“นมัสการครับ/ค่ะ หลวงตา”
“วันนี้มีอะไรหรือโยม”
“เราสองคนจะมาทำสังฆทานครับ”
หลังการทำสังฆทานเสร็จสิ้นลง บทสนทนาระหว่างพระและฆารวาสก็เริ่มต้นขึ้น
“หลวงตาคะ ดิฉันได้อ่านบทความจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องของลูกที่ตัดสินปัญหาชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย เลยอยากจะถามความคิดเห็นจากหลวงตา”
“เขาเขียนไว้ว่าอย่างไรล่ะ”
“การเป็นลูกที่ดีกับการเป็นพนักงานที่ดี ข้าพเจ้าก็ย่อมเลือกที่จะไปด้วยกัน แต่เมื่อสถานการณ์ของชีวิตต้องให้เลือก ข้าพเจ้าจะต้องเลือกการเป็นลูกที่ดี เพราะถ้าข้าพเจ้าไปทำงานโดยไม่สนใจมารดา มารดาข้าพเจ้าจะใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างไร ชีวิตคนเรามีมารดาเพียงคนเดียว ถ้าเกิดอะไรขึ้นไม่มีโอกาสแก้ตัว แต่การเป็นข้าราชการที่ดีนั้นสามารถมีโอกาสแก้ตัวได้ ข้าพเจ้าเคยได้รับรางวัลพนักงานดีเด่น แต่ปัจจุบันต้องถูกตั้งกรรมการสอบสวนและถูกให้ออกจากงาน วันหนึ่งถ้ามีโอกาส ก็สามารถกลับมาเป็นพนักงานที่ดีและได้รับการยอมรับได้”
“อะไรคือความถูกต้องคะ ?”
“ไม่รู้ซิ คำพูดที่กอปรด้วยเหตุผลเช่นนี้ บ่งชี้ได้อย่างชัดเจนถึงความกตัญญูกตเวทีต่อมารดาอย่างแท้จริง บางครั้งคนเราก็ถูกสถานการณ์บังคับ ทำให้รู้สึกว่ากำลังมาถึงทางตันของชีวิต ยากที่จะหาทางแก้ไขให้ชีวิตดำเนินไปได้อย่างที่ใจปรารถนา หลวงตาก็ไม่เคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้ จึงยากที่จะให้คำตอบได้ว่าควรแก้ไขอย่างไร”
“แต่ในบทความนั้นได้พรรณนาไว้ว่า “ตนเองไม่มีเจตนาที่จะเพิกเฉยต่อการชำระทุนเงินเดือนและเบี้ยปรับของหลวง เนื่องจากน้ำท่วมบ้านและมารดาไม่สามารถดูแลตนเองได้ ต้องพามารดามาบำบัดอาการป่วยที่สถาบันจิตเวช ต่อมาตนเองตั้งครรภ์ จึงมิได้เดินทางกลับบ้านเดิม จึงไม่ทราบเรื่อง จนเกิดเป็นคดีความฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อหลังคลอดบุตรก็กลับบ้านเดิมและได้รับหมายศาล” นี่คงเป็นภาวการณ์ที่กดดันคนดีที่มุ่งจะแก้ไขสถานการณ์ให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อราชการและครอบครัว มิใช่หรือคะ”
“เธอ..อย่าไปเร่งหลวงตานัก ค่อยๆ วิจารณ์กันพอเป็นเครื่องเตือนสติในการดำเนินชีวิตของเราดีกว่า เมื่ออ่านข่าวนี้ทุกคนก็รู้สึกว่าความกดดันในชีวิตเมื่อถึงทางตันนั้น มันหนักหนาสาหัสมาก ถ้าไม่รู้จักทำตนให้อยู่ในกรอบของพุทธธรรม ก็ยากที่จะผ่านพ้นสถานการณ์ไปได้ ผมยอมรับว่า ถ้าเป็นผม ก็อาจจะตัดสินใจยุติชีวิตได้เหมือนกันครับ เพราะโลกนี้คงไม่ยุติธรรมกับผมจริงๆ”
