xs
xsm
sm
md
lg

พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

...คนดีทำให้คนอื่นดีได้ หมายความว่าคนดีทำให้เกิดความดีในสังคม คนอื่นก็ดีไปด้วย ความเลวนั้นจะทำให้คนดีเป็นคนเลวก็ยาก แต่เป็นไปได้ ถ้าคนดีเข้มแข็งในความดี จะให้คนเลวมาทำให้คนดีเป็นคนเลวยาก สำคัญอยู่ที่ความเข้มแข็งของคนดี..
******

...กายที่มีสุขภาพดีก็หมายความว่ากายที่แข็งแรง ที่เดินได้ ยืนได้ นั่งได้ มีกำลัง มีทุกอย่าง รวมทั้งมีความคิดที่ดี ถ้ามีสุขภาพจิตที่ดีก็มีกำลัง เป็นกำลังที่จะแผ่ความเมตตาให้แก่คนอื่น มีกำลังที่จะคิดในสิ่งที่ถูกต้อง ที่จะทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองแก่ตัว และความเจริญรุ่งเรืองในสังคม..
******

...คนไทยนำตัวนำชาติให้รอดพ้นอันตรายและเจริญเป็นอิสระมาโดยตลอดได้ ด้วยอาศัยความเพียรพยายาม คือพยายามไม่ก่อความชั่ว ให้เป็นเครื่องทำลายตัวทำลายผู้อื่น พยายามลดพยายามละความชั่วที่ตัวเองมีอยู่ พยายามก่อความดีให้แก่ตัวอยู่เสมอ พยายามรักษาและเพิ่มพูนความดีที่มีอยู่นั้น ให้งอกงามสมบูรณ์ขึ้น ความเพียรที่ชอบสี่สถานนี้ เป็นข้อที่ควรศึกษา และน้อมนำมาปฏิบัติให้เกิดผล แต่ละคนจะเป็นสุขขึ้นและเจริญขึ้น ทั้งในฐานะความเป็นอยู่ ทั้งในความ คิดจิตใจ...
******

...ธรรมดาผู้ที่กระทำความชั่วทุจริตนั้น จิตใจมักไม่เป็นปกติ คือถ้าไม่ลุแก่อำนาจโทสะ ก็ต้องลุแก่อำนาจโลภะ และผู้ใดก็ตาม เมื่อโทสะ หรือโลภะเข้าครอบงำแล้ว จะทำสิ่งใด ย่อมต้องเกิดข้อบกพร่องผิดพลาดขึ้นเสมอ ไม่มีประสิทธิภาพสมบูรณ์เหมือนกระทำในขณะที่มีจิตใจผ่องใสเป็นปกติ...
******

...การที่บุคคลจะทำความดีให้ได้จริง และต่อเนื่องไปโดยตลอดได้ จะต้องอาศัยหลักปฏิบัติที่ถูกต้องแน่นอน ประการแรก จะต้องมีศรัทธาเชื่อมั่นในความดี เห็นว่าความดีหรือสุจริตธรรม ย่อมไม่ทำลายผู้ใด หากแต่ส่งเสริมให้เป็นคนสะอาดบริสุทธิ์และเจริญมั่นคง เมื่อเกิดศรัทธาแน่วแน่ในความดีแล้ว ก็จะต้องตั้งกฎเกณฑ์ ตั้งระเบียบให้แก่ตนเอง สำหรับควบคุมประคับประคองให้ปฏิบัติแต่ความดี และรักษาความดีไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ให้บกพร่องคลอนแคลน พร้อมกันนั้น ก็จะต้องพยายามเพิกถอน ลด ละ การกระทำและความคิด อันจะเป็นเหตุบั่นทอนการกระทำดีของตนด้วยตลอดเวลา สำคัญยิ่งกว่าอื่น ทุกคนจะต้องอาศัยปัญญา ความฉลาดรู้เหตุผล เป็นเครื่องตรวจสอบ พิจารณา วินิจฉัยการกระทำความประพฤติทุกอย่างอยู่เสมอโดยไม่ประมาท เพื่อมิให้ผิดพลาดเสื่อมเสีย เมื่อประกอบความดีได้โดยถูกถ้วน ก็ย่อมได้รับประโยชน์ที่สมบูรณ์แท้จริง คือประโยชน์ที่เกื้อกูลให้มีความสุขความเจริญได้ในปัจจุบัน และยั่งยืนมั่นคงตลอดไปถึงภายหน้า...
******


(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 109 ธันวาคม 2552)
กำลังโหลดความคิดเห็น