พระราชนิพนธ์ เรื่อง “พระมหาชนก” ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งให้ข้อคิดเรื่อง “วิริยะ” หรือ “ความเพียร” ที่ควรมีอยู่ในตัวบุรุษและทุกๆคน ที่ผ่านมาเคยถูกนำมาตีความและถ่ายทอดผ่านงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ อาทิ จิตรกรรมฝาผนัง,การ์ตูน ฯลฯ
ล่าสุด คณะหุ่นละครเล็ก โจหลุยส์ (ซึ่งก่อตั้งโดย ครูสาคร ยังเขียวสด หรือ ครูโจหลุยส์ ที่เวลานี้ท่านได้ล่วงลับไปแล้ว ทว่ายังมีทายาทสืบทอด คือ สุรินทร์ และพิสูตร ยังเขียวสด รวมถึงชาวคณะอีกประมาณ 60 ชีวิต) ร่วมมือกับ กระทรวงวัฒนธรรม นำบทพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ มาถ่ายทอดผ่านการแสดง “หุ่นละครเล็ก” ศิลปะชั้นสูง ที่รวมเอาศิลปะถึง 9 แขนงไว้ในการแสดงเดียว ได้แก่ วรรณกรรม นาฏศิลป์ คีตศิลป์ ประติมากรรม สถาปัตยกรรม หัตถศิลป์ มัณฑนศิลป์ และการออกแบบ เพื่อเป็นการต่อลมหายใจให้หุ่นละครเล็ก มีอายุยืนยาวต่อไปอีก และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระ-ชนมพรรษา วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2554 ภายใต้โครงการ “84 พรรษา เฉลิมหล้ามหาราชัน”
โดยตลอดระยะเวลา 2 เดือนเต็ม หุ่นละครเล็กจะสัญจรไปจัดแสดงให้ประชาชนได้ชมฟรี 29 รอบ ใน 19 จังหวัด
ความพิเศษของการแสดงหุ่นละครเล็ก เรื่อง “พระมหาชนก” ถูกแบ่งออกเป็น 3 องค์ คือ ทศบารมี วิริยบารมี และปัญญาบารมี
หนึ่งในทายาทของครูโจหลุยส์ คือ พิสูตร ยังเขียวสด กล่าวว่า คือความงามที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของแสง (Lighting) และการเคลื่อนไหวของตัวหุ่น ที่ไม่ใช่หุ่นรามเกียรติ์ ดังที่หลายๆคนเคยชมการแสดงของโจหลุยส์ ในหลายๆครั้ง ที่ผ่านมา
แต่เป็นหุ่นที่ทำให้เราได้สัมผัสกับบรรยากาศและรับเอากลิ่นอายของศิลปะเมื่อ 1,400 ปีที่แล้ว ซึ่งตรงกับยุค “คุปตะ” อันถือเป็นยุคทองของอินเดีย เพราะอารยธรรมเจริญถึงขีดสุดในทุกด้าน ทั้งด้านปรัชญา ศาสนา วรรณคดี ดนตรี นาฏศิลป์ จิตรกรรม และประติมากรรม ก่อนที่ยุคทวาราวดีจะเริ่มต้น
“ไม่ว่าจะเป็นรูปปั้นหุ่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ อยากให้ผู้ชมสังเกตทุกจุด เพราะทุกอย่างที่เรานำเสนอ มันผ่านการศึกษาข้อมูลมาแล้วเป็นอย่างดี”
หนึ่งในพื้นที่ที่ชาวคณะลงพื้นที่เพื่อศึกษาหาข้อมูลคือประเทศอินเดียนั่นเอง รวมถึงได้มีการนำพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก” ขึ้นมาอ่านมากกว่า 100 รอบ
“เพราะเราต้องทำบท ทำดนตรี ต้องตีความอารมณ์ ในบทพระราชนิพนธ์ อ่านไปอ่านมาเป็นร้อยๆรอบ ทีละวรรค ทีละตอน แล้วเราไม่ใช่แค่อ่าน เรานึกถึงบรรยากาศในบทพระราชนิพนธ์ เช่น สุวรรณภูมิ คืออะไร ต้องตีความกันแบบนี้ ถึงจะออกมาเป็นจินตนาการเป็นฉาก ในบทพระราชนิพนธ์อาจจะบรรยายประมาณหนึ่ง ดังนั้น เราจึงต้องจินตนาการ ใส่ประสบการณ์ของเราเข้าไป พร้อมทั้งศึกษาหาข้อมูลเพิ่มด้วย กว่าที่จะออกมาเป็นฉากแต่ละฉาก”
