xs
xsm
sm
md
lg

อบรมกรรมฐาน : อุปสมานุสสติขั้นวิมุตติ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สิ้นตัณหา

ในเบื้องต้นนี้ก็ขอเชิญชวนให้ระลึกถึงความสงบหรือธรรมเป็นเครื่องสงบอันเรียกว่า อุปสมานุสสติ ได้แสดงถึงความสงบหรือธรรมเป็นเครื่องสงบซึ่งมีได้ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติ มาโดยลำดับ และได้แสดงถึงลักษณะของความสงบมาโดยลำดับ ตั้งแต่ความถอน ความเมา กำจัดความกระหาย กำจัดอาลัย ตัดวัฏฏะ

วันนี้จะแสดงอีกลักษณะหนึ่งคือลักษณะที่เป็นความสิ้นไปแห่งตัณหา ความสงบในลักษณะนี้พิจารณาดูที่จิตใจ เมื่อสงบความดิ้นรนทะยานอยากปรารถนาต้องการก็ย่อมจะเห็นได้ชัด และทุกคนย่อมจะต้องดิ้นรนทะยานอยากปรารถนา ต้องการอย่างแรง อันบังเกิดขึ้นในจิตใจ เพื่อที่จะได้สิ่งที่อยากจะได้บ้าง เพื่อที่จะเป็นไปตามที่อยากจะเป็นบ้าง และเพื่อที่จะได้กำจัดสิ่งที่ไม่ต้อง การอยากได้หรือภาวะที่ไม่อยากจะเป็นให้สิ้นไปหมดไป และเมื่อความดิ้นรนทะยานอยากเช่นนั้นบังเกิดขึ้นจิตใจเป็นอย่างไร พิจารณาดูก็ย่อมจะเห็นได้

ทุกขเวทนาเพราะตัณหา

อันจิตใจที่ประกอบด้วยความดิ้นรนทะยานอยากดังกล่าวนั้น ย่อมมีความดิ้นรนมากบ้างน้อยบ้าง ถ้าหากว่าความอยากแรงก็ดิ้นรนแรง ถ้าหากว่าความอยากน้อยลงมาก็ดิ้นรนน้อยลงมา และความดิ้นรนทะยานอยากนั้น เมื่อสมปรารถนาก็ย่อมจะรู้สึกว่าเป็นความสุข เมื่อไม่สมปรารถนาก็ย่อมจะรู้สึกว่าเป็นความทุกข์

แต่ว่าอันความสมปรารถนานั้นก็ย่อมจะมีได้ในวิสัยที่จะพึงมีได้ ถ้าหากว่าไม่อยู่ในวิสัยที่จะพึงมีได้ ก็จะต้องพบกับความไม่สมปรารถนา เมื่อเป็นดังนี้ก็เป็นความทุกข์ เข้าในข้อที่ว่า “ปรารถนาไม่ได้สมหวังเป็นทุกข์”

และอันความปรารถนาดังกล่าวนี้ เมื่อจะสรุปลงแล้ว ก็สรุปได้ว่า ปรารถนาที่จะประจวบกับสิ่งที่เป็นที่รัก ที่จะให้สิ่งไม่เป็นที่รักพลัดพรากไป แต่ว่าเมื่อไปพบตรงกันข้าม คือไปประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก หรือไปพลัดพรากกับสิ่งที่เป็นที่รักเข้า ก็เป็นความปรารถนาไม่สมหวัง ซึ่งเป็นความทุกข์

และความทุกข์ดังกล่าวนี้ก็มีลักษณะเป็นความแห้งใจ คือใจแห้งผากลงไป ปราศจากความสดชื่นหรือความชื่นบาน เป็นความระทมใจ คร่ำครวญอยู่ในใจ เป็นความไม่สบายกาย เป็นความไม่สบายใจ เป็นความคับแค้นใจต่างๆ รวมความก็คือเป็นทุกขเวทนา ที่เป็นไปทางกายบ้าง ที่เป็นไปทางใจบ้าง แต่ส่วนสำคัญนั้นเป็นไปในทางใจน้อยหรือมากสุดแต่ว่าความปรารถนาน้อยหรือมากเพียงไร

และนอกจากนี้ความปรารถนาดังกล่าวนี้ เพื่อที่จะให้สมหวังย่อมเป็นเหตุให้ประกอบกรรมทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง แม้เป็นกรรมที่ชั่วเป็นกรรมที่ผิด อันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน เบียดเบียนผู้อื่น ให้เดือดร้อนมีประการต่างๆ จึงก่อให้เกิดอกุศลกรรมต่างๆ ขึ้นอีกส่วนหนึ่งด้วย

เพราะฉะนั้น ตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากปรารถนาต้องการ จึงเป็นความไม่สงบ เป็นความไม่สงบที่ปรากฏขึ้นในใจก่อน คือปรากฏอาการขึ้นเป็นความดิ้นรนทะยานอยากต่างๆ ดังกล่าว แล้วก็เป็นความไม่สงบ โดยเป็นทุกขเวทนา เพราะต้องเป็นทุกข์ มีโศกคือความแห้งใจเป็นต้นดังกล่าวแล้ว และยังเป็นความไม่สงบทางกายทางวาจาทางใจ ซึ่งเป็นไปทางกรรม คือการงานที่กระทำอีกด้วย จะต้องได้รับผลของกรรมนั้นเป็นความไม่สงบ เพราะเป็นความทุกข์ต่างๆ อีก

เพราะฉะนั้น บรรดาความไม่สงบทั้งหลายที่ทุกๆคนได้รับ จึงเนื่องมาจากตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากของใจนี้ และแม้ว่าจะได้รับความสมปรารถนาในสิ่งที่เป็นวิสัยอันทำให้ได้เสวยสุขเวทนา คือความรู้สึกเป็นสุขได้ ความพอใจ

แต่ว่าสุขและความพอใจดังกล่าวนั้น ก็บังเกิดขึ้นชั่วระยะเวลาอันยาวบ้างสั้นบ้าง ไม่เป็นที่ตั้งอยู่แน่นอนจนตลอดไป เพราะสิ่งที่ได้ตามปรารถนาหรือภาวะที่ได้ตามปรารถนานั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่กับตน ตนรู้ว่าเป็นเจ้าเข้าเจ้าของครอบครองอยู่ชั่วระยะเวลาที่ยาวบ้างสั้นบ้าง สิ่งหรือภาวะเหล่านั้นต้องพลัดพรากไปก่อนบ้าง หรือว่าชีวิตอันนี้ต้องดับไปเสียก่อนบ้าง ต้องทิ้งสิ่งทั้งปวงไป

เพราะฉะนั้น เป็นอันว่าจะต้องพบกับความพลัดพรากอยู่เสมอไป ที่จะไม่พลัดพรากก็คือว่าตนเองและบุญกับบาป เมื่อเกิดมาก็ตนเองผู้เดียวเป็นผู้มาเกิดพร้อมกับบุญบาปที่ได้กระทำไว้ เมื่อไปก็ตนเองผู้เดียวเป็นผู้ไปพร้อมกับบุญและบาปที่ได้กระทำไว้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีความดิ้นรนปรารถนาทะยานอยากของใจอยู่ จึงต้องพบกับความไม่สงบ พบกับความทุกข์ต่างๆ และแม้จะพบกับความสุข ก็ชั่วระยะเวลาที่ยาวหรือสั้นดังกล่าวแล้ว

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 132 พฤศจิกายน - ธันวาคม 2554 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น