เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในเมืองโตโฮกุ ราวปี 1965 เป็นรอยต่อระหว่างความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของเมืองเล็กๆทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น เพราะเดิมวิถีชีวิตของ ชาวโตโฮกุ ดำรงอยู่ด้วยการทำเหมืองมานานชั่วนาตาปี แต่เมื่อถึงยุคสมัยที่น้ำมันเริ่มเข้ามามีบทบาท ขณะที่ถ่านหินเริ่มหมดความหมาย ดังนั้น ก่อนที่เมืองจะตายลงไปพร้อมกับเหมืองเก่า โครงการสร้างแหล่งท่องเที่ยว เนรมิตโตโฮกุให้กลายเป็นฮาวายของญี่ปุ่นจึงเริ่มต้นขึ้น
จากเค้าโครงเรื่องจริงดังกล่าว นำมาดัดแปลงสู่รูปแบบภาพยนตร์ดราม่า-คอมเมดี้ ที่จะสร้างความประทับใจแก่ผู้ชม ไม่ต่างไปจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของเมืองโตโฮกุ เรื่องราวค่อยๆ เผยให้ทราบว่า จากเดิมที่เหมืองถ่านหินมีค่าเปรียบเสมือนเพชรสีดำ ยิ่งขุด ก็มีแต่เงินไหลมาเทมา แต่เมื่อยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงดำเนินไป เหมืองที่เคยเป็นเส้นเลือดใหญ่ของชาวเมือง คงรอวันเพียงแต่จะปิดตัวลง ขณะที่คนงานเหมืองก็ยังมองไม่เห็นอนาคตในวันข้างหน้า แต่ทว่าสิ่งที่อาจจะเป็นเครื่องกู้ชีวิตให้เมืองอันห่างไกลความเจริญแห่งนี้ยังคงอยู่ต่อไปได้ คือ โครงการโจบัง ฮาวายเอี้ยน เซ็นเตอร์ (Joban Hawaiian Center) ศูนย์ท่อง เที่ยวทางน้ำแบบเขตร้อน
ภาพยนตร์เริ่มต้นเดินเรื่องจาก “ซานาเอะ” และ “คิมิโกะ” สองสาววัยมัธยมคู่ซี้ ที่เห็นป้ายประกาศรับสมัครนักเต้นสาวฮูล่า เพื่อไปเป็นนักแสดงรองรับกับโครงการแหล่งท่องเที่ยวซึ่งกำลังจะเกิดขึ้น แต่แน่นอนว่า การไปสมัครนักเต้น ต้องเก็บเป็นความลับไม่ให้คนในครอบครัวรับรู้ จนกระทั่งเมื่อผู้ฝึกสอนอย่าง “คุณครูมาโดกะ ฮิรายามะ” (มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ แต่ชื่อจริงของเธอ คือ คาซุโกะ ฮายากาวะ) เดินทางมาถึงเมืองเล็กๆแห่งนี้ จุดเริ่มต้นของสาวฮูล่า ผู้พลิกชะตาเมืองก็เกิดขึ้น
แน่นอนว่า ด้วยวิถีชีวิตของคนชนบทอย่างโตโฮกุ ขึ้นอยู่กับการทำเหมือง โครงการโจบัง ฮาวายเอี้ยน เซ็นเตอร์ จึงไม่ได้รับการตอบรับจากชาวเมืองไปเสียทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่สหภาพแรงงานเริ่มจะปลดระวางคนงานเหมืองไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งตอกย้ำความรู้สึกเจ็บปวดของคนในเมืองเล็กๆแห่งนี้ และกลายเป็นความขัดแย้งทางความคิด วัฒนธรรม และมุมมองที่มีต่อการเปลี่ยนแปลง ระหว่างคนสองกลุ่ม
ดังจะเห็นว่า สาวฮูล่า 4 คนแรกที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการเต้นระบำฮาวาย เล็งเห็นแล้วว่า ในอนาคตวันใดวันหนึ่งเหมืองแร่ย่อมหมดความหมาย พวกเธอจึงเปิดใจที่จะลองฝึกฝนการเต้นครั้งนี้ ด้วยหวังว่ามันจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โตโฮกุ ยังมีลมหายใจต่อไป ขณะเดียวกัน ก็ต้องก้าวผ่านความคิดที่ว่า การเต้นระบำฮาวายนั้นเป็นศิลปะ ที่มีแบบแผนอันสวยงาม ผสมผสานทั้งความเข้มแข็ง และอ่อนช้อย ไม่ใช่เพียงการยักย้ายส่ายสะโพกยั่วยวน หรือขายเสน่ห์ ทางเพศอย่างที่ใครๆเข้าใจ
