ฅนสร้างหุ่น อาจเป็นการแสดงชุดสุดท้าย ของการอำลา โรงละคร นาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก(โจหลุยส์) ณ สวนลุมไนท์บาซาร์ เมื่อ ปี 53
แต่หลายชีวิตของเหล่าคนเชิดหุ่นคณะนี้ ยังไม่หยุดทำหน้าที่ต่อลมหายใจให้ ศิลปะชั้นสูง เช่น หุ่นละครเล็ก มีชีวิตอยู่เพื่อสร้างความสุขให้กับผู้ชมชาวไทยและต่างชาติ
เห็นได้จากงานอีเว้นต์ต่างๆ ที่ยังมีการแสดงของพวกเขาไปร่วมสร้างสีสันอยู่เสมอ และนั่นเป็นส่วนหนึ่งของการปรับตัวเพื่อให้ชาวคณะอยู่รอด ก่อนจะถึงเวลานับถอยหลังสู่บ้านหลังใหม่ ตามที่ พิสูตร ยังเขียวสด หนึ่งในทายาทของ ครูสาคร ยังเขียวสด หรือ ครูโจหลุยส์ บอกว่า “ไม่นานเกินรอ”
แต่ที่กำลังจะสัญจรไปเสิร์ฟสายตาให้ได้ชมกันอย่างทั่วถึง ใน 4 ภูมิภาค และมากถึง 29 รอบ คือ หุ่นละครเล็ก เรื่อง พระมหาชนก ซึ่งเป็นโครงการที่ทาง หุ่นละครเล็ก(โจหลุยส์) ร่วมกับ กระทรวงวัฒนธรรม โดยการนำ พระราชนิพนธ์ เรื่อง พระมหาชนก ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาถ่ายทอดผ่านการแสดงหุ่นละครเล็ก เพื่อให้ผู้ชม โดยเฉพาะเยาวชน เข้าถึงหัวใจเรื่อง ความเพียร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงถ่ายทอดเอาไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่องนี้
ตลอดช่วงเวลาของการแสดงซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 3 องก์ คือ ทศบารมี,วิริยะบารมีและปัญญาบารมี ผู้ชมจะเสมือนได้ย้อนเวลาไปรับรู้เรื่องราวของพระมหาชนกเมื่อประมาณ 1,400 ปีที่แล้ว แล้วรับเอากลิ่นอายของศิลปะใน ยุคคุปตะ ซึ่งถือเป็นยุคทองของอินเดีย เพราะอารยธรรมเจริญถึงขีดสุดในทุกด้าน ทั้งด้าน ปรัชญา ศาสนา วรรณคดี ดนตรี นาฏศิลป์ จิตรกรรมและประติมากรรม ก่อนที่ ยุคทวาราวดี จะเริ่มต้น
จึงทำให้ทีมงานที่มีส่วนร่วมสร้างหุ่นละครเล็กชุดนี้ ต้องลงพื้นที่เพื่อศึกษาหาข้อมูลที่ประเทศอินเดียอย่างรอบด้าน เพื่อให้ทุกรายละเอียดของการแสดง มีความงดงาม และมีความพิเศษ สมกับที่เป็นการแสดงที่ต้องการร่วมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2554
การออกแบบเครื่องแต่งกาย เพื่อการแสดงครั้งนี้ อ.วีรธรรม ตระกูลเงินไทย รับหน้าที่เป็นผู้ออกแบบ ซึ่งอาจารย์เป็น ผู้เชี่ยวชาญด้านการทอผ้าชั้นสูง และเคยมีผลงานการทอผ้ายกทองแบบโบราณเพื่อถวายแด่พระบรมวงศานุวงศ์และราชสำนัก ตลอดจนการทอผ้าเพื่อเป็นของกำนัลจากรัฐบาลไทยมอบให้แด่ผู้นำจากหลายประเทศ พร้อมภริยา ที่เข้าร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภาคพื้นเอเชีย - แปซิฟิค (APEC) ที่ประเทศไทย เมื่อปี 46 และเป็นผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายให้กับการแสดงโขน ชุด ศึกพรหมมาศและนางลอย ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ขณะที่ ตัวหุ่น ถูกสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด 14 ตัว ผู้ออกแบบคือ อ.สุดสาคร ชายเสม ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีผลงาน การจัดทำเครื่องประกอบฉากงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว,งานออกแบบซุ้มกาญจนาภิเษก ณ ถนนราชดำเนิน ,ซุ้มจักรแก้วและซุ้มช้างแก้ว หน้าสะพานผ่านฟ้า และเช่นกันว่า อาจารย์เป็นผู้ออกแบบอุปกรณ์ประกอบฉากและการแสดงให้กับการแสดงโขน ชุด ศึกพรหมมาศและนางลอย
