xs
xsm
sm
md
lg

คนดังมีดี : พื้นที่ชีวิต พื้นที่หัวใจ "นุ่น" ศิระพันธ์ วัฒนจินดา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลายคนตกหลุมรัก “นุ่น” ศิรพันธ์ วัฒนจินดา นับตั้งแต่ครั้งรับบท “ดากานดา” นางเอกภาพยนตร์ “เพื่อนสนิท” ที่ทำให้เธอกลายเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ เมื่อหลายปีก่อน และจนถึงเวลานี้ เธอก็ยังไม่ได้หายหน้าไปจากจอภาพยนตร์และโทรทัศน์ ยังคงมีผลงานเรื่องใหม่ๆ มาให้เราได้ชมกันอย่างสม่ำเสมอ

รวมถึงการถูกรับเชิญให้ไปร่วมรายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมะหลายครั้งหลายหน จึงทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ที่ผ่านมาเธอมีความใกล้ชิดกับศาสนาและนำธรรมะมาปรับใช้กับชีวิต ตั้งแต่เมื่อไหร่และอย่างไร

• ลูกสาวทหาร วิ่งเล่นในลานวัด

สาวเชียงใหม่ผู้ไปเติบโตที่ลำปาง เพราะติดตามคุณพ่อซึ่งมีอาชีพรับราชการทหาร ไปเรียนหนังสือที่นั่น เล่าถึงความทรงจำเมื่อวัยเยาว์ของตัวเองให้ฟังว่า

“จริงๆแล้ว นุ่นเป็นคนที่เข้าวัดมาตั้งแต่เด็กค่ะ ต้องขอบคุณคุณยาย คุณแม่ คุณพ่อ ที่เป็นคนปลูกฝัง อย่างเช่นคุณยาย ท่านจะเป็นเหมือนคนแก่หลายๆคน ที่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา โดยที่ไม่ต้องหาเหตุผลอะไรมาก ถึงวันพระก็ต้องไปวัด และคุณยายจะคอยสอน อยู่เรื่อยๆว่า ก่อนไปทำบุญต้องอาบน้ำก่อนนะ ข้าวทัพพีแรกที่ตักต้องเอาไปถวายพระ และต้องเป็นข้าวที่หุงเอง นุ่นจะถูกปลูกฝังความเชื่อในลักษณะนี้ตั้งแต่เด็ก

ส่วนคุณพ่อมีหลายโครงการที่คุณพ่อดูแลอยู่ ต้องไปพัฒนาวัดในอำเภอห่างไกลหรือไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร นอกจากคุณพ่อจะส่งทหารไปช่วยดูแล หลายครั้งที่นุ่นมีโอกาสติดตามคุณพ่อไปช่วยพัฒนา ไปช่วยบูรณะวัด ดังนั้นในวัยเด็ก นุ่นจึงเป็นเด็กที่วิ่งเล่นอยู่ในวัดบ่อยๆ จนรู้สึกว่าการไปวัดเป็นเรื่องที่เราชอบและเป็นเรื่องปกติของชีวิต”

• ตัวกู ของกู

จากที่เคยใกล้ชิดพระพุทธศาสนาผ่านทางพิธีกรรม และงานช่วยเหลือสังคมมากกว่า ต่อมาชีวิตของเธอก็เริ่มเขยิบเข้าใกล้หลักธรรมของพุทธศาสนามากขึ้น

“อาทิตย์แรกที่ “เพื่อนสนิท” ภาพยนตร์เรื่องแรกที่นุ่นเล่น เข้าโรงฉาย ผลตอบรับถล่มทลาย ไปจตุจักรมีแต่คน ยิ้มให้ ได้ของ ได้เสื้อกลับบ้าน ได้กินข้าวฟรี ทุกคนรัก ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก พออีกสักสองอาทิตย์ อยู่ๆก็มีข่าวลงหนังสือพิมพ์ว่า ดาราดาวรุ่งหยิ่ง เหมือนถูกประจาน ไปทั่วประเทศ