“คนที่ฆ่าตัวตายนะ มักจะมีความรู้สึกเหมือนที่เธอพูดมา ตอนนั้นคงจะมึนงง ไม่มีความคิดที่กอปรด้วยเหตุผล คิดว่าชีวิตมาถึงทางตัน ไม่มีทางแก้ไข หากว่านำตนไปสู่ความตายแล้ว ทุกอย่างก็ยุติ แม้พระท่านจะสอนว่าฆ่าตัวตายเป็นบาป แต่วินาทีที่จะฆ่าตัวตาย ไม่มีใครมาคำนึงถึงบุญบาปแล้ว ตอนนั้นก็คิดเพียงแต่ว่าความตายเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ดังนั้น จึงมีคนกล่าวว่าคนที่ฆ่าตัวตายมักจะไม่คิดมาก ถ้าเขาคิดมากหน่อยคงไม่ฆ่าตัวตายหรอกนะ “
“เขาไม่ห่วงแม่และห่วงลูกในท้องบ้างเลยหรือคะ”
“โยม.. คำถามนี้อย่าไปถามใครอีกนะ คนเรามีกรรมลิขิตที่ต่างกัน ไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้หรอก”
“หลวงตาครับ ถ้าขณะที่จะตาย วิญญาณมีความกตัญญูกตเวทีอยู่มาก จะไปเกิดที่ดีไหมครับ”
“ไม่รู้สิโยม สุขทุกข์ขณะที่วิญญาณจะหลุดจากร่าง เป็นเครื่องกำหนดการจุติในภพใหม่ อาตมาก็ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นเช่นไร วาสนาบารมีของเขาจะเป็นเช่นไรก็ไม่ทราบ แต่เชื่อว่าทำดีย่อมได้ไปสวรรค์ ทำชั่วย่อมลงนรก ดีชั่วก็อยู่ในขณะที่วิญญาณระลึกได้ นึกดีก็คงไปสวรรค์ นึกชั่วก็ลงนรก อย่าไปสงสัยเลยโยม มันไม่ใช่วิสัยของปุถุชนแบบเรา”
“หลวงตาคะ หนูสงสัยว่าการเป็นลูกที่ดีกับการเป็นพนักงานที่ดี ทำไมจึงไม่สามารถดำเนินไปพร้อมกันได้ล่ะคะ”
“โยม.. คำนี้ต้องแยกเป็น ๒ กรณีนะ คือ การเป็นลูกที่ดี ๑ การเป็นพนักงานที่ดี ๑ โยมจะเห็นว่าถ้าจะเป็นลูกที่ดี พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ในสิงคาลกสูตรว่า อันบุตรพึงบำรุงบิดามารดาด้วยปฏิบัติหน้าที่ ๕ ประการคือ คือ ๑. ด้วยตั้งใจไว้ว่าบิดามารดาเลี้ยงเรามา เราจักเลี้ยงท่านตอบ ๒. เราจักรับทำกิจของท่าน ๓. เราจักดำรงวงศ์สกุลให้เจริญรุ่งเรือง หรือเสมอกับที่บิดามารดาได้กระทำไว้ ๔. เราจักปฏิบัติตนให้สมกับเป็นผู้สมควรรับทรัพย์มรดกของบิดามารดา ๕. เมื่อบิดามารดาถึงแก่กรรมไปแล้ว เราจักทำทักษิณาบุญกุศลอุทิศไปให้ท่าน
ถ้าจะเป็นพนักงานที่ดี พระพุทธองค์ทรงสอนว่า อันพนักงานที่ดีพึงปฏิบัติหน้าที่ดังนี้ ๑. ลุกขึ้นทำการงานก่อนนาย ๒. เลิกการงานทีหลังนาย ๓. ถือเอาแต่ของที่นายให้ ๔. ทำการงานให้ดีขึ้น ๕. นำคุณของนายไปสรรเสริญ โยมลองตรองดูซิว่าทั้งสองสถานะจะทำพร้อมกันได้ไหม?”
“หนูคิดว่าทำไม่ได้หรอกค่ะ อยู่บ้านก็ทำหน้าที่ลูกได้ อยู่ที่ทำงานก็ทำหน้าที่พนักงานได้ ถ้าไปทำพร้อมกัน หน้าที่ลูกก็ไม่ดี หน้าที่พนักงานก็ไม่ดี ต้องทำทีละหน้าที่ค่ะ จึงจะได้ผลดี แม้ไม่มาก ก็ไม่เสียหน้าที่หรอกค่ะ”
“เดี๋ยวนี้คนเป็นลูกเขาทำหน้าที่ดีไหมล่ะโยม?”
