ความเป็นจริงแล้วคำว่า “โรคหัวใจ” มีความหมาย กว้างมาก อาการที่เกิดจากโรคหัวใจหรือสัมพันธ์กับหัวใจนั้นมีไม่มากนัก ดังอาการข้างล่างนี้ แต่อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวก็มิได้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคหัวใจ เท่านั้น ยังมีโรคอื่นๆที่ให้อาการคล้ายกัน ดังนั้นการที่แพทย์จะพิจารณาให้การวินิจฉัยนั้น จำเป็นต้องอาศัยประวัติอาการโดยละเอียด ร่วมกับการตรวจร่างกาย บางครั้งต้องอาศัยการตรวจพิเศษต่างๆ เช่น เลือด ปัสสาวะ เอ็กซเรย์ เป็นต้น เพื่อแยกโรคต่างๆที่มีอาการคล้ายกัน
1. เจ็บหน้าอก
อวัยวะที่อยู่ในทรวงอกนอกจากหัวใจแล้วยังมี เยื่อหุ้มหัวใจ ปอด เยื่อหุ้มปอด หลอดอาหาร หลอดเลือดแดงใหญ่ กระดูกหน้าอก กระดูกซี่โครง เต้านม กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก เมื่อมีการอักเสบหรือพยาธิสภาพของอวัยวะเหล่านี้ก็ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก ได้ทั้งสิ้น แต่ลักษณะ อาการอาจแตกต่างกัน
อาการต่อไปนี้เข้าได้กับอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด
1. เจ็บแน่นๆ อึดอัด บริเวณกลางหน้าอก อาจจะเป็นด้านซ้าย หรือทั้งสองด้าน (มักจะไม่เป็นด้านขวาด้านเดียว) บางรายจะร้าวไปที่แขนซ้าย หรือทั้งสองข้าง หรือจุกแน่นที่คอ บางรายเจ็บบริเวณกรามคล้ายเจ็บฟัน
2. อาการตามข้อ 1 เกิดขึ้นขณะออกกำลัง เช่น เดินเร็วๆ รีบ หรือขึ้นบันได วิ่ง โกรธ โมโห อาการดังกล่าวจะดีขึ้นเมื่อหยุดออกกำลัง
3. ในบางรายที่อาการรุนแรง อาการแน่นหน้าอกอาจเกิดขึ้นในขณะพัก เช่น นั่ง หรือนอน หรือหลังอาหาร
4. กรณีที่เกิดหลอดเลือดหัวใจอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อาการจะรุนแรงมาก อาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น เหงื่อออกมาก เป็นลม (อาการเช่นนี้ยังพบได้ในโรคของหลอดเลือดแดงใหญ่ปริฉีก)
อาการต่อไปนี้ไม่เหมือนอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด
1. เจ็บแหลมๆคล้ายเข็มแทง เจ็บแปล๊บๆ เจ็บจุดเดียว กดเจ็บบริเวณหน้าอก
2. อาการเจ็บเกิดขึ้นในขณะพัก มีอาการนานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน
3. อาการมากขึ้นเมื่อเปลี่ยนท่า หรือขยับตัว หรือหายใจเข้าลึกๆ
4. อาการเจ็บร้าวขึ้นศีรษะ ปลายมือ ปลายเท้า
อาการตามข้อ 1,2 และ 3 อาจเกิดจากกระดูก กล้ามเนื้อหน้าอก เยื่อหุ้มปอดอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือด นอกจากอาการเจ็บหน้าอกแล้ว ต้องอาศัยประวัติอื่นๆด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังนั้นในผู้ป่วยบางรายที่อาการไม่เหมือนนัก แต่มีปัจจัยเสี่ยงหลายข้อ ก็ควรได้รับ การตรวจพิเศษเพิ่มเติมด้วย
2. หอบ เหนื่อยง่ายผิดปกติ
อาการหอบ เหนื่อยง่าย เวลาออกแรง เช่น เดิน วิ่ง ทำงาน มีสาเหตุมากมาย เช่น โลหิตจาง(ซีด) โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง โรคปอด ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว (heart failure) แม้แต่ความวิตกกังวล หรือโรคแพนิค ก็ทำให้เหนื่อยได้เช่นกัน อาการเหนื่อยง่าย จากโรคหัวใจ และภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น จะเหนื่อยหอบ หายใจเร็วขณะออกแรง แต่ในรายที่เป็นรุนแรงจะเหนื่อยในขณะพัก บางรายจะเหนื่อยมากจนนอนราบไม่ได้ (นอนแล้วจะเหนื่อย ไอ) ต้องนอนศีรษะสูงหรือนั่งหลับ
คำว่า “เหนื่อย หอบ” ในความหมายของแพทย์หมายถึง อัตราการหายใจมากกว่าปกติ แต่ในความหมายของ ผู้ป่วยอาจรวมไปถึงอาการเหนื่อยเพลีย หมดแรง เหนื่อยใจ อาการเหนื่อยแบบหมดแรง มือเท้าเย็นชา พูดก็เหนื่อย (โดยอัตรา การหายใจปกติ) เหล่านี้มักจะไม่ใช่อาการเหนื่อยจากโรคหัวใจ
3. ใจสั่น