แม้จะไม่ได้ไร้เดียงสาอะไรมาก แต่นุ่นก็รู้สึกว่า เฮ้ย... มันคืออะไร สองอาทิตย์แรกคนยังรักและชื่นชมที่เรายังเป็นเราอยู่เลย พอถึงอาทิตย์ที่สามเราก็ยังเป็นเรา แต่ทำไม คนถึงบอกว่าเราหยิ่ง เริ่มพูดถึงเราในทางที่ไม่ดี ต้องใช้คำสมัยนี้ที่เรียกว่า รู้สึก “นอยด์” มาก ร้องไห้ ตั้งคำถาม ว่า ทำไมคนเราถึงคิดร้ายหรือทำร้ายกันได้ขนาดนี้ ทำให้เริ่มไม่ไว้ใจคน และบางครั้งก็คิดไปว่าคนที่ยิ้มให้นั้น ลับหลังต้องแอบด่าเราแน่เลย

จังหวะที่ชีวิตแย่ๆนี่แหละ นุ่นจึงหยิบหนังสือธรรมะขึ้นมาอ่าน เพราะว่าที่บ้านมีอยู่แล้ว เป็นงานของท่านพุทธทาส ชื่อ “ตัวกูของกู” พอเปิดหน้าแรก ประโยคที่ท่านบอกว่า ที่เราเป็นทุกข์ เพราะเรารู้สึกว่าเรามีตัวเรา ถ้าไม่มีตัวเรา เราก็จะไม่เป็นทุกข์กับสิ่งใดๆ ได้อ่านประโยคนี้ ทำให้นึกกลับไปว่า ธรรมะที่เคยอ่านผ่านๆหรือ อ่านเพื่อสอบ มาตั้งแต่วัยเด็กนั้น ณ วันที่เรามีปัญหา มันเอามาใช้ได้ในชีวิตจริง ตั้งแต่นั้นเลยเริ่มอ่านหนังสือธรรมะมาเรื่อยๆ หรือในเวลาที่มีปัญหา มีหัวข้อใหม่ๆ เกิดขึ้นกับชีวิต ก็จะกลับไปอ่านเสมอ

รู้สึกว่า มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้นุ่นสนใจธรรมะจากแก่นจริงๆ เมื่อก่อนนุ่นจะเหมือนคนไทยทั่วไป ติดทางพิธีกรรม หรือรู้สึกว่าเราเป็นคนพุทธเพราะว่าเราเข้าวัด ถึงเวลาต้องไปเวียนเทียน ยังติดอยู่ที่เปลือก แต่พอวันหนึ่งที่ชีวิตมีปัญหาหรือท้อแท้มากๆ พอหยิบหนังสือของท่านพุทธทาสขึ้นมาอ่านอย่างแท้จริง มันคือแสงที่ส่องชีวิตให้สว่าง ซึ่งเดิมทีแสงนี้มันอาจมีอยู่แล้ว แต่เราไม่เคยมอง”

• ธรรมะฉายให้เห็นดีร้ายในตัวตน

ไม่เพียงเท่านั้น ธรรมะยังช่วยให้เธอมองเห็นข้อดีและข้อเสียที่มีอยู่ในตัวเองชัดขึ้น ส่งผลให้เธอพยายามปรับปรุงตัวเองจากด้านไม่ดีนั้นๆและสามารถบอกโลกในแง่บวกได้จากข้อดีที่ตัวเองมี

“ข้อดีของนุ่นคือ นุ่นสามารถมองเห็นข้อดีของเรื่องแย่ๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิต และมักจะนึกถึงประโยคของท่านพุทธทาสที่ว่า “เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา” ตลอดมา จึงทำให้นุ่นพยายามหาเหตุผลที่ทำให้เข้าใจพฤติกรรมของคนที่ทำให้เรารู้สึกแย่ หรือบางคนที่ผ่านเข้ามา ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะโมโห เฮ้ย.. อะไรวะ ..ทำไมทำแบบนี้ ทำไมพูดแบบนี้ แต่ตอนนี้พยายามที่จะเข้าใจ แทนที่จะรู้สึกปรี๊ดแล้วโกรธไปเลย หรือมีปฏิกิริยาว่า เฮ้ย.. ฉันไม่ชอบนะ แล้วพยายามหาเหตุผลว่า อ๋อ.. จริงๆแล้วภูมิหลังเขาเป็นอย่างนี้นะ เขาอาจจะเคยเจอเรื่องแบบนี้มา จึงส่งผลให้มีพฤติกรรมแบบนี้ เราต้องเข้าใจเขา

