นับตั้งแต่ลาออกจากอาชีพข้าราชการครู เมื่อปีพ.ศ. 2521 เพื่อมาปั้นรูปหล่อโลหะ “พระเทพวิทยาคม”หรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เกจิดังแห่งวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ให้กับบรรดาศิษยานุศิษย์ที่มาว่าจ้าง ประติมากรจากรั้วเพาะช่าง ‘ริหาร โอภาส’ ก็ไม่เคยปลดละวางตัวเองไปจากงานปั้นรูปเหมือน
บ้านพักในซอยแก้วเงินทอง 4 ถนนจรัญสนิทวงศ์ 35 นอกจากจะเป็นที่พักอาศัยสำหรับเขาและครอบครัวหลาย สิบปีมาแล้ว ยังถูกแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับเป็นโรงปั้น
ท่ามกลางงานปั้นรูปเหมือนจำนวนมาก ส่วนหนึ่งของผลงานปั้นที่โดดเด่นของริหาร คืองานปั้นรูปเหมือนหุ่น ขี้ผึ้งของพระภิกษุ โดยมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 ในครั้งที่เขาได้มีโอกาสปั้นรูปเหมือนหลวงปู่ศรี แห่งวัดไผ่เงิน ย่านสาธุประดิษฐ์ ตามมาด้วย หลวงปู่บุญตา วัดคลองเกตุ จ.ลพบุรี และหลวงพ่อจำเนียร วัดถ้ำเสือ จ.กระบี่ กระทั่งปี พ.ศ.2546 มีโอกาสปั้นรูปเหมือนหลวงพ่อคูณอีกครั้ง เพราะทางวัดบ้านไร่ต้องการที่จะได้รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งของหลวงพ่อคูณที่พวกเขาศรัทธา ซึ่งมีความคล้ายกับหลวงพ่อคูณจริงๆ
“ตอนที่ลาออกจากอาชีพครูเพื่อมาปั้นหลวงพ่อคูณ ส่วนหนึ่งผมก็หวังว่าชีวิตของผมจะมั่นคง โด่งดัง มีคนค้ำคูณเหมือนชื่อของหลวงพ่อ เวลานั้นผมไปนั่งอยู่ที่แผงเช่าพระที่หลังวัดแห่งหนึ่งใกล้กับโรงหนังเฉลิมไทยสมัย ที่ยังไม่ถูกรื้อ มีคนมาติดต่อให้ปั้น เป็นช่วงที่หลวงพ่อกำลังมีชื่อเสียง”
จะเพราะความเชื่อดังกล่าวหรือไม่ แต่ถึงเวลานี้โรงปั้น เล็กๆของริหารมีงานให้ต้องสร้างสรรค์ไม่เคยขาด ทั้งงานปั้นรูปเหมือนบุคคลทั่วไป และรูปเหมือนพระภิกษุ ชนิดที่ว่าชื่อของพระภิกษุหลายรูป จดจำได้แต่เพียงเลือนลาง
รูปปั้นเหมือนของพระภิกษุแต่ละรูป ถูกนำไปตั้งตามวัดต่างๆ เพื่อให้ชาวบ้านได้กราบไหว้และระลึกถึง แทนร่างจริงที่อาจจะละสังขารไปแล้ว เพราะส่วนใหญ่รูปปั้นเหมือนของบุคคลที่วัดต่างๆมาว่าจ้างให้ปั้น จะเป็นพระภิกษุที่มรณภาพไปแล้ว แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ริหารมีโอกาสปั้นเมื่อครั้งที่พระภิกษุรูปนั้นยังคงมีชีวิตอยู่
ซึ่งสำหรับศิลปินแล้ว การที่ได้ศึกษาจากแบบปั้นที่ แท้จริง ย่อมเป็นที่ปรารถนามากกว่า ด้วยสามารถศึกษาใบหน้าและร่างกายของแบบได้รอบทิศ ก่อนที่จะลงมือปั้น ส่งผลให้ผลงานที่ออกมามีความแม่นยำสูง
