xs
xsm
sm
md
lg

อุตสาหกรรมจีน เรียนรู้ฝั่งตอ. ก่อนแลหน้าพัฒนาฝั่ง ตต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพไร่มันฝรั่งอันเขียวชอุ่มในอำเภอเหยียนฉือ เขตปกครองตนเองหุยหนิงซย่า (ภาพเป่ยจิง รีวิว)
เอเยนซี - บรรดาผู้เชี่ยวชาญกำลังหวั่นวิตก ว่าแนวโน้มของการย้ายฐานอุตสาหกรรมจากฝั่งตะวันออก ไปยังตะวันตก แบบไม่มีแผนและแนวทางระยะยาวฯ ที่ดี จะกลายเป็นการสร้างปัญหาให้กับฝั่งตะวันตก ซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายอันอ่อนไหวยิ่งทางระบบนิเวศน์ ซึ่งเมื่อเสียไปแล้วไม่มีวันที่จะกลับคืนมา

รายงานของไชน่าบิสซิเนสไทม์ส เผยว่า โรงงานผลิตรถยนต์ แห่งหนึ่งใกล้กับเมืองหยินฉวน เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ตกอยู่ในสภาพรกร้างว่างเปล่าหลังจากหยุดดำเนินกิจการไป ทั้งที่เพิ่งจะผลิตรถยนต์ต้นแบบออกมาได้เพียง 4 รุ่น ตลอดระยะเวลา 3 ปี นับแต่เปิดมา โดยเป็นกิจการของ เฉิงตู นิวแลนด์ ออโตโมบายล์ จำกัด (Chengdu Newland Automobile Co. Ltd.) และมีทุนจมหายอยู่มากราว 1,800 ล้านหยวน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีน สั่งห้ามดำเนินกิจการไปเมื่อเดือนกันยายน 2553 ด้วยเหตุที่ ขั้นตอนมาตรฐานกระบวนการผลิตของบริษัทฯ ไม่ผ่านอนุมัติฯ

เหมา เจินหัว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ จากมหาวิทยาลัยเหรินหมิน กล่าวว่า การล้มโครงการลักษณะนี้ สะท้อนปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับการพัฒนาเขตตะวันตกของจีน ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนธุรกิจทั้งหลาย

“ตอนที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมทางฝั่งตะวันออกนั้น มีปัญหาเกิดขึ้นนานับประการ ดังนั้น ในขั้นเริ่มต้นการจะพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ทางฝั่งภูมิภาคตะวันตกนี้ ควรจะได้ดำเนินไปในวิถีทางใหม่ที่ผ่านการเรียนรู้บทเรียนของฝั่งตะวันออก” นายจาง ซู่กวง นักวิจัยจากสถาบันเศรษฐศาสตร์ และสถาบันสังคมศาสตร์จีน กล่าว

ขณะที่ หวัง ไซเหวิน รองผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรม จากคณะกรรมาธิการปฎิรูปและพัฒนาแห่งชาติ ให้ความเห็นว่า “การเดินตามแบบที่ฝั่งตะวันออกทำๆ มา โดยไม่ปรับเข้ากับเงื่อนไขปัจจัยทางภูมิศาสตร์ของตะวันตกเลย จะทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและระบบนิเวศมหาศาลทีเดียว”

ทางฝั่งตะวันตกนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าอุดมไปด้วยผืนดิน และทรัพยากรธรรมชาติ และยังมีความอ่อนไหวทางสภาพแวดล้อม มีผลผลิตต่ำ และอัตราความยากจนสูง แต่สิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ของภูมิภาคนี้ คือระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งยังไม่ได้มีการนำมาประเมินมูลค่าเฉพาะ และพัฒนาให้เกิดความได้เปรียบฯ

แต่กระนั้น แนวโน้มของการขยายอุตสาหกรรมจากฝั่งตะวันออก ไปสู่ฝั่งตะวันตกที่เกิดขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตโลหะนอกกลุ่มเหล็ก (non-ferrous metal) กำลังย้ายฐานออกจากภูมิภาคตะวันออกไปตะวันตกอย่างจริงจัง โดยขาดการควบคุมดูแล ซึ่งรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมฯ ระบุว่า ความไม่มีแผนและแนวทางระยะยาวฯ ที่ดีในการโยกย้าย จะสร้างปัญหาต่ออุตสาหกรรมฯ

