xs
xsm
sm
md
lg

ถามชีวิต : ความเกลียดชัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผมเชื่อว่าคุณคงเคยมีประสบการณ์เกลียดใครสักคนหรือหลายคนมาบ้างนะครับ แม้ว่ามันอาจจะไม่ใช่ประสบการณ์ที่ดี แต่ก็เป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้กับใจของเราทุกคน

ลองมาเรียนรู้ธรรมชาติของความเกลียดกันสักนิดดีไหมครับ อันที่จริง ความเกลียดก็มีต้นตอมาจากความโกรธที่สะสมไว้ ที่เปลี่ยนไปเป็นความชิงชัง เป็นความไม่ชอบอย่างแรง

ส่วนใหญ่เวลาที่เราโกรธใคร พอหายโกรธ ใจเราก็กลับคืนมาเป็นปกติ ลืมเรื่องราวที่ทำให้โกรธเคืองกันไป

ปล่อยเรื่องราวที่เกิดขึ้น ให้ผ่านไป โดยไม่เก็บมารบกวนใจตัวเอง

แต่กับคนบางคน กับบางเรื่องอาจไม่เป็นเช่นนั้นครับ

เพราะในกรณีที่เราเก็บความโกรธไว้นาน พูดหรือคิดถึงทีไร ก็ยังรู้สึกได้ถึงความไม่ชอบ ไม่พอใจ จนอาจมีความคิดอยากทำให้เขาเจ็บ อยากทำให้เขาได้รับความทุกข์ คิดวนเวียนอยู่กับการมองในทางร้าย ยิ่งคิดก็ยิ่งเคือง ยิ่งโกรธ ยิ่งเกลียดชัง

ถ้าเป็นอย่างนี้ หากเราได้ลองหันกลับมาสังเกตใจตัวเอง คุณจะพบว่าใจเราขณะนั้น มีแต่ความทุกข์ รุ่มร้อน กระสับกระส่าย ร่างกายก็มีแต่ความตึงเครียด กระวนกระวาย

ก็คงต้องถามตัวเองล่ะครับว่า คุณรู้สึกอย่างไรกับความรู้สึกในเวลาเช่นนี้ นี่คือสิ่งที่คุณต้องการหรือไม่ หรือคุณอยากให้ตัวเองเป็นอย่างไร

คนส่วนใหญ่ ไม่มีใครชอบอารมณ์โกรธของตัวเองหรอกครับ เพราะมันเต็มไปด้วยความทุกข์ กระวนกระวาย ไม่เป็นสุข

แต่น่าแปลกนะครับ เมื่อเรามีความเกลียดชังอยู่ภายในใจ เรากลับไม่ค่อยคิดที่จะกำจัดความเกลียดชังให้ออกไปจากใจของเรา ตรงกันข้าม เรากลับแต่จะเพิ่มพูนความเกลียดชังให้มากขึ้น โดยการหาทางแก้แค้นหรือเอาคืนคนที่เราเกลียด เรามักทำแบบนั้นจนลืมมองดูใจตัวเองว่าเป็นอย่างไร

แน่นอนครับว่า ถ้าเราไม่โกหกตัวเอง ก็คงจะพบว่าใจในยามนั้นมีแต่ความรุ่มร้อน จนไม่มีพื้นที่เหลือพอสำหรับความสุขแม้เพียงนิด

บางคนถึงกับเคยคิดว่าถ้าสามารถเสกให้คนที่เราเกลียดหายไปจากโลกนี้ได้ ชีวิตนี้คงจะมีความสุขไม่น้อย

เพราะจะได้ไม่ต้องก่อเวรสร้างกรรมต่อกันอีก

แต่ในความเป็นจริง การกำจัดใครสักคนออกไปจากชีวิต โดยไม่สร้างเวรต่อกันนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากครับ และการคาดหวังว่าเราจะมีความสุข เมื่อได้กำจัดคนคนหนึ่งออกไปนั้น ก็เป็นไปไม่ได้เช่นกัน