แต่สิ่งที่ยากเย็นแสนเข็ญของโครงการนี้คือการสร้างการยอมรับของคนที่ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงนั่นเอง อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมเรื่องของการปรับตัวเพื่อยอมรับการเปลี่ยน แปลง ตัวแสดงที่น่าสนใจในเรื่องนี้ ก็คือ “พ่อของซายูริ” สาวนักเต้นร่างใหญ่ และ “โยจิโร่” พี่ชายของคิมิโกะ เพราะทั้งคู่ต่างก็เป็นคนงานเหมืองดั้งเดิม ซึ่งตรากตรำทำงานหน้าดำในเหมือง ถ่านหินเพื่อเลี้ยงชีวิต ทว่าทั้งคู่ก็ไม่ได้ต่อต้านความเปลี่ยนแปลงซึ่งกำลังจะเกิดขึ้น แถมยังแอบเอาใจช่วยให้สาวๆฮูล่า กลายเป็นนักเต้นมืออาชีพให้ได้ตามความใฝ่ฝัน
แนวคิดของทั้งสองคนนี้นับเป็นข้อคิดที่ดีว่า ในขณะที่มีเหตุการณ์ใดก็ตาม กำลังเปลี่ยนวิถีของชีวิตที่เป็นอยู่ แต่หากต่างคนต่างทำหน้าที่รับผิดชอบงานของตัวเองให้ดีที่สุด เมื่อถึงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยเราก็จะมีความสุขในชีวิตได้ไม่ยาก
นอกจากพล็อตเรื่องหลัก ว่าด้วยความขัดแย้งทางความคิดระหว่างคนสองกลุ่มในชุมชนแล้ว Hula Girls ยังเสริมพล็อตเรื่องรองที่น่าสนใจ นั่นคือ ความสัมพันธ์ระหว่างคุณครู มาโดกะ กับบรรดาลูกศิษย์นักเต้นทั้งหลาย เพราะคุณครูจากเมืองใหญ่แห่งแสงสี ที่เดินทาง ไกลมาอยู่ในเมืองอุตสาหกรรมเหมืองแร่อันห่างไกล แถมยังต้องต่อสู้กับทัศนคติที่แตกต่างของคนในหมู่บ้าน ก็นับว่าหนักหนาสาหัสน่าดูแล้ว แต่คุณครูมาโดกะ ยังต้องสร้างทีมเต้นระดับอาชีพ จากบรรดาสาวชาวบ้าน ที่ไม่ประสีประสากับทักษะการเต้นมาก่อน
Hula Girls เป็นภาพยนตร์อีกเรื่อง ที่ไม่ต้องมีพระเอก นางเอก หรือตัวอิจฉา แต่ตัวแสดง ทุกคนที่โลดแล่นอยู่ในระยะเวลา 2 ชม. สามารถสร้างสีสัน เสียงหัวเราะ และความประทับใจดีๆแก่ผู้ชมได้
ในขณะที่เหมืองถ่านหิน ต้องปิดตัวลงไปอย่างถาวร ในเวลาอีกไม่กี่ปี แต่สำหรับโครงการ โจบัง ฮาวายเอี้ยน เซ็นเตอร์ ยังคงเปิดให้บริการอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “Spa Resort Hawaiians” มีนักท่องเที่ยวผู้ใช้บริการรวมแล้วตั้งแต่อดีตจนถึงยุคปัจจุบันไม่ต่ำกว่า 45 ล้านคน
เหตุการณ์ในโตโฮกุ เมื่อกว่า 40 ปีก่อน จึงนับว่าเป็นเรื่องราวที่ควรค่าแก่การจดจำ เพราะการเปลี่ยนแปลงในบางครั้งนั้น แม้ต้องแลกมาด้วยความรู้สึกเจ็บปวด ต่อต้านในใจ แต่วิถีแห่งชีวิต ย่อมไม่มีสิ่งใดดำรงคงเดิมได้ตลอดไป เพราะชีวิตเป็นอนิจจัง ดังนั้น เพียงเริ่มต้น ลดกำแพงแห่งอคติ ยอมรับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ยอมรับในความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ... เราอาจเข้าใจชีวิตมากกว่าเดิม
Hula Girls สามารถคว้ารางวัลใหญ่บนเวที Japan Academy Awards 2007 หรือ ตุ๊กตาทองญี่ปุ่น มาได้ถึง 5 รางวัล ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (ยู อาโออิ ผู้รับบท คิมิโกะ สาวนักเต้นหัวหน้าทีม) บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ยอดนิยมประจำปี รวมทั้งเข้าชิงรางวัลในสาขาอื่นๆอีก 7 สาขา
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 112 มีนาคม 2553 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)