xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมบันเทิง : Changeling คุณแม่หัวใจแกร่ง พลิกปมปริศนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สตรีคนใดก็ตาม มีหัวใจของความเป็นแม่อย่างเต็มเปี่ยม แม้อุปสรรคปัญหาจะถาโถมมากมายจนแทบ ไร้ซึ่งหนทาง หรือต้องใช้เวลานานแค่ไหน แต่หากการฝ่าขวากหนามกั้นกลางนั้น คือ การได้ทำเพื่อลูกรัก... หัวใจของความเป็นแม่ ก็แกร่งเกินกว่าบุรุษใดจะเทียบเทียม

Changeling
เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงซึ่งเกิดขึ้นในเมืองแอลเอ ปี 1928 ว่าด้วยชีวิตของ “คริสติน คอลลินส์” คุณแม่ลูกติด ซึ่งอาศัยอยู่กับ “วอลเตอร์” ลูกชายวัยประถมกันเพียงสองคน

การทำหน้าที่แม่เพียงลำพัง (Single Mom) ของคอลลินส์ ไม่ได้ขาดตกบกพร่อง เธอดูแลลูกชายเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็ทำงานสุจริตหาเลี้ยงชีพได้โดยไม่เดือดร้อน แต่แล้ววันหนึ่ง เมื่อเธอกลับมาจากการทำงาน ลูกชายเพียงคนเดียวก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย เหลือเพียงหัวใจแตกสลายของผู้เป็นแม่

ความหวังที่ดูริบหรี่ ถูกจุดไฟให้ลุกโชนขึ้นใน 5 เดือนถัดมา เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งให้คอลลินส์ทราบว่า ทางการได้ติดตามหาลูกชายเธอพบแล้ว หากแต่การณ์กลับไม่เป็นไปดังคาด เมื่อเด็กชายที่ตำรวจนำมานั้นไม่ใช่ลูกของเธอ

และความยุ่งยากกลับขมวดปมเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามยัดเยียด และสร้างบรรยากาศของ การทำผลงาน ด้วยการนำสื่อมวลชนมาทำข่าวกันมากมาย พร้อมทั้งปัดภาระในการตอบรายละเอียดคำถามอื่นๆ แก่คอลลินส์ แถมเด็กชายรายนั้น ยังบอกชื่อ ที่อยู่ ได้ถูกต้อง ราวกับเป็นวอลเตอร์ ลูกชายตัวจริง ในวันนั้นคุณแม่ผู้ใจสลาย จึงต้องนำเด็กชายที่ไม่ใช่ลูกตนเอง กลับไปเลี้ยงดูที่บ้านอย่างมึนงง แต่เธอรู้ดีว่า “นี่ไม่ใช่ลูกชายเธอ”

เมื่อไม่ใช่ลูกของตนเอง คอลลินส์จึงเดินทางไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ อธิบายถึงข้อเข้าใจผิด ที่นำไปสู่ความผิดพลาดในครั้งนี้ แต่สิ่งที่ได้รับกลับเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจส่งแพทย์ไปตรวจสอบดู และช่วยยืนยันอีกแรงว่า “เด็กคน นี้แหละ คือ วอลเตอร์ เพียงแต่ระยะเวลา 5 เดือน คงมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง”

เมื่อปัญหาไม่คืบหน้า คอลลินส์ไม่ละความพยายามในการตามหาลูกชายที่แท้จริง เธอนำเด็กชายแปลกหน้าไปให้ทันตแพทย์ตรวจประวัติการทำทันตกรรม เพื่อยืนยันหลักฐานเอกลักษณ์บุคคล ว่าไม่ใช่ลูกชายเธอแน่นอน พร้อมทั้งนำลูกชาย (ตัวปลอม)ไปโรงเรียน เพื่อให้คุณครูประจำชั้นเห็นตรงกับเธอว่า หากต้องมีการให้ปากคำ ก็พร้อมเป็นพยานยืนยันว่าเด็กรายนี้ไม่ใช่วอลเตอร์แน่ๆ

เมื่อสิ่งพิรุธเริ่มปรากฏออกมาในหลายประเด็น คอล ลินส์เดินทางกลับไปยังสำนักงานตำรวจแอลเออีกครั้ง เพื่อยืนยันหลักฐานการทำงานที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ แต่โชคร้ายเหลือเกินที่วงการตำรวจแอลเอในยุคนั้น คือ องค์กรที่เต็มไปด้วยการฉ้อฉล เอาผลประโยชน์ เอาหน้าสร้างผลงาน โดยไม่หวังคุณภาพ ดังนั้นการที่คุณแม่ลูกติดรายหนึ่ง จะมาทำให้ตำรวจเสื่อมเสีย ย่อมเป็นภัยต่อภาพลักษณ์

ผู้หมวดโจนส์ ผู้รับคดีนี้มาตั้งแต่ต้น จึงกล่าวให้ร้ายว่า คอลลินส์เกิดอาการสติแตก และปัดภาระที่จะเลี้ยงดูบุตรตนเอง จึงกุเรื่องว่าเด็กคนนี้ไม่ใช่ลูกชาย เพื่อที่จะผลักภาระนี้ไปให้ผู้อื่น จึงมีคำสั่งพิเศษให้ส่งตัวเธอไปยังโรงพยาบาลจิตเวช ชนิดไม่ต้องรอคำสั่งศาล