เพราะฉะนั้น ก็คงจะต้องกลับมาถามตัวเองดูล่ะครับว่า เรามีทางเลือกอะไรบ้าง

ทางเลือกที่หนึ่ง เก็บความเกลียดชังนั้นไว้ในใจต่อไป

ทางเลือกนี้มีคนเลือกโดยไม่รู้ตัวเป็นจำนวนไม่น้อยครับ คนเหล่านั้นเลือกที่จะเก็บความเกลียดชังไว้ จนกว่าคนที่เกลียดจะได้รับการตอบแทนที่สาสม

ขณะเดียวกันก็เอาแต่คิดเคียดแค้น หาทางเอาคืน จนกว่าจะรู้สึกพอใจ สะใจ... และย้ำเตือนความรู้สึกว่าเป็นฝ่ายถูกกระทำ

ทางเลือกที่สอง แปลงความเกลียดชัง ให้เป็นพลัง

นั่นก็คือ แปลงความเกลียดที่มีให้กลายเป็นพลังความฮึด และใช้พลังความสามารถที่มีอยู่กับการสร้างตัวเอง

แต่ยังคงเก็บความเจ็บปวดและความเกลียดชังไว้ในใจต่อไป ...

ทางเลือกที่สาม ปล่อยเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ผ่านไป

ไม่ปล่อยให้มันมีอำนาจเหนือเรา หรือรบกวนจิตใจเรา แล้วหันกลับมาค้นหาจุดหมายชีวิตที่มีคุณค่าให้กับตัวเอง ใช้พลังความสามารถที่มีอยู่ สร้างชีวิตและความสงบสุขที่ต้องการ ...

สามทางเลือกนี้ คุณสนใจจะเลือกทางไหนครับ ลองทบทวนถามใจตัวเองดีๆ

เริ่มต้นจากการพิจารณาเรื่องราวที่ทำให้คุณเกลียดคนคนนั้น ลองทบทวนดูว่า เขามีส่วนต้องรับผิดชอบต่อความทุกข์ของคุณแค่ไหน คุณคิดว่า เขามีเจตนาจะทำร้ายคุณ ไม่ใส่ใจคุณมากน้อยเพียงใด

เป็นไปได้ไหม ที่เขาอาจทำไป โดยไม่ทันได้มองถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อคุณ เป็นไปได้ไหม ว่าเขาไม่ได้ตั้งใจจะทำร้ายคุณ อย่างที่คุณเข้าใจ

ลองใคร่ครวญความเป็นไปได้เหล่านี้ดูดีๆ นะครับ บางทีเรื่องราวที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่คุณคิดก็ได้

ลองทบทวนดูว่า สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของคุณ คืออะไร คุณต้องการอะไรกันแน่ในชีวิตนี้

ใช่หรือไม่ ว่าคุณต้องการก้าวไปสู่จุดหมายด้วยความสงบสุข ใช่หรือไม่ ว่าคุณต้องการสะสมบุญกุศลไว้ในดวง จิตของคุณ หรือคุณไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น นอกเหนือจากการทำให้คนที่คุณเกลียดได้รู้ว่า เขาเป็นต้นเหตุของความทุกข์ทั้งปวงในชีวิตคุณ

ลองทบทวนดูนะครับว่า จริงๆ แล้ว
คุณต้องการชีวิตแบบไหน ใจคุณต้องการอะไร...


คุณจะเลือกทางไหนก็ได้ที่คุณต้องการ นั่นคือสิทธิของคุณ คุณอาจเลือกที่จะคิดที่จะมองในทางที่ทำให้คุณรู้สึกเกลียดชังมากยิ่งขึ้น คุณอาจเลือกที่จะคิดที่จะมองในทางที่ทำให้คุณก้าวผ่านพ้นเรื่องร้ายนั้นไปได้

หรือคุณอาจเลือกที่จะรับผิดชอบต่อความรู้สึกของตนเองเหนือสิ่งอื่นใด

แล้วก้าวเดินต่อไป บนเส้นทางที่ใจคุณต้องการ

คุณเลือกได้เสมอครับ ...

(เรียบเรียงจาก บทสื่อเสียงชุด “ถามชีวิต”
www.jitdee.com)


(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 130 กันยายน 2554 โดย นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต สสส.)
กำลังโหลดความคิดเห็น