xs
xsm
sm
md
lg

เปิดพินัยกรรม พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว) นักรบธรรม แห่ง "พระกรรมฐาน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นับเป็นการสูญเสียอย่างยิ่งใหญ่ของวงการสงฆ์อีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระธรรมวิสุทธิมงคล หรือหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ได้ละสังขารแล้วเมื่อวันที่ 30 ม.ค. เวลาประมาณ 03.53 น. ด้วยอาการปอดติดเชื้อ สิริรวมอายุ 98 ปี พรรษา 76

โดยเมื่อวันที่ 30 ม.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ ในการพระราชทานน้ำหลวงสรงศพพระธรรมวิสุทธิมงคล

โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานโกศโถและทรงรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ 7 วัน ในการนี้ได้พระราชทานพวงมาลาพระราชทาน พวงมาลาประทานของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ วางที่หน้าโกศศพของหลวงตามหาบัว

นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงาน พระพุทธศาสนาแห่งชาติ เปิดเผยว่า พิธีพระราชทานเพลิงศพ คาดว่าจะมีประมาณต้นเดือนมีนาคมนี้

• “นักรบธรรม” แห่งพระกรรมฐาน

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวน 16 คน ของนายทองดี และนางแพง โลหิตดี เกิดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2456 ณ บ้านตาด จ.อุดรธานี อุปสมบทเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 ณ วัดโยธานิมิตร จ.อุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์(จูม พันธุโล) วัดโพธิสมภรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายานามว่า “ญาณสมฺปนฺโน” แปลว่า “ถึงพร้อมแล้วด้วยการหยั่งรู้” ท่านศึกษาพระปริยัติธรรมและสอบได้ทั้งนักธรรมเอก และเปรียญ 3 ประโยค ณ วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ และสถานที่แห่งนี้เอง เป็นที่แรกที่ท่านได้มีโอกาสพบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แม่ทัพธรรมแห่งพระกรรมฐาน

จากความตั้งใจอันเด็ดเดี่ยวว่า เมื่อเรียนจบมหาเปรียญแล้ว จะออกปฏิบัติกรรมฐานอย่างจริงจัง ดังนั้นในพรรษาที่ 8 ท่านจึงมุ่งหน้าไปปฏิบัติกรรมฐานทางป่าเขาแถบจังหวัดนครราชสีมา ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2485 ท่านได้ไปขออยู่ศึกษาธรรมกับพระอาจารย์มั่น ด้วยความ ที่ท่านไม่เห็นแก่การกินการนอน มากไปกว่าผลแห่งการปฏิบัติธรรม ดังนั้นในช่วงบำเพ็ญเพียร สภาพร่างกายของ ท่านจึงซูบผอมชนิดหนังหุ้มกระดูก พระอาจารย์มั่นถึงกับ ทักว่า “โอ้ ทำไมเป็นอย่างนี้ล่ะ” แต่ด้วยเกรงว่าลูกศิษย์จะ ตกใจและเสียกำลังใจ พระอาจารย์มั่นก็กลับพูดให้กำลังใจในทันทีนั้นว่า “มันต้องอย่างนี้ซิ จึงเรียกว่านักรบ” หลวงตาเคยเล่าถึงความมุ่งมั่นในการต่อสู้กับกิเลส เพื่อจะเอาแพ้ เอาชนะกันว่า “ถ้ากิเลสไม่ตาย เราก็ต้องตาย จะให้อยู่เป็นสองระหว่างกิเลสกับเรานั้น.. ไม่ได้”

หลวงตาได้บำเพ็ญเพียรอยู่กับพระอาจารย์มั่น ด้วยความมุ่งมั่นอย่างจริงจังมาโดยตลอด กระทั่งพระอาจารย์ มั่นได้มรณภาพลง เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2492 ทำให้หลวงตารู้สึกว่าหมดที่พึ่งทางใจแล้ว จึงพยายามปลีกตัวไปปฏิบัติธรรมอยู่ป่าเขาตามลำพัง

