xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวสารผ่านโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฮ่องกง : สร้าง เจ้าแม่กวนอิม สูงสุดในโลก
ฮ่องกงสร้าง "เจ้าแม่กวนอิม" สูงสุดในโลก

• ฮ่องกง : กลุ่มพุทธศาสนิกชน ที่ดูแลการก่อสร้างรูปหล่อทองสัมฤทธิ์ พระโพธิสัตว์กวนอิมที่สูงที่สุดในโลก ซึ่งประดิษฐานภายในบริเวณวัดซิชานในเขตไทโปของฮ่องกง กล่าวว่า วัดนี้เป็นสถานที่ที่ไม่แสวงหากำไร และส่งเสริมพุทธศาสนาแก่สาธารณชนทั่วไป

พระซิก กวอก กวอง ประธานคณะกรรมการบริหารวัดซิชาน จำกัด ประธานสมาคมพุทธฮ่องกง และเป็น 1 ใน 8 พระเถระที่เข้าร่วมประชุมพุทธศาสนิกชนครั้งใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อปี 2004 กล่าวว่า ภายในวัดจะไม่มีที่ฝังศพ และไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของโครงการนี้โดยเฉพาะ ข้อกล่าวหาที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ภาษาจีน “แอปเปิล เดลี่” ว่า วัดนี้สร้างขึ้นเพื่อนายลี กาชิง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บริจาคเงินแก่ทางวัดนั้น มีวาระซ่อนเร้น ข้อกล่าวหานี้นำความเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงมาสู่วัดซิชานและนายลี กาชิง และทางวัดขอสงวนสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ ดังกล่าว

ตามรายงานระบุว่า นายลี กาชิง ประธานบริษัทเชืองกง โฮลดิ้ง และนายวิกเตอร์ ลี บุตรชายคนโต ได้ร่วมกันเปิดบริษัทชื่อ “วัดซิชาน จำกัด” และสั่งการลับให้สร้างวัดขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ฝังศพ นายลี กาชิง ภายหลังจากเสียชีวิต โดยอาศัยข้อกฎหมายที่ไม่ต้องเปิดวัดให้เป็นที่สาธารณะ

นายลี กาชิง ซึ่งเป็นนักธุรกิจที่ร่ำรวยที่สุดในฮ่องกง พร้อมสมาชิกในครอบครัว และผู้จัดการ 3 คนจากบริษัทเชืองกง มีรายชื่ออยู่ในคณะกรรมการบริหารบริษัทฯ ที่ตั้งขึ้นในปี 2009

โครงการก่อสร้างวัดเกิดขึ้นในปี 2003 หลังจากได้รับเงินบริจาคจากนายลี กาชิง และ มูลนิธิการกุศลของเขา เป็นจำนวน 1,000 ล้านเหรียญฮ่องกง (ราว 4,000 ล้านบาท) มีรูปหล่อทองสัมฤทธิ์พระโพธิสัตว์กวนอิมสูง 76 เมตร ซึ่งสูงที่สุดในโลก ประดิษฐานภายในบริเวณวัดซึ่งมี เนื้อที่ 50,000 ตารางฟุต ด้านหน้าของวัดเป็นอ่าวพลัฟเวอร์ ส่วนด้านหลัง เป็นเทือกเขาพัต ซิน เล็ง ซึ่งตามหลักฮวงจุ้ยถือว่านำโชคดีมาสู่คนที่อาศัยภายในวัด

คาดว่าเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2013 จะกลายเป็นจุดท่องเที่ยว เช่นเดียวกับหลวงพ่อโตแห่งเกาะลันเตา

(จาก Mingkok)

โปแลนด์แปลหนังสือนิทานชาดก

• โปแลนด์ : โปแลนด์เป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก แต่เมื่อไม่นานมานี้ ความสนใจในวรรณกรรมพุทธศาสนาได้เพิ่มมากขึ้น โดยมาจากสาเหตุ 2 ประการ คือ หนึ่ง ความนิยมศรัทธาอย่างล้นหลามในองค์ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณแห่งทิเบต ซึ่งเสด็จเยือนโปแลนด์ถึง 4 ครั้งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และสอง การแปลวรรณกรรมทางพุทธศาสนาเป็นภาษาโปลิช

หนึ่งในนักแปลแถวหน้าคือ “จานุส ไครโซสกี” ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เขาได้แปลวรรณกรรมพุทธศาสนาที่สำคัญ 5 เรื่อง โดยเล่มล่าสุดคือ “Girlanda Dzatak” (นิทานชาดก) เปิดตัวเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

