคนเชื่อว่า เป็นเพราะจากการกินน้ำตาลมากเกินไป ความจริงตัวน้ำตาลเอง มิได้เป็นสาเหตุโดยตรงของโรคเบาหวาน แต่การกินน้ำตาลมากเกินไป เป็นผลทำให้เกิดความอ้วน และนำมาซึ่งโรคเบาหวานได้
ที่จริงแล้ว โรคเบาหวานเกิดจากการทำงานของต่อมไร้ท่อในตับอ่อนผลิตสารที่เรียกว่า “อินซูลิน” ออกมาน้อยกว่าปกติ ไม่พอกับการเผาผลาญน้ำตาลในเลือด หรืออีกกรณีหนึ่ง ตับอ่อนยังทำงานดี แต่อินซูลินลดความสามารถที่จะชักนำให้น้ำตาลผ่านเข้าไปในเซลล์ เมื่อเซลล์ได้รับน้ำตาลขาดๆ หายๆ ก็จะเกิดอาการขาดพลังงาน ร่างกายจึงเสื่อมโทรม อ่อนเปลี้ยเพลียแรง
• กินอาหาร - กลายเป็นน้ำตาล -
ไม่เข้าสู่เซลล์ - น้ำตาลคั่งในเลือด - เบาหวาน
จะเห็นได้ว่า การเป็นเบาหวานคือการบกพร่องของการควบคุมระดับน้ำตาลภายในร่างกาย ดังนั้น การควบคุมจากภายนอกโดยการกินอาหารให้ถูกสัดส่วน และไม่มากเกินความต้องการของร่างกาย จึงมีความสำคัญในการควบคุมโรคเบาหวาน
ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นมักไม่มีอาการแสดงให้เห็น ดังนั้น การเจาะเลือดตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำจึงเป็นสิ่งจำเป็น และการดูแลไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไปมีความสำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้แก่ การเสื่อมของหลอดเลือดในร่างกาย เช่น ในส่วนของตา ทำให้เบาหวานขึ้นตา การเสื่อมของหลอดเลือดที่ไต มีผลทำให้ไตเสื่อมสมรรถภาพจนถึงไตวายเรื้อรัง การเป็นแผลไม่หายนำไปสู่การตัดขา
นอกจากนี้ ยังมีผลต่อหลอดเลือดสมอง ทำให้ตีบตัน เกิดอาการอัมพาตหรืออัมพฤกษ์ หลอดเลือดหัวใจตีบ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูง ปลายประสาทเสื่อมทำให้มือและเท้าชา
เบาหวานมีหลายประเภท เป็นได้ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นชนิดไหน ก็ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมได้
สูตรสำคัญในการที่จะควบคุมเบาหวานได้ คือ การควบคุมอาหาร การออกกำลังกายสม่ำเสมอ ใช้ยาตามแพทย์กำหนด และตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ
การควบคุมโรคที่ดี หมายถึงการควบคุมระดับน้ำตาล ระดับไขมัน และความดันโลหิตให้ได้ตลอดเวลา
คนไข้เบาหวานหลายคนเข้าใจว่า เมื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารครั้งใดแล้ว อยู่ในระดับปกติ แปลว่าหายจากเบาหวานแล้ว สามารถกินได้ตามใจปาก แท้ที่จริงระดับน้ำตาลในเลือดที่ตรวจได้ เป็นระดับน้ำตาล ขณะที่เจาะเลือดเท่านั้น
หากคนใดพยายามคุมอาหารเฉพาะช่วงวันใกล้ๆ จะมาเจาะเลือด ระดับน้ำตาลที่เจาะได้ก็จะดีกว่าความเป็นจริง ถ้าจะให้ดีควรมีการเจาะเลือดด้วยตนเองที่บ้านเป็นประจำ ก่อนและหลังอาหาร เพื่อช่วยให้เรียนรู้ถึงการตอบสนองของระดับน้ำตาลในเลือดต่ออาหารแต่ละชนิดที่กิน และทำให้สามารถหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้น้ำตาลขึ้นสูงได้อย่างถูกต้อง
• รู้จักกิน ควบคุมเบาหวานได้
หัวใจสำคัญของการควบคุมเบาหวาน คือ การกินอาหารให้พอดีกับความต้องการของร่างกายไม่มากหรือน้อยเกินไป
