xs
xsm
sm
md
lg

อบรมกรรมฐาน : อายตนะหก (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สรุปสมมติบัญญัติ
อันสมมติบัญญัตินั้นได้แสดงครั้งหนึ่งแล้ว แต่เมื่อจะสรุปในที่นี้อีกก็สรุปได้ว่า คำว่าบัญญัติอย่างหนึ่งก็ใช้ในความหมายว่า การบอก การแสดง การบัญญัติคือแต่งตั้ง การกำหนด การเปิดเผย การจำแนก การกระทำให้แจ้ง ซึ่งสภาพหรือความจริงอันใดอันหนึ่งหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ดังที่ได้มีแสดงไว้ในธรรมนิยามสูตรว่า ธาตุนั้นคือความตั้งอยู่แห่งธรรม อันเรียกว่า ธรรมฐิติ ความกำหนดแน่แห่งธรรมอันเรียกว่า ธรรมนิยาม คือความที่สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ย่อมตั้งอยู่อย่างนี้ตลอดไป พระตถาคตพุทธเจ้าจะทรงอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่ทรงอุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุนั้นที่เป็นธรรมฐิติ ธรรมนิยามดังกล่าวก็ตั้งอยู่อย่างนี้ แต่ว่าเมื่อพระตถาคตพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้น ก็คือได้ตรัสรู้ธาตุนั้นที่เป็นธรรมฐิติ ธรรมนิยามนั้น เมื่อตรัสรู้แล้วก็ได้ทรงบอก ทรงแสดง ทรงบัญญัติ ทรงกำหนด ทรงเปิดเผย ทรงจำแนก ทรงกระทำให้ตื้นว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา ดังนี้
ฉะนั้น ธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ได้ทรงแสดงให้ปรากฏ จึงเป็นบัญญัติของพระพุทธเจ้าแต่ ละข้อแต่ละบท เมื่อทรงแสดงทรงบัญญัติขึ้นดังนี้ เราทั้งหลายจึงได้ทราบธรรมที่ทรงแสดงทรงบัญญัติขึ้นนี้ นี้เป็นความหมายของคำว่าบัญญัติทั่วไป และเมื่อพระพุทธศาสนาแยกออกเป็น ๒ คือเป็นธรรมและเป็นวินัย จึงได้ใช้คำว่าแสดงสำหรับธรรมดังที่พูดกันว่าแสดงธรรม และใช้คำว่าบัญญัติสำหรับวินัย ดังที่พูดกันว่าบัญญัติวินัย ดังนี้ แต่เมื่อกล่าวรวมๆแล้ว คำว่าบัญญัตินั้นก็ใช้รวมกันไปกับคำว่าแสดงดังกล่าวอ้างธรรมนิยามสูตรนั้น และคำว่า บัญญัตินั้นก็ใช้หมายถึงภาษาที่พูดง่ายๆด้วย ก็เป็นบัญญัติแต่ละคำพูด ทั้งนี้ก็เพื่อสำหรับจะให้หมายรู้กัน คำว่าสมมตินั้น อย่างหนึ่งก็แปลว่ามีมติร่วมกัน คือรับรู้ด้วยกัน ดังที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นก่อน ให้สงฆ์สมมติเจ้าหน้าที่ทำการสงฆ์ สงฆ์ก็เสนอพระภิกษุรูปหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทำการสงฆ์ เรื่องนั้นๆ และภิกษุทุกรูปที่ประชุมกันก็มีมติร่วมกันรับรอง ดังนี้ก็เป็นสมมติขึ้น คือมีมติร่วมกันรับรองขึ้น และแม้ในพระสูตรที่แสดงถึงความเกิดขึ้นของพระมหากษัตริย์พระองค์แรก ก็เรียกว่า พระมหาสมมติราช ก็คือปวงชนมีมติร่วมกันยกขึ้นเป็นพระราชามหากษัตริย์ เป็นผู้ปกครอง เพราะว่าในหมู่ชนเมื่ออยู่รวมกันก็ย่อมจะต้องมีผู้ปกครอง จึงทรงเป็นพระมหาสมมติราช และแม้ภิกษุสงฆ์ที่ประชุมกันทำสังฆกรรมตามพระวินัย ภิกษุแต่ละรูปนั้นก็อุปสมบทขึ้นตามพระวินัยบัญญัติในพิธีอุปสมบทสำเร็จด้วยสงฆ์มีมติรับรองร่วมกัน ภิกษุแต่ละรูปที่ประชุมกันประกอบสังฆกรรมจึงเป็นสมมติสงฆ์ นี้เป็นความหมายของสมมติทีแรกและแม้สิ่งที่บัญญัติขึ้นนั้น ตัวอย่างเช่น ภาษาที่บัญญัติขึ้นพูดดังในภาษาไทยเรียกสิ่งนี้ว่าต้นไม้ เรียกสิ่งนี้ว่าภูเขาเป็นต้น คนทั้งปวงก็มีมติรับรองร่วมกันและก็เรียกร่วมกันว่าต้นไม้ ว่าภูเขาดังนี้ คำที่บัญญัติขึ้นมาก็เป็นสมมติขึ้นมาคือมีมติร่วมกัน
ฉะนั้น ตามความหมายเดิมนี้สมมติบัญญัติจึงต่อเนื่องกัน สมมติบางอย่างก็ต้องบัญญัติขึ้น ก่อนให้สมมติก็ต้องสมมติขึ้น และบางอย่างเมื่อบัญญัติขึ้นก็เป็นสมมติต่อมา คือมีมติรับรองร่วมกัน ตามนัย นี้บัญญัตินั้นบุคคลเดียวกระทำได้ ดังพระพุทธเจ้า พระองค์เดียวทรงแสดงธรรมทรงบัญญัติพระวินัย แต่ว่าสมมตินั้นจะต้องมากคน คือคนทั้งหลายจะต้องมีมติร่วมกัน และก็รับรองร่วมกัน ดังภาษาบัญญัติว่าต้นไม้ คนทั้งปวงก็เรียกว่าต้นไม้ด้วยกัน ถ้าจะมีใครภายหลังไปบัญญัติว่าอย่างอื่น เรียกต้นไม้ว่าภูเขา คนอื่นก็ไม่เรียกตาม ใครไปบัญญัติแผลงขึ้นดังนั้นก็กลายเป็นคนวิกล สมมติจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องร่วมกัน หรือคนส่วนมากร่วมกันรับรอง มีมติร่วมกันดังกล่าว นี้เป็นความหมายทีแรก

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 106 กันยายน 2556 พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น