• มุ่งมั่นบำเพ็ญเพียร

ในพรรษาที่ 16 หลวงตาได้มุ่งสู่วัดดอยธรรมเจดีย์ (ปัจจุบันอยู่ อ.โคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร) และในคืนหนึ่งแรม 14 ค่ำ เดือน 6 (วันที่ 15 พฤษภาคม 2493) ท่านได้บรรลุธรรมด้วยความอดทนพากเพียร พยายามอย่างสืบเนื่องตลอดมา นับแต่วันออกปฏิบัติกรรมฐานอย่างจริงจังรวมเวลา 9 ปี

หลวงตาได้เคยเล่าให้พระภิกษุในวัดป่าบ้านตาดฟังถึงสภาวธรรมในใจของท่านขณะนั้นว่า “เกิดความสลดสังเวชภพชาติแห่งความเป็นมาของตน และเกิดความอัศจรรย์ในพระพุทธเจ้า พระสาวกอรหันต์ที่ท่านหลุดพ้นไปแล้ว ท่านก็เคยเป็นมาอย่างนี้ เราก็เป็นมาอย่างนี้ แต่คราวนี้เป็นความอัศจรรย์ในวาระสุดท้าย ได้ทราบชัดเจนประจักษ์ใจ เพราะตัวพยานก็มีอยู่ภายในจิตนั้นแล้ว แต่ก่อนจิตเคยมีความเกี่ยวข้องพัวพันกับสิ่งใด บัดนี้ไม่มีสิ่งใดจะติดจะพัวพันอีกแล้ว...”

เนื่องจากสหธรรมิกหลายรูปเคยได้ยินพระอาจารย์มั่นปรารภถึงหลวงตาอยู่เนืองๆ ว่า “ท่านมหาฯฉลาดทั้งภายนอกภายใน ต่อไปจะเป็นที่พึ่งแก่หมู่คณะได้มาก” ดังนั้น หลังพิธีศพท่านพระอาจารย์มั่นเสร็จสิ้นลง พระเณรหมู่คณะหลายสิบรูป จึงต่างพากันติดตามท่าน เพื่อหวังพึ่งพิงและขอรับคำแนะนำข้ออรรถธรรม และข้อวัตรปฏิบัติท่านก็ให้การเมตตาอนุเคราะห์แต่นั้นมาจนทุกวันนี้

• ตั้งวัดป่าบ้านตาด

เนื่องจากโยมมารดาล้มป่วยด้วยโรคอัมพาต หลวงตาจึงพาโยมมารดากลับมาที่บ้านตาด เพื่อรักษาตัว และเห็นว่าการที่จะพาโยมมารดาไปอยู่ในที่ทุรกันดาร ก็จะทำความลำบากให้โยมมารดา ดังนั้น ในปี 2499 หลวงตาจึงได้เริ่มจัดตั้งวัดป่าบ้านตาด เพื่อเป็นที่พักอาศัย และดูแลโยมมารดา เพื่อตอบแทนพระคุณ พร้อมกับบวชชีให้ และสอนธรรมะแก่โยมมารดา เมื่อพระเณรที่เคยได้ยิน กิตติศัพท์ของท่าน เมื่อรู้ว่าท่านตั้งวัดเป็นหลักฐานแล้ว จึงพากันมาอยู่กับท่านมากมาย

การเทศนาพระเณร-ฆราวาส ปรากฏออกมาเป็นเทป-หนังสือจำนวนมาก โดยแจกเป็นธรรมทานตลอดมา เฉพาะหนังสือธรรมะภาษาไทยมีจำนวนกว่า 102 เล่ม ภาษาอังกฤษกว่า 8 เล่ม เทปเฉพาะที่มีการบันทึกการเทศนามีหลายพันกัณฑ์

• สงเคราะห์โลก ด้วยจิตเมตตา

นับแต่ท่านบำเพ็ญกิจของสมณเพศ อันเป็นกิจสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนาเรียบร้อยลงแล้ว ท่านก็หันมาให้การสงเคราะห์ด้านธรรมะแก่พระเณร-ฆราวาสมาโดยตลอด ควบคู่ไปกับการบริจาคช่วยเหลือด้านวัตถุสิ่งของ ทั้งจตุปัจจัยไทยทาน แก่ประโยชน์ส่วนรวม หลวงตาได้ตั้งปณิธานในการสงเคราะห์โลกไว้ว่า

“พอตื่นขึ้น สิ่งแรกที่คิดถึงก่อนอื่นก็คือเรื่องการช่วยโลก ไม่มีแม้แต่น้อยที่คิดถึงเรื่องตัวเอง พระช่วยโลกไม่ได้ ใครเล่าจะช่วยได้...”

