xs
xsm
sm
md
lg

มองเห็นเป็นธรรม : ความสุขที่ดีที่สุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ขอขอบพระทัยและขอบใจท่านทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง ที่มีไมตรีจิตพรั่งพร้อมกันมาให้พรวันเกิด ด้วยถ้อย คำที่เลือกสรรมาจากใจซึ่งปรารถนาดี มุ่งหมายให้ข้าพเจ้า มีความสุข ความสวัสดีโดยประการต่างๆ ความสุขความสวัสดีของข้าพเจ้า จะเกิดมีขึ้นได้ ก็ด้วยบ้านเมืองของเรามีความเจริญมั่นคงเป็นปกติสุข ความเจริญมั่นคงทั้งนั้น จะสำเร็จผลเป็นจริงได้ ก็ด้วยทุกคนทุกฝ่ายในชาติ มุ่งที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เต็มกำลัง ด้วยสติรู้ตัว ด้วยปัญญารู้คิด และด้วยความสุจริตจริงใจ โดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าส่วนอื่น จึงขอให้ท่านทั้งหลายในที่นี้ ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่สำคัญอยู่ในสถาบันหลักของประเทศ และชาวไทยทุกหมู่เหล่า ทำความเข้าใจในหน้าที่ ของตนให้กระจ่าง แล้วตั้งจิตตั้งใจให้เที่ยงตรงหนักแน่น ที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ส่วนรวมอันไพบูลย์ คือชาติบ้านเมืองอันเป็นถิ่นที่อยู่ที่ทำกินของเรา มีความเจริญมั่นคงยั่งยืนไป
ขออำนาจแห่งคุณพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จงคุ้มครองรักษาท่านให้ปราศจากทุกข์ ปราศจากภัย และอำนวยสุขสิริสวัสดิ์ พิพัฒนมงคล ให้สัมฤทธิ์แก่ท่านทั่วหน้ากัน”
(พระราชดำรัส ในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พุทธศักราช ๒๕๕๒ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย วันเสาร์ ที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๒)

บัดนี้ จักขอพรรณนาความแห่งราชธรรมภาษิตอันได้ยกมาเป็นนิกเขปบท ณ เบื้องต้น เพื่อเป็นแนวทางแห่งการปฏิบัติตนของชาวไทยผู้มีใจเปี่ยมด้วยความจงรักภักดี โดยสุจริต มุ่งมั่น จะทำกุศลกิจให้สัมฤทธิผลเป็นพระราชสุขเกษมสันต์ถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ

ในราชธรรมภาษิต ทรงแสดงถึงผลว่า ความสุขความสวัสดีของข้าพเจ้า จะเกิดมีขึ้นได้ ก็ด้วยบ้านเมืองของเรามีความเจริญมั่นคงเป็นปกติสุข ทรงแสดงถึงเหตุอันนำให้เกิดผลว่า ความเจริญมั่นคงทั้งนั้น จะสำเร็จผลเป็นจริงได้ ก็ด้วยทุกคนทุกฝ่ายในชาติ มุ่งที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เต็มกำลัง ด้วยสติรู้ตัว ด้วยปัญญารู้คิด และด้วยความสุจริตจริงใจ โดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าส่วนอื่น เมื่อพิเคราะห์เหตุที่ทรงแสดงไว้ ทำให้ระลึกถึงพุทธภาษิตที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท พุทธวรรค ว่า สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี สมคฺคานํ ตโป สุโข แปลความว่า ความพร้อมเพรียงของหมู่ เป็นเหตุนำสุขมา ความเพียรของชนผู้พร้อมเพรียงกัน เป็นเหตุนำสุขมา

หลวงปู่เทสก์ เทสฺรงฺสี
อธิบายว่า “สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี ความพร้อมเพรียงของหมู่ เป็นเหตุนำสุขมา ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะ ตั้งแต่สองคนขึ้นไปเรียกว่า คณะ สี่คนขึ้นไปเรียกว่า หมู่ ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะเป็นความสุขอย่างยิ่ง คนยิ่งมากขึ้นไปจะเป็น ๒๐- ๓๐-๔๐ หรือ ๕๐ คนหรือตั้ง ๑๐๐-๒๐๐ คน มีความสามัคคีกัน ยิ่งได้ความสุขมาก ดูแต่ตัวของเราคนเดียว ก็แล้วกัน ถ้าไม่สามัคคีกันก็ไม่ได้ความสุขเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ใจคิดอย่างหนึ่ง มือไม้ไม่ทำ ขาไม่เดิน ง่อยเปลี้ยเสียขา เป็นอัมพาตไป มันก็ไม่สบายใจ ปากท้องของ เราก็เหมือนกัน เราหาอาหารมาให้รับประทานลงไป ปากมันก็เคี้ยวกลืนลงไป แต่ลำไส้มันไม่ทำงาน มันไม่พร้อมเพรียงสามัคคีกัน มันจะต้องปวดท้อง อึดอัด เดือดร้อนแก่เราเพียงใด คิดเอาเถอะ ส่วนร่างกายของเราก็เหมือนกัน ทุกชิ้นทุกส่วนถ้าหากขาดความสามัคคีนิดเดียว เป็นต้นว่าแขนทั้งสองหยุดไม่ทำงาน เท่านั้นแหละเป็นอันร้องอู๊ยเลยทีเดียว

