xs
xsm
sm
md
lg

ศิลปินกับศิลปะ : หลายชีวิตในบึงบัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

15ปีที่ ‘ทวี เกษางาม’ ปักหลักใช้ชีวิตอยู่ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นอกจากจะได้มีส่วนร่วมสร้าง ‘บ้านศิลปิน’ ให้เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และริเริ่มก่อตั้ง ‘กลุ่มศิลปินเมืองหัวหิน’ เพื่อร่วมกันสร้างเมืองหัวหินให้เป็นเมืองศิลปะ
ผลงานศิลปะชิ้นสำคัญๆ ของเขาก็ถูกสร้างขึ้น ณ เมืองชายทะเลแห่งนี้เช่นกัน ส่วนหนึ่งคือผลงานภาพเขียนสีน้ำขนาด ใหญ่ ่ชุดบึงบัว’ กว่า 15 ภาพ ที่เขาเกิดแรง บันดาลใจอยากจะเขียนขึ้น ในช่วงเวลาที่หอบอุปกรณ์ออกไปเขียนภาพนอกสถานที่ใกล้กับบึงบัวแห่งหนึ่ง
จากแรกเริ่มที่สนใจเพียงอยากจะ สเก็ตช์ภาพรวมๆ จากสิ่งที่ตาเห็น แต่เมื่อได้เพ่งมองไปที่รายละเอียดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดอกบัว ใบบัว และสรรพชีวิตต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในบึงแห่งนั้น จึงทำให้เขามีความสนใจที่จะศึกษาเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบัวให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
“ในแง่ของที่ไปที่มาว่า ทำไมในทางพระพุทธศาสนา บัวจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ ที่เปรียบได้กับปัญญาของมนุษย์ และอีกหลายๆอย่าง จึงทำให้รับรู้และเข้าใจที่มา ที่ไปของบัวมากกว่าความงามที่สายตาของเราเคยปะทะอย่างฉาบฉวย ได้ทราบว่า บัวถือเป็นราชินีไม้น้ำที่เกิดจากโคลนตม ซึ่งโคลนตม หากยิ่งเน่าเหม็น ยิ่งมากไปด้วยจุลินทรีย์สาร บัวก็ยิ่งงาม”
มากกว่านั้น เขายังนึกไปถึงคำว่า “หยดน้ำบนใบบัว” สิ่งขัดแย้งที่ต้องอยู่ร่วมกันและไม่มีวันเข้ากันได้
“แต่เมื่อมันมาอยู่ด้วยกันเมื่อไหร่ มันกลับเกิดความงาม สว่างไสวแวววาวตลอดเวลา และทำให้เราได้แง่คิดที่ว่า แม้จะมีความแตกต่างแต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้”
ดังนั้น ในภาพเขียนของทวี หากเพ่งมองให้ละเอียด จะแฝงไว้ด้วยสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ในบึงบัว ไม่ได้มีเพียงแค่น้ำใสๆในบึง ดอกบัว และใบบัว แต่ยังมีบรรดาปลา กบ นก และแมลงต่างๆ ซึ่งบ่อย ครั้งที่ภาพเขียนที่แฝงไว้ด้วยรายละเอียดนี้ ได้ช่วยให้เขาย้ำเตือนตัวเองถึงการให้ความหมายและความสำคัญกับทุกๆ สิ่ง
“ทุกสรรพชีวิตสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข และสวยงามน่าอยู่ ขอ เพียงเราใส่ใจในสิ่งเล็กๆน้อยๆ และมีความ เอื้ออาทรต่อกัน บางทีการมองดอกไม้แค่ดอกหนึ่ง มองดอกบัวแค่ดอกหนึ่ง ถ้าเรามองดูให้ดี เราสามารถมองเห็นจักรวาล ทั้งจักรวาลได้เลยนะ
เพราะบางทีมนุษย์เรามักจะมองอะไรและตัดสินอะไร จากภาพรวมใหญ่ๆ จนเราลืมมองไปที่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ จึงทำให้เราไม่มีความเข้าใจและลึกซึ้งกับอะไรสักอย่าง ไม่นิ่งไม่สงบพอที่จะกำหนดวิถีชีวิตของตัวเราเองได้”
5 ปีในเพศบรรพชิตที่เมืองดอกบัว จ.อุบลราชธานี อันเป็นบ้านเกิด ทั้งได้มีโอกาสเป็นลูกมือแกะเทียนพรรษามาก่อน ทำให้เขาเชื่อว่า น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ตัวเองในวันนี้ ซึ่งผ่านการเรียนศิลปะมาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษา จ.อุบลฯ, วิทยาลัยเพาะช่าง และคณะศิลปกรรม-ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังคงสร้างงานที่แฝงไว้ซึ่งหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
“ตอนที่ผมเรียนที่เพาะช่าง ผมเรียนจิตรกรรมไทยและเขียนงานจิตรกรรมไทยที่เป็นรื่องของศาสนา เมื่อจบจากเพาะช่างผมเริ่มสนใจในศิลปะสมัยใหม่ เพราะผมมีความเชื่อว่าศิลปะมันน่าจะมีเสรีภาพในการคิด มากกว่าการเป็นงานจิตรกรรมแนวประเพณี ผมเลยตัดสินใจสอบเข้าที่จุฬาฯ เพื่อที่จะเรียนศิลปะสากล จึงทำให้ผมได้ความรู้ทั้งในเรื่องของศิลปะไทยและศิลปะสากล มาผสมผสานในตัวผม
ในยามที่ผมเขียนภาพ แม้จะเป็นภาพเขียนที่เขียนด้วยเทคนิคฝรั่ง แต่เนื้อหาในภาพเขียนของผม โดยสาระหรือแก่นที่นำเสนอสู่ผู้ชมแล้ว มันก็ยังเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาค่อนข้างสูง”
หากถามว่ามีเนื้อหาของธรรมะในด้านใดอีกบ้างที่เขาได้พยายามสื่อผ่านภาพเขียนของเขาเสมอมา นอกจากการอยู่ร่วมกันของสิ่งต่างๆอย่างเอื้ออาทรและพึ่งพาอาศัย เขากล่าวว่า สิ่งนั้นคือความนิ่งสงบ ที่ทำให้คนเราสามารถมองเห็นสัจธรรม ของสิ่งต่างๆ
ขณะที่ธรรมะและแนวทางที่เขาใช้เป็นหลักยึดในการดำเนินชีวิตทุกวันนี้ คือการใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความไม่ประมาท
“ผมยึดหลักของศีลห้าเป็นเบื้องต้นและผมเป็นคนที่นั่งวิปัสสนา นั่งสมาธิทุก วัน เพื่อที่จะขัดเกลาจิตใจของตัวเองในส่วนที่หยาบ ให้มันละเอียด มีความนิ่ง มีความสงบ และหลักสำคัญอีกอันหนึ่งคือการมีมรณสติทุกวัน นึกถึงความตายอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ผมมีไฟ มีพลัง ในการทำงาน และใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท”

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 101 เม.ย. 52 โดยฮักก้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น