หลี่ เตอเฟิง ผู้อำนวยการ สำนักงานอลูมิเนียม ของสมาคมอุตสาหกรรมโลหะนอกกลุ่มเหล็ก กล่าวว่า ตอนนี้ กำลังผลิตอลูมินัม มากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ จะย้ายไปตั้งใน 5 มณฑลหรือเขตปกครองพิเศษทางฝั่งตะวันตกของจีน ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า อาทิ ซินเจียงอุยกูร์ มองโกเลียใน หนิงเซี่ยหุย ชิงไห่ และหยุนหนาน (ยูนนาน)

รายงานกระทรวงฯ ให้ความเห็นว่า สำหรับการพัฒนาภาคตะวันตกนั้น ควรจะคำนึงถึงความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์เฉพาะของพื้นที่นั้นๆ มากกว่าที่จะใช้แผนลงทุนทั่วไป

หลิว ชี่หง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจภูมิภาค จากมหาวิทยาลัยโหไห่ ในหนานจิง กล่าวว่า “เวลานี้ ทุกรัฐบาลท้องถิ่นพยายามเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมโดยลอกแบบตามๆ กัน ไม่ได้คำนึงถึงความเข้มแข็งของท้องถิ่นทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติหรือปัจจัย เงื่อนไขอื่นๆ”

เมื่อเดือนกันยายน 2553 คณะกรรมาธิการรัฐฯ ได้วางแนวทางโอนย้ายภาคอุตสาหกรรมจากฝั่งตะวันออกไปตะวันตก โดยคำนึงถึงการพัฒนาความได้เปรียบในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งรัฐบาลจะจัดทำนโยบายสนับสนุน อาทิ มาตรการการเงิน มาตรการภาษี มาตรการใช้ประโยชน์ในที่ดิน
คนงานกำลังทำงานในโรงงานของบริษัทโมเล็กซ์ อิงค์ ผู้ผลิตข้อต่อไฟฟ้า ในเมืองเฉิงตู มณฑลซื่อชวน(เสฉวน) (ภาพเป่ยจิง รีวิว)
บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การดูแลอย่างใกล้ชิดในช่วงเริ่มต้นนี้ เป็นกุญแจสำคัญที่สุดที่จะแก้ปัญหาการพัฒนาอย่างไร้ทิศไร้ทาง นาย เฉิน ซงสิ่ง รองประธาน คณะกรรมการสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติจีน กล่าวว่า 11 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคตะวันตก มีความสำคัญเพียงไรต่อสมดุลเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคต่างๆ จากทั้ง เขตเศรษฐกิจ เฉิงตู-ฉงชิ่ง เขตเศรษฐกิจพิเศษก่วงโจว - เทียนสุ่ย และเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก่วงซี - เป่ยปู้วาน ต้นแบบการพัฒนาภูมิภาคตะวันตก

“ในอนาคตนี้ เราควรจะสร้างแนวเขตเศรษฐกิจและพัฒนาพื้นที่ โดยยึดตามเงื่อนไขทางธรรมชาติ และทรัพยากรฯ ตัวอย่างเช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ หลานโจว-ซินหนิง-โกลมุด และเขตฯ ส่านซี-กานซู-หนิงเซี่ย ซึ่งเชื่อมเป็นเขตฯ เติบโตใหม่” นอกจากนี้ ยังได้แนะนำให้เห็นโอกาสของการตั้งโครงการต้นแบบเศรษฐกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม ในบางเมืองซึ่งมีทรัพยากรสมบูรณ์ เช่น แอ่งกะทะไฉต๋ามู่ (Qaidam Basin) ในมณฑลชิงไห่ ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน และ เอ่อตู (Erdos) มองโกเลียใน และ เหลียวผานส่วย (Liupanshui) ในกุ้ยโจว