“หลวงตาว่าหนูหรือคะ”
“ก็ถามไปตามเนื้อความที่กำลังสนทนากันอยู่นี่ไง หรือว่าเราทำให้พ่อแม่กลุ้มใจอะไรหรือ?”
“หนูก็เป็นปุถุชนนี่คะ บางครั้งก็ทำให้พ่อแม่กลุ้มใจอยู่เหมือนกัน ตอนนี้มีลูกสาวที่กำลังโต ก็เข้าใจถึงความทุกข์ใจของพ่อแม่ตอนเลี้ยงหนูมา รู้สึกว่าหนูจะกังวลมากกว่าท่านอีกนะ ห่วงไปสารพัด จนแทบจะขังลูกไว้ที่บ้านเลยค่ะ นี่ดีที่พ่อแม่ท่านอยู่ด้วย ก็คอยเป็นกำลังใจให้หลานตลอดมา เลยค่อยยังชั่วหน่อยค่ะ”
“ไปคาดหวังอะไรกับลูกมากเกินไปหรือเปล่า”
“ธรรมดานี่คะหลวงตา หนูก็หวังให้ลูกโตขึ้นมามีการศึกษาดี อยู่ในสังคมดีๆ มีงานการทำดีๆ จะได้มีความมั่นคงของชีวิตค่ะ “
“เออ.. เหมือนแม่เธอเคยพูดกับหลวงตาเลยนะ แม่เธอก็เครียดเหมือนเธอเลย นี่หลวงตาก็ฟังแม่เธอบ่นให้ฟังเรื่องเธอ จนรู้สึกว่าเธอเป็นลูกสาวหลวงตาเลยนะ รู้เรื่องเธอไปทุกอย่าง แต่หลวงตาดีกว่าแม่เธอหน่อย ที่ไม่ได้เป็นแม่ของเธอ”
“ทำไมหลวงตาพูดอย่างนั้นล่ะคะ”
“ก็หลวงตาไม่ใช่แม่ของเธอ ทุกข์ในการเป็นแม่จึงไม่เกิดขึ้นกับหลวงตาน่ะซิ นี่ดีนะที่พ่อเธอไม่ค่อยบ่นมากนัก มิฉะนั้นหลวงตาก็ต้องรับภาระทุกข์เป็นสองเท่าเลย”
“หลวงตาพูดอย่างนี้ หนูก็เขินแย่เลย มิน่า..พ่อแม่มาหาหลวงตาทีไร ต้องพาหนูมาด้วย นี่คงเป็นอุบายของหลวงตาที่ไม่ให้พ่อแม่บ่นเรื่องเลี้ยงดูหนู ต่อหน้าหนูซิคะ”
“ใช่.. ถ้าลูกมาด้วย พ่อแม่ก็จะรู้สึกถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเอง ไม่ใช่จะเป็นพนักงานที่ดีพร้อมกับเป็นพ่อแม่ที่ดี มันต้องแยกแยะหน้าที่และเวลาให้ถูกต้อง เวลาทำงานก็ทำตามหน้าที่โดยความซื่อสัตย์สุจริต เวลาเป็นพ่อแม่ก็ต้องทำหน้าที่ให้ได้อย่างครบถ้วน กอปรด้วยพรหมวิหารธรรมคือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แล้วเลี้ยงลูกไปตามธรรมชาติในกรอบแห่งพุทธธรรม ครอบครัวก็จะเป็นสุขตามนัยแห่งพระพุทธพจน์ เราล่ะเคยย้อน ไปถึงความทุกข์ยากของพ่อแม่บ้างไหม”
“คิดซิคะ คิดมากด้วย ตั้งแต่วินาทีแรกที่ลูกสาวออกมาจากตัวหนู หนูก็คิดถึงความทุกข์ของแม่มากเลยค่ะ ชีวิตจะเป็นจะตายในขณะนั้นหนูไม่เคยคิดถึงเลย ห่วงว่าลูกจะไม่มีชีวิต มีอวัยวะไม่ครบถ้วน จนได้ยินเสียงร้องแรกของลูก จึงรู้สึกว่าโลกนี้มันช่างสุขสันต์จริงๆ ความเจ็บในขณะคลอดมันหายไปหมด ไม่รู้สึกอะไรเลย รู้เพียงแต่ว่าอยากกอดลูกไว้แนบอก