xs
xsm
sm
md
lg

เรียนรู้ธรรมชาติในพื้นที่ชุ่มน้ำ "สามร้อยยอด"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นั่งเรือชมธรรมชาติในทุ่งสามร้อยยอด
"เขาสามร้อยยอด" ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชื่อนี้ได้แต่ใดมา ณ วันนี้ยังไม่ชัดเจนในที่มา แต่จากคำบอกกล่าวเล่าขาน นามของเขาสามร้อยยอดนั้นมี 3 ที่มาด้วยกัน

ที่มาแรก มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ในอดีตเคยมีเรือสำเภาจีนแล่นลัดเลาะผ่านหมู่เกาะน้อยใหญ่ในแถบนี้ และได้เจอกับลมพายุรุนแรงจนเรือแทบทรงตัวไม่อยู่ จนสุดท้ายเรือก็ชนเข้ากับหินโสโครกจนอับปางลง ลูกเรือบ้างก็จมน้ำตาย แต่บ้างที่ว่ายน้ำแข็งก็รอดชีวิตหนีตายขึ้นมาบนภูเขาได้กว่า 300 คน จึงได้ชื่อว่าเขาสามร้อยรอด และต่อมาก็เรียกเพี้ยนเป็น "เขาสามร้อยยอด"
ชมดอกบัวอย่างใกล้ชิด
ที่มาที่สอง ว่ากันว่าชื่อสามร้อยยอดนั้นมาจากการที่มีต้นสามร้อยยอดขึ้นอยู่มากมาย

ที่มาสุดท้าย มาจากการที่บริเวณนี้มีขุนเขามากมายถึงราวๆ 300 ยอด ผู้คนจึงเรียกขานกันว่า สามร้อยยอด

ไม่ว่าที่มาของชื่อสามร้อยยอดจะมาจากอะไรก็ตาม แต่บริเวณเขาสามร้อยยอดนั้นได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 4 ของประเทศไทย และเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกในเมืองไทย ในปี พ.ศ.2509
เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ
อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดนั้น ถือว่าเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีความหลากหลายของสภาพพื้นที่ เพราะมีทั้งพื้นที่ที่เป็นทะเล หาดทราย หาดเลย ป่าเขาหินปูน ป่าชายเลน ป่าพรุน้ำจืด ทุ่งหญ้า และพื้นที่ชุ่มน้ำ ส่งผลให้เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการมาพักผ่อนริมชายหาดซึ่งมีความเงียบสงบ การพายเรือคายักในคลองชมความงามของป่าชายเลน การเดินขึ้นเขาเพื่อไปชมพระอาทิตย์ขึ้น อีกทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์อย่างถ้ำพระยานคร ที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้สร้างพลับพลาจัตุรมุขไว้ภายในถ้ำ มีความสวยงามเป็นอย่างมาก

และเมื่อต้นปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดที่เรียกกันว่า “ทุ่งสามร้อยยอด” ก็ยังได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นแรมซาร์ไซต์ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งล่าสุดของประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2551 อีกด้วย ในวันนี้เราจึงจะพามาท่องเที่ยวกันในอีกสภาพพื้นที่หนึ่งในอุทยานเขาสามร้อยยอด ที่เรียกว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำกัน
ชมบัวบานเต็มทุ่งในช่วงปลายเดือนมีนาคม-เมษายน (ภาพ : ททท.)
คำว่า "พื้นที่ชุ่มน้ำ" (Wetland) หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นหูกับคำนี้นัก จึงขออธิบายไว้พอสังเขปว่า พื้นที่ชุ่มน้ำนั้นก็คือหมายถึงลักษณะทางภูมิประเทศที่มีรูปแบบเป็น พื้นที่ลุ่ม พื้นที่ราบลุ่ม พื้นที่ลุ่มชื้นแฉะ พื้นที่ฉ่ำน้ำ มีน้ำท่วม มีน้ำขัง พื้นที่พรุ พื้นที่แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำขังหรือท่วมอยู่ถาวรและชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่ง และน้ำทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม รวมไปถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเล และพื้นที่ของทะเล ในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุดมีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน 6 เมตร