“โมนิกา กาปิลา โมห์ตา” เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศโปแลนด์ ซึ่งได้ไปในงานเปิดตัวหนังสือ พร้อมด้วยบุคคลผู้มีชื่อเสียงทางวรรณกรรมทั้งของโปแลนด์และอินเดีย กล่าวว่า

“นับเป็นคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อพุทธศาสนาและอารยธรรม อินเดีย ที่ “จานุส” ได้ใช้ความพยายามอย่างสูง เพื่อสร้างสรรค์งานที่มีเอกลักษณ์ออกสู่สายตาชาวโปลิช

ปัจจุบัน เป็นยุคของวัฒนธรรมข้ามชาติ การเข้าใจหลักปรัชญาซึ่งกันและกัน เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษยชาติ หนังสือเล่มนี้จะเป็นสะพานเชื่อมเพิ่มความเข้าใจในระดับสากลให้มากยิ่งขึ้น ตอนนี้นับเป็นเวลาที่ดี ที่ควรตีพิมพ์หนังสือแปลทางวรรณกรรมประวัติศาสตร์ และหลักปรัชญาของกันและกันเป็นภาษาต่างๆ”

“โบกัสลอว์ ซาครูสกี” นักแปลชั้นนำ ซึ่งในช่วงกลางยุคปี 70 เคยเป็นเอกอัครราชทูตโปแลนด์ประจำประเทศไทย และขณะดำรงตำแหน่ง ได้ศึกษาวรรณกรรมทางพุทธศาสนา กล่าวเสริมว่า “นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้อ่านวรรณกรรมแปลชิ้นเอกของทางตะวันออก งานแปลของ “จานุส” ได้เปิดประตูกว้างขึ้น ให้เราได้เข้าใจข้อแตกต่างเล็กๆน้อยๆของเนื้อหาวรรณกรรมโบราณ”

(จาก IANS)

เวียดนามเตรียมบูรณะวิทยาลัยสงฆ์โบราณ

• เวียดนาม : เมื่อเร็วๆนี้ มีการประชุมเรื่อง การบูรณะวิทยาลัยสงฆ์ด่งเซือง ในจังหวัดกว๋าง นัม ที่อยู่ทางตอนกลางของเวียดนาม ซึ่งเป็นมรดกแห่งชาติ ให้กลับมางดงามเฉกเช่นในอดีต

วิทยาลัยสงฆ์ด่งเซือง ซึ่งตั้งอยู่ในป่าทึบ เคยเป็นหนึ่งในศูนย์การศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม หอสูงซังซึ่งใกล้จะพังทลายลง เป็นหนึ่งในซากปรักหักพังที่ยังคงเหลืออยู่ โดยมีเพียงเสาไม้ค้ำยันไว้

เหงียน เทือง ฮี ช่างผู้ชำนาญงานอนุรักษ์ของจังหวัด เกรงว่าหอสูงซังจะไม่อาจทนทานต่อฝนที่ตกหนักได้ ส่วน ฮวง เดา ขิ่ง สถาปนิกผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้บอกว่า สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนที่สุด คือ พยายามไม่ให้มันพังทลายลง ยิ่งบูรณะให้คงสภาพเดิมได้เท่าไหร่ ยิ่งง่ายที่จะได้รับการยอมรับให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเท่านั้น

ตรัน มิ่ง กา รองประธานคณะกรรมการจังหวัดภาคประชาชน กล่าวว่า จะมีการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เพื่ออนุรักษ์และบูรณะวิทยาลัย สงฆ์ด่งเซือง ให้กลับมาเป็นสถานที่สำคัญทางจิตวิญญาณและวัฒนธรรม อีกครั้ง

ทั้งนี้ วิทยาลัยสงฆ์ด่งเซืองสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 ในปีค.ศ.875 เพื่อเป็นศูนย์กลางของนครอินทรปุระ เมืองหลวงของอาณาจักรโบราณจามปา ปัจจุบันอยู่ในชุมชนบิ่ญดิ่ญบั๊ก ของจังหวัดกว๋างนัม

ในปี 1902 เอช ปาร์มองติเอร์ สถาปนิกและนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส เป็นคนแรกที่ขุดพบศาสนสถานแห่งนี้ ซึ่งมีทั้งปราสาทและรูปสลักและงานประติมากรรมอันทรงคุณค่า ปราสาทหลักและหอสูงที่เรียงจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก มีความยาว 1,300 เมตร โดยปราสาทหลักตั้งอยู่ในบริเวณมุมฉาก ยาว 326 เมตร กว้าง 155 เมตร

