xs
xsm
sm
md
lg

พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

...ความสุขความเจริญที่แท้จริงอันควรหวังนั้น เกิดขึ้นได้จากการกระทำและความประพฤติที่เป็นธรรม มีลักษณะสร้างสรรค์ คืออำนวยผลที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตัว แก่ผู้อื่น ตลอดถึงประเทศชาติโดยส่วนรวมด้วย...

...เรื่องศาสนานี้ จะเป็นศาสนาใด หากปฏิบัติโดยดีและถูกต้อง ก็ย่อมจะมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับแต่ละบุคคล และเป็นประโยชน์ สำหรับส่วนรวมด้วย เพราะว่าบุคคลที่มีความคิดดี ทำดี ตั้งใจดี จึงทำให้ส่วนรวมอยู่เย็นเป็นสุข และแต่ละบุคคลก็ได้รับผลดีตอบแทน ทำให้มีชีวิตที่เบิกบาน มีชีวิตที่ราบรื่น มีความเจริญก้าวหน้า...

...ความเจริญนั้น ต้องพร้อมด้วยเครื่องมือเครื่องใช้ประการหนึ่ง วิชาความรู้ประการหนึ่ง และจิตใจสูงประการหนึ่ง คือถ้าเราต้องการจะทะนุบำรุง ส่งเสริมกำลังของเราให้เข้มแข็ง เมื่อเรามีเงิน ก็จะจัดซื้อหาเครื่องอาวุธยุทโธปกรณ์นานาชนิดที่มีคุณภาพดี มาเพิ่มพูนให้มากยิ่งขึ้นเพียงใด ก็ย่อมจะทำได้

หรือถ้าเราต้องการจะส่งเสริมสมรรถภาพในทางความรู้ วิทยาการใดๆให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ เราก็จัดส่งคนของเรา ให้ออกไปศึกษาค้นคว้า และหาอุปกรณ์ต่างๆประกอบวิทยาการแผนใหม่ๆในต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงส่งเสริมสมรรถภาพของเราให้เจริญเทียมทันเขาได้

ซึ่งความเจริญดังกล่าวมาแล้วนี้ เราสามารถซื้อหาด้วยเงินได้ แต่ความเจริญทางจิตใจนั้น เราจะซื้อด้วยเงินเป็นจำนวนเท่าใดๆไม่ได้ ความเจริญทางจิตใจนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งนัก เพราะเป็นหน้าที่ของแต่ละคน ที่จะต้องทำตัวของตนเองให้ดี เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม...

...คำที่ชอบมากในพระพุทธศาสนาคือ “วิริยะ” วิริยะนี้ออกมาใน รูปภาษาพูดธรรมดา ก็หมายถึงความอุตสาหะ เพราะเขาใช้คำวิริยะอุตสาหะ คนนั้นมีความวิริยะมาก หมายความว่า มีความอุตสาหะมาก มีความขยัน มีความอดทนมาก

แต่วิริยะกลายมาเป็นคนที่มีวีระเป็นคนที่กล้า อย่างเช่นคำว่าวีรบุรุษ วีรชน คนที่กล้าวิริยะนี้ ความอุตสาหะหรือความกล้า ก็เป็นคำที่สำคัญ ต้องกล้าที่เผชิญตัวเอง เมื่อกล้าเผชิญตัวเอง กล้าที่จะลบล้างความขี้เกียจ เกียจคร้านในตัว หันมาพยายามอุตสาหะ ก็ได้เป็นวิริยะอุตสาหะ

วิริยะในทางที่กล้าที่จะค้านตัวเองในความคิดพิเรนทร์ ก็เป็นคนที่มีเหตุผล เป็นคนที่ละอคติต่างๆ ก็หมายความว่าเป็นคนที่คิดดีที่ฉลาด วิริยะในทางที่ไม่ยอมแม้แต่ความเจ็บปวด ความกลัว จะมาคุกคาม ก็ทำสิ่งที่ถูกต้อง ก็เป็นคนกล้า ถึงชอบคำว่า วิริยะ...


(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 125 เมษายน 2554)
กำลังโหลดความคิดเห็น