xs
xsm
sm
md
lg

แก่นธรรมคำสอน ของหลวงปู่ดุลย์ อตุโล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทั้งจิตและสติ อันเป็นเครื่องมือของจิตในการระลึกรู้อารมณ์
ต่างก็เป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถสั่งจิตและสติให้เกิดขึ้น
และระลึกรู้อารมณ์อย่างเดียวได้ เว้นแต่ผู้ทำสมถกรรมฐาน
ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน 

      ครั้งที่ 14
การจงใจดูจิตอย่างเดียว

5.2.3 การจงใจดูจิตอย่างเดียว ผู้ดูจิตที่ไม่เข้าใจหลักของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน มักพยายามจะดูจิตอย่างเดียวโดยไม่ดูอารมณ์รูปนามอย่างอื่น นั่นเป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติที่ใช้อารมณ์กรรมฐานอย่างอื่นๆ ด้วยเช่นกัน เพราะผู้ปฏิบัติส่วนมากเมื่อต้องการทำกรรมฐานโดยมีอารมณ์อันใดอันหนึ่งเป็นวิหารธรรม เช่นลมหายใจ ท้องพองยุบ มือที่เคลื่อนไหว เท้าที่เคลื่อนไหว เวทนาทางกาย เวทนาทางใจ และจิต ฯลฯ ก็มักพยายามที่จะให้สติหยั่งรู้ลงที่อารมณ์อันนั้นอย่างเดียว โดยไม่สนใจอารมณ์อื่น เช่นพยายามจะรู้ลมหายใจ อย่างเดียว พยายามรู้ท้องพองยุบอย่างเดียว กระทั่งพยายามจะดูจิตอย่างเดียว นั่นเป็นความผิดพลาดที่เกิดจากความไม่เข้าใจความจริงที่ว่า ทั้งจิตและสติ(อันเป็นเครื่องมือของจิตในการระลึกรู้อารมณ์) ต่างก็เป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถสั่งจิตและสติให้เกิดขึ้นและระลึกรู้อารมณ์อย่างเดียวได้ เว้นแต่ผู้ทำสมถกรรมฐานที่เพ่งรูปหรือนามหรืออารมณ์บัญญัติต่างๆ เป็นอารมณ์ ที่สามารถ รู้อารมณ์ที่เพ่งนั้นได้ต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งเป็น คนละเรื่องกับการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน (เพราะการเพ่งรูปอย่างมากก็ได้ความสงบในรูปฌาน(รวมทั้งพรหมลูกฟักที่ผู้ปฏิบัตินั่งตัวแข็งขาดสติ) และการเพ่งนามอย่างมากก็ได้ความสงบในอรูปฌาน)

ดังนั้นการดูจิตจึงไม่ใช่การจงใจดูแต่จิตอย่างเดียว แต่หมายความถึงว่า (1) เมื่อตาเห็นรูป หากมีปฏิกิริยาใดๆ เกิดขึ้นที่จิตเช่นความยินดียินร้ายในรูป ก็ให้รู้ทันจิต (2) เมื่อหูได้ยินเสียง หากมีปฏิกิริยาใดๆ เกิดขึ้นที่จิตเช่นความยินดียินร้ายในเสียง ก็ให้รู้ทันจิต และ (3) เมื่อใจคิดนึกปรุงแต่ง หากมีปฏิกิริยาใดๆ เกิดขึ้นที่จิตเช่นความยินดียินร้ายในความปรุงแต่งนั้น ก็ให้รู้ทันจิต เป็นต้น ทั้งนี้หากตา หู จมูก ลิ้น กายและใจกระทบอารมณ์แล้ว ไม่เกิดมีปฏิกิริยาใดๆ ขึ้นที่จิต ก็ไม่ต้องจงใจย้อนมาดูจิต เพราะจะกลายเป็นการเพ่งจิตไปโดยอัตโนมัติ และหากเกิดมีปฏิกิริยาใดๆ ขึ้นที่จิต แล้วสติเกิดระลึกรู้ได้เองโดยไม่ได้จงใจ นั่นจึงจะเป็นการดูจิตที่ใช้ได้

