เมื่อโลกได้มอบบทบาทของการเป็นแม่ให้แก่เธอ ศิลปินสาว ‘โยทะกา พลศักดิ์’ ผู้เพิ่งจะมีอายุครบ 25 ปี ในเดือนสิงหาคมนี้ กลับไม่รู้สึกว่าลูกคือภาระอันเหนื่อยหนัก ในทางตรงกันข้าม ลูกได้มีส่วนปลดปล่อยตัวเธอไปจากภาวะที่ถูกกดดัน ถูกบีบคั้น และปัญหาต่างๆ รอบตัว
ส่งผลให้ภาพเขียนของเธอ จากที่เคยมีเนื้อหาแสดง ออกถึงการดิ้นรนหาทางออกของสภาวะจิต เปลี่ยนไปเป็นภาพเขียนที่สามารถเรียกรอยยิ้มจากผู้ชมได้ไม่น้อย
แม้ภาพตัวการ์ตูนตัวโป่งพอง ที่เคยปรากฎในผลงานชุดเก่า จะยังคงมีให้เห็นในผลงานชุดนี้ Un - Conditional Love ที่เธอแสดงร่วมกับ ศิลปินหญิง ‘พิไลพร เพชรฤทธิ์’ ณ กอซซิบ แกลเลอรี่ อาคารเดอะสีลม แกลเลอเรีย เพื่อเฉลิมฉลองวันแม่แห่งชาติ แต่มันกลายเป็นสัญลักษณ์ที่โยทะกาต้องการสื่อให้เห็นถึงความสุข ณ ปัจจุบันของตัวเธอในฐานะแม่ที่แวดล้อมไปด้วยกำลังใจจากคนรอบข้าง ไม่กักขังตัวเองให้อยู่ในอารมณ์ที่เต็มไปด้วยความกดดันและถูกบีบคั้นอีกต่อไปแล้ว
“ในผลงานชุดนี้ก็เลยเห็นสิ่งต่างๆที่แปลกไปจากเดิม ยกตัวอย่างเช่นสีสันโดยรวมของงานจะเปลี่ยนไปเป็นบรรยากาศที่ดูเบาสบาย มีความสุขยิ่งขึ้น อันเนื่องมาจากความพยายามแสวงหาทางออกจนสัมฤทธิ์ผลอย่างที่ตั้งใจ ส่วนรูปร่างของสภาวะจิตที่เคยโป่งพองท่ามกลางความบีบคั้นกดดันนั้น บัดนี้ได้ถูกปลดปล่อยเป็นอิสระ ล่องลอย เบาสบาย แสดงออกให้เห็นถึงความสุขที่หลุดพ้นจากสภาวะเก่าก่อน ด้วยความรักความเข้าใจที่มีจากคนรอบข้าง ด้วยสติปัญญาในการแก้ปัญหาที่ต้องเผชิญ ด้วยกำลังใจของตนเอง นั่นก็คือความรักของแม่ที่มีต่อลูก เป็นความรักที่บริสุทธิ์ที่ไม่มีข้อแม้หรือเงื่อนไขใดๆ เป็นความรักที่เสียสละ มีแต่ให้ ไม่ใช่เพื่อตนเอง แต่เพื่อความงดงามในจิตวิญญาณของแม่กับลูก”
หลังจากที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โยทะกามีอาชีพเป็นครูสอนศิลปะอยู่ระยะหนึ่ง กระทั่งแต่งงานมีครอบครัว และเมื่อท้องแก่ใกล้คลอด เธอจึงตัดสินใจกลับไปคลอดที่บ้านเกิดที่ จ.ขอนแก่น จนถึงเวลานี้เธอตัดสินใจแล้วว่าจะใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างจังหวัด และเลี้ยงลูกชาย หรือน้องเพ้นท์ ไปพร้อมๆกับทำงานศิลปะ
“อยู่กรุงเทพฯ ค่าใช้จ่ายมันเยอะ กลับมาอยู่บ้านเราดี กว่า บ้านก็ไม่ต้องเช่า และได้ดูแลลูกไปด้วย อยู่กรุงเทพฯ ไม่คุ้ม เดินออกไปข้างนอกนิดหน่อยทุกอย่างต้องใช้เงิน อาจจะลองเปิดร้านสอนศิลปะก็ได้ ถึงเวลาค่อยนำงานศิลปะไปแสดงที่กรุงเทพฯ ตอนนี้มันไม่ใช่ตัวเราคนเดียวแล้ว เรามีลูก เราต้องทำเพื่อลูก เหมือนแม่ที่เคยทำเพื่อเรา”
โยทะกาบอกเล่าว่าเวลานี้เธอทำงานศิลปะได้ลำบากขึ้น เพราะน้องเพ้นท์เริ่มคลานได้แล้ว ขณะที่เขียนภาพ ถ้าน้องเพ้นท์ไม่หลับหรือไม่มีใครอุ้มไปเที่ยวเล่นที่ไหน สาย ตาของเธอจึงต้องคอยกวาดมองลูกที่คลานอยู่ใกล้ๆเธอไปด้วย แต่เธอยังถือว่าตัวเองโชคดีที่มีแม่คอยแบ่งเบาภาระช่วยเธอเลี้ยงลูก