จากคุณแม่ที่ทวงถามความเป็นธรรม ตอกย้ำการทำงานที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐ กลับต้องเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลบ้า ซ้ำยังไม่รู้ชะตาชีวิตของลูกชาย แต่ก็ยังนับว่าเคราะห์ดี ที่ก่อนหน้านั้นคอลลินส์เคยได้รับการเสนอความช่วยเหลือจากนักรณรงค์ด้านสิทธิและสังคมอย่าง “บริกเล็บ” มาก่อน

บริกเล็บนั้น เป็นไม้เบื่อไม้เมากับตำรวจแอลเออยู่แล้ว เขาพยายามพูดปลุกความเข้าใจให้ประชาชนรับรู้ และเปิดโปงความเลวร้ายที่ซุกอยู่ใต้พรมองค์กรตำรวจ แต่โชคชะตาก็ยังไม่โหดร้ายกับคอลลินส์เกินไป เพราะมีตำรวจสืบสวนนายหนึ่ง สืบสาวราวเรื่องจนไปเจอ “ตอ” เข้าว่า เกิดคดีลักพาเด็กไปหลายสิบราย โดยฆาตกรต่อเนื่องรายหนึ่ง และหนึ่งในนั้นอาจเป็นวอลเตอร์ !!

หลักฐานส่วนนี้จึงเพิ่มน้ำหนักให้กับบริกเล็บ และนำคอลลินส์กลับมาสู่อิสรภาพได้อีกครั้ง พร้อมกับเดินหน้าทวงถามความยุติธรรม ตีแผ่ความเลวร้ายของเจ้าหน้าที่รัฐ และสืบเสาะตามหาความจริงในการหายตัวไปของลูกชาย

Changeling แบ่งประเด็นหลักออกเป็น 2 ด้าน ด้านหนึ่ง คือ หัวใจอันแข็งแกร่งไม่ย่อท้อของผู้เป็นแม่ กับอีกด้านคือ ระบบนิติรัฐที่ล้มเหลวของสังคมอเมริกันในยุคนั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาดึงข้อคิด คติเตือนใจจากภาพยนตร์ ย่อมพบว่า “สติ” คือ สิ่งสำคัญที่สุด ที่คอลลินส์นำมาสู่การแก้ปัญหาให้ลุล่วง ดังคำสอนตามหลักพุทธศาสนา ที่ว่า “สติมา ปัญญาเกิด” หรือ “สติ มีประโยชน์ในที่ทั้งปวง”

ขณะเดียวกันเธอยังมี “เมตตา” คู่กับสติ มากเพียงพอ ที่จะนำเด็กที่ไหนก็ไม่รู้ ที่มาโกหกว่าเป็นลูกชายเธอ มาดูแลเลี้ยงดูไปพลางๆ ก่อนที่จะจัดการสะสางปัญหาขั้นตอนถัดไป

แม้กระทั่งการแสดงความกล้าหาญในการต่อสู้กับอำนาจรัฐ คอลลินส์ก็ไม่ได้โหวกเหวกโวยวาย ทำร้ายใครๆ เธอพยายามใช้เหตุและผล พร้อมกับใช้ปัญญา ในการหาหลักฐาน พยานบุคคลต่างๆมาคัดง้างระบบที่ผิดพลาด และภาพชัดที่สุด ที่บ่งบอกว่า “สติ” ของคอลลินส์ ยังคงแกร่งและเข้มแข็งเหลือเกิน คงเป็นช่วงเวลาในโรงพยาบาลจิตเวช ซึ่งเป็นสถานที่ที่แม้กระทั่งคนดีๆก็อาจเป็นคนฟั่นเฟือนไปได้ หากหวั่นไหวคุมสติไม่อยู่

ในช่วงท้ายของภาพยนตร์ เป็นเรื่องราวอีกหลายปีจากนั้น นักสืบคดีฆาตกรรมเผยว่า เจอเด็กคนหนึ่งที่หายสาบสูญไปหลายปีก่อน และจากการสอบสวนพบว่า ในคืนนั้นมีเด็กหนีรอดจากฆาตกรใจเหี้ยมไปได้ 3 คน ซึ่งหนึ่งในนั้น คือวอลเตอร์ เพียงแต่ไม่รู้ชะตากรรมหลังจากนั้น ว่าเป็นอย่างไร

คอลลินส์ทราบข่าวแล้วยิ้มอย่างมีกำลังใจ แม้เธอไม่รู้ว่าลูกชายเธอจะหนีไปได้ไหม จะเป็นตายร้ายดีอย่างไร แต่ “สติ” ก็บอกกับตัวเธอให้ยังมีความหวัง และเกิดเป็น “ความเพียร” ที่จะไม่ลดละในการทำหน้าที่ความเป็นแม่ต่อไปจนกว่าจะได้พบลูกชายที่แท้จริง

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 129 สิงหาคม 2554 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)




กำลังโหลดความคิดเห็น