xs
xsm
sm
md
lg

พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

...พระพุทธศาสนามีธรรมะอยู่มากมายหลายชั้น อันพอเหมาะพอดีกับอัธยาศัยจิตใจของบุคคลประเภทต่างๆ สำหรับเลือกเฟ้นมาแนะนำสั่งสอนขัดเกลาความประพฤติปฏิบัติของบุคคล ให้ดีขึ้นเจริญขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวโดยหลักใหญ่แล้วคือสอนให้เป็นคนดี ให้ประพฤติประโยชน์ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้ลำบากเสียหาย สอนให้รู้จักตนเอง รู้จักฐานะของตน พร้อมทั้งรู้จักหน้าที่ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติในฐานะนั้นๆ ซึ่งเมื่อปฏิบัติโดยถูกต้องครบถ้วนแล้ว ย่อมจะนำความสุข นำความเจริญสวัสดีมาให้ได้ทั่วถึงกันหมด หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ความสุข ความร่มเย็น และความวัฒนาถาวรให้เกิดแก่สังคมมนุษย์...
******

...การทำสิ่งที่ดีงามนั้นไม่ใช่ของที่พ้นสมัยหรือที่น่ากระดากอาย หากเป็นของที่ทุกคนทำได้ไม่ยาก และให้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า เพราะความดีนั้นทรงค่าดี และทรงผลดีอยู่ตลอดกาลมิได้เปลี่ยน แปลง มีแต่ค่านิยมในความดีเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลง...
******

...เราจำเป็นต้องส่งเสริมการศึกษาและปฏิบัติธรรมขั้นพื้นฐานให้มาก ทั้งนี้เพราะธรรมะขั้นพื้นฐานนั้น คนทั่วไปเรียนรู้ได้ง่าย เข้า ใจได้ชัดและปฏิบัติได้ผล ซึ่งย่อมทำให้เขาเหล่านั้นเห็นประโยชน์ของพระศาสนาว่า เมื่อได้เรียนรู้และปฏิบัติตามธรรมบัญญัติแม้เพียงเบื้องต้นเท่านี้ ก็ยังได้รับประโยชน์ คือมีความสุข ความเจริญ ความร่มเย็นขึ้นมาทั้งในกาย ในใจ ในการครองชีวิต ตลอดจนถึงกิจการงาน ดังนี้ ก็จะพอใจเรียนรู้และปฏิบัติธรรมกันหนักแน่นยิ่งขึ้น และแพร่หลายกว้างขวางยิ่งขึ้น...
******

...พูดถึงความสงบร่มเย็น อาจแยกได้เป็นสองส่วน คือ ความสงบภายนอก กับความสงบภายใน ภายนอกได้แก่ ความเป็นอยู่ และสภาวะแวดล้อมที่เป็นปกติ ไม่มีภัยอันตราย หรือความยุ่งยากเดือดร้อน เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ หรือการขัดแย้งมุ่งร้ายทำลายกัน ภายในได้แก่ จิตใจที่สะอาดแจ่มใส ไม่มีกังวล ไม่มีความขุ่นเคืองขัดข้อง จิตใจที่สะอาดและสงบนี้สำคัญมาก เพราะทำให้บุคคลมีสติรู้ตัว มีวิจารณญาณเที่ยงตรงถูกต้อง สามารถคิดอ่านสร้างสรรค์ สิ่งที่จะอำนวยประโยชน์สุข ความเจริญก้าวหน้า ตลอดจนชื่อเสียงเกียรติคุณ อันเป็นสิ่งที่แต่ละคนต้องการ ให้สัมฤทธิผลได้...
******

...การให้นี้ ไม่ว่าจะให้สิ่งใด แก่ผู้ใด โดยสถานใด ก็ตาม ล้วนเป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องประสานไมตรีอย่างสำคัญ ระหว่างบุคคลกับบุคคล และทำให้สังคมมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นด้วยสามัคคีธรรม นอกจากนั้น การให้ยังเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขอีกด้วย กล่าวคือ ผู้ให้ก็มีความสุขมีความอิ่มเอิบใจ ผู้รับก็มีความสุข มีกำลังใจ สังคมส่วนรวมตลอดถึงประทศชาติ ก็มีความผาสุกมีความร่มเย็น...
******


(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 107 ตุลาคม 2552)
กำลังโหลดความคิดเห็น