นอกจากนี้โจหลุยส์ยังดึงเอามืออาชีพจากทุกวงการมาร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อให้ทุกรายละเอียดของการแสดง มีความงดงาม และมีความพิเศษ สมกับที่เป็นการแสดงที่ต้องการร่วมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
“การออกแบบเครื่องแต่งกาย” ผู้รับหน้าที่นี้คือ อ.วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ซึ่งอาจารย์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทอผ้าชั้นสูง และเคยมีผลงานการทอผ้ายกทองแบบโบราณ เพื่อถวายแด่พระบรมวงศานุวงศ์และราชสำนัก ตลอดจนการทอผ้าเพื่อเป็นของกำนัลจากรัฐบาลไทยมอบ ให้แด่ผู้นำจากหลายประเทศพร้อมภริยา ที่เข้าร่วมประชุม ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิค (APEC) ที่ประเทศไทย เมื่อปี 46 และเป็นผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายให้กับการแสดงโขน ชุดศึกพรหมมาศและนางลอย ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
“ตัวหุ่น” เพื่อใช้แสดงครั้งนี้ถูกสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด 14 ตัว ผู้ออกแบบคือ อ.สุดสาคร ชายเสม ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีผลงานการจัดทำเครื่องประกอบฉากงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว งานออกแบบซุ้มกาญจนาภิเษก ณ ถนนราชดำเนิน ซุ้มจักรแก้ว และซุ้มช้างแก้ว หน้าสะพานผ่านฟ้า และเช่นกันว่า อาจารย์เป็นผู้ออกแบบอุปกรณ์ประกอบฉากและการแสดงให้กับการแสดงโขนชุดศึกพรหมมาศและนางลอย
นอกเหนือจากหุ่นที่ใช้แสดง พิสูตรยังให้ข้อมูลด้วยว่า ได้มีการสร้างหุ่นเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษอีก 2 ตัว รวมเป็นทั้งหมด 16 ตัว คือ หุ่นพระมหาชนกและนางมณีเมขลา เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีความแตกต่างจากหุ่นที่ใช้แสดงตรงที่มีความประณีตมากกว่าและเครื่องทองที่ใช้ก็ล้วนแต่เป็นของจริงทั้งหมด
“การออกแบบฉาก” มีทีมคณาจารย์จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง และมหาวิทยาลัยศิลปากร มาร่วมกันรังสรรค์
ขณะที่ “ดนตรี” แต่งขึ้นใหม่ทั้งหมด 23 เพลง โดยมีทั้งนักดนตรีชาวไทยและอินเดีย ช่วยกันแต่งนานถึง 8 เดือน พร้อมทั้งได้มีการนำเครื่องดนตรีไทยมาผสมผสานกับเครื่องดนตรีอีกหลายชนิดของหลายประเทศในแถบเอเชีย
และ “พากย์เสียง” โดยทีมนักพากย์ชื่อดัง อาทิ ดวงดาว จารุจินดา มนตรี เจนอักษร สีเทา เพ็ชรเจริญ และทีมงานจากพันธมิตร เพื่อให้เสียงอันไพเราะของพวกเขา เน้นให้เราสัมผัสถึงความงดงามของภาษาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ เอาไว้