ใจสั่นในความหมายแพทย์หมายถึง การที่หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ผิดจังหวะ หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ เต้นๆหยุดๆ อาการดังกล่าว อาจพบได้ในคนปกติ โรคหัวใจ และโรคอื่นๆที่มีผลต่อหัวใจ เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคปอด แพทย์จะซักประวัติละเอียดถึงลักษณะของอาการใจสั่น เพื่อให้แน่ใจว่าเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยรู้สึก “ใจสั่น” โดยหัวใจเต้นปกติ
การตรวจวินิจฉัยกลุ่มอาการใจสั่น เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากผู้ป่วยมักมีอาการชั่วขณะ เมื่อมาพบแพทย์อาการดังกล่าวก็หายไปแล้ว แพทย์จึงไม่สามารถให้การวินิจฉัยได้ว่าเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ ดังนั้น ท่านควรศึกษาวิธีจับชีพจรตัวเองเมื่อเกิดอาการ ว่าหัวใจเต้นกี่ครั้งในเวลา 1 นาที และสม่ำเสมอหรือไม่ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์ให้การวินิจฉัยได้รวดเร็วขึ้น
4. ขาบวม
อาการขาบวมเกิดจากการที่ร่างกายมีเกลือ(โซเดียม) และน้ำคั่งอยู่ในร่างกาย โดยอาจเกิดจากโรคไต (ขับเกลือไม่ได้) โรคหลอดเลือดดำอุดตัน (การไหลเวียนไม่สะดวก) ขาดอาหาร โปรตีนในเลือดต่ำ โรคตับ ยาและฮอร์โมนบางชนิด โรคหัวใจ หรือในบางรายไม่พบสาเหตุ (idiopathic edema)
การบวมในผู้ป่วยโรคหัวใจเกิดจากการที่หัวใจด้านขวา ทำงานลดลง เลือดจากขาไม่สามารถไหลเทเข้าหัวใจด้านขวาได้โดยสะดวก จึงมีเลือดค้างอยู่ที่ขามากขึ้น โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเรื้อรังก็ให้อาการเช่นนี้ได้เช่นกัน ดังนั้น เมื่อมีอาการขาบวม แพทย์จำเป็นต้องตรวจหลายระบบเพื่อหาสาเหตุ จึงให้การรักษาได้ถูกต้อง
5. เป็นลม วูบ
คำว่า “วูบ” นี้เป็นปัญหาในการซักประวัติอย่างมาก เนื่องจากในภาษาไทยคำนี้มีความหมายต่างๆกัน แต่ในความหมายของแพทย์แล้ว จะตรงกับภาษาอังกฤษว่า syncope หมายถึง การหมดสติ หรือเกือบหมดสติ ชั่วขณะ โดยอาจรู้สึกหน้ามืดจะเป็นลม ตาลาย มองไม่เห็นภาพชัดเจน โดยอาการเป็นอยู่ชั่วขณะ ไม่รวมถึงอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน โคลงเคลง วูบวาบตามตัว หายใจไม่ ออก อาการดังกล่าวอาจเกิดจากความผิดปกติของสมอง เช่น ลมชัก (แม้จะไม่ชักให้เห็น) เลือดออกในสมอง ความผิดปกติของหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง หรือหยุดเต้นชั่วขณะ หรือความผิดปกติของระบบประสาท อัตโนมัติที่ควบคุมหัวใจ นอกจากนั้นแล้ว “วูบ” ยังอาจพบได้ในคนปกติที่ขาดน้ำ เสียเลือด ท้องเสีย ไม่สบาย ขาดการออกกำลังกาย ยาลดความดันโลหิต
• สาเหตุที่ทำให้หยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้น
ภาวะหยุดหายใจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น จมน้ำ เป็นอัมพาต สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินลมหายใจ สูดดมควันเข้าไปมาก ได้รับยาเกินขนาด ไฟฟ้าดูด อยู่ในที่ไม่มีอากาศหายใจ บาดเจ็บ กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ฟ้าฝ่า และสมองเสีย การทำงานจนโคม่าจากสาเหตุต่างๆ
ภาวะหัวใจหยุดเต้น หมายถึง การไหลเวียนเลือดหยุดลงอย่างสิ้นเชิง ซึ่งทราบได้จากการหมดสติไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่มีอาการไอ คลำชีพจรไม่ได้ ไม่มีการหายใจอย่างที่เป็นตามปกติ ภาวะหัวใจหยุดเต้น เกิดขึ้นจากสาเหตุหลายอย่าง เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรือที่เรียกกันว่าหัวใจวาย หรืออาจเกิดขึ้นตามหลังภาวะหยุดหายใจ
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 123 กุมภาพันธ์ 2554 โดย สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์)