xs
xsm
sm
md
lg

รอบรู้โรคภัย : 7 สัญญาณอันตราย จากการปวดเข่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เข่าเป็นข้อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่แบกรับน้ำหนักตัว เข่าประกอบขึ้นจากกระดูก 3 ชิ้น คือ กระดูกต้นขา กระดูกหน้าแข้ง และกระดูกสะบ้า ปลายของกระดูกจะมีกระดูกอ่อนปกคลุมอยู่ ทำหน้าที่ให้ข้อเข่าเคลื่อนไหวด้วยความราบเรียบ ระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้งจะมีกระดูกอ่อนรูปวงแหวนช่วยรับน้ำหนักด้วย รอบๆข้อจะมีเอ็นและเยื่อหุ้มข้อทำหน้าที่ส่งเสริมความแข็งแรงให้กับข้อ ถุงน้ำรอบๆ ข้อเข่าจะทำหน้าที่ลดแรงเสียดทานระหว่างเอ็นกับกระดูกเมื่อข้อมีการเคลื่อนไหว

• เมื่อข้อเข่ามีปัญหาจะมีอาการอย่างไร?

อาการเริ่มแรกของข้อเข่าที่มีปัญหาคืออาการปวด ซึ่งในระยะแรกอาจเป็นอาการปวดเป็นๆ หายๆ และปวดมากเมื่อมีการใช้งานของข้อเข่า เช่น การยืนนานๆ หรือการเดินขึ้นลงบันได

เมื่อเป็นนานเข้าจะมีอาการฝืดขัด อาการปวดจะเป็นมากขึ้นและรุนแรงขึ้น อาจมีการสะดุดหรือข้อติดขัดเวลาเดินในรายที่เป็นมากๆ ข้อจะบวม

• สาเหตุของอาการปวดข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

สาเหตุของการปวดเข่าอาจแบ่งออกเป็นกลุ่ม ๆ ได้ดังนี้

1. การบาดเจ็บหรือมีอุบัติเหตุต่อข้อเข่า พบได้บ่อยมาก ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อหรือข้อบวมทันทีภายหลังจากมีอุบัติเหตุ อาจพบรอยช้ำบริเวณข้อได้

2. โรคข้อเข่าเสื่อม พบได้มากในเพศหญิงวัยกลางคนและสูงอายุ อาการปวดจะเป็นๆ หายๆ มาเป็นเวลานาน และมีความสัมพันธ์กับการใช้ข้อ

3. กระดูกอ่อนของกระดูกสะบ้าเสื่อม เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในเด็กหรือหนุ่มสาว อาจพบร่วมกับการออกกำลังกายอย่างรุนแรงหรือมีอุบัติเหตุต่อข้อเข่า เป็นเหตุให้กระดูกสะบ้าเสื่อมก่อนวัย

4. กระดูกสะบ้าเคลื่อน พบได้ในคนอายุน้อย จะมีการเคลื่อนของกระดูกสะบ้าเมื่อมีการงอข้อเข่า อาจเป็นผลจากการเสื่อมหรือฉีกขาดของเอ็นยึดกระดูกสะบ้า หรือกระดูกผิวข้อต้นขาตื้นกว่าปกติ

5. ปุ่มกระดูกหน้าแข้งอักเสบ พบได้บ่อยในเด็กวัยรุ่นที่มีการเจริญเติบโตอย่างมาก และมีการออกกำลังกายอย่างรุนแรง ทำให้มีการอักเสบของเอ็นที่ยึดติดกับปุ่มกระดูกหน้าแข้ง

6. ถุงน้ำรอบข้อเข่าอักเสบ พบได้บ่อยในผู้หญิงอ้วน หรือผู้ที่ต้องคุกเข่าทำงาน

7. อาการปวดเข่าภายหลังข้อเข่าอักเสบ มักพบในรายที่มีข้อเข่าอักเสบเรื้อรัง เมื่อได้รับการรักษาจนหายแล้วก็ตาม ผลจากการอักเสบของข้อจะทำให้มีการทำลาย กระดูกอ่อนผิวข้อ ทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อมตามมาได้

8. ข้อเข่าอักเสบ ในกรณีที่มีข้อเข่าอักเสบ ข้อเข่าจะมีอาการบวมและร้อนร่วมด้วย การเคลื่อนไหวของข้อเข่าจะทำได้ไม่เต็มที่

• สัญญาณอันตราย
ของอาการปวดข้อเข่า มีอะไรบ้าง?