“เวลามีชีวิตอยู่นี้ เราจะทำความดีให้โลกทั้งหลายได้ เป็นคติตัวอย่างอันดีงาม และทำด้วยความเมตตาสงสาร เพราะหลังจากนี้แล้ว เราตายแล้ว เราจะไม่กลับมาเกิดในโลกนี้อีกต่อไป เป็นตลอดอนันตกาล...”


ตลอดชีวิตของหลวงตาได้สงเคราะห์หน่วยงานต่างๆมากมาย อาทิ ด้านการศาสนานั้น หลวงตาให้ความสำคัญ กับวัดกรรมฐานเป็นอย่างมาก เพราะเป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรมอันเป็นงานหลักในพระพุทธศาสนา ท่านจึงให้ความอุปถัมภ์ค้ำชูในด้านต่างๆ จำนวนมาก รวมทั้งหน่วยงานทางสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาล สถานีอนามัยต่างๆ กว่า 200 แห่ง โดยทั้งก่อสร้างตึกอาคาร ผู้ป่วย และซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ ฯลฯ นอกจากนี้ยัง มีสถานีตำรวจ โรงเรียน เรือนจำ ทัณฑสถาน สถานสงเคราะห์ต่างๆ อีกมากมาย

ท่านเคยเล่าว่าหากจะนับเป็นมูลค่าน่าจะเป็นหมื่นล้านบาทขึ้นไป เพราะมีเท่าไรไม่เคยเก็บสั่งสมไว้ หากจะนำมาใช้จ่ายในวัดก็เพียงเล็กน้อยตามจำเป็นจริง ๆ เพราะไม่มีกิจการงานก่อสร้างอื่นใด มุ่งเน้นแต่งานด้านจิตภาวนาเท่านั้น

• สงเคราะห์ชาติให้พ้นภัย
ด้วย“โครงการผ้าป่าช่วยชาติ”


ในปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยประสบกับปัญหาวิกฤตทางการเงินของประเทศ หลวงตามหาบัวจึงได้ปรารภขึ้นด้วยความห่วงใยว่า “จำเป็นต้องอาศัยความสามัคคีของ พี่น้องไทยทุกคน ให้ต่างเสียสละช่วยกันอย่างจริงจัง” จึงกลายเป็นที่มาของ “โครงการผ้าป่าช่วยชาติ” ที่หลวงตามหาบัวตระเวนไปแสดงธรรมเทศนา เพื่อรับบริจาคผ้าป่า และด้วยแรงศรัทธาที่พุทธศาสนิกชนมีต่อหลวงตา จึงได้ร่วมบริจาคทองคำ เงิน เข้าบัญชีช่วยชาติกันเป็นจำนวนมาก โดยหลวงตาได้ทำพิธีมอบเงินทองที่ได้จากการบริจาค ทั้งหมดให้กับคลังหลวง ซึ่งจากการรับบริจาคตั้งแต่ 12 เมษายน 2541 ถึง 9 มกราคม 2553 ได้มอบเข้าคลังหลวงแล้วทั้งสิ้น 15 ครั้ง รวมเป็นทองคำ 967 แท่ง น้ำหนัก 12,087.50 กิโลกรัม และเงิน (รวมดอกเบี้ย) 10,803,600 ดอลลาร์สหรัฐ

• ช่วยโลก...แม้วาระสุดท้าย

ในหนังสือ “หยดน้ำบนใบบัว” ได้เขียนไว้ว่า หลวงตา มหาบัวเคยกล่าวเรื่องการมรณภาพของท่านไว้ว่า

“...เรื่องศพหลวงตาบัวนี้เรียกว่าเด็ดขาดเลยนะ คอยแต่เวลาจะเผาหลวงตาเท่านั้นแหละ เรื่องจะก้าวเดินตามนี้ทั้งหมด แยกเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้