ปัจจุบัน รูปสลักและงานประติมากรรมส่วนใหญ่ ถูกนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ ดานัง ซึ่งเก็บรักษางานประติมากรรมของอาณาจักรจามปา และโบราณวัตถุในศาสนาพุทธนิกายมหายานและศาสนาฮินดูในช่วงหลังศตวรรษที่ 9

กระทรวงวัฒนธรรมของเวียดนาม เล็งเห็นคุณค่าทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ จึงขึ้นทะเบียนวิทยาลัยสงฆ์ด่งเซืองเป็นมรดกแห่งชาติเมื่อวันที่ 21 กันยายน ปี 2000

(จาก VNS)

มูลนิธิโฮบริจาค 75 ล้านบาท จัดตั้งคณะทำงานพุทธศึกษา

• สหรัฐอเมริกา : เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มูลนิธิครอบครัว โรเบิร์ต เอช เอ็น โฮ ได้บริจาคเงิน 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 75 ล้านบาท) เพื่อจัดตั้งคณะทำงานด้านพุทธศาสนศึกษา ที่ศูนย์โรเบิร์ต โฮ เพื่อพุทธศาสนศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

เมื่อรวมกับเงินบริจาคจำนวนเท่ากันจากมูลนิธิวิลเลียมและฟลอร่า ฮิวเลตต์ เงินทั้งหมดจะถูกนำไปจัดตั้งคณาจารย์ชุดแรก ที่จะอุทิศตนทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้

โดยมุ่งที่จะขยายขอบข่ายงานของศูนย์โฮฯ ซึ่งก่อตั้งในปี 2008 และปรับปรุงด้านวิชาการทางพุทธศาสนา โดยจะเน้นพุทธศาสนาแบบจีน นอกจากนี้เงินบริจาคยังนำไปใช้ในด้านกิจกรรมของผู้สำเร็จการศึกษาสาขาพุทธศาสนศึกษา ใช้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และการจัดงานสาธารณะ

คาร์ล บีลเลอเฟลด์ ผู้อำนวยการร่วมของศูนย์โฮและศาสตราจารย์ด้านศาสนศึกษา เปิดเผยว่า

“ศูนย์โฮเพื่อพุทธศาสนศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด รู้สึกซาบซึ้งที่มูลนิธิฯให้ความช่วยเหลือมาโดยตลอด คณะทำงานนี้จะอุทิศตนทำงานเพื่อรับประกันว่า การศึกษาทางด้านพุทธศาสนา จะยังคงดำเนินต่อไปในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ และยังประโยชน์แก่ศูนย์โฮฯ”

ทั้งนี้ มูลนิธิฯได้เคยบริจาคเงินให้มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดครั้งแรก ในปี 2008 เป็นจำนวน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 150 ล้านบาท) เพื่อใช้ก่อตั้งศูนย์โฮ เพื่อสนับสนุนการวิจัยทางวิชาการด้านพุทธศาสนา และเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับรู้

อีกทั้งมูลนิธิฯยังได้ประกาศว่า จะบริจาคเงิน 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 80 ล้านบาท) ให้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เพื่อช่วยเหลือนักศึกษาปริญญาโทของคณะศาสนศึกษา ที่ต้องการศึกษาต่อด้านพุทธศาสนา

อนึ่ง มูลนิธิครอบครัวโรเบิร์ต เอช เอ็น โฮ ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลเอกชนของฮ่องกง มุ่งมั่นให้การส่งเสริมและสนับสนุนศิลปะและวัฒนธรรมจีน อีกทั้งส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างลึกซึ้ง เพื่อนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

(จาก Stanford Daily)

เวียดนามเฉลิมฉลองพระนอนใหญ่สุด

• เวียดนาม : เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา หมู่บ้านตรินฟวก หมู่บ้านบิ่ญฟวก ที่อยู่ในเขตมังติท จังหวัดหวิงลอง และพระติช เกี๊ยก พระสงฆ์ที่มาจากทิเบต ได้เข้าร่วม พิธีเฉลิมฉลองพระพุทธรูปปางไสยาสน์ความยาว 12 เมตร ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดหวิงลอง ซึ่งประดิษฐานภายในวัดลองบิ่ง

โดยในพิธีดังกล่าวมีพระติช ตัม ฮุย ผู้แทนคณะกรรมการบริหารพุทธศาสนาของจังหวัดหวิงลอง และบรรดาผู้แทนทั้งพระสงฆ์ แม่ชี พุทธศาสนิกชน จากจังหวัดอื่นๆ เข้าร่วมงาน

(จาก giacngo.vn)

ศูนย์เซนซานฟรานซิสโก จัดพิธีไว้อาลัย "สตีฟ จอบส์"