1. มีการบวมและร้อนของข้อเข่าหรือบริเวณรอบๆ ข้อ
2. มีต่อมน้ำเหลืองโต
3. มีกล้ามเนื้อต้นขาลีบ
4. มีการเปลี่ยนแปลงของสีของเท้าเวลาเดินนานๆ
5. มีอาการเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ
6. มีอาการข้อติดหรือข้อขัด
7. มีอาการชาหรืออ่อนแรงของขา

• การรักษาภาวะปวดข้อ


1. ในกรณีที่มีอาการบวมหรือปวดข้อมากภายหลัง ควรปรึกษาแพทย์

2. ในรายที่มีข้อเข่าบวมหรือเคยมีประวัติข้อเข่าบวม ควรปรึกษาแพทย์

3. ในรายที่ทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอลหรือแอสไพรินมาประมาณ 5-7 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์

4. ในรายที่มีน้ำหนักตัวมาก ควรพยายามลดน้ำหนัก เพื่อลดแรงกดที่กระทำต่อข้อ

5. ในรายที่เป็นมานานและกล้ามเนื้อต้นขาลีบ ควรทำ กายภาพบำบัดเพื่อลดอาการเจ็บปวด และเป็นการเพิ่ม ความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อ

(ข้อมูลจากสมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย)

• 8 ท่าบริหารข้อเข่า

ท่าที่ 1 นอนหงาย เหยียดเข่าตรง เกร็งเข่ากดกับเตียงพร้อมกับกระดกข้อเท้าขึ้น เกร็งค้างไว้ นับ 1-3 ช้าๆ แล้วปล่อย ทำซ้ำ 10 ครั้ง

ท่าที่ 2 นอนหงาย เหยียดเข่าตรง กระดกข้อเท้าขึ้น ยกขาขึ้นมาพ้นพื้นตรงๆ เกร็งค้างไว้ นับ 1-3 ช้าๆ แล้วปล่อย

ท่าที่ 3 นอนหงาย ใช้หมอนหนุนใต้เข่าให้เข่างอเล็กน้อย แล้วเหยียดเข่าออกให้ตรงที่สุด เกร็งไว้ 10 วินาที แล้วปล่อย ทำซ้ำ 10 ครั้ง ควรทำทีละข้าง เพราะหากยกขาพร้อมกันทั้งสองข้าง อาจทำให้ปวดหลังได้ อาจใช้หมอนรองให้เข่างอมากขึ้นหรือใช้ถุงทรายหรือน้ำหนักถ่วง เพิ่มบริเวณข้อเท้า เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ

ท่าที่ 4 นอนคว่ำ งอเข่าเข้ามาให้มากที่สุด เกร็งไว้ 10 วินาที แล้วเหยียดออก อาจใช้ถุงทรายถ่วงเพิ่มน้ำหนักแรงต้านที่ข้อเท้าได้เช่นกัน

ท่าที่ 5 นั่งบนเก้าอี้สูงระดับข้อเข่า ยกขาให้เข่างอ-เหยียด มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เกร็งค้างไว้ ทำซ้ำ 10 ครั้ง ถ้าไม่มีอาการปวด ให้ใช้น้ำหนักถ่วงที่บริเวณข้อเท้า โดยเริ่มจากน้ำหนัก 0.5 กิโลกรัม แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นครั้งละ 0.5 กิโลกรัม จนถึง 5 กิโลกรัม แต่ถ้าเพิ่มน้ำหนักแล้วรู้สึกปวด ก็ให้ลดน้ำหนักลงเหลือเท่าที่ไม่ปวด แล้วทำต่อไป

ท่าที่ 6 นั่งบนเก้าอี้สูงระดับข้อเข่า เกร็งกล้ามเนื้อให้อยู่ในท่าเข่าเหยียดตรง ค้างไว้ นับ 1-10 แล้วงอเข่าลง ใช้ส้นเท้ากดกับขาเก้าอี้หรือขาเตียง ค้างไว้ นับ 1-10 ทำซ้ำ 10 ครั้ง

ท่าที่ 7 ยืนหันหลังให้ขาชิดขอบเก้าอี้หรือฝาผนัง ค่อยๆ ย่อเข่าทั้งสองลง แล้วค่อยๆ ลุกขึ้นยืน ทำช้าๆ อาจหยุดเกร็งค้างไว้ที่ช่วงใดช่วงหนึ่ง เมื่อทำได้ดีแล้วให้เปลี่ยนเก้าอี้ให้เตี้ยลงเรื่อยๆ หรือย่อตัวให้ต่ำลง

ท่าที่ 8 ยืนเกร็งเข่า งอเข่าเล็กน้อย คล้ายท่ายืนรำมวยจีน แล้วยืดตัวขึ้นให้เข่าตรง ทำซ้ำ 10 ครั้ง

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 128 กรกฎาคม 2554 โดย กองบรรณาธิการ)
ท่าที่ 1
ท่าที่ 2
ท่าที่ 3
ท่าที่ 4
ท่าที่ 5
ท่าที่ 6
ท่าที่ 7 และ ท่าที่ 8
กำลังโหลดความคิดเห็น