พื้นที่ชุ่มน้ำนี้มีคุณประโยชน์ตรงที่เป็นแหล่งรวมสายพันธุ์พืชและสัตว์ อันมีความสำคัญทางนิเวศวิทยา ดังนั้นจึงมีการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์และเพื่อการใช้พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน ที่เรียกกันว่า "อนุสัญญาแรมซาร์" ซึ่งหากพื้นที่ชุ่มน้ำใดที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ก็จะได้ประกาศและขึ้นทะเบียน โดยเรียกพื้นที่นั้นว่าเป็น "แรมซาร์ไซต์" (Ramsar Site)
ดอกบัวสีชมพูสดใสกลางทุ่งสามร้อยยอด
บังเอิญ สีสังข์ หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติ (บึงบัว) อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด กล่าวถึงรายละเอียดของพื้นที่ทุ่งสามร้อยยอดที่เพิ่งจะได้เป็นแรมซาไซต์ให้ฟังว่า ทุ่งสามร้อยยอดนั้นมีอาณาเขตทั้งหมด 43,260 ไร่ด้วยกัน โดยพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติจำนวน 23,000 ไร่ และนอกนั้นอยู่นอกเขตอุทยาน

ทุ่งสามร้อยยอดนี้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีพื้นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ มีน้ำขังหรือท่วมถึงตลอดทั้งปี มีทั้งส่วนที่เป็นน้ำจืดและน้ำกร่อย และยังมีความหลากหลายชนิดของพืช สัตว์ และธาตุอาหาร ซึ่งมีระบบนิเวศน์ที่น่าสนใจไม่น้อย อีกทั้งสภาพภูมิทัศน์ในบริเวณนี้ยังมีความสวยงาม โดยมีลักษณะเป็นบึงกว้างใหญ่ มีเทือกเขาหินปูนสูงทะมึนเป็นฉากหลัง จึงเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวไม่น้อยเลยทีเดียว
เรียนรู้ธรรมชาติอย่างใกล้ชิด
สำหรับการท่องเที่ยวภายในศูนย์ศึกษาธรรมชาติแห่งนี้นั้น ก็ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติที่น่าสนใจ นักท่องเที่ยวจะได้เดินบนสะพานเดินศึกษาพืชน้ำ ที่จะมีพืชชนิดต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ ไม่ว่าจะเป็นต้นธูปฤษีหรือต้นกกช้าง วัชพืชที่มีเหง้าใต้ดิน มีดอกคล้ายธูปสีน้ำตาล ต้นกกสามเหลี่ยมแห้วกระดาน ที่มีลำต้นเป็นสามเหลี่ยมพุ่ม นำไปใช้ทอเสื่อ หรือจักสานเป็นฝาบ้านหรือหลังคาได้ นอกจากนั้นก็ยังมีต้นอ้อ แขม รวมไปถึงพืชน้ำเล็กๆอย่างจอก และพืชอีกหลากหลายชนิดด้วยกัน โดยบนสะพานนี้จะมีป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับพืชชนิดต่างๆนี้ติดอยู่เป็นระยะๆ