ที่ว่าเงินที่ท่านผู้มาบริจาคทั่วประเทศไทยของเราที่มานี้ เราจะนำเงินหมดทุกบาททุกสตางค์ ยกให้คลังหลวงของเราหมด เป็นวาระสุดท้ายของเราที่ช่วยโลกอย่างเต็มหัวใจ

อันนี้เป็นคำพูดของเราที่เด็ดขาดแล้ว ไม่มีเคลื่อนไหว ไม่มีเปลี่ยนแปลงอะไรเลยล่ะ เรียกว่าคำพูดที่เด็ดขาด ตายแล้วต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ว่างั้นเถอะ

เด็ดตลอด จนกระทั่งตายแล้วศพยังเด็ดอีก เด็ดวางลวดลายไว้วาระสุดท้ายแล้ว เพราะตายไปตอนนี้ เราจะไม่มาเกิดอีกแล้ว เราบอกตรงๆ เลย

จะเป็นวาระสุดท้ายของเราที่ตายกองกันในวัฎจักรนี้ กี่กัปกี่กัลป์มา เราเคยตายมาแล้วกี่กัปกี่กัลป์ แล้วกี่ภพกี่ชาติ คราวนี้เลิกกัน เพราะฉะนั้น จึงอุ้มชาติไทยของเราเต็มสติกำลังความสามารถ

จากนั้น สุดวิสัยแล้วของธาตุขันธ์ที่นำมาใช้เพื่อประโยชน์แก่โลกนี้ เป็นอันว่าดีดปั๊บทันที ดีดแล้วก็เท่านั้นไปเลย คำว่า นิพพานธาตุ หรือธรรมธาตุ เราไม่ถามใครแล้ว..”

(ข้อมูลจากหนังสือ “หยดน้ำบนใบบัว” และ “เวปไซต์ Luangta.com”)

• เปิด “พินัยกรรม” ของหลวงตา

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2554 พระอาจารย์อินถวาย สนฺตุสฺโก ได้อ่านพินัยกรรมของหลวงตามหาบัว ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้คือ

“พินัยกรรมทำที่วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2543 ข้าพเจ้าพระธรรมวิสุทธิมงคล (พระมหาบัว ญาณสัมปันโน) อายุ 87 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ ณ วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ขอทำพินัยกรรมฉบับนี้เพื่อให้ทราบทั่วกันว่า เมื่อข้าพเจ้า มรณภาพแล้ว ให้จัดการทรัพย์สินและงานศพของข้าพเจ้าดังนี้

ข้อ1. บรรดาทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วในขณะที่ข้าพเจ้ามรณภาพ และบรรดาทรัพย์สินต่างๆ ที่จะได้รับบริจาคในงานศพของข้าพเจ้า ให้จัดการดังนี้

1.1 ส่วนที่เป็นทองคำ ให้หลอมเป็นทองคำแท่ง

1.2 ส่วนที่เป็นเงินไม่ว่าจะเป็นเงินสกุลใดให้นำเข้าซื้อทองคำแท่ง ให้นำทองคำแท่ง ทั้งข้อ 1.1 และข้อ 1.2 ไปมอบให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำรองเงินตราของฝ่ายออกบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย

โดยข้าพเจ้าไม่มีเจตนาจะให้บุคคลใด หรือคณะบุคคลใดนำไป ใช้เพื่อการอื่น นอกจากเป็นเงินทุนสำรองของประเทศไทยเท่านั้น

ข้อ 2. ให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดงานศพและร่วมกันจัดงานจัดการดูแลทรัพย์สินทั้งปวงที่มีอยู่ในขณะมรณภาพ และที่จะได้รับบริจาคในงานศพของข้าพเจ้า โดยให้ดำเนินการอย่างเปิดเผย และดำเนินการตามเจตนาของข้าพเจ้าที่ระบุไว้ในข้อ 1

