xs
xsm
sm
md
lg

อบรมกรรมฐาน : อุปสมานุสสติขั้นวิมุตติ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิเลส - กรรม - วิบาก

คราวนี้เมื่อจับพิจารณาถึงวัฏฏสังสาระอย่างละเอียดเข้ามา ก็ย่อมจะจับได้ว่ามีเงื่อนสำคัญอยู่สามคือ

หนึ่งกิเลส
สองกรรม
และสามวิบาก

คือกิเลสเป็นเหตุให้กระทำกรรม กิเลสเป็นเหตุ กรรมเป็นผล แล้วกรรมก็กลับเป็นเหตุส่งวิบากคือผล

ตั้งต้นแต่วิบากขันธ์ที่เป็นวิบากอันนี้ คือขันธ์ที่ได้มาพร้อมกับชาติความเกิดนี้ เป็นวิบากคือเป็นผลของกรรมเก่า กรรมจึงเป็นเหตุ วิบากจึงเป็นผล แล้ววิบากก็เป็นเหตุขึ้นอีก คือเป็นเหตุก่อกิเลสขึ้นอีก

โดยนัยนี้วิบากก็กลับเป็นเหตุ กิเลสก็กลับเป็นผล แล้วกิเลสก็เป็นเหตุให้กระทำกรรมขึ้นอีก

โดยนัยนี้กิเลสก็เป็นเหตุ กรรมก็เป็นผล แล้วกรรมก็เป็นเหตุส่งวิบากอีก

โดยนัยนี้กรรมก็เป็นเหตุ วิบากก็เป็นผล แล้ววิบากก็กลับเป็นเหตุให้เกิดกิเลสขึ้นอีก

โดยนัยนี้วิบากก็เป็นเหตุ กิเลสก็เป็นผล จึงเป็นวัฏฏะ คือเป็นความวนอยู่ดังนี้ วนอยู่เป็นวงกลมเหมือนอย่างล้อรถซึ่งมีอยู่สามซี่ กิเลสซี่หนึ่ง กรรมซี่หนึ่ง วิบากอีกซี่หนึ่ง วนกันไปอยู่ดังนี้โดยไม่อาจจะกล่าวว่าอะไรเป็นต้นอะไรเป็นปลาย เป็นต้นแล้วก็เป็นปลาย แล้วปลายก็กลับเป็นต้น เป็นต้นแล้วก็กลับเป็นปลาย วนเป็นวงกลมอยู่ดังนี้เหมือนอย่างล้อรถที่วิ่งไป จะมีกี่ซี่ก็ตาม แต่ละซี่นั้นก็กลับเป็นต้นเป็นปลาย นี่แหละคือวัฏฏะ ความวน

วัฏฏะ คือ ความวนดังกล่าวนี้ ก็มีอยู่ในกระแสจิตทุกวันนั้นเอง อันจะพึงเห็นได้ว่า

ตัณหาสมมติเอาว่ารูปตัณหา ความอยากได้ในรูป คืออยากจะดูรูปนี้เป็นกิเลส ก็เป็นเหตุให้กระทำกรรมคือเกิด เจตนาที่จะดูรูปขึ้นมาแล้วก็ทำการดูรูป เช่นว่า เดินไปก็ดี วิ่งไปก็ดี หรือทำกิริยาอย่างอื่นก็ดี ให้ถึงรูปที่จะดูนั้น แล้วก็ลืมตาดู ดังนี้ก็เป็นกรรมขึ้นมา

คราวนี้เมื่อทำกรรมดังนี้ก็เกิดวิบาก การมองเห็นรูปนั้นก็เป็นวิบากของกรรม คือการดู คราวนี้วิบากคือการที่เห็นรูปนี้ก็ก่อกิเลสขึ้นอีก ถ้ารูปนั้นสวยงามน่ารักน่าชม ก็เกิดรูปตัณหาที่อยากจะดูยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าหากว่าไม่น่ารักน่าชมแต่น่าชัง ก็เกิดโทสะขึ้นมา คือขัดใจก็ก่อกิเลสขึ้นมาอีก ดังนี้

วัฏฏะปัจเฉทะ

ฉะนั้น จะพึงเห็นได้ว่าในปัจจุบันนี้เอง จิตใจของทุกๆคนก็วิ่งวนเวียนอยู่ในกิเลส กรรม วิบาก ดังกล่าวนี้ตามอายตนะที่เห็นได้ง่ายดังนี้

คราวนี้การปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา ที่ปฏิบัติมาโดยลำดับ ย่อมเป็นการปฏิบัติตัดวัฏฏะทั้งนั้น เช่นว่าศีล เว้นจากการฆ่า เว้นจากการลัก เป็นต้น ก็เป็นการปฏิบัติที่ตัดกิเลส กรรม วิบาก กล่าวคือ

ตัดกิเลส ก็คือตัดโลภโกรธหลงที่เป็นเหตุให้คิดจะฆ่าจะลักของเขา

ตัดกรรม ก็คือตัดปาณาติบาตกรรม ตัดอทินนาทานกรรม

ตัดวิบาก ก็คือว่าตัดวิบากของปาณาติบาตกรรม ของอทินนาทานกรรมเสียได้

การปฏิบัติในศีลก็เป็นการปฏิบัติตัดวัฏฏะอย่างหยาบ

การปฏิบัติในสมาธิก็เป็นการปฏิบัติเพื่อตัดวัฏฏะขั้นกลาง คือตัดกิเลส ตัดกรรม ตัดวิบากที่เป็นขั้นบังเกิดขึ้นกลุ้มรุมใจเป็นขั้นนิวรณ์

การปฏิบัติในสมาธินั้นก็ตัดนิวรณ์เสียได้ ก็ตัดกรรมที่เนื่องมาจากนิวรณ์ ก็ตัดผลของกรรมคือวิบาก

การปฏิบัติในปัญญาก็เป็นการปฏิบัติตัดวัฏฏะอย่างละเอียดขึ้น คือเพื่อตัดอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ก็ตัดกรรมเพราะอวิชชาตัณหาอุปาทาน และตัดวิบากเพราะกรรมนั้น

ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติทุกๆ คนก็ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติเพื่อตัดวัฏฏะทั้งนั้นตามภูมิตามชั้น จนถึงตัดได้สิ้นเชิงก็เป็น “วัฏฏปัจเฉทะ” อันเป็นวิมุตตินิพพานขั้นสูงสุด แต่ในขณะที่ปฏิบัติอยู่ขั้นศีลขั้นสมาธิปัญญาแม้ขั้นสามัญก็เป็นวิมุตตินิพพานขั้นสามัญ ให้ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบระงับ คือเป็นที่ตัดวัฏฏะดังนี้อยู่เนืองๆ จะทำให้มีฉันทะวิริยะในอันที่ปฏิบัติเพื่อตัดวัฏฏะและเพื่อพบกับความสงบอันเป็นผลซึ่งจะพึงได้โดยลำดับ

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 131 ตุลาคม 2554 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น