xs
xsm
sm
md
lg

ปุจฉา - วิสัชนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

• กลัวกรรมเพราะความคิด

ปุจฉา :

กราบนมัสการหลวงปู่ ลูกมีความทุกข์เพราะความคิด สิ่งที่ไม่ต้องการคิดมักผุดขึ้นมา ซึ่งถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่เหมาะสม ลูกจะกังวลใจมาก และกลัวไปต่างๆนานา เช่น กลัวบาป กลัวกรรม กลัวจะมีผลกับตนเอง หรือบุคคลอื่น ลูกขอเรียนถามว่า ลูกควรจะทำอย่างไร และบาป และกรรมต่างกันอย่างไรเจ้าคะ

วิสัชนา :

ฝึกจิตให้เกิดสติ แล้วสติที่ได้จากการฝึกให้เกิด จะคอยช่วยระงับอาการฟุ้งซ่าน หรืออาการวิตกกังวลจะหดหายไป

บาป คือ ผลที่เกิดจากกรรมที่ทำชั่ว

กรรม คือ การกระทำ ซึ่งถ้าทำดี เรียกว่า กุศลกรรม และทำชั่ว เรียกว่า อกุศลกรรม

• ฝึกความจำ


ปุจฉา : กราบนมัสการหลวงปู่

ตัวผมเองเป็นคนที่ความจำไม่ดีเลย นึกอะไรไม่ค่อยออก จะมีวิธีการแก้หรือจะฝึกฝนอย่างไรดี หลวงปู่ช่วยให้คำแนะนำด้วยครับ

วิสัชนา : ฝึกสติ...วิธีก็คือ พยายามระลึกรู้ เฝ้าดูทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเรา ทั้งภาย ในและภายนอก แค่นี้คุณก็จะมีความจำดีขึ้น

• ทุกข์ไม่หาย


ปุจฉา : นมัสการหลวงปู่ที่เคารพ

กระผมอยากเรียนถามว่า เวลาเกิดทุกข์ ทำไมจึงทำให้ทุกข์หายไปหรือแก้ไม่ได้ ทั้งๆที่รู้เรื่องเกี่ยวกับไตรลักษณ์และอริยสัจตามทฤษฎีทุกประการ

วิสัชนา : ก็เพราะคุณรู้ด้วยสัญญา มิใช่ปัญญา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า รู้จำเฉยๆ ไม่ได้รู้จริง คุณจึงพึ่งพาสิ่งที่คุณรู้นั้นไม่ได้ ถ้าต้องการพึ่งได้ เรื่องมันไม่ยาก แต่คุณต้องฝึกก็คือให้มีสติรู้ตัวทั่วพร้อมทุกขณะจิต แล้วคุณจะสามารถชนะทุกข์ที่เกิดขึ้นได้

• วาโยกสิณ


ปุจฉา : กราบนมัสการหลวงปู่

เวลาที่ลูกยืนโหนรถประจำทางตอนเดินทางไป-กลับโรงเรียน ลูกจะกำหนดจิตรับรู้ถึงลมที่มาต้องผิวกาย เวลาที่รถกำลังวิ่ง อย่างนี้เรียกว่าวาโยกสิณ ใช่หรือไม่ การกำหนดจิตอย่างนี้ถูกต้องไหม และมีเทคนิควิธีการฝึกอย่างไร ขอหลวงปู่ได้โปรดเมตตาชี้แนะด้วย และถ้าฝึกได้ถึงขั้น จะมีอาการอย่างไร

วิสัชนา :

ใช่ก็ได้ ไม่ใช่ก็ได้
ที่ว่าใช่ก็ได้ คือ คำว่า “กสิณ” หมายถึงวัตถุจูงใจ วัตถุผูกใจ วัตถุอะไรที่สามารถจูงใจ ผูกใจคุณให้อยู่นิ่งให้สงบ ถือได้ว่าเป็นกสิณได้ทั้งนั้น

ที่ว่าไม่ใช่ หมายถึง ไม่ว่าวัตถุใด ถ้าเราพยายามที่จะเอาใจไปผูก แล้วมันไม่สามารถผูกได้ หยุดใจ หยุดอารมณ์ไม่ได้ แสดงว่านั่นไม่ใช่กสิณ

วิธีการฝึกกสิณก็เริ่มอย่างที่คุณทำนั่นแหละ ทำจนมันสามารถบังคับวัตถุนั้นๆได้ตามชอบใจ และมันสามารถอยู่กับคุณ คุณมีมันเป็นอารมณ์ได้ตลอด จนจิตคุณสงบ มีสมาธิเป็นอารมณ์หนึ่งเดียว ก็ถือว่าใช้ได้แล้วแหละคุณ


(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 127 มิถุนายน 2554 โดย หลวงปู่พุทธะอิสระ วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม)
กำลังโหลดความคิดเห็น