ก่อนที่เรือนไหมเจ้าสร้อย แห่งบ้านเปี่ยมสุข ต.หารแก้ว อ. หางดง จ.เชียงใหม่ จะมีงานทำบุญครั้งใหญ่ เพื่อมอบทุนการศึกษาให้กับภิกษุและสามเณรกว่า 200 รูป ในประเทศตามลุ่มแม่น้ำโขงที่ขาดแคลนทุน ทรัพย์ให้ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญา ตรีและปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตสวนดอก
คนทั้งประเทศก็ได้ทราบข่าวใหญ่ผ่านสื่อต่างๆว่า “เจ้าสร้อยมาลา อินทร์เอี่ยม ณ จำปาสัก” สตรีผู้สูงศักดิ์วัย 64 ปี ผู้เป็นเจ้าของสถานที่และเป็นอดีตเจ้าลาวผู้สืบสายโลหิตเจ้าผู้ครองเมืองหลวงพระบาง รุ่นที่ 6 ได้ประกาศขายทรัพย์สมบัติล้ำค่าของตัวเอง ซึ่งตีราคา เป็นเงินกว่า 30 ล้าน เพื่อนำมาใช้เป็นทุนการศึกษาดังกล่าว
ทรัพย์สมบัติที่เธอประกาศขายจำแนกคร่าวๆเป็นผ้าไหมโบราณ ได้แก่ ผ้าซิ่นยกทองและผ้าเบี่ยงหรือสไบ ทำจากเส้นใยทองคำและเงินแท้ อายุระ หว่าง 100-200 ปี จำนวนกว่า 1,000 ผืน แต่ ละผืนมีมูลค่า 30,000-150,000 บาท รวมถึงผ้าไหมทอขึ้นใหม่ อายุ 60-80 ปี รวมมูลค่าประ- มาณ 20 ล้าน บาท
ผ้าโบราณเหล่านี้บางผืนเธอซื้อมาจากเพื่อนชาวลาว ผู้เดือดร้อนในเรื่องเงินทองสำหรับการเดินทางไปอยู่ประเทศที่สาม ได้รับมาก็เก็บใส่หีบทันที ด้วยความรักในผ้าแต่ละผืน หนึ่งปีจะมีการเปิดหีบนำผ้าเหล่านั้นมาตากสักครั้ง
ส่วนอัญมณี เป็นแหวนทองกว่า 100 วง ตลอดจนเครื่องเพชร ปิ่น มรกต สร้อยข้อมือ กำไล นพเก้า ไพลิน อีกจำนวนมาก ซึ่งมีอายุมากกว่า 100 ปี และเป็นอัญมณีที่มีคุณค่าทางจิตใจ โดยเฉพาะแหวนนาคราชซึ่งทำจากทองคำฝังด้วยเพชร และปิ่นมรกตที่ตกทอดมาหลายชั่วอายุคน รวมมูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท
“เจ้าป้าเป็นคนที่ชอบนาคราช มีแหวนมีกำไลนาคราชที่นำมาจากหลวงพระบาง ในทางศาสนาพุทธ นาคราชเกี่ยวข้องกับการบวชนาค และนาคก็เป็นผู้ให้น้ำ ส่วนปิ่นมีเยอะมาก เพราะเจ้านายลาวถือว่า การเก็บปิ่น เป็นการบูชาขวัญของตัวเองที่อยู่บนศีรษะ และคนโบราณก็จะบูชาปิ่นด้วยดอกไม้ คนชั้นกลางจะใช้ปิ่นเงิน ส่วนพวกเจ้านายก็จะใช้ปิ่นที่มีเพชรมีพลอย เจ้าป้ามีปิ่นเยอะมาก แต่วาระนี้ต้องเสียสละ ใครจะซื้อก็ขาย”
อะไรทำให้เจ้าป้าผู้นี้เลิกยึดติดในทรัพย์สมบัติที่ใครหลายคนต่างก็อยากเป็นเจ้าของครอบครอง แทนที่จะหวง แหนไว้เพื่อมอบให้แก่ลูกหลานของตัวเองในอนาคต เธอได้ให้คำตอบที่ได้สอน สัจธรรมของชีวิตไปพร้อมกันว่า
