xs
xsm
sm
md
lg

7 หนังไทยดีๆ ปี 52 กับรางวัลที่ควรได้รับ/อภินันท์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

อีเมล์ : apnunt@yahoo.com

คงเป็นเรื่องปกติของทุกๆ ปีที่เมื่อถึงช่วงท้ายปี คำถามหนึ่งซึ่งผมมักจะได้รับก็คือ คิดว่าหนังไทยเรื่องไหนดีที่สุด?

ครับ, โดยภาพรวม ปี 2552 สำหรับหนังไทย ยังไม่แตกต่างไปจากปีที่ผ่านมาเท่าไรนัก นั่นก็คือหนังที่ครองตลาดส่วนใหญ่ ยังคงเป็นหนังตลกไร้คุณภาพเหมือนเดิมๆ ขณะที่หนังดีๆ มีน้อยแสนน้อย

ซึ่งถ้าจะลองจัดหมวดหมู่หนังดีๆ น่าจะมีอยู่ 5-6 เรื่อง ซึ่งประกอบไปด้วย...

1.เฉือน
จะเรียกว่าเป็น “ชะตากรรมซ้ำซาก” ของก้องเกียรติ โขมสิริ ก็คงไม่ผิดนัก เพราะหลังจาก “ไชยา” นี่คือหนังดีๆ ที่ไม่ทำเงินในประเทศอีกเรื่องของเขา อย่างไรก็ตาม สำหรับผม “เฉือน” คือหนังไทยเพียงเรื่องเดียวของปีนี้ที่เล่าเรื่องและสร้างประเด็นเนื้อหาได้เข้มข้นจริงจังและชวนให้รู้สึกสะเทือนใจมากที่สุด (น่าสะเทือนใจเช่นเดียวกับรายได้ของหนัง) ซึ่งไล่เรียงตีแผ่ตั้งแต่ความเป็นมนุษย์ ไปจนถึงโศกนาฏกรรมที่คนเรากระทำต่อกันอย่างไร้เดียงสาและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขณะเดียวกัน ก็แล่เฉือนความเป็นจริงด้านมืดของสังคมออกมาให้เราเห็นเป็นชิ้นๆ ฉากๆ

และไม่มากไม่มาย ผมคิดว่า หนังเรื่องนี้สมควรเป็นอย่างยิ่งกับรางวัล “ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” และ“บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” และอาจรวมไปถึง “ผู้กำกับยอดเยี่ยม” ของปีนี้

2.A Moment in June (ณ ขณะรัก)
แม้ว่าความดังของหนังจะเทียบไม่ได้เลยกับความฮิตของเพลงประกอบอย่าง “ความคิด” (ขับร้องโดย แสตมป์) ที่น่าจะได้เข้าชิงรางวัลเพลงประกอบยอดเยี่ยม...แต่ผลงานการกำกับหนังใหญ่เรื่องแรกของคุณณัฐพล วงศ์ตรีเนตรกุล ซึ่งเจ้าตัวบอกว่ามันเป็นหนังกึ่งๆ บูชาครู (หว่องการ์ไว) เรื่องนี้ก็มีอะไรหลายๆ อย่างน่าสะดุดตาสะดุดใจอยู่พอสมควร

สิ่งที่ผมชอบมากที่สุด ไม่ใช่เนื้อหาเรื่องราว เพราะรู้สึกว่าแม้หนังจะพยายามปูเนื้อหาอย่างดิบดีไปโดยตลอด แต่พอถึงจังหวะที่หนังต้องฮุกเพื่อส่งอารมณ์ดราม่าดื่มด่ำให้ขึ้นสู่จุดพีคสุดๆ หนังยังทำได้ไม่เต็มที่ดีพอ ทั้งที่ว่ากันตามจริง เรื่องราวเนื้อหาของหนังเอื้อต่อการทำให้ทำนบน้ำตาของคนดูพังทลายได้ไม่ยาก