เหตุนั้น เราควรอดควรทนต่อเหตุการณ์ เมื่อมีจิตใจต่างกัน มีกิริยาอาการต่างกัน จึงควรอดอย่างยิ่ง อย่าเอาอารมณ์ของตน ควรคิดถึงอกเราอกเขาบ้าง ถ้าหากเราเอาแต่อารมณ์ของตนแล้ว จะแสดงความเหลวไหลเลวทรามของตนแก่หมู่คณะเป็นเหตุให้เสียคน เพราะชื่อเสียงยังกระจายออกไปทั่วทุกทิศ เสียหายหลายอย่างหลายประการ สิ่งใดที่ไม่สบอารมณ์ของเรา อย่าผลุนผลันพลันแล่น จงยับยั้งตั้งสติตั้งจิต พิจารณาให้ดีเสียก่อนว่าสิ่งนั้นถ้าเราพูดหรือทำลงแล้ว มันจะเป็นผลดีและผลเสียแก่เราและหมู่คณะน้อยมากเพียงใด

เบื้องต้นให้ตั้งสติกำหนดคำว่า “อด” คำเดียวเท่านั้นเสียก่อน จึงคิดจึงนึกและจึงทำจึงจะไม่พลาดพลั้ง และจะไม่เสียคน อดที่ไหน อดที่ใจของเรา “อด” คำนี้กินความกว้างและลึกซึ้งด้วย เมื่อเราพิจารณาถึงความอดทน แล้วก็จะเห็นว่า สรรพกิเลสทั้งปวงที่จะล้นมาท่วมทับมนุษย์สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้แหลกละเอียดเป็นจุลวิจุลไปก็เพราะความอดนี้ทั้งนั้น เช่น โกรธจะฆ่ากัน แต่มีสติอดทนอยู่ได้จึงไม่ฆ่า เห็นสิ่งของเขา คิดอยากจะลักขโมย ของเขา มีสติอดทนยับยั้งไว้ เพราะกลัวเขาจะเห็นหรือกลัวโทษ จึงไม่ขโมย เห็นบุตรภรรยาสามีคนอื่นสวยงาม เกิดความกำหนัดรักใคร่ คิดอยากจะประพฤติผิดในกาม มีสติขึ้นมาแล้วอดทนต่อความกำหนัดหรือกลัวว่าเขาจะมาเห็น กลัวต่อโทษในปัจจุบันและอนาคต แล้วอดทนต่อความกำหนัดนั้น การที่จะพูดเท็จ พูดคำไม่จริง หรือดื่มสุราเมรัยก็เช่นกัน เมื่อมีสติขึ้นมาแล้วก็อดทนต่อความชั่วนั้นๆ ได้ แล้วไม่ทำความชั่วนั้นเสีย

ความอดทนเป็นคุณธรรม ที่จะนำบุคคลในอันที่จะละความชั่วได้ทุกประการ และเป็นเหตุให้สมานมิตรกันทั้งโลกได้อีกด้วย ถ้าเราไม่มีการอดทนปล่อยให้ประกอบกรรมชั่วดังกล่าวมาแล้ว โลกวันนี้ก็จะอยู่ไม่ได้ แตกสลายไปเลย โทษ ๕ ประการดังอธิบายมานี้ เป็นเหตุให้มนุษย์สัตว์โลกแตกความสามัคคีปรองดองซึ่งกันและกัน วิวาททุ่มเถียงฆ่าตีซึ่งกันและกัน โลกซึ่งเดือดร้อนวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะโทษ ๕ ประการนี้ทั้งนั้น ความอดทนมีคุณอานิสงส์อันใหญ่หลวง เป็นเหตุให้แผดเผากิเลสน้อยใหญ่ทั้งปวง ซึ่งเกิดจากใจของมนุษย์คนเรา เมื่อมันเกิดที่ใจของคนเรา คนเราคุมสติไม่อยู่ปล่อยให้มันลุก ลามไปเผาผลาญคนอื่น จึงรีบดับด้วยสติตัวเดียวเท่านั้น ก็อยู่เย็นเป็นสุขทั้งแก่ตนและผู้อื่น

