เนปาลชิงสร้าง "พุทธประวัติ" เป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องแรก
• เนปาล : ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชาวเนปาลกำลังสร้างภาพยนตร์แอนิเมชั่นพุทธประวัติเรื่องแรกของประเทศเนปาล เพื่อสนับสนุนข้ออ้างในการเป็นแหล่งกำเนิดของพุทธศาสนา
ตุลซิ กีไมรี ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชื่อดังวัย 60 ปี ได้เริ่มสร้าง “Gautam Buddha” (พระโคตมพุทธเจ้า) ภาพยนตร์พุทธประวัติเรื่องแรกของเนปาล ด้วยแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นหลังจากได้สนทนากับบรรดาพระภิกษุจากศรีลังกาและที่อื่นๆ
“ตอนแรกมีหนังจากบอลลีวูดเรื่อง “Chandni chowk to China” ซึ่งอ้างว่าพระพุทธเจ้าประสูติในอินเดีย ต่อมามีข่าวว่าผู้อำนวยการสร้างหนังชื่อดังของบอลลีวูด “อชุทอช โกวาริเคอร์” กำลังสร้างภาพยนตร์มหากาพย์พุทธประวัติ เราเกรงว่าอาจมีแรงจูงใจทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง หากโกวาริเคอร์ สร้างฉากกรุงกบิลพัสดุ์ที่อยู่ในอินเดีย ว่าเป็นสถานที่ ประสูติของพระพุทธเจ้า ซึ่งอาจทำให้หลายคนเข้าใจผิด
ภิกษุศรีลังกาบางรูปที่สับสนถามผมว่า พระพุทธเจ้าประสูติในอินเดียหรือเนปาลกันแน่ ผมตอบว่าพระองค์ประสูติที่กรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีทั้งประเทศอินเดียหรือเนปาล แต่ซากปรักหักพังทางโบราณคดีพิสูจน์ได้ว่า กบิลพัสดุ์อยู่ทางตอนใต้ของเนปาล ซึ่งปัจจุบันยังมีซากพระราชวังโบราณและอุทยานซึ่งพระองค์ประสูติ หลงเหลือให้เห็น”
“Gautam Buddha” จะสร้างเป็นภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องแรกของเนปาล โดยจัดทำเป็น 7 ภาษา ได้แก่ อังกฤษ ฮินดี สิงหล เกาหลี จีน ญี่ปุ่น และเยอรมัน คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2013
ตลอดความยาว 110 นาที จะเปิดเผยถึงตำนานบางเรื่องที่เข้าใจกันผิดๆเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า รวมถึงเรื่องที่พระองค์ทรงละทิ้งความสุขสบายในพระราชวัง ภายหลังได้เห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช
“พระองค์มีพระชนม์ 29 พรรษาขณะออกผนวช ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่พระองค์จะไม่เคยเห็นคนแก่เลย และพระบิดาของพระองค์เองก็มีพระชนม์มากแล้วในขณะนั้น แท้จริงแล้ว พระองค์ทรงสละสิทธิ์ในราชบัลลังก์เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามในหมู่พระญาติ เพราะพระเทวทัต ซึ่งเป็นพระญาติ กำลังเตรียมทำศึกสงคราม” กีไมรี กล่าว
นอกจากนี้ ภาพยนตร์ยังนำเสนอเรื่องราวของพระนางยโสธรา พระชายาของพระพุทธเจ้า ซึ่งยังไม่ค่อยมีใครรู้
“พระนางเป็นเสาหลักคอยสนับสนุนพระสวามี ทั้งสองพระองค์ทรงรู้จักกันก่อนอภิเษก จึงเป็นที่มาของฉากรักในหนังเรื่องนี้” กีไมรี กล่าว
(จาก IANS)
ชาวพุทธไถ้ชีวิตกุ้งลอบสเตอร์
• สหรัฐอเมริกา : กุ้งลอบสเตอร์เป็นๆ 534 ตัวรอดตายอย่างหวุดหวิด จากการถูกนำไปปรุงเป็นเมนูเด็ดบนโต๊ะอาหาร และได้รับอิสรภาพกลับคืนลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา อันเป็นวันอาสาฬหบูชาตามปฏิทินจันทรคติของทิเบตในปี 2011 เพื่อระลึกถึงการปฐมเทศนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การทำคุณความดีในเทศกาลนี้ จะส่งผลยิ่งใหญ่