“หลวงปู่บุญตาผมปั้นตอนที่ท่านยังมีชีวิต ไปปั้นที่วัดท่านเลย แต่หลวงพ่อจำเนียรท่านกรุณามาเป็นแบบให้ปั้นถึงที่บ้าน สำหรับผมแล้วปั้นพระที่มรณภาพไปแล้ว ปั้นยากกว่า เพราะผมต้องการจะดูใบหน้า ดูร่างกายให้ครบทุกด้าน แต่บางทีแบบที่ผู้ว่าจ้างนำมาให้มีเพียงภาพ ถ่ายทำให้ดูได้แค่ด้านหน้าด้านเดียว
หากแบบที่ปั้นยังมีชีวิตอยู่ ข้อดีคือเราสามารถไปนั่งสังเกตบุคลิกของแบบด้วยตัวของเราเอง ถ้าแบบไม่ค่อยยิ้ม ไม่ค่อยหัวเราะ เราก็ต้องชวนคุยให้แบบยิ้มให้หัวเราะ จนได้ เพื่อที่เราจะได้ดูการทำงานของใบหน้า ถ่ายภาพในมุมที่ต้องการมาศึกษา และต้องจดจำบุคลิกและอารมณ์ของแบบให้ฝังอยู่ในสมองของเรา ก่อนเริ่มลงมือทำงาน”
ประติมากรวัย 66 ปีบอกเล่าว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปั้น รูปเหมือนรูปหนึ่งให้ออกมามีชีวิตชีวาราวกับจะพูดคุยและโต้ตอบกับผู้ชมได้ ในการทำงานประติมากรจึงต้องมี สมาธิสูงเพื่อสร้างอารมณ์ให้เกิดขึ้นบนหน้าของรูปปั้นให้ได้
“อารมณ์ของรูปปั้น ช่างปั้นหรือประติมากรต้องสร้าง ขึ้นเอง ไม่ใช่ไปถามจากคนอื่น พลังจิตจึงเป็นเรื่องสำคัญ มาก ไม่ใช่พลังจิตที่เกิดจากหลวงพ่อนะ แต่เกิดจากช่างปั้นที่ต้องรวบรวมสมาธิอย่างสูง เพื่อสร้างสรรค์ ตา หู จมูก ปาก และทุกๆส่วนของรูปปั้น ให้มีความสัมพันธ์กัน และดูเหมือนว่ามีชีวิตจริง มันยากนะ ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้เหมือนกันหมด เราทำงานไม่ได้ทำเพื่อเงิน แต่ทำเพื่อผล งาน ผลงานทำให้เรามีความสุข ที่เราได้ทำให้มันสำเร็จอย่างที่ใจเราอยากเห็น ไม่ใช่รีบปั้นให้เสร็จๆไป”
ความกลัวว่าวิญญาณของแบบที่ปั้นซึ่งส่วนมากเป็นพระภิกษุที่มรณภาพไปแล้วจะมาปรากฏกายให้เห็น ไม่เคยมีเกิดขึ้นในความคิดของประติมากรผู้นี้ เพราะตลอดมาก่อนที่จะลงมือทำงาน เพื่อความสบายใจ จะต้องจุดธูปขออนุญาตทุกครั้งไป
“เพราะเราเชื่อว่าจิตของเราบริสุทธิ์ แต่ก่อนที่เราจะปั้นเราก็ต้องขออนุญาตท่านเหมือนกัน ทำบุญใส่บาตรให้ท่าน จุดธูปบอกวิญญาณของท่านว่า หลวงพ่อที่เคารพนับถืออย่างสูง ผมเป็นช่างปั้น ลูกศิษย์ลูกหาของท่านเอารูปท่านมาให้ผมปั้น การปั้นครั้งนี้ ขอผมอนุญาตหลวงพ่อด้วย และขอให้การปั้นสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ผิดพลาดประการใดต้องขออภัย”
จึงทำให้งานปั้นรูปเหมือนในทุกครั้งที่ผ่านมา แทบจะไม่พบอุปสรรคใดๆ และมากไปด้วยพลังใจในการทำงานชิ้นต่อๆไปให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
(จาก ธรรมลีลา ฉบับที่ 104 กรกฎาคม 2552 โดยฮักก้า)