แต่ที่ถือเป็นจุดเด่นในศูนย์ศึกษาธรรมชาติแห่งนี้ก็คือบึงบัว ที่มีบัวสายพันธุ์ต่างๆ ขึ้นอยู่ในพื้นที่กว่า 500 ไร่ ในทุ่งสามร้อยยอด ไม่ว่าจะเป็นบัวหลวง บัวเผื่อน บัวผัน บัวสาย ฯลฯ ซึ่งเมื่อบัวเหล่านี้ผลิดอกบานพร้อมๆ กัน ก็จะทำให้เกิดทัศนียภาพอันงดงาม และดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยือนได้เป็นจำนวนมาก โดยบังเอิญ สีสังข์ กล่าวว่า ในขณะนี้ก็ยังพอมีดอกบัวให้เห็นกันอยู่บ้าง เพราะบัวในบึงนั้นได้บานไปครั้งหนึ่งแล้ว และเร็วๆ นี้ก็จะเริ่มบานใหม่อีกครั้งในช่วงปลายเดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนเมษายน ใครที่อยากจะไปเห็นบัวบานเต็มบึงก็สามารถเตรียมตัวกันไว้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
มาเที่ยวทุ่งสามร้อยยอดต้องไม่พลาดการนั่งเรือชมธรรมชาติ
สำหรับการจะเข้าไปสัมผัสกับบึงบัวและพืชน้ำอีกหลากชนิดในทุ่งสามร้อยยอดอย่างใกล้ชิดนั้น ก็จะต้องพึ่งพาบริการเรือถ่อของชาวบ้านที่จะเป็นผู้พานักท่องเที่ยวล่องไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติทางเรือ ซึ่งจะทำให้เราได้สัมผัสกับบรรยากาศอันเป็นธรรมชาติ ได้ชมพืชน้ำทั้งกก อ้อ ธูปฤษี บัว ฯลฯ อย่างใกล้ชิด และหากมีข้อสงสัยประการใด ก็สามารถสอบถามจากชาวบ้านในพื้นที่ที่นอกจากจะมาถ่อเรือให้เราแล้วก็ยังช่วยตอบข้อซักถามต่างๆ อย่างเต็มใจ

นอกจากจะได้ชมพืชพันธุ์ต่างๆ ในทุ่งสามร้อยยอดนี้แล้ว ที่นี่ก็ยังเป็นแหล่งดูนกที่ขึ้นชื่ออีกด้วย โดยสามารถพบเห็นนกประจำถิ่นอย่าง นกอีโก้ง นกกระยางเหลือง นกกระยางแดง นกเป็ดน้ำ ซึ่งหาดูได้ตลอดทั้งปี และยังจะมีมีนกอพยพบินผ่านมาในช่วงฤดูหนาว รวมไปถึงเหยี่ยวที่จะบินผ่านมาให้เห็นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์
ในเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติมีป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับพืชพันธุ์ต่างๆ เป็นระยะ
พื้นที่ทุ่งสามร้อยยอด จึงถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติที่นอกจากจะได้ความรู้เกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำแล้ว ยังจะได้เพลิดเพลินกับทิวทัศน์อันงดงามอีกด้วย

และในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ก็ถือเป็น "วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก" ใครที่มาเยือนทุ่งสามร้อยยอดในวันนั้น ก็จะได้นั่งเรือไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่รับอาสาถ่อโดยชาวบ้านกันฟรีๆ อีกด้วย


*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 


อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 บ้านเขาแดง ตำบลเขาแดง อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 77150 การเดินทางไปยังอุทยานมี 2 เส้นทางคือ จากกรุงเทพฯ วิ่งไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ผ่านจังหวัดเพชรบุรี จนถึงอำเภอปราณบุรี แล้วเลี้ยวซ้ายที่บริเวณสี่แยกปราณบุรีไปตามถนนสายปากน้ำปราณบุรี ประมาณ 4 กิโลเมตร แล้วจึงเลี้ยวขวาไปตามถนน รพช. อีก 31 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ หรืออีกเส้นทางหนึ่ง จากกรุงเทพฯ วิ่งไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (เพชรเกษม) จนถึงหลักกิโลเมตรที่ 286.5 ใกล้บ้านสำโรง ก่อนถึงอำเภอกุยบุรีประมาณ 6 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปอีก 14 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ

ส่วนศูนย์ศึกษาธรรมชาติ (บึงบัว) อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของอุทยานฯ นอกจากนี้บริเวณศูนย์ศึกษาธรรมชาติยังมีลานกางเต็นท์ สามารถรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 100 คน สอบถามรายละเอียดโทร.0-3261-9078, 0-3264-6293

กำลังโหลดความคิดเห็น