นอกจากนี้ พิสูตรยังให้ข้อมูลด้วยว่า นอกเหนือจากหุ่นที่ใช้แสดง ได้มีการสร้างหุ่นเพิ่มขึ้นอีก 2 ตัว รวมเป็นทั้งหมด 16 ตัว คือ หุ่นพระมหาชนกและนางมณีเมขลา เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีความแตกต่างจากหุ่นที่ใช้แสดงตรงที่มีความประณีตมากกว่าและเครื่องทองที่ใช้ก็ล้วนแต่เป็นของจริงทั้งหมด
ส่วน การออกแบบฉาก มีทีมคณาจารย์จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง และมหาวิทยาลัยศิลปากร มาร่วมกันรังสรรค์
ขณะที่ ดนตรี มีการแต่งขึ้นใหม่ทั้งหมด 23 เพลง ซึ่งมีทั้งนักดนตรีไทยและอินเดีย ร่วมด้วยช่วยกันแต่งนานถึง 8 เดือน โดยมีการนำเครื่องดนตรีไทยมาผสมผสานกับเครื่องดนตรีอีกหลายชนิดของหลายประเทศในแถบเอเชีย
และ พากย์เสียง โดยทีมนักพากย์ชื่อดัง อาทิ ดวงดาว จารุจินดา,มนตรี เจนอักษร,สีเทา เพ็ชรเจริญและทีมงานจาก พันธมิตร เพื่อให้เสียงอันไพเราะของพวกเขาเน้นให้เราสัมผัสถึงความงดงามของภาษาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์
รวมเป็นระยะเวลาราว 4 ปี กว่าที่ทุกอย่างจะถูกสร้างจนเสร็จสมบูรณ์ เพื่อพร้อมสำหรับการแสดงบนเวที ภายใต้งบประมาณ 30 ล้านบาท ไม่รวมค่าใช้จ่ายที่ชาวคณะโจหลุยส์ทั้งหมด 40 ชีวิต จะต้องสัญจรไปตามจังหวัดต่างๆ กระทั่งมาสิ้นสุดที่กรุงเทพฯ ระหว่างปลายเดือนพฤษภาคม - ปลายเดือนกรกฎาคม หลังจากที่ไปทดสอบความพร้อมที่ จ.ตรัง มาแล้วเป็นที่แรก
ความพิเศษของการแสดงหุ่นละครเล็ก เรื่อง พระมหาชนก พิสูตรบอกว่า สำหรับเขาแล้วสิ่งที่แตกต่างไปจากที่ผู้ชมเคยชม การแสดงของโจหลุยส์ในครั้งอื่นๆ คือความงามที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของแสง (Lighting) และการเคลื่อนไหวของตัวหุ่น ที่ไม่ใช่หุ่นรามเกียรติ์
“แต่เป็นหุ่นที่ทำให้เราได้สัมผัสกับบรรยากาศของเมื่อ 1400 ปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นรูปปั้นหุ่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ อยากให้ผู้ชมสังเกตทุกจุด เพราะทุกอย่างที่เรานำเสนอ มันผ่านการศึกษาข้อมูลมาแล้วเป็นอย่างดี
เราได้มีการถ่ายทำเบื้องหลังเอาไว้ด้วย วันหนึ่งเราจะหยิบมันขึ้นมาเรียงร้อยตั้งแต่ตอนเริ่มต้นของการทำงานไปจนถึงการแสดงบนเวที เราจะนำมาใส่บทบรรยายภาษาอังกฤษแล้วนำออกเผยแพร่เป็นตอนๆให้ชาวโลกได้รู้ว่าประเทศไทยมีงานศิลปะแบบนี้ด้วย คิดว่า ถึงเวลานั้นรัฐบาลต้องเข้ามาดูแล และช่วยให้มันถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก”
คือความตั้งใจในลำดับต่อไปของชาวคณะหุ่นละครเล็ก โจหลุยส์ ที่ไม่อยากให้ทุกอย่างสิ้นสุดลง เมื่อหมดช่วงเวลาของการสัญจร
เพราะเบื้องหลังของการแสดงหุ่นละครเล็กเรื่องนี้ พวกเขาได้ทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจไปไม่น้อย รวมถึงได้มีการหยิบ พระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก ขึ้นมาอ่านมากกว่า 100 รอบ