• สหรัฐอเมริกา : ไม่เพียงแต่ร้านแอปเปิลทั่วสหรัฐอเมริกาที่มีคนจำนวนมากพากันมาแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของ “สตีฟ จอบส์” ในวัย 56 ปี ด้วยโรคมะเร็งตับอ่อน เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2011 แต่การจากไปอย่างไม่มีวันกลับของเขา นำมาซึ่งความเศร้าโศกเสียใจในหมู่ชุมชนชาวพุทธทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนียด้วย ดังนั้น ศูนย์เซนใน ซาน ฟรานซิสโก จึงได้จัดพิธีไว้อาลัยเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อเป็นเกียรติแด่อัจฉริยะบุคคลทางไอทีผู้ยิ่งใหญ่

ในพิธีมีการสวดมนต์แบบเซนให้ผู้เสียชีวิต และมีการกล่าวคำไว้อาลัยเป็นภาษาอังกฤษ มีใจความว่า

“แด่ สตีฟ จอบส์ เพื่อนผู้ยิ่งใหญ่ของเราตลอดกาล และแด่ผู้เสียชีวิตทั้งหลายที่ก้าวผ่านชีวิตนี้ เข้าสู่หัวใจของพระพุทธศาสนาแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

สตีฟ จอบส์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแอปเปิล คอมพิวเตอร์ เป็นพุทธศาสนิกชน นิกายเซน งานแต่งงานของเขาในปี 1991 มีพระอาจารย์โกบุน ชิโนะ โอโตกาวะ เป็นประธานในพิธี

(จาก TMZ STAFF)

เตรียมออกนิยายภาพ "เซนของสตีฟ จอบส์"

• สหรัฐอเมริกา : บริษัท ครีเอทีฟ “เจสส์ 3” และบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์ “ฟอบส์” แห่งสหรัฐอเมริกา เตรียมนำนิยายภาพเรื่อง “The Zen of Steve Jobs” หรือ “เซนของสตีฟ จอบส์” อดีตซีอีโอค่ายแอปเปิลผู้ล่วงลับ ออกสู่ตลาดช่วงปลาย ปีนี้

เนื้อหาเป็นเรื่องเล่าจินตนาการขึ้นมาใหม่ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ ของจอบส์และพระโกบุน ชิโนะ โอโตกาวะ อดีตพระสงฆ์นิกาย โซโตะเซน ซึ่งเคยประจำที่ศูนย์เซนทัซซาจาราในช่วงเริ่มต้น ท่านเป็นผู้วางรากฐานเซนให้เป็นที่แพร่หลายทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ท่านมรณภาพในปี 2002

จอบส์ได้รู้จักท่านโกบุนช่วงปลายยุคปี 70 ขณะที่ท่านประจำอยู่ที่ศูนย์เซนไฮกุ เซนโดะ (ศูนย์เซนลอส อัลทอส) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย หลังจากนั้น ทั้งคู่ก็มีสัมพันธภาพอันดีงามต่อกันอีกนับ 10 ปี

แม้นิยายภาพเรื่องนี้ เป็นเพียงจินตนาการความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์และครู แต่มันช่วยให้ผู้อ่านได้มองเห็นการค้นหาของสตีฟ จอบส์ ในทางพุทธศาสนานิกายเซน ซึ่งสื่อมวลชนหลักๆมักอ้างอิงเสมอเมื่อพูดถึงเขา แต่แทบจะไม่มีใครหยิบยกขึ้นมาอภิปรายกัน

นิยายภาพเรื่องนี้มีทั้งหมด 60 หน้า จะออกเป็นรูปแบบหนังสือดิจิตอลในปลายปีนี้ และจะนำตัวอย่าง 8 หน้า ตีพิมพ์ในนิตยสารฟอบส์ 400 ฉบับที่จะออกในเร็วๆนี้

(จาก Forbes)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 132 พฤศจิกายน - ธันวาคม 2554 โดย เภตรา)
เวียดนาม : เตรียมบูรณะวิทยาลัยสงฆ์โบราณ
เวียดนาม : เตรียมบูรณะวิทยาลัยสงฆ์โบราณ
เวียดนาม : เฉลิมฉลองพระนอนที่ใหญ่ที่สุดในวัดลองบิ่ง
สหรัฐอเมริกา : ศูนย์เซนซานฟรานซิสโก จัดพิธีไว้อาลัย สตีฟ จอบส์
สหรัฐอเมริกา : เตรียมออกนิยายภาพ เซนของสตีฟ จอบส์
กำลังโหลดความคิดเห็น