ไม่อยากให้พยาบาลนำลูกไปห่างตัว ต่อมาหนูก็มาคิดถึงแม่ แม่ก็คงจะมีความรู้สึกอย่างหนู ความรักที่หนูมีต่อลูกมากเพียงไหน แม่ก็ต้องมีให้หนูมากเพียงนั้น ภาพในอดีตมันผ่านเข้ามาในห้วงความคิดไม่รู้จบเลยค่ะหลวงตา น้ำตามันไหลเมื่อไรก็ไม่รู้ ตอนแม่มาเยี่ยมหนู หนูกอดแม่ร้องไห้เลยค่ะ พร่ำขอโทษท่านสารพัด แม่ก็ร้องไห้พร้อมหนู นี่หนูยังโชคดีนะคะ ที่ได้มีโอกาสสนองคุณพ่อแม่ ทำชีวิตท่านให้มีความสุข แล้วหลานๆ ก็อ้อนไปหาตายายเกือบทุกอาทิตย์เลยค่ะ”
“ทำเป็นพูดดีไป ตอนเป็นสาวๆ น่ะเฮี้ยวน่าดู นี่ถ้าไม่ได้ผมเป็นสามีละก็ คงทำให้พ่อแม่ปวดหัวมากเลยครับหลวงตา”
“อ้าว..แล้วตัวเองล่ะดีกว่าเขานักหรือ ตอนหนุ่มๆ ทำอะไรเคยคิดบ้างไหม คิดจะทำอะไรก็ทำ จะไปตีรันฟันแทงที่ไหน ก็ไม่เคยห่วงพ่อแม่เลย นี่ถ้าไม่เกรงใจพ่อแม่เธอ ฉันไม่ยอมแต่งด้วยหรอก”
“เออ.. พอกันทั้งคู่ ดื้อพอกัน เป็นพ่อคนแม่คนแล้ว ยังจะเอาชนะกันอีก หลวงตาก็ชักจะเอือมระอาแล้วนะ ชอบหยอกกันนัก นี่ดีนะที่ลูกๆ ไม่ได้มาด้วย เดี๋ยวหลวงตาก็ได้ฟังเรื่องไม่เป็นเรื่องไปอีกรุ่น”
“ขอโทษค่ะหลวงตา.. หลวงตาคะ ตกลงอะไรคือความถูกต้องคะ?”
“อ้าว.. ยังติดใจอยู่อีกรึ ถ้าตอบตามพุทธธรรม อริยสัจ คือความถูกต้อง ถ้าตอบตามทัศนคติในวันนี้ คงตอบว่าความรักพ่อแม่เป็นความถูกต้อง หรือโยมคิดว่าอย่างไร?”
“หนูก็คิดว่าความรักพ่อแม่เป็นความถูกต้องในโลกนี้ คงไม่มีใครรักหนูมากเท่าพ่อแม่ของหนู หนูรู้ดีค่ะว่าความรักที่หนูมีต่อลูกสาวนั้นมากเพียงไร พ่อแม่ก็รักหนูมากเพียงนั้น ดังนั้นหนูจึงรู้ว่าความรักของพ่อแม่เป็นความถูกต้องที่สุดในโลก”
“พอเป็นแม่คนก็รู้สึกเลยนะว่าความรักของพ่อแม่เป็นความถูกต้อง ดีที่รู้ตัวเร็ว จึงได้ตอบแทนคุณท่านในขณะที่กำลังมีลมหายใจ ทำให้ท่านและเราได้สุขใจในกุศลกิจที่ได้กระทำต่อกันเสมอมา นี่ล่ะยาที่ทำให้พ่อแม่อายุยืนนาน ดังคำพระที่ให้พรว่า อายุ วรรณะ สุขะ พละ”
“หลวงตาครับ ผมสงสัยคำที่ “อัลแบร์ กามูส์” นักเขียนรางวัลโนเบลชาวฝรั่งเศส พูดว่า “ผมรักแม่มากกว่าความยุติธรรม” มันถูกต้องหรือเปล่าครับ”
“แล้วคิดว่าถูกต้องไหมล่ะ”
“ไม่ทราบซิครับ ผมรู้สึกว่าความรักที่พ่อแม่ให้ผม หรือความรักที่ผมให้ลูก บางครั้งก็ไม่สามารถพรรณนาเป็นคำพูดได้ ถ้าลูกผมไปทะเลาะกับเด็กคนอื่นมา บ่อยครั้งที่ผมก็คิดว่าลูกผมทำถูก แต่เมื่อสอบถามความจริง ก็มากครั้งที่ลูกผมทำผิดก่อน นี่ก็คงเป็นความรู้สึกว่าความรักลูกมีมากกว่าความยุติธรรมได้ไหมครับ”