และข้อดีอีกอย่างของนุ่นคือ พยายามโทษทุกอย่างว่าเป็นความผิดของเราสัก 90 เปอร์เซ็นต์ ตอนที่นุ่นไปฝึกสมาธิที่สวนโมกข์ จ.สุราษฎร์ธานี พระอาจารย์ที่นั่น ท่านบอกว่า ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เรามักจะโทษคนอื่นว่าทำให้ฉันเสียใจ ทำให้ฉันโกรธ ทำให้ฉันเป็นทุกข์ จริงๆแล้ว ถ้าเรายกความผิดให้เป็นของเราสัก 90 เปอร์เซ็นต์ แล้วยกให้เป็นของคนอื่นสัก 10 เปอร์เซ็นต์ เราจะไม่โกรธคนอื่นมาก แล้วเราจะมองเห็นข้อเสียของเราเยอะขึ้น

ถ้าเรามองเห็นข้อเสียของเราว่า อ๋อ... เราเป็นพวกคิดมากนะ เป็นพวกวิตกจริต คิดไปเอง บางทีความโกรธมันก็จะบรรเทาลง และยิ่งจะมองเห็นข้อไม่ดีของเรามากขึ้น จากนั้นจะได้นำไปแก้ไข”

ส่วนด้านที่ไม่ดีของตัวเองที่เธอมองเห็นก็คือ

“บ่อยครั้งที่นุ่นเป็นพวกความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด หนังสือธรรมะของนุ่นมีอยู่เยอะมากนะคะที่บ้าน และมักจะได้รับเชิญหรือถูกสัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องธรรมะ ว่า เข้าวัดแล้วเป็นอย่างไร อย่างที่ “ธรรมลีลา” มาสัมภาษณ์นุ่นแบบนี้ นุ่นก็จะเล่าได้ บอกได้ พอบางช่วงเวลาในชีวิตจริง สิ่งที่เคยบอกคนอื่นไป กลับรู้สึกว่า เรายังทำไม่ได้เลยนะ เพราะเรายังเป็นมนุษย์ที่มีกิเลส มีความไม่รู้อีกเยอะ สติยังไม่เท่าทันมาก เวลาที่ไปบรรยาย พูดดูดีมาก แต่ในความเป็นจริงบางเรื่องบางราว เรายังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น ก็ต้องฝึกกันไปเรื่อยๆ

แต่นุ่นก็มักจะมีความเชื่ออยู่เสมอนะคะว่า นุ่นต้องทำได้ เวลาที่นุ่นกลับมาวิตกจริต ไร้สาระ เริ่มเครียด เริ่มจะกลับไปสู่อารมณ์แย่ๆ นุ่นจะบอกตัวเองว่า ไม่เป็นไร เดี๋ยวมันจะดีเอง นุ่นต้องทำได้ จะบอกตัวเองแบบนี้ตลอดค่ะ”

• พื้นที่ชีวิต พื้นที่หัวใจ

หนึ่งสถานที่ซึ่งดาราสาวมักจะแวะเวียนไปบ่อยๆ คือ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือสวนโมกข์ กรุงเทพฯ เหตุเพราะเป็นสถานที่อันร่มรื่นใกล้บ้าน และเธอสามารถออกกำลังใจ ในวันที่ใจเริ่มอ่อนแอ เพื่อให้ใจแข็งแรงขึ้น

จนนำมาสู่การถูกรับเชิญให้ไปร่วมรายการ “พื้นที่ชีวิต” ทางช่อง Thaipbs หนึ่งในจำนวนหลายๆตอนที่รายการออกอากาศ คือการที่เธอได้ร่วมทริปไปเยือนสวนโมกข์ที่สุราษฎร์ฯ

“ช่วงนั้นนุ่นมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัว ซึ่งรู้สึกว่ามันใหญ่มากในความรู้สึก เพราะบางเวลาที่เจอปัญหาชีวิตที่เป็นหัวข้อใหม่ๆ นุ่นปรับไม่ทัน และไม่รู้จะไปไหน มีหอจดหมายเหตุมาเปิดใกล้บ้าน ก็เลยไปอยู่ที่นั่นเกือบทุกวัน ไปทำวัตรเย็น ไปอยู่ที่นั่น ไปนั่งสมาธิ นั่งอ่านหนังสือ เพื่อจะได้ใช้เวลาอยู่ในที่ที่สงบๆ