ข้อ 3. ให้คณะกรรมการ ตามข้อ 2. มีจำนวน 9 คน ประกอบด้วย 1. พระอาจารย์ฟัก สันติธรรมโม (มรณภาพแล้ว) 2. พระอาจารย์อินทร์ถวาย สันตุสฺสโก 3.พระปัญญา วัฒโธ 4.พระอาจารย์ วันชัย วิจิตโต 5. องคมนตรี ดร.เชาวน์ ณ ศีลวัน 6.นายศิริ คูสกุล 7. ม.ร.ว.ทองศิริ ทองแถม 8. พ.ต.อ.กฤษดา บูรณพานิช 9. พ.ต. ประชัย นาวินรัตน์

ข้อ 4. ข้าพเจ้าขอตั้งให้พระสุดใจ ทันตมโน เป็นผู้จัดการมรดก ของข้าพเจ้า

พินัยกรรมฉบับนี้ทำไว้ 3 ฉบับ มีข้อความถูกต้องตรงกัน เก็บไว้ที่ 1. วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี 2. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาอุดรธานี 3. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาอุดรธานี

พินัยกรรมฉบับนี้ทำขึ้นด้วยความสมัครใจของข้าพเจ้าและข้าพเจ้ามีสติสัมปชัญญะและสมบูรณ์ จึงลงชื่อไว้ต่อหน้าพยาน

ลงชื่อ พระมหาบัว ญาณสัมปัญโญ ผู้ทำพินัยกรรม (พระธรรมวิสุทธิมงคล)

ข้าพเจ้า พระปัญญา วัฒโธ และ พระสุดใจ ทันตมโน ขอรับรองว่า ผู้ทำพินัยกรรมได้ลงรายมือชื่อต่อหน้าข้าพเจ้าจริง

• ในหลวง สนทนาเรื่อง “พุทธภูมิ”
กับ หลวงตามหาบัว


“...เหตุการณ์ที่น่าทึ่งที่สุดคือ เมื่อปี พ.ศ.2531 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จไปนิมนต์หลวงตาไปในงานในวัง ปกติหลวงตาท่านไม่ค่อยไปไหน แต่ตอนที่พระเจ้าอยู่หัวฯ ไปนิมนต์ ท่านไปนิมนต์ด้วยพระองค์เอง เรายังจำได้..

วันนั้นเป็นวันที่ 7มกราคม 2531 เป็นปีเฉลิมราชรัชมังคลาภิเษกที่ทรงครองราชย์มากกว่ากษัตริย์ใดในประวัติศาสตร์ไทย ท่านนิมนต์หลวงตาเข้าวัง มาเป็นขบวนใหญ่ หลวงตาท่านจะอยู่ที่กุฏิ ท่านให้เราควบคุมดูแลญาติโยม ดูแลพวกทหารที่มา พระเจ้าอยู่หัวฯ จะเสด็จมาตอน 6 โมงเย็น

เมื่อขบวนพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จมาถึง เรายืนตรงนี้ ผู้ว่าฯ สายสิทธิ์ยืนตรงนี้ หมออวย แล้วใครต่อใครยืนเป็นแถวรอรับเสด็จ แล้วท่านก็ขึ้นไปข้างบนซึ่งหลวงตารอท่านอยู่แล้ว ส่วนเราก็อยู่ตรงบันได ส่วนหลวงตาอยู่ข้างบน ที่ขึ้นไปก็มีพระบรมวงศานุวงศ์ตามเสด็จครบหมดเลย พระราชินี พระบรมฯ พระเทพฯ เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ หมดทั้งครอบครัว เพื่อจะนิมนต์หลวงตาไปงานพิธีในวัง พอพระองค์ท่านกราบหลวงตาเสร็จ ท่านก็ถวายคำถามแรก (พระเจ้าอยู่หัวทรงเรียกหลวงตาว่า “หลวงปู่”)

“หลวงปู่... สาวกภูมิกับพุทธภูมิต่างกันอย่างไร”

โอ้... พระเจ้าอยู่หัวถามปัญหาหลวงตาขนาดนี้ หลวงตาตอบว่า...