ดังนั้น ชาวพุทธราว 30 คนได้เดินทางไปที่สะพานปลา ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของรัฐแมสซาชูเซตส์ ซื้อกุ้งลอบสเตอร์เป็นๆ ราว 272 กก. จากพ่อค้าขายส่งอาหารทะเล เพื่อไถ่ชีวิตพวกมันให้รอดพ้นจากความตาย “ถึงแม้ว่าพวกมันจะถูกจับอีกครั้ง ก็จะมีชีวิตรอดได้นานกว่า” เวนดี้ คุ๊ก อดีตผู้อำนวยการศูนย์คุรุคุลลา ซึ่งเป็นศูนย์พุทธทิเบตศึกษา ที่ตั้งอยู่ในเมืองเมดฟอร์ดทางเหนือของบอสตัน กล่าว
โดยปกติ พุทธศาสนิกชนจากศูนย์ฯ จะพากันไปปล่อยสัตว์ทะเลที่เป็นอาหารราคาแพง ปีละ 2 ครั้ง
คุ๊ก ซึ่งเป็นครูสอนโยคะ เป็นผู้นำพิธี ด้วยการถือกล่องที่ใส่กุ้งลอบสเตอร์ เดินสวดมนต์ไปรอบๆสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อขอให้คุ้มครองพวกมันให้อยู่รอดปลอดภัย
พระเกเช เทนลีย์ ซึ่งประจำอยู่ที่ศูนย์ฯ เป็นผู้ปล่อยกุ้งตัวแรก กล่าวว่า ในอินเดียมีการไถ่ชีวิตวัว แกะ และแพะ จากการถูกฆ่าเป็นอาหาร แต่ที่นี่การได้ช่วยยืดชีวิตพวกกุ้งลอบสเตอร์ออกไป แม้แค่เพียงชั่วโมงเดียว ถือเป็นวิธีดีที่สุดที่พวกเราได้ช่วยให้พวกมันยังคงมีชีวิตอยู่
“มันเป็นการทบทวนวิธีคิดเดิมๆ เวลาคุณมองพวกสัตว์เหล่านี้ คุณควรมองพวกมันอย่างเท่าเทียม ความสุขของมันก็สำคัญเท่ากับความสุขของคุณ ความทุกข์ของมันก็สำคัญเท่ากับความทุกข์ของคุณ” วิกตอเรีย แฟน หนึ่งในผู้เข้าร่วมพิธีกล่าว
(จาก Reuters)
วัดโทไดจิเตรียมเปิดพิพิธภัณฑ์แสดงพุทธศิลป์
• ญี่ปุ่น : วัดโทไดจิ เป็นส่วนหนึ่งของเมืองโบราณ “นาระ” ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลก ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของญี่ปุ่น จะเปิดพิพิธภัณฑ์ เพื่อจัดแสดงพระพุทธรูปและงานศิลปะในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้
ทางวัดเผยว่า พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวตั้งอยู่ภายในศูนย์วัฒนธรรมของวัดโทไดจิ มีห้องจัดแสดง 5 ห้อง รวมพื้นที่ราว 600 ตารางเมตร จะเปิดให้เข้าชมในวันที่ 10 ตุลาคม 2011
โดยหลักๆ จะจัดแสดงพระพุทธรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระสุริยประภาโพธิสัตว์ และพระจันทรประภาโพธิสัตว์
“ผมเชื่อว่า พิพิธภัณฑ์นี้จะช่วยให้ผู้เข้าชมตระหนักถึงเสน่ห์ ของเมืองนาระ ในฐานะเป็นแหล่งวัฒนธรรม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมวัดโทไดจิ” โกไซอิ โมริโมโตะ พระวัดโทไดจิและเป็นผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรม กล่าว
(จาก Kyodo news)
วิทยาลัยสงฆ์ลาวเปิดสอนหลักสูตรใหม่
• ลาว : ขณะที่เทคโนโลยีสารสนเทศกำลังเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนา แรงงานที่มีทักษะ เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศที่กำลังพัฒนาทางด้านสังคมและเศรษฐกิจให้บรรลุเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพุทธศาสนศึกษา
และเพื่อให้แน่ใจว่า ประเทศลาวจะมีแรงงานที่มีทักษะด้านนี้ วิทยาลัยสงฆ์ในเวียงจันทน์จึงร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและกองการฝึกครูกีฬา เปิดสอนระดับปริญญาตรีศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาพุทธศาสนศึกษา ในคณะพุทธศาสนศึกษาเพื่อการสอนระดับมัธยมศึกษา
พระพูนสอน เกียวพิลม ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์ กล่าวว่า หลักสูตรการศึกษาใหม่นี้ ใช้เวลา เรียน 4 ปี นักศึกษาจะได้เรียนวิชาสังคมศาสตร์ อ่านและเขียนภาษาอังกฤษ และวิชาอื่นๆ ใน 8 ภาคการศึกษา โดยตั้งเป้าที่จะสร้างโอกาสให้พระภิกษุได้ปรับปรุงความรู้เรื่องพุทธศาสนา เพื่อนำไปใช้สอนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา
“การลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์และการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนา ประเทศลาว” พระพูนสอนกล่าว และเพิ่มเติมว่า ทางวิทยาลัยสงฆ์ได้ตอบสนองนโยบายกระทรวงฯ และแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 7 ปีค.ศ. 2011-2015 เพื่อปฏิรูปประเทศลาวสู่สังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่
“หลักสูตรนี้ถูกออกแบบมาให้พระภิกษุได้เรียนพุทธศาสนศึกษาในระดับที่สูงขึ้น และสำหรับครูผู้สอนที่ต้องการพัฒนาความรู้และทักษะให้เพิ่มมากขึ้น”
นอกจากนั้น วิทยาลัยสงฆ์จะเปิดชั้นเรียนในตอนเย็นด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่มีเวลาว่างเรียนในภาคปกติตอนกลางวัน แต่จะเปิดรับไม่เกิน 100 คนในปีการศึกษาแรก
โดยพิธีเฉลิมฉลองการเปิดหลักสูตรใหม่นี้ มีพระผู้นำจากหลายองค์กร รวมทั้งเจ้าหน้าที่การศึกษา และแขกผู้มีเกียรติมากมายเข้าร่วมงาน
(จาก Vientiane Times)
คุกไต้หวันใช้การตีกลองแบบเซน เพื่อบำบัดและฟื้นฟูนักโทษ
• ไต้หวัน : เรือนจำชางฮัว อยู่ห่างจากกรุงไทเปไปทางใต้ราว 250 กม. เป็นหนึ่งในเรือนจำล่าสุดที่มีโปรแกรมฟื้นฟูผู้ต้องขัง อาทิ การเต้นรำ หรือการแสดงศิลปะ ซึ่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้ มีการนำไปใช้ฟื้นฟูนักโทษในญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศ
สำหรับโปรแกรมฟื้นฟูของเรือนจำแห่งนี้ จัดโดยคณะนักแสดงกลองและอุปรากรจีน (งิ้ว) ยู-เธียเตอร์( U-Theatre) แห่งไต้หวัน ที่ผสมผสานจิตวิญญาณเซนและการรำมวยไทเก๊กเข้าด้วยกัน เพื่อให้นักโทษได้ซึมซาบถึงความรู้สึกเย็นสงบทางจิตใจ
ไอ บาว หนึ่งในคณะนักแสดงที่มาช่วยสอนนักโทษสัปดาห์ละ 1 วัน เล่าว่า ตอนแรกนักโทษแทบจะไม่มีสมาธิ แต่เธอสอนให้พวกเขาดึงจิตกลับมาและเพ่งไปที่จังหวะ ตอนนี้พวกเขาแสดงให้เห็นถึงสภาพอารมณ์ที่ต่างไปจากเดิม ทุกคนนั่งนิ่งเหมือนกำลังทำสมาธิ
หนึ่งในนักเรียนของเธอ เป็นนักโทษชายฉกรรจ์วัย 24 ปี ต้องโทษ 6 ปี ด้วยข้อหาพยายามฆ่าในเหตุการณ์ ทะเลาะวิวาทในโรงเรียนเมื่อ 2 ปีก่อน กล่าวว่า
“การเรียนการแสดงทำให้ใจผมสงบ ผมสามารถปลดปล่อยความโกรธและอารมณ์ด้านลบ ด้วยการกระหน่ำรัวกลองอย่างหนัก”
นอกจากนี้ เขายังทำสมาธิเป็นประจำทุกคืน และพยายามท่องจำท่าทางการตีกลองที่ได้เรียนมา
หลิว รัวยู่ ผู้ก่อตั้งและเป็นผู้อำนวยการด้านศิลปะของยู-เธียเตอร์กล่าวว่า เมื่อคณะนักแสดงเข้าถึงจิตวิญญาณตนเอง จะช่วยตอกย้ำการทำงานเป็นทีมมากกว่าการมีอัตตา
