xs
xsm
sm
md
lg

รอบรู้โรคภัย : 10 อาการบ่งชี้ หลอดเลือดสมอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดยปกติเนื้อสมองจะได้รับออกซิเจนและสารอาหารต่างๆ เพื่อมาหล่อเลี้ยงเซลประสาทให้คงสภาพและทำงานได้อย่างปกติ โดยผ่านทางเลือดที่ไหลเวียนมาตามหลอดเลือดสมอง เมื่อใดก็ตามเกิดการทำลายของหลอดเลือดสมอง ส่งผลให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงเนื้อสมองได้ นานมากกว่า 3-4 นาที เนื้อสมองก็จะถูกทำลายตายในที่สุด

ชนิดของโรคหลอดเลือดสมอง

• หลอดเลือดสมองตีบตัน

เกิดจากมีลิ่มเลือดมาอุดกั้นทางไหลเวียนของเลือด มี 2 ชนิด คือ ชนิดที่เกิดภายในหลอดเลือดสมอง เรียก “ทรอมบัส” (Thrombus) และชนิดที่เกิดภายนอก เช่นที่หัวใจหรือหลอดเลือดใหญ่ที่คอ แล้วไหลมาอุดกั้นหลอดเลือดสมอง เรียก “เอมโบลัส” (Embolus) ซึ่งลิ่มเลือดส่วนใหญ่เกิดจากมีไขมันไปแทรกตามผนังหลอดเลือดกลายเป็นผนังที่แข็ง (Atherosclerosis) แต่เปราะบาง เมื่อแตกออกมาก็จะมีเกล็ดเลือด และปัจจัยการแข็งตัวของเลือดมาเกาะรวมกันกลายเป็นลิ่มเลือด

• หลอดเลือดสมองแตก

เกิดจากหลอดเลือดสมองฉีกขาด มีเลือดออกมาแทรกในเนื้อสมองที่อยู่โดยรอบ

• ภาวะสมองขาดเลือดชั่วขณะ (Transient global amnesia)

เกิดการขาดเลือดที่จะไหลเวียนไปเลี้ยงเนื้อสมองในช่วงสั้นๆ น้อยกว่า 15 นาที

ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง

ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันโคเลสเตอรอลในเลือดสูง โรคหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ความอ้วน หรือเคยมีโรคหลอดเลือดสมองหรือภาวะสมอง ขาดเลือดชั่วขณะ

อาการและอาการแสดง

มักจะเกิดขึ้นเร็วหรือทันทีทันใดแล้วคงที่หรือแย่ลงเรื่อยๆ โดยมีอาการดังนี้

1. อ่อนแรงแขนขาครึ่งซีก
2. หน้าเบี้ยวครึ่งซีก
3. เหน็บชาตามร่างกายครึ่งซีก
4. ไม่สนใจร่างกายครึ่งซีก
5. พูดไม่ได้ ไม่เข้าใจภาษา
6. พูดไม่ชัด กลืนลำบาก สำลัก
7. เห็นภาพซ้อน ภาพมัวหรือมืดลงครึ่งซีก
8. สับสน ซึมลง ไม่รู้สึกตัว
9. เวียนศีรษะ เดินเซ
10. ปวดศีรษะรุนแรง ปวดต้นคอ คลื่นไส้อาเจียน


การวินิจฉัย

ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจร่างกาย ตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์หรือเอกซ์เรย์คลื่นแม่เหล็ก ในบางรายจะได้รับการตรวจหัวใจ Echocardiogram และตรวจอัลตร้าซาวด์หลอดเลือดใหญ่ที่สุด เพื่อวินิจฉัยประเมินความรุนแรงและพยากรณ์โรค

การรักษา

• การให้ยาละลายลิ่มเลือด กรณีที่มีอาการมาแล้วอย่างน้อยไม่เกิน 3 ชั่วโมงในสถานพยาบาลที่มีศักยภาพเพียงพอ (ยกเว้นในรายที่เป็นหลอดเลือดสมองแตก)

• การให้ยาป้องกันหลอดเลือดตีบตัน เช่น ยาป้องกันเกล็ดเลือดเกาะตัวกันหรือยาป้องกันลิ่มเลือด (ยกเว้นในรายที่เป็นหลอดเลือดสมองแตก)

• การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุหลอดเลือดแข็งตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง งดสูบบุหรี่ และดื่มเหล้า

• การทำกายภาพบำบัด การให้สุขศึกษาและการดูแลต่อเนื่อง

• ในกรณีที่มีภาวะสมองบวม ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเช่นเดียวกับผู้ที่มีหลอดเลือดสมองแตกขนาดใหญ่

การป้องกันการกลับเป็นซ้ำ

หลังจากที่ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาในระยะแรกแล้ว จำเป็นต้องรับประทานยาป้องกันลิ่มเลือดเกาะตัวร่วมกับควบคุมรักษาปัจจัยเสี่ยง เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำอีก

ทำอย่างไรเมื่อพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

เมื่อท่านพบผู้ป่วยที่มีอาการของโรคหลอดเลือดสมองควรปฏิบัติดังนี้

• พยายามให้นอนราบเพื่อให้เลือดไหลเวียน

• ถ้ามีอาการซึมมากควรพลิกตัวตะแคงข้างใดข้างหนึ่งป้องกันสำลัก

• ไม่ควรป้อนน้ำ ยาหรืออาหาร

• ควรนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว ที่สุด

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 131 ตุลาคม 2554 โดย กลุ่มงานประสาทวิทยา สถาบันประสาทวิทยา)


กำลังโหลดความคิดเห็น