การจงใจดูจิตอย่างเดียวเป็นความผิดพลาดในเบื้องต้น แต่เมื่อจงใจดูจิตอย่างเดียวแล้ว ผู้ปฏิบัติยังมักก้าวไปสู่ความผิดพลาดอย่างอื่นอีก คือส่วนมากจะหลงพยายามดัดแปลงแก้ไขอาการของจิต (ดูข้อ 5.2.4) หรือหลงพลาดไปเพ่งนามธรรมอันเป็นอารมณ์ละเอียดภายใน(อรูปารมณ์)เข้า (ดูข้อ 5.2.5)

5.2.4 การหลงแก้หรือดัดแปลงอาการของจิต การหลงดูสิ่งอื่นที่ไม่ใช่จิต (ตามข้อ 5.2.2) เป็นการหลงตามความปรุงแต่งของจิต และการจงใจดูจิตอย่างเดียว (ตามข้อ 5.2.3) เป็นการหลงทำสมถกรรมฐานเพราะความไม่เข้าใจหลักของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ส่วนการดัดแปลงจิตที่กล่าวในข้อนี้ เป็นการขัดขืนต่อต้านความปรุงแต่งของจิต เพราะไม่อยากให้จิตเป็นอย่างที่เป็นอยู่ ผลของการแก้หรือดัดแปลงอาการของจิตก็เป็นการทำสมถกรรมฐานเช่นกัน

วิธีการดัดแปลงจิตก็คือการพยายามทำ สิ่งตรงข้ามกับสิ่งที่จิตกำลังเป็นอยู่ ตัวอย่างเช่น

(1) พอเห็นจิตเคลื่อนหรือไหลไปคิดก็พยายามดึงจิตกลับมา แล้วพยายามประคองจิตให้หยุดคิด (บางท่านอ้างว่าหลวงปู่สอนให้ 'หยุดคิด' ซึ่งนั่นเป็นคำสอน เฉพาะตัวกับผู้ที่พยายามจะทำความเข้าใจธรรมะด้วยการคิด ท่านจึงมักทำเสียงดุๆ ให้หยุดคิด หมายถึงให้เลิกคิดค้นคว้าแล้วหันมาตามรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง ท่านไม่ได้สอนให้เลิกคิดตลอดเวลา เพราะท่านก็บอกอยู่เสมอว่า ผู้ที่เว้นขาดจากความคิดและความปรุงแต่งได้จริง ก็คือผู้เข้านิโรธสมาบัติเท่านั้น)

(2) พอเห็นจิตฟุ้งซ่านก็พยายามน้อมให้สงบ

(3) พอเห็นจิตโกรธก็พยายามทำให้หายโกรธด้วยวิธีการต่างๆ เช่นการแผ่เมตตา และการบริกรรม

(4) พอเห็นจิตโลภก็พยายามพิจารณากายหรือสิ่งภายนอก ให้เห็นเป็นปฏิกูลและอสุภะ

(5) พอเห็นจิตเป็นก้อนหนักๆ ก็พยายามแก้ไขให้เบา

(6) พอเห็นจิตมีความทุกข์ก็พยายามแก้ไขให้มีความสุข

(7) พอเห็นจิตมีความสุขก็พยายามประคองรักษาไว้ เป็นต้น โดยหวังว่าการกระทำดังกล่าวจะส่งผลให้จิตดี จิตสุข จิตสงบ หรือจิตบรรลุมรรคผลนิพพานโดยเร็ว ซึ่งเบื้องหลังก็คือความรักตัวเองนั่นเอง

วิปัสสนากรรมฐานไม่ใช่การดัดแปลงจิตหรืออารมณ์ แต่เป็นการเห็นความเป็นจริงของจิตและอารมณ์รูปนามทั้งปวงว่าเป็นไตรลักษณ์ ดังนั้นถ้ากายเป็นอย่างไรก็พึงรู้ว่ากายเป็นอย่างนั้น และถ้าจิตเป็นอย่างไร ก็พึงรู้ว่าจิตเป็นอย่างนั้น จึงจะเป็น การเจริญวิปัสสนากรรมฐานที่ถูกต้อง

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/
การหลงเพ่งจิตและนามธรรมอื่นๆ )
กำลังโหลดความคิดเห็น