ทางรายการอยากทำให้คนรู้จักสวนโมกข์ของท่านพุทธทาสที่สุราษฎร์ฯมากขึ้น ก็เลยจัดทริปและถามว่าจะมีใครไปไหม ทางหอจดหมายเหตุเห็นนุ่นไปขลุกตัวอยู่ที่นั่นเกือบทุกวันก็เลยชวน นุ่นจึงมีโอกาสไปร่วมรายการ

เพราะรู้สึกว่าขนาดเป็นหอจดหมายเหตุ เป็นอาคารที่สร้างในกรุงเทพ เรายังรู้สึกสงบได้ขนาดนี้ ถ้าไปอยู่ในพื้นที่ที่เป็นของแท้ดั้งเดิมที่สุราษฎร์ฯ ต้องสุดยอดแน่เลย ก็เลยตัดสินใจไปโดยไม่คิดอะไรเลย”

• สู่ลมหายใจปัจจุบัน

สิ่งที่เธอได้รับจากการเดินทางไปเยือนสวนโมกข์เป็นครั้งแรกในชีวิตคือ

“นุ่นชอบเรื่องการนั่งสมาธิ เพราะส่วนตัวไม่ใช่คนที่นั่งนิ่งๆได้นานขนาดนี้ พอนั่งแล้ว มันทำให้เราสงบลงได้ค่ะ เคยไปวัดบ่อยๆ แต่พอไปที่นี่ จะเน้นเรื่องการนั่งสมาธิ สองวันแรกหลับตลอดเลย กินกาแฟก็ไม่ได้ เพราะนุ่นติดกาแฟมาก กล้องทีวีก็ถ่าย จึงบอกพี่ๆทีมงานว่า หนูไม่ไหวแล้ว จะหลับแล้ว แต่พอผ่านมาถึงวันที่สาม สี่ และห้า มันเหมือนจะเริ่มปรับตัวได้

และในที่สุดสิ่งที่ได้กลับมาคือ เวลาที่ใจเราไม่นิ่ง หรือว่าต้องการสมาธิเพื่อใช้ในการแสดง หรือใช้ในชีวิตประจำวัน เดินไปไหนแล้วมีคนพูดจากระทบ แล้วทำให้รู้สึกเสียใจ รู้สึกไม่ดี นุ่นจะรีบกลับมาที่ลมหายใจปัจจุบัน อันนี้เป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดมาก เพราะเมื่อก่อนไม่เคยทำได้ขนาดนี้ แต่พอไปอยู่ที่นู่น ฝึกทุกวันๆค่อนข้างเข้มข้น พอเวลาที่ได้นำมาใช้ในชีวิตจริง ทำให้ก่อนที่นุ่นจะร้องไห้ เสียใจ หรืออะไรก็ตาม นุ่นจะกลับมาที่ลมหายใจ แล้วหลายสิ่งหลายอย่างมันจะบรรเทาขึ้นเยอะ

อันนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่า ธรรมะเป็นเรื่องอัศจรรย์สำหรับนุ่น สำหรับเด็กสายวิทย์ เพราะนุ่นเรียนวิศวะมา (สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) แล้วนุ่นก็ไม่ได้อินกับธรรมะอะไร มากตั้งแต่เด็ก เน้นเรื่องพิธีกรรมมากกว่า พอได้มาเห็นผลที่ปรากฏโดยร่างกายของเราเอง จึงรู้สึกว่าวิธีการนี้มันแจ๋วมากเลย”

• เมื่อธรรมะจัดใจ

ในเวลาต่อมา เธอยังถูกเชิญจากเครือข่าย “พุทธิกา” ให้ไปร่วมเสวนาหัวข้อ “การจัดการอารมณ์ป่วนของไอดอล” ในมหกรรมพลังเยาวชน พลังสังคม ครั้งที่ 2 ณ บริเวณลานหินโค้ง หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ในวันนั้นเธอได้ไปแลกเปลี่ยนกับผู้ฟังเรื่องสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการอกหัก ซึ่งก่อนหน้านี้เธอเริ่มมีสติในเรื่องความรักมากขึ้น เพราะใช้หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ เป็นที่พักใจ

“สิ่งที่เล่าสู่ผู้ฟังในวันนั้นคือ นุ่นเรียนรู้อะไรจากมัน เพราะคิดว่าแต่ละคนมีวิธีแก้อาการอกหักไม่เหมือนกันหรอก เพราะพื้นฐานครอบครัวของแต่ละคนไม่เหมือนกันอยู่แล้ว หลักๆ คือนุ่นได้เรียนรู้ความรักของคนรอบข้าง จากเมื่อก่อนที่ไปผูกยึดอยู่กับแค่คนคนเดียว