พระอรรถกถาจารย์อธิบายพุทธภาษิตนี้ไว้ว่า ความเป็นผู้มีจิตเสมอกัน ชื่อว่า สามัคคี แม้สามัคคีนั้นก็ชื่อว่าเป็นเหตุนำสุขมาโดยแท้ อนึ่ง การเรียนพระพุทธพจน์ก็ดีการรักษาธุดงค์ทั้งหลายก็ดี การทำสมณธรรมก็ดีของเหล่าชนผู้พร้อมเพรียงกัน คือผู้มีจิตเป็นอันเดียวกัน เป็นเหตุนำสุขมา เหตุใด เหตุนั้น พระศาสดาจึงตรัสว่า “สมคฺคานํ ตโป สุโข.” เพราะเหตุนั้นนั่นแหละ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็พวกภิกษุจักพร้อมเพรียงกันประชุม จักพร้อมเพรียงกันเลิก (ประชุม) จักพร้อมเพรียงกันทำกิจที่ควรทำของหมู่ ตลอดกาลเพียงใด ภิกษุทั้งหลาย ความเจริญฝ่ายเดียว อันภิกษุทั้งหลายพึงหวังได้ ความเสื่อมอันภิกษุทั้งหลายไม่พึงหวังได้ ตลอดกาลเพียงนั้น”

ผู้ไม่มีจิตเป็นอันเดียวกัน พึงสังเกตได้จากความคิดขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางมิให้เกิดความพร้อมเพรียงของหมู่ชนชาวไทย ดังนั้นความสุขจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย

ทำเช่นไรจึงจะสามารถทำให้คนในประเทศไทยมีจิตเป็นอันเดียวกัน คำตอบนี้คงต้องศึกษาจากพระดำริที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงพระนิพนธ์ไว้ใน คณะบริหารวิจารณ์ ความตอนหนึ่งว่า

“ถ้าทุกนิกายรักษาศีลตามวินัย ดังในวินัยมุข ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระนิพนธ์ไว้ ซึ่งไม่มีใครติเตียนว่าผิดเหมือนกัน ก็จะชื่อว่ามีความเป็นผู้เสมอด้วยศีล และเป็นผู้มีความเสมอด้วยความเห็นตรงกันในศีล ก็จักยังกันให้เป็นที่ระลึกถึงกัน เป็นที่รักที่เคารพแห่งกัน ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อสงเคราะห์หน่วงเหนี่ยวน้ำใจกัน ไม่กล่าวแก่งแย่ง พร้อมเพรียงกัน มีความเป็นผู้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกลมเกลียวกัน เมื่อประพฤติได้ดังนี้ ก็รวมเป็นคณะเดียวกันได้โดยสวัสดิภาพ ถ้าจะชักชวนให้รวมกันก่อน แล้วคิดอ่านรักษาศีลให้เหมือนกัน ดังกล่าวแล้ว อย่าหวังเลย ไม่สำเร็จเป็นแน่นอน แต่กลับจะซ้ำร้ายยิ่งกว่าแยกกันอยู่คนละคณะดังปรากฏอยู่เดี๋ยวนี้เสียอีก”
ความเป็นผู้มีจิตเป็นอันเดียวกัน จึงกล่าวได้นัยหนึ่งว่า ความเป็นผู้มีศีลเสมอกัน

ศีล นั้นแปลได้หลายความหมาย เช่น ความปกติกายวาจา กล่าวคือความปกติตามระเบียบวินัย ปกติมารยาทที่สะอาดปราศจากโทษ ข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว ข้อปฏิบัติในการฝึกหัดกายวาจาให้ดียิ่งขึ้น ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพ ในที่นี้หมายเอา ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพ ซึ่งจะสมกับพระราชดำรัสว่า ทุกคนทุกฝ่ายในชาติ มุ่งที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เต็มกำลัง ด้วยสติ รู้ตัว ด้วยปัญญา รู้คิด และด้วยความสุจริตจริงใจ