แต่ถ้าพูดถึงงานโปรดักชั่นงานสร้างที่ผู้กำกับหยิบยืมรูปแบบการจัดองค์ประกอบภาพสไตล์ละครเวทีมาใช้ ตลอดจนการวางองค์ประกอบภาพและแสงเงาสวยๆ ก็ทำให้เนื้องานดูเป็นผลงานอาร์ตงามๆ เรื่องหนึ่ง และมันไม่เกินความจริงแม้แต่น้อยกับการที่หนังควรจะได้รับรางวัลด้านการกำกับศิลป์ไปครอง ขณะที่อาจจะมีลุ้นอยู่บ้างในสายนักแสดงชาย ทั้งยอดเยี่ยมและสมทบยอดเยี่ยม (กฤษฎา สุโกศล แคลปป์, ชาคริต แย้มนาม และ นภัสกร มิตรเอม)

3.ความสุขของกะทิ
คล้ายๆ กับ A Moment in June ผมรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ขาดจุดพีคของเรื่องราว หนังเดินเรื่องเรื่อยๆ ด้วยอารมณ์คงเส้นคงวาตั้งแต่ต้นจนจบ และจากหลายๆ เสียงที่บอกว่ามันดูเหมือนคน “เก๊กหล่อเก๊กสวย” มากไปหน่อย ก็ดูจะไม่ผิดนัก

โดยภาพรวม ผลงานการกำกับของคุณเจนไวยย์ ทองดีนอก ชิ้นนี้ มีบรรยากาศที่ร่มรื่นด้วยแบ็กกราวน์ฉากหลังของท้องถิ่นไทยที่สงบงาม ซึ่งคล้ายๆ จะเป็นภาพสะท้อนถึงความสุขสงบในใจของเด็กหญิงกะทิไปด้วยในขณะเดียวกัน ส่วนถ้าจะมีรางวัลสักชิ้นมอบให้กับหนังเรื่องนี้ รางวัลนั้นก็คงเกี่ยวข้องกับงานการกำกับภาพเป็นหลัก

4.รถไฟฟ้ามาหานะเธอ
นอกเหนือไปจากดาราสาวหน้าหมวยอย่าง “คริส หอวัง” ที่เป็นตัวเต็งเบอร์ต้นๆ ของรางวัลในสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม รวมไปจนถึงเพลงประกอบที่มีเปอร์เซ็นต์ในการซิวรางวัลไปครองสูงมาก ผมว่าหนังเรื่องนี้มีความดีตรงที่มันสามารถหยิบโน่นจับนี่มาผสมผสานกันจนกลายเป็นเสน่ห์ที่ลงตัว ทั้งสไตล์โอเว่อร์หลุดโลกแบบโจวซิงฉือ ไปจนถึงการ์ตูนญี่ปุ่นโก๊ะๆ กังๆ หรือแม้กระทั่งซีรี่ส์ดังๆ อย่างโนดาเมะ คันทาบิเล่ และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เนื้อหาที่เจาะกลุ่มสาวโสดวัยเลขสามได้อย่างเข้าถึงความเหงาในหัวจิตหัวใจ และด้วยเหตุนี้ มันก็คงไม่ผิดนัก หากเราจะพูดว่า นี่คือ Bridget Jones’s Diary ที่โอนสัญชาติมาเป็นคนไทย

5.นางไม้
แม้จะเห็นว่า หนังผี อย่าง 5 แพร่ง เป็นตัวเลือกที่ไม่ควรมองข้าม แต่เอาเข้าจริงๆ การที่มีเรื่องสั้นๆ รวมอยู่ด้วยกัน 5 เรื่อง ก็ยากที่จะปฏิเสธว่า คุณภาพของแต่ละเรื่องก็มีความเหลื่อมล้ำกันสูงมาก จนส่งผลกระทบต่อความเป็นเอกภาพทั้งหมดอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งถ้าสามารถแยกออกมาเป็นตอนๆ ได้ ผมก็อยากจะให้ “หลาวชะโอน” ถูกส่งขึ้นชิงหนังยอดเยี่ยมด้วยเช่นกัน