ในที่สุดก็ได้เรียนรู้ว่า ความรักที่แท้จริง ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของคนคนหนึ่ง คือความรักของคุณพ่อคุณแม่ เป็นความรักที่ไม่ต้องส่งข้อความถึงกันตลอด หรือมีของขวัญเพื่อสร้างความประหลาดใจต่อกันทุกเทศกาล ไม่ต้องหอมแก้ม ไม่ต้องบอกรัก แต่ความรักของพวกท่านก็ยังมีอยู่เท่าเดิม ไม่เคยลด แม้ว่าเราจะอ้วน ผอม ดำ ขาว หรือวันนี้จะประสบความสำเร็จ แล้วอีกวันหนึ่งจะไม่ประสบความสำเร็จ จะขี้เกียจ ฯลฯ ทำให้กลับไปมองเห็นความรักที่เราเคยคิดว่ามันเป็นที่สุดของชีวิต แล้วไปยึดติดกับมัน มีคนมากระเซ้าด้วยว่า ต่อไปอกหักจะไม่ร้องไห้แล้วซิ นุ่นก็เลยตอบไปว่า ร้องค่ะพี่ แต่จะมีสติที่ดีกว่าเดิม จะไม่เหมือนที่ผ่านมา เขาก็ขำๆกัน

แล้วยังได้บอกเล่าให้คนอื่นฟังด้วยว่า ทุกอย่างรอบตัว มันเป็นธรรมะหมดเลย เราได้เห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันก็เหมือนความรัก วันหนึ่งมันเกิดขึ้น คนสองคนมาเจอกัน รู้จักกัน เรียนรู้กัน ใช้เวลาด้วยกัน แบ่งปันประสบการณ์ แบ่งปันทุกๆอย่างในชีวิต มันเป็นการตั้งอยู่ แล้ววันหนึ่งมันก็ดับไป”

• สิ่งที่ภาคภูมิใจยิ่งกว่า
แต่งสวยไปเดินพรมแดง


การที่ได้มีโอกาสไปร่วมรายการทีวี ร่วมพูดคุยในงานเสวนา ตลอดจนให้สัมภาษณ์ในหัวข้อที่เกี่ยวกับธรรมะ เป็นความสุขและเป็นภาคภูมิใจในชีวิตของดาราสาวเสียงหวานแต่มาดเท่ ณ เวลานี้

“รู้สึกว่าตัวเราสามารถทำให้เกิดแรงบันดาลใจให้กับคนที่เขาได้ดู ว่าธรรมะมันไม่ใช่เรื่องยาก การที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการพูดถึงธรรมะ นุ่นไม่กล้าใช้คำว่า เผยแพร่ เพราะว่ายังไม่ใช่คนที่เข้าใจธรรมะอย่างลึกซึ้งทุกอย่าง

แต่มันเป็นจุดที่ทำให้รู้สึกว่า แค่ตัวเรา คนธรรมดาคนหนึ่ง มีส่วนได้ทำให้ใครหลายคนสนใจธรรมะ หรือเข้ามาถาม เช่น พี่ได้ดูเทปที่หนูไปสวนโมกข์นะลูก ดีไหมลูก ไปลำบากไหม และหลังจากนั้นยังได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์คนต่างๆ ที่ทำให้นุ่นได้ข้อคิดจากคนเหล่านั้น

นุ่นไม่อยากให้คนรู้สึกว่า ธรรมะเป็นเรื่องไกลตัว แต่ธรรมะเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องธรรมชาติ การได้เอามาพูด เอามาแทรกให้คนได้เห็น คืองานที่นุ่นภูมิใจมาก ภูมิใจมากกว่าแค่การแต่งตัวสวยๆไปเดินพรมแดง ยิ้ม ถ่ายรูป ขึ้นรับรางวัล หรือมีคนวิพากษ์วิจารณ์ผลงาน ในชีวิตธรรมดาๆของคนคนหนึ่ง แล้วได้ทำประโยชน์โดยการเป็นส่วนหนึ่งของการพูดถึงพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่นุ่นภูมิใจมาก”

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 127 มิถุนายน 2554 โดย พรพิมล)



กำลังโหลดความคิดเห็น