“เจ้าป้าคิดว่า เราอายุมากแล้ว ตายไป ก็เอาทรัพย์สมบัติไปไม่ได้ ขนาดเจ้ายาย กับเจ้าแม่ ในที่สุดก็ยังต้องทิ้งทรัพย์สมบัติเอาไว้ให้เรา เจ้าป้าก็เลยต้องตัดใจ”
ไม่ใช่เป็นเพราะเธอเพิ่งมาคิดได้ว่าอะไรคือคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต เพราะความเป็นคนใจบุญและมีเมตตาต่อผู้อื่น นั้น เธอได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่วัยเด็กแล้ว
“ตอนเด็กๆเจ้าป้าอยู่ในตระกูลทางฝ่ายเจ้าแม่ เจ้ายายชวดเป็นเจ้าลาว ได้มาเป็นชายาเจ้าลำปาง คุณพ่อของเจ้าป้าเป็นคนไทยนครปฐม คุณปู่ซึ่งมี นามสกุลว่า อินทร์เอี่ยม ได้ถวายที่ดินให้กับวัดที่นครปฐมด้วย คุณพ่อจะสอนให้ลูกสวดมนต์ไหว้พระและใส่บาตรตลอด ส่วนเจ้าตาและเจ้ายายก็เคยสร้างวัด เจ้าตาชื่อเจ้าน้อยอ้าย ณ ลำปาง คนลำปางรู้จัก เป็นผู้สร้างวัดหมื่นกาศ ตระกูลของเจ้ายายเป็นพวกเจ้าลำปาง เราจึงอยู่ในตระกูลพระพุทธศาสนามาตลอด
เมื่ออายุสามขวบกว่า เจ้าป้ามาเรียนหนังสือในประเทศไทยที่เชียงใหม่ที่โรงเรียนเรยีนาเชรีวิทยาลัย ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาเริ่มแรกที่ทำให้เจ้าป้ามีศรัทธาในการทำความดี มีเมตตาต่อผู้อื่น ในขณะเดียวกัน เจ้ายายเจ้าย่าท่านก็ชอบนั่งสมาธิ เราอยู่ในตระกูลที่เคร่งครัดเรื่องศีล 5 ตั้งแต่เด็กๆ ไม่ฆ่าสัตว์ หรือทำผิดศีล เจ้าป้าเคยเป็นเด็ก ขี้โมโห ชอบเอาทัพพียาวๆมาตีหัวบ่าวไพร่ เจ้าพ่อก็จะสอนว่าคำว่าเจ้าจะต้องมีเมตตากรุณาเหนือผู้อื่น ทุกวันเจ้าพ่อให้เงินไปโรงเรียนวันละสิบบาท เจ้าป้า ก็จะซื้อกล้วยแขกอันละสลึง แจกเพื่อนหมด แล้วตัวเองได้กินแค่อันเดียว”
ในวัยสาวอายุประมาณ 18-19 ปี เจ้าสร้อยมาลายังเคยเป็นผู้บูรณะวัด ร่ำเปิง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ก่อนที่จะเดินทางกลับไปหลวงพระบาง และเธอได้เดินทางกลับมาประเทศไทยอีกครั้งตอนอายุ 30 ปี หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศลาว พร้อมกับนำมรดกที่เจ้าย่ามอบให้ติดตัวมาจำนวน หนึ่ง และได้สมรสกับนายศุภโชค สุขสิน อดีตเจ้าพนักงานป่าไม้จังหวัดเชียงใหม่ และตัดสินใจตั้งรกรากอยู่ที่เชียงใหม่ โดยประกอบอาชีพจำหน่ายผ้าไหมที่ส่งตรงจากประเทศลาว โดยที่ไม่ได้กลับไปประเทศลาวอีก