รวมเป็นระยะเวลาราว 4 ปี กว่าที่ทุกอย่างจะถูกสร้าง จนเสร็จสมบูรณ์ เพื่อพร้อมสำหรับการแสดงบนเวที ภายใต้งบประมาณ 30 ล้านบาท ไม่รวมค่าใช้จ่ายที่ชาวคณะ โจหลุยส์ประมาณ 40 ชีวิต จะต้องสัญจรไปตามจังหวัดต่างๆ กระทั่งมาสิ้นสุดที่กรุงเทพฯ
“เราได้มีการถ่ายทำเบื้องหลังเอาไว้ด้วย วันหนึ่งเราจะหยิบมันขึ้นมาเรียงร้อยตั้งแต่ตอนเริ่มต้นของการทำงาน ไปจนถึงการแสดงบนเวที และจะนำมาใส่บทบรรยายภาษาอังกฤษ ก่อนจะนำออกเผยแพร่เป็นตอนๆ ให้ชาวโลกได้รู้ว่า ประเทศไทยมีงานศิลปะแบบนี้ด้วย คิดว่าถึงเวลานั้นรัฐบาลต้องเข้ามาดูแล และช่วยให้มันถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก”
คือความตั้งใจในลำดับต่อไปของชาวคณะฯ ที่ไม่อยากให้ทุกอย่างสิ้นสุดลง เมื่อหมดช่วงเวลาของการสัญจร เท่านั้น เพราะเบื้องหลังของการแสดงหุ่นละครเล็กเรื่องนี้ พวกเขาได้ทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจไปไม่น้อย
นอกจากเพราะต้องการนำหัวใจเรื่องของ “ความเพียร” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงถ่ายทอดเอาไว้ในพระราชนิพนธ์ ไปสู่การรับรู้ของประชาชน โดยเฉพาะเยาวชน ผ่านรูปแบบการแสดงหุ่นละครเล็ก อีกทางหนึ่ง ยังถือเป็นหน้าที่ของพวกเขาที่จะร่วมกันอนุรักษ์ไม่ให้หุ่นละครเล็ก หายไปจากการรับรู้ของชาวไทยและชาวโลก ที่ชื่นชอบและเห็นคุณค่า
แม้ว่าที่ผ่านมาชาวคณะต้องประสบกับวิกฤตครั้งสำคัญ หลังจากที่โรงละครนาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก (โจหลุยส์) ณ สวนลุมไนท์บาซาร์ ปิดตัวไป เมื่อปี 53 พร้อมกับการแสดงชุดสุดท้ายชื่อ “ฅนสร้างหุ่น” และชาวคณะต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ด้วยการรับไปแสดงตามงานอีเวนต์ต่างๆ
แต่เพราะเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำอยู่และมีข้อคิดเรื่อง “ความเพียร” ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นกำลังใจให้สู้ต่อ พวกเขาจึงไม่เคยละทิ้งความตั้งใจดีที่มี
“เรารู้มาตั้งแต่ต้นแล้วว่า เราต้องใช้ความอดทนและ ต้องเหนื่อยแค่ไหนในการทำหน้าที่เป็นผู้อนุรักษ์ศิลปะการแสดงเช่นหุ่นละครเล็กเอาไว้ และรู้ว่ามันเป็นการงาน ที่ไม่ทำให้เรารวย นั่นจึงหมายความว่า เราจะต้องเสียสละ และหาหนทางทำให้มันอยู่ให้ได้
เป้าหมายคือเราไม่ได้อยากรวย แต่อยากให้หุ่นละครเล็กมันอยู่ได้ในโลกของศิลปวัฒนธรรมไทย ให้ฝรั่งรู้ว่าประเทศไทยมีดี อันนี้ต่างหาก ในเมื่อเรารู้บทสรุปอยู่แล้ว ที่ผ่านมาเราก็เลยทำด้วยความสุขและทำอย่างเต็มที่ เพื่อให้โลกรู้จักเรา โดยไม่กลัวที่จะไม่รวย ขอเพียงให้เราเลี้ยงทีมงานได้ก็พอแล้ว มันก็เลยทำให้เรามาถึงจุดนี้ได้ และต้องอาศัยการบริหารจัดการเพื่อให้มันอยู่ได้”
สมแล้วกับที่กระทรวงวัฒนธรรมให้เหตุผลที่เลือกสนับสนุนคณะหุ่นละครเล็ก(โจหลุย์) ให้เป็นผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวของ “พระมหาชนก” ผ่านการแสดงในวาระนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะมองเห็นว่า ชาวคณะมีความเพียรอันไม่สิ้นสุดนั่นเอง ดั่งเช่นพระมหาชนก ที่แม้มองไม่เห็นฝั่งก็ต้องว่ายต่อ
วโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาปีนี้ สิ่งที่ชาวคณะอยากเห็นประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกับชาวคณะด้วยก็คือ อยากให้ทุกคนในแต่ละจังหวัดที่มีหุ่นละครเล็กสัญจรไปแสดง มีโอกาสมาชมกันอย่างถ้วนหน้า
และนำเอาหัวใจในเรื่องความเพียร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงถ่ายทอดเอาไว้ในพระราชนิพนธ์ ซึ่งโจหลุยส์ได้นำมาตีความและถ่ายทอดผ่านรูปแบบการแสดงหุ่นละครเล็กอีกทีหนึ่ง ไปปรับใช้กับชีวิต แล้วลงมือปฏิบัติจริงจนเห็นผลด้วยตัวเอง
“พระองค์ท่านไม่ได้ตรัสให้เรารักพระองค์ท่าน หรือตรัสว่าพระองค์ท่านทรงดีอย่างโน้นดีอย่างนี้เลยนะ แต่สิ่งที่ตรัสไว้ มันเป็นธรรมะ เป็นสัจธรรมของชีวิต อยากให้ทุกคนไปฟังแล้วนำเอาสิ่งที่ตรัสนั้นไปใช้กับชีวิต
เพราะทุกถ้อยคำที่พระองค์ท่านตรัส คล้ายกันกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ นั่นคือพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เชื่อพระพุทธเจ้า แต่ให้เชื่อในคำสั่งสอนและพิสูจน์ว่ามันเป็นจริงหรือเปล่าด้วยการนำเอาไปปฏิบัติ นั่นแหละคือสิ่งที่โจหลุยส์อยากให้คนไทยได้รับผ่านการแสดง”
หุ่นละครเล็ก เรื่อง “พระมหาชนก” ชมฟรี!! 29 รอบ ทั่วประเทศ
หลังจากที่สัญจรไปเปิดแสดงมาแล้วในหลายจังหวัด ได้แก่ ตรัง เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง และเชียงราย เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หุ่นละครเล็ก เรื่อง “พระมหาชนก” ยังเหลือรอบเปิดแสดงในหลายสถานที่ของอีกหลายจังหวัด ดังต่อไปนี้
วันที่ 1 มิ.ย. 54 ณ ศาลากลางจังหวัด จ.พะเยา
วันที่ 2 มิ.ย. 54 ณ ศาลากลางจังหวัด จ.ลำปาง
วันที่ 3 มิ.ย. 54 ณ ศาลากลางจังหวัด จ.แพร่
วันที่ 7 มิ.ย. 54 ณ ศาลากลางจังหวัด จ.อุดรธานี
วันที่ 8 มิ.ย. 54 ณ ศาลากลางจังหวัด จ.กาฬสินธุ์
วันที่ 9 มิ.ย. 54 ณ ศาลากลางจังหวัด จ.มหาสารคาม
วันที่ 11 มิ.ย. 54 ณ หอประชุมกาญจนาภิเษก จ.ขอนแก่น
วันที่ 19 ก.ค. 54 ณ ศาลากลางจังหวัด จ.ชลบุรี
วันที่ 20 ก.ค. 54 ณ ศาลากลางจังหวัด จ.ระยอง
วันที่ 21 ก.ค. 54 ณ วิทยาลัยนาฏศิลป์อ่างทอง จ.อ่างทอง
วันที่ 22 ก.ค. 54 ณ วิทยาลัยนาฏศิลป์สุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี
วันที่ 29-30 ก.ค. 54 ณ อาคารนวัตกรรม : ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กรุงเทพฯ
นอกเหนือจากการแสดง ที่มีให้ชมฟรี!! ยังมีกิจกรรมที่เยาวชนจะได้เรียนรู้เรื่อง “ความเพียร” จากวิทยากร ซึ่งเป็นปราชญ์ท้องถิ่น อีกด้วย สอบถาม โทร. 0-2422 -8851-7 หรือ www.m-culture.go.th
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 127 มิถุนายน 2554 โดย อ้อย ป้อมสุวรรณ)