“เพราะเราต้องทำบท ทำดนตรี ต้องตีความอารมณ์ ในบทพระราชนิพนธ์ อ่านไปอ่านมาเป็นร้อยๆรอบ ที่ละวรรคทีละตอน แล้วเราไม่ใช่แค่อ่าน เรานึกถึงบรรยากาศในบทพระราชนิพนธ์ เช่น สุวรรณภูมิ คืออะไร ต้องตีความกันแบบนี้ ถึงจะออกมาเป็นจินตนาการ เป็นฉาก ในบทพระราชนิพนธ์อาจจะบรรยายประมาณหนึ่ง ดังนั้นเราจึงต้องจินตนาการ ใส่ประสบการณ์ของเราเข้าไป พร้อมทั้งศึกษาหาข้อมูลเพิ่มด้วย กว่าที่จะออกมาเป็นฉากแต่ละฉาก”
วโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2554 ชาวคณะหุ่นละครเล็ก โจหลุยส์ ขอร่วมถวายพระพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ด้วยการนำการแสดงชุดนี้ ไปปรากฎต่อสายตาผู้ชมทั่วประเทศ
และสิ่งที่ชาวคณะฯอยากเห็นประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกันด้วย คือ อยากให้ทุกคนในแต่ละจังหวัดที่มีหุ่นละครเล็กสัญจรไปแสดง มีโอกาสได้มาชมกันอย่างถ้วนหน้า แล้วนำเอาหัวใจในเรื่อง ความเพียร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงถ่ายทอดเอาไว้ในพระราชนิพนธ์ ซึ่งโจหลุยส์ได้นำมาตีความและถ่ายทอดผ่านรูปแบบการแสดงหุ่นละครเล็กอีกทีหนึ่ง ไปปรับใช้กับชีวิต แล้วลงมือปฏิบัติจริงจนเห็นผลด้วยตัวเอง
“ พระองค์ท่านไม่ได้ทรงตรัสให้เรารักพระองค์ท่าน หรือทรงตรัสว่าพระองค์ท่านทรงดีอย่างโน้นดีอย่างนี้เลยนะ แต่สิ่งที่ทรงตรัส มันเป็นธรรมะเป็นสัจธรรมของชีวิต อยากให้ทุกคนไปฟังแล้วนำเอาสิ่งที่ทรงตรัสไปใช้กับชีวิต
เพราะทุกถ้อยคำที่พระองค์ท่านทรงตรัส คล้ายกันกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัส นั่นคือพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เชื่อพระพุทธเจ้า แต่ให้เชื่อในคำสั่งสอน และพิสูจน์ว่ามันเป็นจริงหรือเปล่าด้วยการนำเอาไปปฏิบัติ นั่นแหล่ะคือสิ่งที่โจหลุยส์อยากให้คนไทยได้รับผ่านการแสดง”
Text by ฮักก้า Photo by ศิวกร เสนสอน
กำหนดการจัดแสดง หุ่นละครเล็ก เรื่อง “พระมหาชนก”
24 พฤษภาคม 54 ณ โรงละครกาดสวนแก้ว จ.เชียงใหม่
25 พฤษภาคม 54 ณ ศาลากลางจัวหวัด จ.นครศรีธรรมราช
27 พฤษภาคม 54 ณ หอประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ จ.สงขลา
29 พฤษภาคม 54 ณ หอประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ จ.พัทลุง
31 พฤษภาคม 54 ณ ศาลากลางจังหวัด จ.เชียงราย
1 มิถุนายน 54 ณ ศาลากลางจังหวัด จ.พะเยา
2 มิถุนายน 54 ณ ศาลากลางจังหวัด จ.ลำปาง
3 มิถุนายน 54 ณ ศาลากลางจังหวัด จ.แพร่
7 มิถุนายน 54 ณ ศาลากลางจังหวัด จ.อุดรธานี
8 มิถุนายน 54 ณ ศาลากลางจังหวัด จ.กาฬสินธุ์
9 มิถุนายน 54 ณ ศาลากลางจังหวัด จ.มหาสารคาม
11 มิถุนายน 54 ณ หอประชุมกาญจนาภิเษก จ.ขอนแก่น
19 กรกฎาคม 54 ณ ศาลากลางจังหวัด จ.ชลบุรี
20 กรกฎาคม 54 ณ ศาลากลางจังหวัด จ.ระยอง
21 กรกฎาคม 54 ณ วิทยาลัยนาฏศิลป์อ่างทอง จ.อ่างทอง
22 กรกฎาคม 54 ณ วิทยาลัยนาฏศิลป์สุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี
29 - 30 กรกฎาคม 54 ณ อาคารนวัตกรรม : ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กรุงเทพฯ
นอกเหนือจากการแสดง ยังมีกิจกรรมที่เยาวชนจะได้เรียนรู้เรื่อง ความเพียร จากวิทยากร ซึ่งเป็นปราชญ์ท้องถิ่น อีกด้วย สอบถาม โทร.0-2422 -8888
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ และ Celeb Online www.astvmanager.com โทร.0 -2629 - 4488 ต่อ 1530 Email: thinksea@hotmail.com