การกินมากเกินไปจะทำให้น้ำตาลขึ้นสูงหรือขึ้นเร็วเกินไป ในขณะเดียวกันถ้ากินน้อยเกินไปอาจทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปจนเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนเป็นเบาหวานที่มีการฉีดอินซูลิน
ที่จริงแล้วหลักการกินอาหารสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน ก็ไม่แตกต่างจากหลักการกิน เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีของคนทั่วไป คือ การกินอาหารให้ครบทุกหมวดหมู่ให้ถูกสัดส่วน ปริมาณพอเหมาะ และมีความหลากหลาย
• ในหมวดข้าว แป้ง ซึ่งเป็นอาหารหลัก ที่ให้พลังงานกับร่างกาย คนเป็นเบาหวาน ควรเลือกกินข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีท หรือแป้งที่ไม่ขัดสีมากกว่าข้าวขาว เพราะร่างการย่อยและดูดซึมได้ช้ากว่าระดับน้ำตาลในเลือด จึงไม่ขึ้นสูงเร็ว
ที่สำคัญต้องระวังปริมาณที่กินอย่าให้มากเกินไป โดยทั่วไปไม่ควรเกินมื้อละ 2-3 ทัพพี ยกเว้นในคนที่ทำงานหนักต้องใช้แรงมาก หรือเล่นกีฬาอาจต้องการมากขึ้น
• คนเป็นเบาหวานควรเน้นการกินผักให้มากขึ้น ผักส่วนใหญ่มีใยอาหารสูง จึงช่วยให้กระบวนการย่อยและการดูดซึมเกิดขึ้นช้าๆ ร่างกายดูดซึมน้ำตาลไปใช้ได้ดีขึ้น จึงไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง นอกจากนี้อาหารที่มีใยอาหารสูงทำให้อิ่มท้อง กินอาหารได้น้อยลง จึงช่วยในการลดน้ำหนัก ส่งผลให้การทำงานของอินซูลินดีขึ้น จึงช่วยลดความรุนแรงของโรคเบาหวานลงได้
โดยปกติควรกินผักต่างๆ ให้ได้อย่างน้อยวันละ 5-6 ทัพพี ถ้าเป็นผักสด ลวก หรือต้ม จะดีกว่าการนำผักไปผัดหรือทอด เพราะอาจทำให้ได้ไขมันมากเกินไป
• คนเป็นเบาหวานกินผลไม้ได้ แต่ต้องระวังปริมาณ ไม่ให้มากเกินไป ไม่ควรกินผลไม้รสหวานจัด และไม่ควรกินครั้งละมากกว่า 1 ส่วน สามารถกินได้วันละ 3-4 ครั้ง หลังอาหารหรือเป็นอาหารว่าง ปริมาณผลไม้ 1 ส่วน จะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับขนาด ความหวานหรือปริมาณคาร์โบไฮเดรต ซึ่งพอจะกะประมาณได้ ดังนี้
- ผลไม้ผลเล็ก 1 ส่วน = 5-8 ผล เช่น ลำไย ลองกอง องุ่น
- ผลไม้ผลกลาง 1 ส่วน = 1-2 ผล เช่น ส้ม ชมพู่ กล้วย
- ผลไม้ผลใหญ่ 1 ส่วน = 1/2 ผล เช่น มะม่วง ฝรั่ง
- ผลไม้ผลใหญ่มาก 1 ส่วน = 6-8 ชิ้นพอคำ เช่น มะละกอ สับปะรด แตงโม
• อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ คนเป็นเบาหวานต้องการไม่แตกต่างไปจากคนปกติ คือวันละประมาณ 6 ถึง 9 ช้อนโต๊ะ ยกเว้นคนที่มีปัญหาเรื่องไตร่วมด้วย ควรลดปริมาณลง เนื้อสัตว์ที่กินควรเป็นชนิดที่มีไขมันน้อย
• สำหรับนม ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องการย่อยนม ควรดื่มนมจืดพร่องมันเนยหรือไม่มีไขมันวันละ 1 แก้ว ควรหลีกเลี่ยงนมปรุงแต่งรสหรือนมเปรี้ยวทุกชนิด เพราะนมเหล่านี้มีการเติมน้ำตาลเพิ่มมากกว่าที่มีอยู่ในนมตามธรรมชาติ ทำให้การควบคุมเบาหวานยากขึ้น
• คนเป็นเบาหวานควรหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์ และระวังไม่ใช้น้ำมันในการประกอบอาหารมากเกินไป การลดอาหารไขมันจะช่วยควบคุมน้ำหนักตัว ทำให้อินซูลินทำงานดีขึ้น จึงควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ ยังควรลดอาหารเค็ม เพื่อป้องกันความดันโลหิตสูงและไตเสื่อม