สำหรับภาคตะวันตกนี้ สิ่งแวดล้อมต้องมาก่อน

ระบบนิเวศที่หลากหลายและอ่อนไหวยิ่งของภาคตะวันตก กำลังเผชิญกับทางแพร่งที่ต้องเลือกเอา ระหว่างเศรษฐกิจกับสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาที่ก่อนหน้านี้ การพัฒนาภาคตะวันออกไม่สามารถแก้ไขได้เลย ดังนั้นการพัฒนาตะวันตกไม่ควรที่จะเดินตามแบบที่เคยใช้กับอุตสาหกรรมภาคตะวันออก (ปล่อยให้เกิดมลพิษก่อนแล้วค่อยแก้ทีหลัง)

ไชน่า เอ็นไวรอนเมนท์ นิวส์ รายงานว่า อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่ย้ายออกมาจากภาคตะวันออกสู่ตะวันตก เป็นอุตสาหกรรมภาคแรงงาน และบริโภคพลังงานสูง อีกทั้งก่อมลภาวะจำนวนมาก โดยมณฑลเจียงซี กำลังเป็นฐานให้กับอุตสาหกรรมทอผ้า พลาสติก และผลิตรองเท้า เป็นการรับเอาอุตสาหกรรมที่ล้าหลังของภาคตะวันออกมาอีกทอด ขณะที่ มณฑลเจ้อเจียง ก็รับอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ซึ่งมีมลพิษสารตะกั่วปริมาณสูง

จู หงเหริน หัวหน้าวิศวกร โฆษกของกระทรวงฯ กล่าวว่า “ปรากฎการณ์ที่ภาคตะวันตกรับเอาอุตสาหกรรมที่ฝั่งตะวันออกโละทิ้งมานี้ กำลังเป็นแนวโน้มการลงทุนของที่นี่”

รายงานของกระทรวงป้องกันสิ่งแวดล้อมรายงานเมือปี 2548 ว่าปัญหามลพิษร้ายแรงใน ส่านซี ซันซี และมองโกเลียใน เป็นผลมาจากการผลิตของอุตสาหกรรมหนักทั้งหลาย อาทิ ถ่านหิน ซีเมนต์ และคาร์ไบด์ ขณะที่รายงานของธนาคารโลก เมื่อปี 2550 ก็เผยมูลค่าความเสียหายจากมลพิษในแต่ละปีของจีนนั้น เทียบได้เท่ากับ ร้อยละ 5.8 ของจีดีพี

ทั้งนี้ แผนปฏิบัติของรัฐบาลสำหรับการลงทุนของต่างชาติ ในพื้นที่ตอนกลางและตะวันตกของจีนนั้น ได้มีการปรับปรุงล่าสุดในเดือนกันยายน 2553 ระบุต้องห้ามสำหรับอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ ใช้พลังงานสิ้นเปลือง และเทคโนโลยีล้าหลัง

แต่แม้ว่าจะมีแผนแนวทางสำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันตก เพื่อควบคุมปัญหามลพิษ เอาเข้าจริงก็คงเกิดปัญหาขึ้นอยู่ดี และไชน่า เอ็นไวรอนเมนท์ นิวส์ แสดงความเห็นว่า สิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับการบุกเบิกพัฒนาอุตสาหกรรม ทางฝั่งตะวันตกเวลานี้ คือต้องไม่ใช่พื้นที่สำหรับรับโละทิ้งโรงงานเก่าๆ ของภาคตะวันออก หรือทิ้งปัญหาของภาคตะวันออกมาให้ แต่ควรเรียนรู้ปัญหาที่เกิด มาปรับตามลักษณะเฉพาะของพื้นที่ตะวันตก ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกฎหมายอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ สำหรับใช้บังคับในพื้นที่ต่างๆ ของภาคตะวันตกนี้โดยเฉพาะ และมีแผนลงทุน ที่คำนึงถึงความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์เฉพาะของพื้นที่นั้นๆ มากกว่าที่จะใช้แผนลงทุนทั่วไป
กำลังโหลดความคิดเห็น