“พุทธภูมิ ก็เหมือนดั่งเรานั่งรถไฟ นั่งรถไฟไปเชียงใหม่หรือนั่งรถไฟไปอุดร นั่นแหละพุทธภูมิ แต่ถ้าเรานั่งจักรยานมาหรือนั่งมอเตอร์ไซค์ ขี่มอเตอร์ไซค์ไป นั่นแหละ...สาวกภูมิ เพราะฉะนั้นการเป็นพุทธภูมิก็คือการ นำคนไปได้เยอะๆ ส่วนสาวกภูมินั้นนำไปได้น้อยๆ ไม่ได้มากนัก อย่างเก่งก็ 1 คน หรือ 3-4 คน ก็ว่ากันไป นั่นคือสาวกภูมิ เข้าใจไหมล่ะพ่อหลวง”

พระเจ้าอยู่หัวฯ ตอบหลวงตาว่า

“เข้าใจแล้วหลวงปู่ แล้วนิพพานเป็นอย่างไรนะ หลวงปู่”

หลวงตาตอบ “อ้อ พ่อหลวง เหมือนพ่อหลวงมาวัดป่าบ้านตาดนี่แหละ รู้ไหมว่าวัดป่าบ้านตาดอยู่ตรงไหน อยุ่บนกุฏินี่เหรอ วัดป่าบ้านตาดอยู่ไหนล่ะ แต่พอพระมหากษัตริย์มาถึงนี่แล้ว บริเวณนี้ทั้งหมดคือวัดป่าบ้านตาดนี้แหละ แต่จะชี้ลงไปว่าที่กุฏิอาตมาก็ไม่ใช่ ที่กุฏิพระก็ไม่ใช่ ที่ศาลาก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ทั้งหมด แต่เมื่อรวมกันทั้งหมดในกำแพงวัดนี้นี่แหละคือวัดป่าบ้านตาด นี่แหละพระนิพพานก็มีความหมายแบบเดียวกัน”

และเมื่อพระเจ้าอยู่หัวฯ ขอบารมีหลวงตาช่วยต่ออายุให้แม่หลวง (คือสมเด็จย่า) ตอนนั้นสมเด็จย่าทรงประชวรอยู่ หลวงตาท่านก็ตอบปฏิเสธเลยว่า...

“พ่อหลวงนั่นแหละก็จัดการเองได้ ขอเองได้” ท่านว่างั้นนะ...

“พ่อหลวงก็สามารถจัดการได้เอง” ท่านบอกไปเลยนะว่า...ให้พระเจ้าอยู่หัวทรงขอเองจัดการเอง อาตมาต่อให้ไม่ได้หรอก

พระเจ้าอยู่หัวฯ ได้กราบลาว่า

“เอาล่ะ ได้เวลาแล้ว จะกลับแล้ว ท่านหลวงปู่มีอะไรจะบอกไหม”

หลวงตาท่านได้เทศน์สั้นๆ ว่า

“การเป็นพุทธภูมิ สร้างบารมีเพื่อความเป็นพุทธะ พอจบพุทธภูมิได้ก็เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พระพุทธเจ้า ก็มีพุทธกิจ 5 คือ ตอนเช้าบิณฑบาต ตอนบ่ายสอนคหบดีมนุษย์ทั่วไป ตกเย็นสอนนักบวชสมณะชีพราหมณ์ ตอนกลางคืนแก้ปัญหาเทวดา พอมาตอนเช้ามืดเล็งญาณดูสัตว์โลก สัตว์โลกตัวไหนมีกิเลสเบาบางพอที่จะบรรลุธรรมได้ ท่านก็จะเล็งญาณดูรีบไปโปรดก่อน พระพุทธเจ้าสร้างบารมีพุทธภูมิจนได้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านก็มีพระพุทธกิจ 5 อย่างนี้ แต่... ไม่รู้ว่าพ่อหลวงแม่หลวงของประเทศไทยปรารถนาอะไร ทำงานกันจนไม่มีเวลาจะพักผ่อน... เอาล่ะๆ...อาตมาจะให้พร”

(ที่มา : นิตยสาร น่านฟ้า ปีที่ 1 ฉบับที่ 8 ประจำเดือนธันวาคม 2550)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 123 กุมภาพันธ์ 2554 โดย กองบรรณาธิการ)








กำลังโหลดความคิดเห็น