“คำว่า ยุติธรรม เมื่อแยกคำออกก็ได้คำว่า ยุติ-ธรรม ยุติ หมายถึง ตกลง, จบ, เลิก ส่วน ธรรม หมายถึง คุณความดี, คำสั่งสอนในศาสนา, ความจริง ธรรมในพระพุทธศาสนาแยกได้เป็น ๓ คือ ธรรมดี คือ ๑. กุศลธรรม ธรรมที่เป็นบุญ เป็นความดี ๒. อกุศลธรรม ธรรมที่เป็นความชั่ว ความเดือดร้อน ๓. ธรรมที่ไม่เป็นกุศลและอกุศล
ดังนั้นแปลความโดยสรุปว่า ยุติธรรม คือ การจบด้วยกุศลธรรม หรือการจบด้วยอกุศลธรรม หรือการจบด้วยธรรมที่ไม่เป็นกุศลและอกุศล ถ้าประสงค์ยุติธรรมที่เป็นกุศลธรรม ก็ต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์ที่สังคมกำหนด เช่นจารีตประเพณี กฎหมาย เหตุนี้ เทพเจ้าแห่งความยุติธรรมของตะวันตกจึงเป็นรูปเทพีที่มีผ้าผูกตา ถือตาชั่ง ที่มีดาบเป็นแกน อันเป็นสัญลักษณ์ที่เตือนให้ผู้เกี่ยวข้อง ในกระบวนการยุติธรรม ได้ตระหนักถึงเสียงที่กอปรด้วยเหตุผล โดยปราศจากอคติในการพิจารณาคดีความ
แต่ความยุติธรรมเป็นกฎเกณฑ์ทางสังคมกำหนด ดังนั้น ในความรักแม่ที่เป็นส่วนบุคคลจึงเป็นมากกว่าความยุติธรรม เพราะเป็นความรู้สึกระหว่างลูกกับแม่ บางครั้งกฎเกณฑ์ทางสังคมก็ไม่สามารถกำหนดความรักของแม่กับลูกได้ ดังนั้นคำกล่าวว่า “ผมรักแม่มากกว่าความยุติธรรม” จึงเป็นความรู้สึกที่แท้จริงของลูก”
“ทำไมคนเราจึงไม่สำนึกในความรักพ่อแม่บ้างเลยครับหลวงตา”
“ไม่รู้ซิ คนเราถือกำเนิดมาด้วยกรรมลิขิต กรรมนั้นอาจส่งผลให้ความสำนึกในความรักพ่อแม่มีความแตกต่างกันไป พูดไปก็อดนึกถึงความในภริยาสูตร ที่กล่าวถึงลักษณะภริยา ๗ แบบ เมื่อจะนำมาประยุกต์เป็นลักษณะพ่อแม่ ก็คงจะได้คล้ายๆ กัน คือ ๑. พ่อแม่ที่เปรียบเสมอด้วยเพชฌฆาต หมายถึงพ่อแม่เป็นพวกที่มีจิตใจคิดไม่ดีต่อลูก ชอบทำร้ายลูก ชอบด่าทอสาปแช่งลูก ทำบ้านให้เป็นนรกสำหรับลูก ๒. พ่อแม่ที่เปรียบเสมอด้วยโจร หมายถึงพ่อแม่ที่เป็นคนล้างผลาญ ชอบสร้างหนี้สิน หาได้เท่าไรก็ไม่พอ หรือเอาเรื่องลูกไปโพนทนาให้คน ข้างนอกรับรู้ ทำให้ลูกเสื่อมเสียชื่อเสียง ๓. พ่อแม่ที่เปรียบ เสมอด้วยนาย หมายถึงพ่อแม่ที่เป็นคนชอบข่มลูกให้อยู่ในอำนาจ ชอบสั่งการหรือเอาแต่ใจตัวเอง ๔. พ่อแม่ที่เปรียบเสมอด้วยแม่ หมายถึงพ่อแม่ผู้ที่มีความรักต่อลูกอย่างสุดซึ้ง ไม่เคยทอดทิ้งลูก