แม้จะมีความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพแล้ว ถ้าไม่มีจุดมุ่งหมายในการทำความสุจริต ก็ย่อมทำให้ความสุจริตนั้นผันแปรเป็นทุจริตได้ในที่สุด เพราะว่าตนเองยังตกอยู่ในอำนาจแห่งกิเลสที่อยู่ในตน ดังนั้นเมื่อมุ่งหวังให้ความสุจริตดำรงอยู่กับตนไปตราบนานเท่านาน จึงต้องมีการตั้งจุดประสงค์หรือเป้าหมายแห่งความสุจริตขึ้นไว้เป็นหลักชัย

ธรรมชาติของคนย่อมหวังผลในสุขประโยชน์ของตน สุขประโยชน์ที่เกิดจากการเบียดเบียนผู้อื่นเป็นสุขที่แย่ที่สุด สุขประโยชน์ที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่นเป็นสุขที่ดี สุขประโยชน์ที่สามารถยังความสุขให้เกิดขึ้นแก่ตนและผู้อื่น เป็นความสุขที่ดีที่สุด ดังนั้นควรที่จะตั้งจุดหมายในการทำความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพ ให้เกิดสุขประโยชน์ที่สามารถยังความสุขให้เกิดขึ้นแก่ตนและผู้อื่น จึงจะสมกับพระราชดำรัสว่า โดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าส่วนอื่น

ทำอย่างไรจึงทราบว่าเรามีความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพ? ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพ จักสามารถประพฤติได้ด้วยสติ รู้ตัว ด้วยปัญญา รู้คิด พึงสังเกตดังนี้ ในขณะที่ทำความสุจริตอยู่ ย่อมมีจิตใจที่ละอายต่อความประพฤติทุจริต และเกรงกลัวต่อบาปที่จะเกิดจากความทุจริตนั้น ทำให้ตนเองมีความอดทนรักษาความเป็นปกติในการทำหน้าที่ด้วยความสุจริต ดำรงตนอยู่ด้วยความสงบเสงี่ยม ด้วยมารำลึกถึงพระคุณของบุพการี คือบิดามารดา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นต้น จึงตั้งใจที่จะแสดงกตัญญูกตเวทีต่อท่านด้วยการทำความสุจริต เมื่อมีความรู้สึกเช่นนี้ ย่อมหมายได้ว่าเรามีความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพแล้ว

เมื่อชาวไทยแต่ละคนสามารถดำเนินชีวิตของตนด้วยความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพ ย่อมนำให้เกิดผลเป็น ความเจริญแก่ตนเองและสังคมที่ตนอาศัย ที่สุดก็จะทำ ให้เกิดความพร้อมเพรียงกันนำประเทศไทยให้เกิดความเจริญมั่นคงขึ้น

ด้วยเหตุนี้ในพระราชดำรัสจึงรับสั่งว่า "ขอให้ท่านทั้งหลายในที่นี้ ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่สำคัญอยู่ในสถาบันหลักของประเทศ และชาวไทยทุกหมู่เหล่า ทำความเข้าใจในหน้าที่ของตนให้กระจ่าง แล้วตั้งจิตตั้งใจให้เที่ยงตรงหนักแน่น ที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ส่วนรวมอันไพบูลย์ คือชาติบ้านเมือง อันเป็นถิ่นที่อยู่ที่ทำกินของเรา มีความเจริญมั่นคงยั่งยืนไป”

ควรที่ชาวไทยทุกคน ผู้ได้ปฏิญาณตนทั้งต่อหน้าพระพักตร์ก็ดี ต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ก็ดี หรือด้วยตั้งจิตอธิษฐานก็ดี พึงดำรงตนให้มั่นคงในศีล คือ ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพ เป็นเบื้องต้น ทำตนให้ถึงสุขประโยชน์ของตนและผู้อื่น จักเป็นตัวอย่างให้ผู้อื่นได้ประพฤติตาม นำให้เกิดความสามัคคีธรรมขึ้น ย่อมเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุข

เมื่อใดที่ทุกคนมีความสุขจากการทำหน้าที่ด้วยสุจริตเป็นปกติ เมื่อนั้นบ้านเมืองประเทศไทยก็จะเป็นปกติสุข อันจะเป็นเหตุนำผลให้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระเกษมสำราญพระราชหฤทัย สมดังพระราชดำรัสที่ยกมาเป็นนิกเขปบท ณ เบื้องต้นว่า “ความสุขความสวัสดีของข้าพเจ้า จะเกิดมีขึ้นได้ ก็ด้วยบ้านเมืองของเรามีความเจริญมั่นคงเป็นปกติสุข” แล

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 110 มกราคม 2553 โดยพระพจนารถ ปภาโส)
กำลังโหลดความคิดเห็น