xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมบันเทิง : Captain America : The First Avenger วิถีทางสู่ฮีโร่ตัวจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากมนุษย์วัดความสำเร็จกันด้วยพละกำลัง คนที่มีร่างกายแข็งแรงที่สุดย่อมเป็นผู้ชนะ แต่ทว่าในโลกความเป็นจริง คนที่จะประสบความสำเร็จสู่จุดสูงสุดได้นั้น พละกำลังไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด หากแต่เป็น “สติปัญญาและความดี”

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองอุบัติขึ้น และลุกลามกระทบถึงอเมริกา นับเป็นความใฝ่ฝันของหนุ่มอเมริกันหลายคนที่อยากสมัครเป็นทหารเข้าร่วมรบ รวมถึงเด็กหนุ่มรูปร่างผอมผู้แสนบอบบางอย่าง “สตีฟ โรเจอร์” ซึ่งตระเวนสมัครทหารในหลายมลรัฐ แต่ไม่เคยผ่าน แม้กระทั่งขั้นตอนการตรวจร่างกาย ด้วยแพทย์เกรงว่าเขาอาจกระดูกหักเสียก่อนตั้งแต่ยังไม่ทันไปร่วมสมรภูมิ

ความมุ่งมั่นของโรเจอร์อาจแตกต่างจากหนุ่มๆทั่วไป เพราะเขาไม่ได้มีเป้าหมายเข้าสู่สงครามเพื่อความสะใจที่ได้ประหัตประหารฝ่ายนาซี ไม่ได้ฝักใฝ่กระหายในความรุนแรง แค่มองว่าอยากให้เกิดความยุติธรรมขึ้นบนโลก ไม่อยากให้คนที่แข็งแกร่งใช้กำลังรังแกคนที่อ่อนแอกว่า ดังเช่นพื้นฐานชีวิตจริงที่เขาโดนอัด โดนรังแกเสมอมา

จากความมุ่งมั่นที่แตกต่างจากเด็กหนุ่มคนอื่น ผนวกกับโชคชะตา ทำให้เด็กหนุ่มร่างเล็กได้เจอกับ “ดร.อับราฮัม เออร์สไกน์” นักวิทยาศาสตร์ผู้ปฏิบัติภารกิจลับให้กองทัพ อเมริกา ซึ่งกำลังค้นหาบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะแก่การทดสอบในโครงการสุดยอดทหาร เด็กหนุ่มจึงได้โอกาส จากดร.เออร์สไกน์ ในการอนุมัติรับเข้าเป็นทหารเกณฑ์ เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่ามีดีเพียงพอหรือไม่

ชีวิตในค่ายฝึกก่อนสู่สมรภูมิจริง อยู่ภายใต้นายทหารอาวุโสสุดเฮี้ยบอย่างผู้พัน “เชสเตอร์ ฟิลลิปส์” แต่การฝึกอย่างหนักก็ไม่ได้ทำให้โรเจอร์ท้อถอย เขาปฏิบัติภารกิจต่างๆไม่ต่างจากหนุ่มร่างกายกำยำทั้งหลาย

แต่เหตุการณ์ 2 อย่างที่ฉายแววความพิเศษที่มีอยู่ในตัวของทหารร่างเล็กคนนี้ ได้แก่ การฝึกที่มีโจทย์ว่า หากทหารคนใดเก็บธงบนยอดเสาได้ จะมีสิทธิ์พิเศษได้ขึ้นรถจี๊ปกลับค่ายแทนการวิ่ง ซึ่งยังไม่เคยมีใครทำได้ และทันทีที่สิ้นเสียงคำสั่ง เหล่าทหารหนุ่มที่บึกบึนต่างรุมยื้อแย่งปีนป่ายเสา เพื่อไปเก็บธงบนยอด แต่ก็คว้าน้ำเหลว ขณะที่โรเจอร์เดินเข้าไปตามปกติแล้วคลายน็อตที่ยึดระหว่างเสากับฐานเหล็กออก แค่นั้นเสาธงก็ล้มลง เขาจึงเก็บธงได้ อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องออกแรงปีนป่าย ซึ่งแสดงถึงการรู้จักใช้สติปัญญา แทนการใช้พละกำลังเพียงอย่างเดียว

เหตุการณ์ที่สองเกิดขึ้นระหว่างการฝึก เมื่อผู้พันฟิลลิปส์โยนระเบิดลูกเกลี้ยงลงไปกลางวงพวกทหาร บรรดาทหารต่างแตกกระเจิงไปคนละทิศละทาง มีเพียงโรเจอร์คนเดียวเท่านั้น ที่วิ่งไปหาระเบิดและนอนคร่อมทับไว้ ซึ่งหมายถึงการยอมสละชีพตนเองเพื่อรักษาชีวิตผู้อื่น แต่แล้วความจริงก็เฉลยว่า ระเบิดดังกล่าวเป็นเพียงระเบิดซ้อม เพื่อวัดใจทหารใหม่ เหตุการณ์เหล่านี้ตอกย้ำให้ดร.เออร์สไกน์มั่นใจว่า จะเลือกโรเจอร์เข้าสู่การทดลองวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด นั่นคือ การฉีดเซรุ่มพลังพิเศษแปรสภาพร่างกายของคนปกติ ให้กลายเป็นสุดยอดทหารพันธุ์ใหม่ โดยเหตุผลที่เลือกหนุ่มผู้อ่อนแอรายนี้ ก็เพราะสติปัญญาไหวพริบ และจิตใจดีงามที่แตกต่างจากคนอื่น ดร.เออร์สไกน์บอกโรเจอร์ว่า “ผู้ที่อ่อนแอ ย่อมเข้าใจและเห็นคุณค่าของความแข็งแกร่งได้ดีที่สุด”