เมื่ออายุมากขึ้นเธอได้ตระเวนทำบุญตามวัดต่างๆ จึงได้พบว่ามีพระจากประเทศลาวและพระต่างถิ่นจากประเทศ อื่นๆตามลุ่มน้ำโขงเดินทางมาเรียนหนังสือที่เชียงใหม่ แต่ขาดแคลนทั้งค่าเทอม ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน
ปี พ.ศ.2547 เธอจึงได้ตั้งมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือภิกษุและสามเณรจากประเทศลาว ให้ได้มีทุนเพื่อใช้สำหรับการศึกษาเป็นรุ่นๆไป จนในเวลาต่อมาเงินทุนนั้นได้หมดลง ขณะที่เพื่อนฝูงซึ่ง เคยระดมทุนมาช่วยเหลือ ต่างก็ประสบ ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ เธอจึงแก้ปัญหาด้วยการนำทรัพย์สมบัติที่ตัวเองมีอยู่ออกมาประกาศขาย โดยหวังว่าเงินที่ได้มาครั้งนี้จะนำไปช่วยเหลือภิกษุและสามเณรในประเทศอื่นๆด้วย เพื่อให้ภิกษุและสามเณรเหล่านั้นได้เรียนหนังสือและกลับไปเป็นกำลังสำคัญในการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาในประเทศ ของตน
ในเบื้องต้นเงินที่ได้มาจะถูกใช้เป็นค่าเทอมให้กับพระลาว 118 รูป และพระจากประเทศอื่นอีกรวมกว่า 200 รูป รูปละ 1,500 บาท รวมกับค่าอาหารกลางวันและค่าอุปกรณ์การศึกษา โดยคาดว่าจะเป็นเงินเริ่มต้นที่ 600,000 บาท จากนั้นจะทยอยระดมทุนเพื่อช่วยเหลือพระธรรมจาริกที่ออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนายังพื้นที่ห่างไกล ก่อนที่จะนำเงินส่วนหนึ่งไปซื้อชุดชั้นในและของ ใช้ที่จำเป็น มอบให้กับผู้ต้องขังหญิง เพราะทราบมาว่าการที่ผู้หญิงไม่ได้สวมเสื้อชั้นใน จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งสูง
การตัดสินใจของเธอได้รับการสนับสนุนจากคนในครอบครัวเป็นอย่างดี ไม่เพียงแต่สามีที่ในอดีตเคยได้แต่ตั้งคำถามว่า “เมื่อไหร่เจ้านางจะหยุด ช่วยเหลือคนเสียที” แม้แต่ลูกๆทั้งสามของเธอเอง ในยามนี้ทุกคนต่างล้วนมีใจร่วมอนุโมทนาบุญด้วย
สมบัติที่นำมาประกาศขาย บางส่วนเป็นสมบัติของเจ้ายายเจ้าย่าที่จะต้องตกทอดเป็นของพวกเขา แต่คำตอบที่เจ้าป้าได้ยินจากลูกๆคือ “ขายไปเถอะ ทำอะไรแล้วสบายใจก็ทำไปเถอะ”
ได้ฟังคำตอบจากลูกเช่นนี้แล้วเจ้าสร้อยมาลาก็ยิ่งมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองทำ และไม่เคยรีรอที่จะช่วยเหลือคนอื่นเมื่อ มีคนบากหน้ามาขอความช่วยเหลือ
“ใครมาที่บ้าน ถ้ามาขออะไรเจ้าป้า คำว่าไม่มี ไม่ให้ บ่ใช่เจ้าป้าค่ะ เจ้าป้าจะให้ตลอดเลย ให้เปิ้นตลอด มีนิดมีน้อยก็ต้องให้”
เจ้าสร้อยมาลาได้เล่าให้ฟังถึงการปลูกฝังลูกๆของเธอในเรื่องของการทำบุญว่า
“หนูต้องทำบุญบ่อยๆ แล้วบุญจะช่วยรักษาและคุ้มครองหนู การทำบุญมันไม่ใช่แค่การเอาข้าวไปถวายพระอย่างเดียว การทำบุญมีหลายอย่าง เช่นการออกบวช การนั่งสมาธิ การมีจาคะ การให้ทานผู้อื่น การพูดจาดีกับผู้อื่น การอ่อนน้อมไม่เย่อหยิ่ง และการรับรู้ถึงความทุกข์ของเพื่อน เมื่อเพื่อนมีปัญหา เราต้องรับฟังและให้คำแนะนำสั่งสอน นี่เป็นสิ่งที่เจ้าป้าสอนลูก”
จึงเป็นเหตุให้ลูกๆของเธอเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีจิตใจดีงาม และรักที่จะช่วยเหลือผู้อื่นไม่แตกต่างจากเธอ
“ที่ผ่านมาลูกๆของเจ้าป้าไม่เคยเอาเงินเดือนให้เจ้าป้าเลย ลูกๆบอกเจ้าป้าว่า แม่..ลูกขอเก็บเอาไว้ทำบุญให้คนจนนะ เจ้าป้าก็จะบอกพวกเขาว่า เอ้อ ..ทำไปเต๊อะ”
เธอเชื่อมาตลอดว่าการทำบุญจะส่งผลให้ชีวิตได้พบพานในสิ่งที่ดี
“สิ่งที่เราทำลงไป เราจะทำกรรมดีก็ตามกรรมชั่วก็ตาม สิ่งนั้นก็ย่อมติด ตามเราไป มีเรื่องตลกอยู่หนึ่งเรื่องหมอเคยบอกว่าเจ้าป้าเป็นมะเร็ง พอผ่าแล้วมันไม่เป็น มันเป็นเรื่องที่ตลกจนกระทั่งบัดนี้เพื่อนๆก็ยังแปลกใจกัน เพื่อนๆเชื่อว่าคงเป็นเพราะเจ้าป้าสวดมนต์มาก ทำบุญมาก ช่วยเหลือคนมาก
และอีกอย่างการที่เราเป็นคนที่มีจิตเมตตาตลอด เมตตาสัตว์ เมตตาคน หัวใจของเราจะเบิกบาน จะไม่มีความทุกข์อะไรที่มันจะมาทำลายเราได้ แต่ก่อนเจ้าป้าจะเป็นคนขี้โมโหมาก เป็นคน สวย และเย่อหยิ่ง ในที่สุดก็ค่อยๆละไป แต่ครั้งนี้เป็นการละที่เพื่อนฝูงก็ยัง ตกใจ ว่าเกิดอะไรขึ้น”
แม้จะไม่เหลือเค้าของความเป็นคนขี้โมโห และเย่อยิ่งเหมือนเช่นในอดีต อย่างไรก็ตามเธอยอมรับว่าเวลานี้ยังคงเป็นคนที่รักสวยรักงามและรักการแต่งตัวเช่นในอดีตอยู่ แต่ไม่มีอีกแล้วเจ้าสร้อยมาลาคนที่เปลี่ยนเครื่องแต่งกายวันละสามชุด ใส่เครื่องเพชรไม่ซ้ำวัน และสวมแหวนเต็มมือ
“ตอนนี้ใส่แหวนเหลือเจ็ดวง เมื่อก่อนมือสองข้างรวมกันสิบหกวงอะไรอย่างเนี้ยะ วันจันทร์ก็ยังใส่ไข่มุก หลายอย่างที่เคยแต่งก็ยังแต่งอยู่ แต่แต่งน้อยลง และความขี้โมโหก็มีน้อยลงไป”
แม้เธอจะเชื่อเหลือเกินว่า ทรัพย์สมบัติมีไว้เพื่อสร้างบารมี ตามที่เธอได้ ยินจากพระเดชพระคุณรูปหนึ่งที่เคารพนับถือ แต่เธอก็จะบอกแก่คนใกล้ชิดเสมอว่า บุญที่ทุกคนพึงจะได้ ไม่ได้แปร ผันตามทรัพย์สมบัติที่ทุกคนบริจาค
“อยากเรียนท่านพุทธศาสนิกชนว่า เราไม่จำเป็นต้องทำบุญด้วยเงิน ถ้าเราละชั่ว ทำดี จิตแจ่มใส ถือศีลห้าครบ มีสมาธิ สวดมนต์ ก็จะเกิดปัญญา แม้เรา ให้ห้าบาท ถ้าจิตของเราถึงพร้อม เราก็ได้บุญเท่ากับคนที่ถวายเป็นแสนเป็นล้าน”
เจ้าสร้อยมาลาบอกว่าความสุขของชีวิต ณ เวลานี้ คือการได้ช่วยเหลือผู้อื่น และมีความสุขกับการได้นับเงินที่ได้รับจากผู้ที่สนใจซื้อหาสิ่งของจากกรุที่เธอประกาศขาย เพราะเงินเหล่านี้เป็นมากกว่าทุนทรัพย์ที่เธอจะนำไปช่วยเหลือผู้ที่ขาดแคลน แต่มันยังเป็นสิ่งที่ย้ำบอกตัวเธอเองด้วยว่า นี่คือมูลค่าของภาระที่เธอเคยแบกมา และเธอกำลังจะปล่อย วางมันลง ก่อนที่วันหนึ่งข้างหน้าเธอจะจากโลกนี้ไป อย่างคนที่มาตัวเปล่าและไปตัวเปล่า
“ยังมีอีกม้าก..”เจ้าสร้อยมาลาตอบเน้นเสียงเมื่อถูกถามว่าทรัพย์สมบัติที่ว่ามีคนซื้อไปหมดหรือยัง
“พอเราประกาศว่าจะขาย มีคนฮือฮามาซื้อ ให้คนขนมาจากลำปาง พื้นที่บ้านสามร้อยตารางวา มีแต่ของเต็มไปหมด ฝรั่งบางคนยังพูดเลยว่าไปหลวงพระบางยังไม่มีของเหมือนเจ้าป้า วันแรกเขามาเขาตกใจมาก แล้ววันที่สองก็มาดูอีก มีมาจากทั่วโลกที่มาซื้อ เราไม่สนใจขายในราคาท้องตลาด เราขายเพื่อ ให้ได้เงินมาเร็วๆ เวลานับเงินชื่นใจค่ะ”
ชีวิตของเจ้าสร้อยมาลาจากที่เคยตื่น นอนตอนตี่สี่ ต้องเปลี่ยนมาตื่นนอนตอนตีสอง เพื่อใช้เวลาส่วนหนึ่งในการตั้งจิตอธิฐานขอให้ทรัพย์สมบัติขายได้
“พอตี่สี่ก็จะอาบน้ำ แล้วสวดมนต์นั่งสมาธิ ประมาณหกโมง รอให้พระ อาทิตย์ขึ้นก่อน เพราะเจ้าป้าเป็นคนกลัวผี (หัวเราะ) เอาข้าวไปไหว้พระ สุริยะเทพ เอาข้าวให้นกให้หนู
อาทิตย์หนึ่งจะไปวัดสามครั้ง ไปทีก็จะเอาอาหารอร่อยๆไปถวายพระเยอะๆ ถ้าไม่ได้ไปก็จะใส่บาตรที่บ้าน องค์หนึ่งใส่เงินไปด้วย 50 บาท ใส่เจ็ดองค์ วัดที่ ไปประจำก็คือวัดศรีสว่าง (วัวลาย) อำเภอ หางดง”
มีบทกลอนหนึ่งของ “ดอกไม้สด” ที่เจ้าสร้อยมาลาท่องจำติดปากตั้งแต่อายุ7 ขวบ และกำหนดให้มันเป็นเข็มทิศในการดำเนินชีวิตของตัวเองจนถึงวันนี้ ซึ่งเธออยากจะฝากถึงคนทั่วไป นั่นก็คือ
ครองใจอยู่ในอุเบกขา
อุตส่าห์ในศุภกิจให้ผลิตผล
เมตตาผู้อ่อนแอแลอับจน
แต่ส่วนตนอย่าได้ของ้อผู้ใด
ชีวิตนี้มิได้ผิดฟองสบู่
เราอยู่เพื่อทำทุนไว้ชาติใหม่
กรุณาผู้ลำบากตกยากไร้
เข้มแข็งในเมื่อทุกข์มาถึงตัว
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 100 มี.ค. 52 โดยพรพิมล)