xs
xsm
sm
md
lg

อริยสัจ:

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฌาน 1 ยังไม่หลุดความคิด ยังมีวิตกวิจารเคล้าอยู่
ฌาน 2 มีเอโกทิภาวะ หรือจิตผู้รู้
พอออกจากสมาธิ กำลังวิบากของมันยังไม่หมด
มีผลคือจิตผู้รู้ตั้งมั่นเด่นดวง
เมื่อมารู้กายจะเห็นทันทีเลยว่ากายไม่ใช่ตัวเรา
รู้เวทนาก็เห็นเวทนาไม่ใช่เรา


ครั้งที่ 014
การตามรู้ระลึก
คือ กระบวนการแห่งจิตสิกขา

โยม : 'อาจารย์คะ ตอนนี้ขออนุญาตย้ำอีกทีหนึ่งนะคะว่า ตรงกระบวนการที่เราตามรู้ระลึกลงไปอย่างนี้แหละเป็นกระบวนการของจิตสิกขา'

หลวงพ่อ : 'ใช่ จนกระทั่งจิตมันเกิดการรู้ตื่นขึ้นมา ตั้งมั่นขึ้นมา พร้อมที่จะเจริญปัญญา พอจิตมันพร้อมที่จะเจริญปัญญามันก็ขึ้นปัญญาสิกขา เพราะฉะนั้นบทเรียนที่สองนี่ถึงชื่อจิตสิกขา แต่คนไทยชอบแปลเอาความ

บทเรียนที่หนึ่งเรื่องศีล บทเรียนที่สองเรื่องสมาธิ บทเรียนที่สามเรื่องปัญญาในรากศัพท์จริงๆ นะคือ ศีลสิกขา จิตสิกขา ปัญญาสิกขา ทำไมเราไขว้เขวไปอย่างนั้น เพราะท่านพุทธโฆษาจารย์ท่านแต่ง วิสุทธิมรรค พอจิตสิกขานี่นะท่านฉวยเอาเรื่องสมถะมา เอาสมถะมาใส่ เราก็เลยสมถะตามท่านหมด พอปัญญาสิกขาก็เป็นวิปัสสนา ท่านอยากแยกสมถวิปัสสนา จริงๆ สมถะก็เป็นส่วนหนึ่งของจิตสิกขา

การศึกษาเรื่องจิตมันทำได้สองแบบ การศึกษาเรื่องจิตสำหรับสมถยานิกอันหนึ่ง การศึกษาเรื่องจิตของวิปัสสนายานิกอีกอันหนึ่ง การศึกษาเรื่องจิตของสมถยานิกก็คือทำสมถะไปจนถึงฌาน ยิ่งได้ถึงฌานที่ 2 แล้วดีนะ

ฌานที่ 1 นี่ยังน้อยไปนิดหนึ่ง ยังไม่หลุดออกจากความคิด ยังมีวิตกวิจารเคล้าอยู่ ในฌานที่ 2 นี่มีภาวะอันหนึ่งที่เรียกว่า เอโกทิภาวะ เอโกทิภาวะนี่แหละที่พระป่าท่านเรียกว่ามีจิตผู้รู้ พอมีจิตผู้รู้ แล้วพอเราออกจากสมาธินี่กำลังของสมาธิยังมีผลอยู่ วิบากของมันไม่หมดทันที ยังมีผล คือจิตผู้รู้ยังตั้งมั่น ยังตั้งมั่นเด่นดวงอยู่นะ เสร็จแล้วมารู้กายจะเห็นทันทีเลยว่ากายไม่ใช่ตัวเรา รู้เวทนาก็เห็นเวทนาไม่ใช่เรา เห็นเวทนาไม่ใช่กาย นี่ดูอย่างนี้ง่าย แต่ดูจิตยากแล้วเพราะมันนิ่งมันคงที่ เพราะฉะนั้นพอเราไปทำสมถะมา ดูจิตลำบาก แต่ถ้าไม่ทำเลยดูจิตลูกเดียวฟุ้งซ่าน ก็ดูไม่ออกอีกแล้ว เพราะฉะนั้นสมถะนี่จำเป็นสำหรับพวกรู้กายและเวทนา และมีประโยชน์สำหรับพวกดูจิต

จำเป็นกับมีประโยชน์นี่ระดับความสำคัญไม่เท่ากัน และเราดูจิตไปเรื่อยจนมันฟุ้งมันไม่ตั้งถึงฐาน ตรงนี้ทำสมถะ สักหน่อย ให้จิตตั้งอยู่ในฐานของมัน พอจิตตั้งถึงฐานแล้วก็ปล่อย ไม่บังคับไว้ เป็นผู้ใหญ่ใจดี แล้วคราวนี้ปล่อยให้เด็กคือจิตมันทำงานไป บางคนว่ายากนะ แต่ธรรมะที่หลวงพ่อพูดนี่แหละคือธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนฆราวาสสมัยโน้น เวลาพระองค์เจอฆราวาสที่ไม่เคยรู้ศาสนาพุทธนะ พระองค์สอนธรรมะชื่อ อนุปุพพิกถา อนุปุพพิกถานี่ เริ่มจากว่า เอ้าไปทำทานนะ ไปรักษาศีลนะ ไม่มีเรื่องสมาธิเห็นมั้ย ให้ไปทำทานนะไปรักษาศีลนะแล้วจะได้มีความสุขขึ้นสวรรค์ แต่สวรรค์นั้นน่ะยังไม่เที่ยง สวรรค์ยังมีโทษยังมีทุกข์แทรกอยู่เรื่อยๆ วันหนึ่งก็ตกสวรรค์ เพราะฉะนั้นก็ควรจะออกจากกามมาศึกษาปฏิบัติธรรม ธรรมะที่ต้องศึกษาปฏิบัติเรียกว่า อริยสัจ

อริยสัจเป็นธรรมะที่พระองค์สอนฆราวาสด้วยนะ สอนโดยเริ่มจากอนุปุพพิกถา ถัดจากนั้นก็ทรงสอนอริยสัจ เช่นพระยสะได้ฟังเรื่องอริยสัจนี่แหละในเพศฆราวาสแล้วได้พระโสดาบัน เสร็จแล้วพ่อท่านมาตาม พระพุทธเจ้าเทศน์อนุปุพพิกถานี่ลงท้ายถึงอริยสัจให้พ่อของพระยสะฟัง พ่อก็ได้ พระโสดาฯนะ พระยสะฟังครั้งที่สองได้ พระอรหันต์ เพราะท่านฟังแล้วท่านเห็นสภาวะนะ ถ้าเป็นอย่างเราฟังแล้วก็จด เลกเชอร์ไม่ได้นะ ไม่เห็นสภาวะ เอาไว้สอบได้ เพราะฉะนั้น อริยสัจนี่ธรรมะสำคัญ ตรัสรู้ใหม่ๆ ก็สอนอริยสัจ จนจะถึงนิพพานนะ สามเดือนก่อนปรินิพพานนี่พระสูตรบอกเลยว่าเทศน์อริยสัจเป็นส่วนมาก ส่วนน้อยก็คือเอาไปตอบคำถามของคนที่มาถามเรื่องอื่น พระองค์เทศน์อริยสัจเป็นส่วนมาก จนถึงปัจฉิมวาทะ ทรงสอนเรื่องความไม่ประมาทก็คือความมีสติ อันเป็นต้นทางให้รู้แจ้งอริยสัจนั่นเอง

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/
สติพาจิตพ้นทุกข์ไม่ใช่ดับทุกข์)
กำลังโหลดความคิดเห็น