และหลีกเลี่ยงการกินขนมหวานหรือการใช้น้ำตาลในการปรุงอาหารโดยไม่จำเป็น ถ้าอยากกินขนมหวานควรลดข้าวในมื้อนั้นลง และกินผักให้มาก หรืออาจใช้น้ำตาลเทียมแทนก็ได้
• ปริมาณอาหารที่กินมีส่วนสำคัญต่อการควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันอย่างมาก ฉะนั้น ควรกินแต่พออิ่ม และหมั่นชั่งน้ำหนักตัวเป็นระยะ ระวังไม่ให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ถ้าน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นแสดงว่ากินมากเกิน หรือกินไม่ถูกสัดส่วน ควรลดปริมาณอาหารที่กินลงอีก
แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีน้ำหนักอยู่แล้ว การที่น้ำหนักค่อยๆ ลดลง และเรารู้สึกสบายดี ก็ถือว่าปริมาณอาหารที่กินนั้นเหมาะสม
ถ้าไม่แน่ใจว่ากินได้ถูกต้อง คนเป็นเบาหวานอาจปรึกษานักกำหนดอาหารหรือนักโภชนาการ เพื่อเรียนรู้ชนิดและปริมาณอาหารที่เหมาะสม
• การกินอาหารเป็นเวลา เป็นเรื่องสำคัญต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ คนเป็นเบาหวานจึงควรกินอาหารวันละ 3 มื้อ (ยกเว้นผู้เป็นเบาหวานที่ฉีดอินซูลิน อาจต้องกินอาหารว่างตอนบ่าย หรือก่อนนอนด้วย) หลีกเลี่ยงการกินจุบจิบ หรือการงดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง
• นอกจากนี้ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่หักโหมจนเกินไป การฝึกใจให้ร่าเริง หลีกเลี่ยงความเครียดหรือวิตกกังวล งดเหล้า เบียร์ ไวน์ ยาดองเหล้า เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
จะเห็นได้ว่า ผู้เป็นเบาหวานคือผู้ที่สำคัญที่สุดในการควบคุมโรคไม่ให้รุนแรง หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น โดยการปฏิบัติตนให้เหมาะสมทั้งในเรื่องของการกินอาหารและการออกกำลังกาย
ส่วนแพทย์ พยาบาล นักโภชนาการหรือนักกำหนดอาหาร เป็นเพียงผู้สนับสนุนหรือผู้คอยดูแลช่วยเหลือในการให้ข้อมูลหรือคำแนะนำที่ถูกต้องเท่านั้น
• อาการหรือสัญญาณเตือน “โรคเบาหวาน”
ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำมาก ดื่มน้ำบ่อยๆ หิวบ่อย หรือกินจุ น้ำหนักลด อ่อนเพลีย
อาการอื่นๆที่อาจเกิด ได้แก่ แผลหายช้า คันตามผิวหนัง ขาดสมาธิ อาเจียน ปวดท้อง ชาปลายมือปลายเท้า
สำหรับในเด็ก สามารถสังเกตสัญญาณเตือนต่อการเกิดโรคเบาหวานได้ เช่น เด็กอ้วน มีปื้นดำที่คอหรือใต้รักแร้
• ตรวจหาระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด
ถ้าตรวจเมื่อเวลาใดๆ ก็ตาม มีน้ำตาล 200 ม.ก.% หรือมากกว่า (> 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร)
ตรวจน้ำตาลในเลือด เมื่ออดอาหารไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง มีน้ำตาล 126 ม.ก.% หรือมากกว่า (> 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) วินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคเบาหวาน
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 132 พฤศจิกายน - ธันวาคม 2554 โดย ผศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล)