xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวสารผ่านโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ญี่ปุ่นร่วมบูรณะภาพเขียน ‘ถ้ำอชันตา’ มรดกโลกของอินเดีย
• ญี่ปุ่น : กลุ่มนักสำรวจจากสถาบัน สำรวจทรัพย์สินทางวัฒนธรรมแห่งชาติของญี่ปุ่น ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงโตเกียว ถูกส่งไปช่วยบูรณะและรักษาภาพเขียนทางพุทธศาสนาบนผนังถ้ำอชันตา ซึ่งอยู่ ทางตะวันตกของอินเดีย
ถ้ำหินแห่งนี้เป็นวัดพุทธซึ่งสร้างอยู่บนที่ราบสูงเดคคานของอินเดีย เชื่อกันว่าใช้เวลาก่อสร้างเป็น 2 ระยะ คือระยะแรก สร้างในราวศตวรรษที่ 1-2 ก่อนคริสตกาล และระยะหลังสร้างในศตวรรษที่ 5-6 โดยมิได้ระบุวันที่ที่แน่นอน
ถ้ำนี้ถูกค้นพบในปี 1819 โดยเจ้าหน้าที่ชาวอังกฤษที่ออกล่าเสือในบริเวณดังกล่าว ต่อมาองค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 1983
ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก ที่ทีมนักสำรวจญี่ปุ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบูรณะและรักษามรดกโลกในอินเดีย โดยก่อนหน้านี้ ทางสถาบันฯได้เข้าไปช่วยเหลือโครงการบูรณะโบราณวัตถุที่เมืองบามิยัน ในอัฟกานิสถาน และเมืองตุนหวงของจีน คาดกันว่าผลการสำรวจจะทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่เหมือนกันของบรรดาจิตรกรรมฝาผนังของเอเชีย ซึ่งรวมถึงภาพเขียนที่วัดโฮริวจิ ในเมืองนาราของญี่ปุ่นด้วย
ภาพเขียนบนผนังและเพดานถ้ำ อชันตา เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ซึ่งใช้เทคนิคการวาดด้วยสีที่ทำมาจาก น้ำมันผสมไข่แดง ภายในถ้ำเป็นที่ประ- ดิษฐานของพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย
ทีมสำรวจจะทำการสำรวจถ้ำอีก 2 แห่งในบริเวณดังกล่าว ซึ่งมีถ้ำทั้งหมด 30 แห่ง ภายในระยะเวลา 2 ปี
ในปี 1920 ช่างชาวอิตาเลียนได้บูรณะภาพเขียนโดยการทาน้ำมันเคลือบ เงาบนผนังถ้ำ แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ สีของน้ำมันเคลือบเงาเปลี่ยนไป และเกรงว่าความชื้นในผนังจะไม่สามารถระเหยออกไปได้
ต่อมาเมื่อพุทธศาสนาเริ่มเสื่อมลงในดินแดนแถบนี้ ถ้ำหินจึงถูกทิ้งร้างเป็นเวลานาน ในที่สุดก็กลายเป็นที่อาศัยของเหล่าค้างคาว และมูลค้างคาวที่มีเชื้อแบคทีเรียปะปนอยู่ ทำให้เกิดปัญหาสะสมมาก ยิ่งขึ้น
ทีมนักสำรวจพยายามประเมินสภาพของภาพเขียนโดยการวิเคราะห์สี และจะเลือกวิธีที่ดีที่สุดในการลอกน้ำมันเคลือบเงาออกจากผนังถ้ำ และในฤดูใบไม้ร่วงที่จะถึงนี้ ทีมนักสำรวจเตรียมที่จะวัดขนาดของถ้ำ เนื่อง จากยังไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องบันทึกไว้
การสำรวจครั้งนี้นำทีมโดย โคซากุ เมดะ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยวาโกะ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์วัฒนธรรม
“เราสามารถตรวจสอบความเชื่อที่ว่า ภาพเขียนฝาผนังวัดโฮริวจิ ซึ่งถูกอ้างว่าเป็นการเขียนในแบบสากลนั้น แท้จริงแล้ว ได้รับอิทธิพลมาจากภาพเขียนผนังถ้ำอชันตานั่นเอง” เมดะ กล่าว
(จาก The Yomiuri Shimbun)

จีนเตรียมเปิดเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุข้อนิ้วพระหัตถ์
• จีน : เมื่อเร็วๆ นี้ ซู หยวนจี เจ้า-หน้าที่บริหารด้านกิจการศาสนาของรัฐ ได้แถลงถึงความคืบหน้าในการก่อสร้างพระเจดีย์ เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุข้อนิ้วพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้า ว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคมนี้
พระเจดีย์องค์ดังกล่าว ตั้งอยู่ในวัดฝาเหมิน ในมณฑลชานซี ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เริ่มก่อสร้างในปี 2005 โดยซูได้บอกแก่ที่ประชุมชาวพุทธโลก ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองหวูซี มณฑลเจียงซู เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่าน มาว่า จะมีพิธีเปิดพระเจดย์อย่างยิ่งใหญ่ในเดือนพฤษภาคม 2009
พระบรมสารีริกธาตุข้อนิ้วพระหัตถ์องค์ดังกล่าว ถูกพบอยู่ในห้องใต้ดินขนาด ใหญ่ที่มีอายุราว 1,000 ปี ภายในวัด ฝาเหมิน เมื่อปี 1987 และได้รับการยืนยันว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุข้อนิ้วพระหัตถ์ซ้ายของพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ ยังพบพระธาตุอื่นๆ อีก 2,000 องค์
ตั้งแต่นั้นมา วัดฝาเหมินซึ่งอยู่ห่างจาก เมืองซีอาน เมืองหลวงของมณฑลชานซีราว 118 กม. ก็กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ของชาวพุทธทั่วโลก
ตามข้อมูลของสำนักงานท่องเที่ยวมณฑลชานซีเผยว่า มีนักท่องเที่ยวราว 10 ล้านคนมาเยี่ยมชมวัดนี้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
(จาก Xinhua)

พบเจดีย์แก้บนอายุหลายร้อยปีในคุชราต
• อินเดีย : สำนักโบราณคดี กองกิจกรรมกีฬา เยาวชนและวัฒนธรรมแห่งรัฐคุชราต ซึ่งได้ดำเนินการขุดค้นหาโบราณวัตถุด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่เมืองวัดนากา ทางตะวันตกของอินเดีย ตั้งแต่ปี 2005 โดยมีการขุดพบซากโบราณวัตถุสำคัญๆหลายชิ้นตั้งแต่นั้นมา และในปี 2007-08 ได้ค้นพบวัดทางพุทธศาสนาแห่งหนึ่ง ซึ่งส่วนที่พบนั้นเป็นส่วนของสังฆาวาส
การขุดค้นหาในปัจจุบันเริ่มต้นเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2008 ซึ่งได้พบเจดีย์แก้บน องค์หนึ่งใกล้บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวัด
จากรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ปรากฏให้เห็นนั้น องค์เจดีย์สร้างลดหลั่นเป็นชั้นๆ ฐานเป็นทรงสี่เหลี่ยม ซ้อนกันขึ้นไปเป็นขั้นบันได ยอดสูงสุดครอบด้วยโครงสร้างลักษณะครึ่งวงกลม ที่รู้จักกันดีในชื่อ “อันดา” ปัจจุบันได้ขุดพบฐาน 3 ชั้นแล้ว ตรงกลางของชั้นบนสุด เป็นฐานทรงกลมขององค์เจดีย์ซึ่งทำด้วยอิฐ
การค้นพบเจดีย์และวัดครั้งนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า ในช่วงต้นของคริสตศตวรรษนั้น ชาวพุทธได้ตั้งถิ่นฐานในเมืองวัดนากามาเป็นเวลายาวนานแล้ว และการค้นพบสิ่งเหล่านี้ ยังชี้ให้เห็นว่า ในการขุดค้นขั้นต่อไป อาจจะพบอาณาบริเวณกว้างใหญ่ที่เต็มไปด้วยเจดีย์ แก้บน รวมทั้งยังเป็นการพิสูจน์ว่า บันทึกของพระถังซำจั๋งซึ่งเคยมาเยือนเมืองวัดนาการาว ค.ศ. 640 เป็นเรื่องจริง
เจดีย์เป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมสำคัญที่ชาวพุทธสร้างขึ้น เพื่อเป็นที่บรรจุอัฐิของบุคคล ที่ยิ่งใหญ่ เจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อแก้บนนี้ เรียกกันว่า “อุเทสิกเจดีย์”
ในระหว่างการขุดครั้งนี้ ศาสตราจารย์โรบิน คอนนิ่งแฮม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัย เดอร์แฮม ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีชื่อเสียงระดับสากลและทำงานใน “Anuradhapur Buddhist Project” ในศรีลังกามานาน 15 ปี รวมทั้ง ดร. อาร์ เอส โฟเนีย ผู้อำนวยการด้าน สำรวจและขุดค้นของสถาบันสำรวจทางโบราณคดีแห่งอินเดีย และ ดร.บี อาร์ มานี ผู้อำนวยการทั่วไปของสถาบันดังกล่าว ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิชาการชั้นนำด้านพุทธศาสนา พร้อมทั้งนักโบราณคดีอีกหลายคนได้เข้าเยี่ยมชมบริเวณที่มีการขุดค้นดังกล่าว โดยทั้งหมดได้ร่วมเป็นสักขีพยานว่า การขุดพบวัดทางพุทธศาสนาที่เมืองวัดนากา เป็นการค้นพบครั้งสำคัญของยุคนี้ และจะต้องมีการดำเนินการขุดค้นต่อไปอีก
อนึ่ง ผู้เสนอความคิดในการขุดค้นบริเวณดังกล่าว คือ นายนเรนทรา โมดิ นายกรัฐมนตรีรัฐคุชราต โดยมอบหมายให้ นายวาย เอส ราวัต ผู้อำนวยการกองโบราณคดีรัฐคุชราตเป็นผู้ดำเนินการ
(จากDesh Gujarat)

พระทิเบตสวดมนต์วันละ 2,000-3,000 ครั้ง จนรอยเท้าแห่งศรัทธา ฝังลึกติดพื้น
• จีน : เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ที่พระฮัว ฉี นั่งสวดมนต์ภาวนา ณ จุดเดิม ในวัดรองโว ซึ่งท่านจำวัดอยู่ จนกระทั่งฝ่าเท้าทั้งสองข้างของท่านได้เซาะพื้นไม้เป็นร่องลึกราว 1.2 นิ้ว
พระฉีสวดมนต์วันละ 500-1,000 ครั้ง ด้วยจิตศรัทธา เพื่อภาวนาให้ได้ไปสู่โลกใหม่หลังตายแล้ว
ภาพพระฉีนั่งสวดมนต์ภาวนา เป็นที่ชินตาของนักเรียนหลายร้อยคนที่เดินผ่านบริเวณวัด ทุกเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น พระฉีจะยืนบนรอยเท้าเดิม แล้วค่อยๆก้มลง และโน้มกายราบกับพื้น กราบสักการะแบบอัษฎางคประดิษฐ์ เพื่อสวดมนต์หลายพันครั้ง ก่อนที่จะออกเดินไปรอบๆ วัด จนกระทั่งได้เวลาของพระรูปอื่นที่จะมาทำกิจต่อ
พระฉีเปิดเผยว่าเมื่อตอนหนุ่มๆ จะสวดมนต์มากกว่านี้ เฉลี่ย 3,000 ครั้งในแต่ละวัน ซึ่งนับว่ามากเมื่อเทียบกับบท กำหนดของพุทธศาสนา
“ช่วงปีแรกๆ อาตมาจะสวดมนต์วันละ 2,000-3,000 ครั้ง แต่ตอนนี้อายุ 70 ปีแล้ว ก็จะสวดเพียงวันละ 1,000 ครั้ง อาตมาได้บูรณะวัดนี้ และเดินสวดมนต์รอบๆ มาโดยตลอด เพื่อที่ว่าหลังจากมรณภาพ วิญญาณของอาตมาจะได้เป็นสุข”
พระเจนเดน ดาร์จิ พระหนุ่มลูกวัดวัย 29 ปี กล่าวว่า
“ทุกครั้งที่อาตมา มองไปที่พื้นไม้ จะเกิดแรงบันดาลใจที่อยากสวดมนต์ เพื่อสร้างรอยเท้าของอาตมาเองบ้าง” และพระดาร์จิยังบอกต่อไปว่า พระฉีเป็นตัวอย่างที่ดีในการส่งเสริมให้ภิกษุสามเณรจำนวนมากในวัด ทุ่มเทเวลาในการสวดมนต์ให้มากขึ้น และใช้เวลากับตัวเองให้น้อยลง
นอกจากจะเป็นเจ้าอาวาสดูแลบริหารวัดแล้ว พระฉียังเป็นหมอแผนโบราณ ช่วยรักษาคนป่วยไข้ โดยไม่พึ่งพาการแพทย์แผนใหม่
อนึ่ง วัดรองโว กอนเชน กอมปา เป็นวัดพุทธทิเบต ตั้งอยู่ในเมืองตองเกร็น มณฑลชิงไห่ของจีน จัดว่าเป็นวัดพุทธทิเบตที่ใหญ่ที่สุดของจีน
(จาก Science Editor)

รถไฟสาย “มหาปรินิพพานเอ็กซเพรส” ได้รับรางวัลการท่องเที่ยวดีเด่น
• อินเดีย : รถไฟสายที่เชื่อมต่อสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาในอินเดีย ซึ่งการ รถไฟอินเดียได้เปิดเดินเป็นครั้งแรกในปี 2007 นั้น ได้รับรางวัลดีเด่นการท่องเที่ยว แห่งชาติ ในการ “ให้ความปลอดภัยและบริการอันหาที่เปรียบมิได้” แก่นักท่องเที่ยว
เจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการรถไฟกล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มเปิดเดินรถไฟเส้นทาง “มหาปรินิพพานเอ็กซเพรส” มีนักท่องเที่ยวทั้งภายในและนอกประเทศ จากไทย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน ญี่ปุน สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมันนี และเนเธอร์แลนด์ ที่เคยใช้บริการ ต่างพากันชมเชย ประทับใจในการต้อนรับและบริการอันเต็มไปด้วย ไมตรีจิตของพนักงาน
สำหรับรางวัลที่ได้รับนี้ เป็นรางวัลสุดยอดนวัตกรรมผลิตภํณฑ์การท่องเที่ยว ของปี 2007-08
เส้นทางเดินรถไฟดังกล่าวเป็นวงกลม เริ่มต้นจากกรุงนิวเดลี ผ่านพุทธคยา ราชคฤห์ นาลันทา พาราณสี สารนาถ โครักปุระ กุสินารา ลุมพินี-สาวัตถี และสิ้นสุดที่เมืองอักครา ใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้น 8 วัน
(จาก Indopia)

เอ็นจีโอพุทธ ตั้งสำนักงานผู้แทนประจำยูเอ็น
• ไต้หวัน : สมาคมแสงธรรมนานาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรเอ็นจีโอพุทธในไต้หวัน จะเป็นองค์กรภาคประชาชนไต้หวันแห่งแรกที่จัดตั้งสำนักงานผู้แทน เพื่อดำเนินภารกิจกับยูเอ็นในนครนิวยอร์ก ผู้นำองค์กรกล่าว
พระยังกุ รองเลขาธิการทั่วไปของสมาคมฯ เปิดเผยว่า การจัดตั้งสำนักงานในเดือนพฤษภาคมนี้ ทางสมาคมฯจะเร่งสร้างความสัมพันธ์ฉันมิตรกับสังคมอเมริกันส่วนใหญ่
สำนักงานผู้แทนนี้ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 2 ชั้นของอาคารหลังหนึ่ง ชั้นแรกจะเป็นห้อง น้ำชา ซึ่งจัดแสดงเอกสารสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับสมาคมฯ ส่วนอีกชั้นจะเป็นที่ทำงานของสมาคมฯและเอ็นจีโออื่นๆ
เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศของไต้หวันกล่าวว่า โครงการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า องค์กรภาคประชาชนไต้หวันมีความสนใจและกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมกับยูเอ็นดำเนินกิจกรรมทางด้านศาสนา สิทธิมนุษยชน วัฒนธรรม ศิลปะ และสิทธิสตรี
เมื่อปีที่แล้วทางสมาคมฯได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานประชุมประจำปี ที่จัดขึ้นในประเทศฝรั่งเศส โดยสำนักงานสนเทศสาธารณะแห่งยูเอ็น มีเอ็นจีโอที่เกี่ยวข้องมาร่วมงานด้วย
อนึ่ง มีองค์กรภาคประชาชนของไต้หวันหลายองค์กรที่จดทะเบียนกับยูเอ็นในฐานะเป็นเอ็นจีโอ มีทั้งสมาพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเอเชีย-แปซิฟิก, สหพันธ์เสรีภาพและประชาธิปไตยโลก, มูลนิธิเกื้อกูล และมูลนิธิซูฉี
อย่างไรก็ตาม สมาพันธ์หอการค้าฯเป็นองค์กรไต้หวันที่เกี่ยวข้องกับยูเอ็นเพียงองค์กรเดียวที่จดทะเบียนในไต้หวัน แม้ว่าจะมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงไทเปและนครนิวยอร์กก็ตาม ส่วนกลุ่มเอ็นจีโออื่นๆ ได้จดทะเบียนผ่านสาขาต่างประเทศทั้งสิ้น
ในปี 2003 สมาคมแสงธรรมนานาชาติ ได้รับสถานะเป็นที่ปรึกษาพิเศษของสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งยูเอ็น และสหภาพเอ็นจีโอของสำนักงานสารสนเทศ
นอกจากสมาคมฯจะมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงไทเปและนิวยอร์กแล้ว ยังมีสาขามากกว่า 170 สาขากระจายอยู่ใน 80 ประเทศทั่วโลก
(จาก Central News Agency)

เรียกร้องชาวเมืองแคนดี้ติดธงพุทธ
• ศรีลังกา : เมื่อเร็วๆ นี้ เมอร์วิน ซิลวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ของศรีลังกา พร้อมคณะผู้ติดตามได้ตรวจเยี่ยมชมเมืองแคนดี้ พร้อมเรียกร้องให้ชาวเมืองช่วยกันติดธงพุทธตามบ้านพักอาศัย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของศรีลังกากล่าวว่า รู้สึกผิดหวังต่อการที่ชาวบ้านไม่พร้อมใจกันประดับธงพุทธในช่วงเทศกาลสำคัญที่จัดขึ้นที่นี่ เพราะแคนดี้เป็นเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์พุทธศาสนา คือมีพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) อันศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่
“เมืองโคลัมโบจะกลายเป็นทะเลธงพุทธ ถ้ามีการจัดงานสำคัญทางศาสนาขึ้นที่นั่น” ซิลวากล่าว พร้อมระบุว่า ผู้คนในแวดวงธุรกิจของเมืองแคนดี้ ล้มเหลวต่อการสร้างบรรยากาศของเมืองให้เหมาะกับการสักการบูชาพระเขี้ยวแก้ว
(จาก Daily Mirror)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 102 พ.ค. โดยเภตรา)
กำลังโหลดความคิดเห็น