บาวกล่าวว่า ขณะที่จิตของนักแสดงแต่ละคนค่อยๆสงบลง เขาสามารถได้ยินเสียงตีกลองของตัวเองและของเพื่อนๆประสานกลมกลืนกัน และหลังจากที่พวกเขาพบความสงบภายในใจ ก็จะหลุดพ้นจากสภาวะกระวนกระวาย ไปสู่ความสุขสงบและมั่นคง
นอกจากนี้ คณะยู-เธียเตอร์ยังช่วยฟื้นฟูนักเรียนที่หยุดเรียนกลางคัน และจัดค่ายฤดูร้อนสำหรับนักเรียนดื้อรั้น เกเร แต่ภาระหลักยังอยู่ที่โครงการฟื้นฟูผู้ต้องขังในเรือนจำ ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยถือเป็นความพยายามที่จะขยายขอบเขตการฟื้นฟูผู้ต้องขัง ให้มากกว่าการสอนงานหัตถกรรมและงานช่างไม้
ไต ชูนาน พัศดีเรือนจำชางฮัว รู้สึกพึงพอใจกับผลที่ได้รับเป็นอย่างยิ่ง จนเมื่อเร็วๆนี้ เขาได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน นั่นคือ อนุญาตให้นักโทษเปิดการแสดงต่อ หน้าผู้ชม 10,000 คนในสนามกีฬา ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างดี นับเป็นการช่วยเสริมความมั่นใจให้กับนักโทษ ซึ่งจะไม่รู้สึกว่าตัวเองด้อยค่ากว่าคนอื่น และรู้ถึงศักยภาพของตัวเอง
ไตกล่าวอย่างภูมิใจว่า “เมื่อเร็วๆนี้ คณะยู-เธียเตอร์ ได้รับนักโทษ 2 คนที่เพิ่งพ้นโทษ เข้าร่วมคณะ ทำให้นักโทษคนอื่นๆมีความหวังว่า พวกเขาจะมีอนาคตที่ดีหลัง ออกจากเรือนจำ”
(จาก The Associated Press)
พบคัมภีร์พระสูตรเก่าแก่บนผนังถ้ำ
• จีน : สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ทีมนักโบราณคดีจีนได้ค้นพบคัมภีร์พระสูตรบางส่วน จารึกบนผนังถ้ำแห่งหนึ่งในเขตเซียงตังชาน มณฑลเหอเป่ย์ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของจีน
เจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่งบอกว่า คัมภีร์ดังกล่าว มีชื่อว่า คัมภีร์ปัทมสูตร เชื่อกันว่า จารึกไว้ในสมัยราชวงค์เหนือ (ปีค.ศ. 386-581) แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี ซึ่งทีมนักโบราณคดีจะหาสาเหตุต่อไปว่า ทำไมจึงหยุดจารึกกลางคัน
อนึ่ง เขตเซียงตังชาน มีถ้ำทั้งหมด 16 แห่ง และภาพแกะสลักบนหน้าผากว่า 450 รูป โดยอยู่ภายใต้การคุ้มครองดูแลของรัฐบาลจีนตั้งแต่ปี 1961 เป็นต้นมา
(จาก IANS)
จีนบูรณะวัดหลวงโบราณ
• จีน : วัดซิดา ในเมืองไบติง เป็นวัดหลวงเก่าแก่โบราณสมัยศตวรรษ ที่ 9 แห่งอาณาจักรเกาชาง อุยกูร์ ซึ่งอยู่ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน อยู่ระหว่างการบูรณะปฏิสังขรณ์ โดยช่างฝีมือผู้ชำนาญ
“เราจะทำโครงสร้างของวัดขึ้นมาใหม่ และขุดค้นบริเวณโดยรอบ เพื่อคุ้มครองวัด” ซู ซองฮุย หัวหน้ากองงานก่อสร้างและจัดการโบราณสถานแห่งเมืองไบติง กล่าว
วัดดังกล่าวสร้างขึ้นกลางศตวรรษที่ 9 โดยชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ ต่อมาถูกทำลายในช่วงสงครามความขัดแย้งในชนเผ่าเมื่อศตวรรษที่ 14 ต่อมาในยุคปี 80 นักโบราณคดีได้เริ่มต้นขุดสำรวจวัด
เมื่อเวลาผ่านไป รูปประติมากรรมและจิตรกรรมฝาผนังหลายชิ้นภายในวัด ซึ่งแสดงเรื่องราวทางพุทธศาสนา พร้อมคำจารึกด้วยภาษาอุยกูร์และภาษาจีน เริ่มชำรุดทรุดโทรม จึงจำเป็นต้องบูรณะซ่อมแซมอย่างเร่งด่วน
(จาก Xinhua)
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 130 กันยายน 2554 โดย เภตรา)