หลังจากนั้นโรเจอร์ก็เข้าสู่กระบวนการทดลองและกลายสภาพจากหนุ่มขี้ก้างมาเป็นสุดยอดคนแกร่ง ร่างกายบึกบึน และเต็มไปด้วยพละกำลังเหนือมนุษย์ทั่วไป พร้อมกับชื่อเสียงเรียงนามใหม่ที่ทุกคนรู้จักในฐานะ “กัปตันอเมริกา”

ช่างเป็นเรื่องน่าเศร้าแกมตลกร้าย เมื่อกัปตันอเมริกาผู้ยิ่งใหญ่ และเต็มไปด้วยพละกำลังเหนือมนุษย์ กลับถูกให้ไปทำงานด้านการเมืองชวนเชื่อสไตล์อเมริกัน เพื่อให้คนบริจาคเงินซื้อสลากเพิ่มงบประมาณทางการทหารในภาวะสงครามมากขึ้น หน้าที่หลักของกัปตันอเมริกาผู้มากความสามารถ จึงไม่ต่างจากนักแสดงชื่อดัง ที่ตระเวนออกไปตามรัฐต่างๆ แสดงโชว์ให้เด็กๆและผู้ปกครองชม เพื่อความบันเทิง

จนมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ ในวันที่กัปตันอเมริกาต้องไปแสดงโชว์เรียกขวัญกำลังใจให้แก่ทหารแนวหน้าในสมรภูมิยุโรปเป็นครั้งแรก ปรากฏว่าเสียงตอบรับจากทหารตัวจริงทั้งหลาย คือ เสียงโห่ฮา เสียดสี กัปตันที่พวกเขามองว่าเป็นแค่ตัวตลกโฆษณาชวนเชื่อ แถมไม่เคยจับปืนออกไปสู้รบในสงครามจริงแม้แต่ครั้งเดียว

ในเวลานั้นเอง กัปตันอเมริกาได้ทราบข่าวว่าหนึ่งในรายชื่อทหารผู้สูญหายจากแนวหน้า คือ เพื่อนรักสมัยเก่า และเมื่อบวกกับแรงกระตุ้นให้กำลังใจจาก “เป็กกี้ คาร์เตอร์” ผู้กองหญิงแกร่งที่เคยดูแลมาตั้งแต่เขายังเป็นแค่พลทหาร โรจอร์จึงตัดสินใจใช้ความสามารถที่ตนเองมี ไปสู่วิถีทางที่เหมาะสม

แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นแนวแอ็คชั่นซุปเปอร์ฮีโร่ ที่ดูเพื่อความเพลิดเพลินไปตามสูตรสำเร็จของภาพยนตร์ แนวนี้ทั่วๆไป แต่ก็ให้ข้อคิดดีๆ โดยเฉพาะหากนำหลักธรรมมาพิเคราะห์จะพบว่า “หลักสัปปุริสธรรม 7” ในบางข้อ ตรงกับเรื่องราวของกัปตันอเมริกา

“อัตตัญญุตา” หรือ “การรู้จักตน” เป็นหนึ่งในหลักสัปปุริสธรรม 7 ซึ่งเป็นหลักธรรมของสัตบุรุษ อันเป็นคุณสมบัติของคนดี

ในช่วงที่เป็นสตีฟ โรเจอร์ นั้น เขารู้จักตัวเองมาตลอด รู้ว่าตนมีความมุ่งมั่นอย่างไร ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่างๆ จึงดำเนินชีวิตไปตามสิ่งที่ควรปฏิบัติตามฐานะและหน้าที่ จนกระทั่งประสบความสำเร็จเมื่อได้รับคัดเลือกให้เป็น กัปตันอเมริกา

ทว่าเมื่อเขาได้รับพลังความแข็งแกร่ง ซึ่งควรจะนำไปใช้ปราบปรามนาซี เพื่อยุติสงครามและเกิดความสูญเสียให้น้อยที่สุด กัปตันอเมริกากลับ “ไม่รู้จักตน” โดยหลงใหลไปกับคารมนักการเมือง ใช้เวลากับการแสดงโชว์ในขณะที่สงครามและความสูญเสียที่แนวหน้าก็ยังดำเนินต่อไป

หลักสัปปุริสธรรม 7 ในข้อการรู้จักตน จึงเป็นหลักธรรมพื้นฐานสำคัญอีกข้อหนึ่งของมนุษย์ เพราะหากเรารู้จักตนเอง ย่อมรู้ความสามารถ รู้หน้าที่ รู้ในสิ่งที่ตนถนัด และรู้ว่าควรปฏิบัติหรือดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร

เช่นเดียวกับกัปตันอเมริกาที่เมื่อตระหนักถึงการ “รู้จักตน” แล้ว เขาก็ได้กลายเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ตัวจริง เป็นผู้นำในการปราบปรามฝ่ายนาซีเพื่อให้โลกเกิดสันติภาพ และยุติสงคราม มิใช่เป็นเพียงฮีโร่ในเครื่องแบบบนเวทีที่ไม่รู้จักตนเอง

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 131 ตุลาคม 2554 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)




กำลังโหลดความคิดเห็น