“อยากให้เขาเติบโตมาเป็นคนดี ภูมิใจที่เราสามารถเลี้ยงเขาได้ แม้จะต้องเหนื่อย พอมีลูกเริ่มเข้าใจหัวอกของคนเป็นแม่ เข้าใจว่าตอนที่แม่เลี้ยง เขาก็คงเหนื่อยไม่น้อยเหมือนกัน เรายังถือว่าเลี้ยงลูกสบายมากเลย เพราะมีแม่มาคอยช่วย แต่ก่อนตอนเราเด็กๆ แม่เลี้ยงเราคนเดียว และอยู่กับลูกแค่สองคน เพราะตอนนั้นพ่อต้องไปทำงานต่างประเทศ พอนึกกลับไปทีไร อดตั้งคำถามไม่ได้ ว่าแม่จะลำบากขนาดไหน นี่ขนาดเรามีแม่มาคอยช่วย เรายังรู้สึกลำบากเลย ดังนั้นแม่คงลำบากน่าดู”
ศิลปินแม่ลูกหนึ่งเช่นโยทะกายังไม่คิดวางแผนอนาคต ของลูก เพราะเธอเชื่อในการทำวันนี้ให้ดีที่สุด เช่นเดียว กันกับเวลาที่เธอทำงานศิลปะ เธอก็มักจะบอกตัวว่าจงทุ่ม เททำมันให้เต็มที่ เต็มความสามารถ
“ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ทั้งกับลูกและกับงาน ทำให้สุดกำลัง เท่าที่เราทำได้ อนาคตของลูกแล้วแต่เขา ให้เขาโตก่อน อยากจะเป็นอะไรก็แล้วแต่เขาเถอะ แล้วแต่เขาถนัด จะให้ เป็นเหมือนเราคงไม่ได้หรอก แต่ถึงอย่างไรก็อยากให้ลูกได้มีโอกาสเรียนเยอะๆ แล้วจะหัดให้ลูกวาดรูปด้วย
เราเรียนศิลปะมา รู้ว่าศิลปะมันเป็นสิ่งที่ดี เพราะทุกอย่างในชีวิตของคนเราล้วนต้องอาศัยศิลปะ ไม่ว่าเราจะตกแต่งบ้าน แต่งหน้า แต่งตัว ก็ต้องใช้ศิลปะ จึงอยากให้ลูกค้นพบข้อดีของศิลปะอย่างที่เราค้นพบ”
เช่นกันเมื่อลูกโตขึ้นเธอก็อยากจะลองพาลูกไปเข้าวัดหรือนั่งวิปัสนาเหมือนกับเธอเช่นกัน เพราะมีหลายๆครั้งในชีวิต ที่เธอได้รับสิ่งดีๆกลับคืนมาทั้งที่ไม่ได้คาดหวังมาก่อน
“เข้าไปในวัดทีไร มันทำให้จิตใจสบาย เคยไปที่วัดดอนทอง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ตอนนั้นยังไม่ได้ตั้งท้องและยังไม่แต่งงาน ไปกับแฟนและอาจารย์ ตอนที่ไปเอาสูจิบัตรงานศิลปะของตัวเองไปด้วย ไปบริจาควัด ถวายให้หลวงพ่อ เปิดให้หลวงพ่อดูว่า นี่คืองานที่ทำอยู่ ปรึกษาท่านว่าจะพัฒนาต่อได้ไหมคะ เพราะว่าหลวงพ่อท่านก็ชอบวาดรูป ท่านบอกว่าให้ทำต่อไปเรื่อยๆ วันต่อมาแกลเลอรี่โทรมาบอกว่าขายรูปได้ ดีใจใหญ่เลย คิดว่า น่าจะเป็นผลมาจากการที่เราเอาหนังสือไปบริจาค ยังมีโปรแกรมที่จะไปอีก แต่อยากให้ลูกโตอีกสักหน่อย”
โดยโอกาสต่อไปเธอตั้งใจจะไปเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเพื่อเป็นการทำบุญร่วมกับอาจารย์ของเธอ ผู้ซึ่งไม่เพียงให้กำลังใจเธอให้มุ่งมั่นทำงานศิลปะที่รักต่อไปโดยไม่ท้อถอย แต่ยังสอนให้เธอเป็นผู้รู้จักให้และนำธรรมะมาใช้ในการดำเนินชีวิต
“ธรรมะทำให้จิตใจเราสงบ พอจิตใจของเราสงบ เราก็สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องกังวลกับเรื่องใดๆ”
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 105 สิงหาคม 2552 โดยฮักก้า)