แต่เอาล่ะ พูดถึง “นางไม้” แม้จะไม่ใช่ผลงานที่จัดว่าดีที่สุดของคุณเป็นเอก รัตนเรือง แต่ที่ผมชอบก็คือ ความคิดสร้างสรรค์ของผู้กำกับที่ไม่ยอมสยบอยู่ใต้ขนบหนังผีแบบเดิมๆ ที่ถ้าไม่หลอกกันหัวโกร๋นก็อยู่ในโซนของหนังผีบวกตลกไปซะหมด

โจทย์ดีๆ ของหนังอย่างนางไม้ ก็คือการหยิบยืมรูปแบบบางส่วนของหนังผีมาเป็นเงื่อนไขในการเล่าเรื่อง แล้วใส่ปมเนื้อหาอันหนักอึ้งที่พูดถึงกับความสัมพันธ์ของผู้คนในแบบคู่รักและครอบครัวเข้าไป นับเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับวงการหนังผีบ้านเรา และที่สำคัญ นี่คือหนังที่อาจจะนำพาดารานักร้องสาวอย่าง “กิ๊บซี่-วนิดา เติมธนาภรณ์” เดินทางไปได้ไกลสุดถึงการเข้าชิงตำแหน่งนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม

6.ความจำสั้น แต่รักฉันยาว
น่าจะเรียกได้ว่าเป็น “หนังรักเต็มรูปแบบ” เพียงเรื่องเดียวของปีนี้ หนังฉายภาพให้เราเห็นถึงพัฒนาการขั้นตอนของความรัก ตั้งแต่ก่อเกิด งอกงาม ไปจนถึงเติบโตเต็มที่ ได้ชวนรู้สึกน่าประทับใจ เป็นหนังรักฟีลกู๊ดที่ดูสบายๆ และจบลงด้วยความรู้สึกอิ่มเอิบมีกำลัง หนังอาจไม่ได้รางวัลอะไรมากมาย แต่ที่พอหวังได้บ้างก็น่าจะเป็นในสายของนักแสดงสมทบยอดเยี่ยม ทั้งชายและหญิง คือคุณลุงกฤษณ เศรษฐธำรงค์ และคุณป้าศันสนีย์ วัฒนานุกูล

7.ก้านกล้วย 2
ถ้าจะพูดกันจริงๆ ปีนี้ ถ้าจะมีหนังไทยสักเรื่องที่เหมาะกับเด็กๆ และเด็กๆ ก็ดูสนุกกันจริงๆ เรื่องนั้นคงไม่ใช่ “อนุบาลเด็กโข่ง” ที่ตอนโปรโมตก็โฆษณาให้หนังมีหน้าตาเหมือนหนังตลกทั่วไป (ไม่ได้โปรโมตว่าเป็นหนังสำหรับเด็กๆ) และคงไม่ใช่ “เดอะ สเก๊าท์ บิดพิภพทะลุโลก” ที่ยังไม่โดนใจเด็กๆ เท่าที่ควร แต่น่าจะเป็นแอนิเมชั่นอย่างก้านกล้วยที่แม้จะเดินทางมาจนถึงภาคที่สอง แต่ความสนุกสานของเรื่องราวก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด นั่นยังไม่ต้องพูดถึงประเด็นเนื้อหาอันว่าด้วยความรักและการเสียสละ ทั้งในระดับครอบครัวไปจนถึงสังคมประเทศชาติ ที่ทำให้งานชิ้นนี้อยู่ในสถานะคล้ายๆ นิทานสอนใจดีๆ เรื่องหนึ่ง

แน่นอนที่สุด นี่คือหนังแอนิเมชั่นไทยที่ยอดเยี่ยมที่สุดของปีนี้ และไม่มีคู่แข่งเรื่องไหนแล้วที่จะแย่งรางวัลด้านเทคนิคพิเศษไปจากเจ้าช้างตัวสีฟ้าตัวนี้ไปได้

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก

กำลังโหลดความคิดเห็น