พระอิริยาบถทรงพระบรรทม (นอน) ตะแคงเบื้องขวา หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย (หมอน) พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาวางหงายอยู่ข้างพระเขนย พระบาทซ้ายทับซ้อนพระบาทขวา เหยียดปลายพระบาทเสมอกันทั้ง ๒ ข้าง (เรียกโดยทั่วไปว่าพระนอน หรือพระไสยาสน์ ในหลายตำราบอกว่าปางปรินิพพาน ต่างจากปางไสยาสน์ตรงที่พระหัตถ์ของพระองค์จะไม่ทรงชันพระเศียรตั้งขึ้น แต่จะแผ่ราบลงกับพื้น ซึ่งเป็นลักษณะทอดร่างวางขันธ์ดับ มุ่งสู่มหาปรินิพพาน)
ปางนี้มีที่มาจากพุทธประวัติที่ได้กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร ดังนี้
ในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ (วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดิอน ๖) หลังจากที่พระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งทรงพระบรรทมด้วยพระอาการประชวรใต้ต้นสาละ ณ เมืองกุสินารา ได้ให้สุภัททปริพาชกเข้าเฝ้าเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อทูลถามปัญหา ก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน กระทั่งสุภัททปริพาชกได้ฟังธรรมจากพระองค์แล้วรู้สึกเลื่อมใส จึงขออุปสมบทเป็นภิกษุ จนได้บรรลุพระอรหัตผลในวันนั้น ถือว่าได้เป็นพระอรหันต์ปัจฉิมสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
จากนั้น พระพุทธองค์ตรัสเรียกพระอานนท์มารับสั่งว่า “ธรรมและวินัยอันใด เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกท่าน ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาของพวกท่าน โดยกาลล่วงไปแห่งเรา”
ในกาลสุดท้าย พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาพร้อมกัน แล้วทรงรับสั่งว่า หากภิกษุรูปใดมีความสงสัยเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรค หรือในข้อปฏิบัติ ก็ให้ถามมา เพราะขณะนี้พระองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ต่อหน้า แต่ได้ทรงถามถึง 3 ครั้ง ภิกษุทั้งหมดก็นั่งนิ่ง
พระผู้มีพระภาคจึงได้ประทานปัจฉิมโอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”
แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานในคืนนั้นเอง
เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จปรินิพพานไปแล้ว 8 วัน มัลลกษัตริย์แห่งเมืองกุสินารา พร้อมด้วยประชาชน และพระสงฆ์อันมีพระ มหากัสสปเถระเป็นประธาน ได้พร้อมกันกระทำการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ เมืองกุสินารา เมื่อวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งเรียกกันว่าวันอัฏฐมี
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 126 พฤษภาคม 2554 โดย กานต์ธีรา)