แม้ยามทุกข์ยาก ป่วยไข้ ไม่ทำให้มีเรื่องสะเทือนใจ ๕. พ่อแม่ที่เปรียบเสมอพี่ หมายถึงพ่อแม่ผู้ที่ทำตนดุจเป็นพี่ของลูก ให้ความใกล้ชิดความ อบอุ่น เป็นที่ปรึกษาลูกได้ในเรื่องที่ลูกต้องการคำตอบ ๖. พ่อแม่ที่เปรียบเสมอเพื่อน หมายถึงพ่อแม่ผู้ที่ทำตนดุจเพื่อนของลูก ๗. พ่อแม่ที่เปรียบเสมอคนรับใช้ หมายถึงพ่อแม่ผู้ที่ทำตนดุจคนรับใช้ของลูก อยู่ภายใต้คำสั่งของลูกโดยไม่มีข้อโต้แย้ง ลูกสั่งอะไรก็ทำอย่างนั้นแม้จะไม่เห็นด้วยก็ไม่ออกความเห็น อดทนทำงานตามหน้าที่ตามแต่ลูกจะสั่งการ ลองคิดดูซิว่าพ่อแม่แบบไหนที่ดี แบบไหนที่ไม่ดี แล้วเราชอบที่จะประพฤติตนต่อลูกแบบไหน”
“หนูว่าพ่อแม่ที่เปรียบเหมือนเพชฌฆาต โจร และ นาย นี่ไม่ดีเลยค่ะ ลูกคงจะเครียดมากเลยนะคะ พ่อแม่ที่เปรียบเหมือนแม่ พี่ เพื่อน ดีมากเลยค่ะ ลูกคงมีความสุขมาก พ่อแม่หนูก็เป็นแบบนี้ หนูถึงเป็นคนดีได้ ส่วนพ่อแม่ที่เปรียบเหมือนคนรับใช้ นี่ก็ดีครึ่งเสียครึ่ง ถ้าลูกนิสัยดี ก็แล้วไป ถ้าลูกนิสัยไม่ดี ก็เป็นลูกทรพีเลยนะคะ.. นี่หลวงตากำลังสอนหนูกับคุณพี่ใช่ไหมคะ”
“เดี๋ยวค่อยตอบ เราล่ะว่าไง”
“ผมก็เห็นอย่างเดียวกับภริยาครับ ก็พยายามทำตัวให้เป็นพ่อที่ดีของลูกเสมอมา แต่แม่เขานี่ซิครับ ชอบเป็นคนรับใช้ของลูก ลูกสั่งอะไร รีบทำให้ทันที”
“เอ๊ะ..คุณนี่ แขวะอีกแล้ว ฉันรักลูกมันผิดตรงไหนล่ะ หลวงตาดูซิชอบว่าประชดหนูเรื่อยเลย”
“เออ พอกันทั้งคู่ พ่อแม่ถ้าไม่รู้จักคิดถึงหน้าที่ของตน ก็จะทำตนได้ตั้ง ๗ แบบ แบบไหนดีก็รู้แก่ใจตัวเองแล้ว ไม่ต้องถาม ทำตัวกับพ่อแม่ตนอย่างไร กรรมก็ลิขิตให้ลูกทำกับตนแบบนั้น ไปตริตรองดูว่าพ่อแม่เราทำกับเราแบบไหน เราถึงได้เจริญมาเป็นพ่อคนแม่คนได้แบบนี้ แล้วก็ลองมาพิจารณาดูว่าเราทำตนกับลูกอย่างไร ลูกถึงเป็นคนแบบที่เป็นอยู่ แล้วปรับปรุงแก้ไขกันไป ครอบครัวก็จะสุขสันต์ได้เสมอ แล้วที่สุดก็จะรู้ว่า ทำไม อัลแบร์ กามูส์ จึงพูดว่า “ผมรักแม่มากกว่าความยุติธรรม”
วันนี้พอแค่นี้นะ เดี๋ยวอาตมาต้องไปธุระ ขอเวลาเตรียมตัวสักหน่อย โชคดีนะ อย่าลืมไปดูแลพ่อแม่บ้างล่ะ นี่ก็อายุมากขึ้นทั้งคู่แล้ว”
“ขอบพระคุณหลวงตา ครับ/ค่ะ ขอลากลับก่อนนะครับ/ค่ะ”
“เจริญพร”
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 129 สิงหาคม 2554 โดย พระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)