xs
xsm
sm
md
lg

กฏแห่งกรรมในพระไตรปิฏก : ผลของ ‘คำสาบาน’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศีลเป็นอาภรณ์อันประเสริฐที่จะคอยป้องกันเรา ทั้งภายในและภายนอกให้รอดพ้นจากอันตรายทั้งหลายทั้งปวง คนที่ไม่มีศีลก็เหมือนกับขาดภูมิคุ้มกันในตัวเอง การที่จะตั้งมั่นอยู่ในศีลตลอดเวลาได้จะต้องอาศัย จิตใจที่เข้มแข็ง ไม่หวั่น ไหวต่อสิ่งต่างๆ ที่มาเย้ายวนยั่วยุ หากจิตใจอ่อนแอ ขาดสติ ก็จะเผลอทำผิดศีลได้ง่าย ดังเรื่องต่อไปนี้
ในอดีตกาล ในยุคของพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ มีอุบาสกผู้เป็นโสดาบันคนหนึ่งกับเพื่อนอีก ๕๐๐ คน ซึ่งอาศัยอยู่ในกิมิลนครต่างขวนขวายในการทำบุญทำทาน ได้พากันปลูกดอกไม้ สร้างสะพานและสร้างที่จงกรม ต่อมาก็ได้สร้างวัดและได้พากันไปทำบุญที่วัดนั้น ภริยาของทุกคนก็ชอบทำบุญเช่นกัน ต่างเอาดอกไม้ ของหอม เป็นต้น ไปบูชาพระเป็นประจำ บางครั้งก่อนไปถึงวัดก็ได้พากันแวะพักเหนื่อยตามร่มไม้ข้างทางด้วยความสบายใจ
วันหนึ่งมีผู้ชายเจ้าชู้ ๒-๓ คน กำลังนั่งคุยกันอยู่ ได้แลเห็นพวกนางที่พักอยู่ใต้ต้นไม้ ก็เกิดความหลงใหลในความงาม พวกเขาเคยทราบว่าผู้หญิงเหล่านี้เป็นคนมีศีล มีความประพฤติดี มีคุณธรรม จะจีบ ก็คงยาก จึงท้ากันว่า ใครจะทำให้ผู้หญิงสักคนในกลุ่มนี้ทำผิดศีลได้? ถ้าทำได้จะให้ ๑,๐๐๐ กหาปณะ แต่ถ้าทำไม่ได้ต้องจ่ายให้พวกที่เหลือ ๑,๐๐๐ กหาปณะ เช่นกัน ชายคนหนึ่งจึงรับคำท้าทันที
ชายคนนั้นจึงได้ไปดักรอ เมื่อพวกนางเดินมา เขาก็ดีดพิณและร้องเพลงอย่างไพเราะเพราะพริ้ง หญิงคนหนึ่งได้ฟังแล้วเกิดความหลงใหล ห้ามใจไม่อยู่ ทำผิดศีล นอกใจสามีมาเป็นชู้กับเขา
เมื่อเพื่อนของชายคนนั้นแพ้พนันจึงยอมจ่ายเงินให้ แต่แอบไปบอกเรื่องนี้กับสามีของหญิงนั้น สามีถามนางว่า เป็นอย่างนั้นจริงหรือ? นางตอบปฏิเสธ แต่สามี ก็ไม่เชื่อ ขณะนั้นนางมองไปเห็นสุนัขพอดี จึงได้ทำการสบถสาบาน ว่า
“ถ้าฉันทำกรรมชั่วอย่างนั้น ขอให้สุนัขดำตัวหูขาดนี้จงกัดฉันทุกภพทุกชาติ!!”
ส่วนเพื่อนของนางทั้ง ๕๐๐ คน ก็ช่วยเธอปกปิดความ ผิดว่า ถ้าพวกฉันรู้ ขอให้พวกฉันเกิดเป็นทาสรับใช้นางไปทุกภพทุกชาติ
ฝ่ายหญิงผู้ประพฤตินอกใจ และรู้ดีว่าตัวทำความผิด ก็เกิดความไม่สบายใจตลอดเวลา ถึงกับซูบผอม กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ไม่นานนักก็ตายและไปเกิดเป็นเวมานิกเปรต อยู่ที่ริมฝั่งสระกัณณมุณฑะแห่งหนึ่ง รอบๆวิมาน ของนางมีสระโบกขรณีเกิดขึ้นสระหนึ่งเพราะบุญที่นางเคยกระทำไว้ ส่วนหญิง ๕๐๐ คนที่เหลือหลังจากตายแล้วก็ไปเกิดเป็นคนรับใช้ของหญิงนั้น ด้วยอำนาจกรรม ที่สบถสาบานไว้
หญิงนั้นได้เสวยทิพยสมบัติเฉพาะเวลากลางวัน เพราะผลบุญที่ทำไว้ในตอนแรก ครั้นพอถึงเที่ยงคืน พลังแห่งกรรมทำให้พวกนางลุกขึ้นจากที่นอนและเดินไปสระโบกขรณี ซึ่งที่นั่นมีสุนัขดำตัวหนึ่งตัวเท่าลูกแพะ รูปร่างน่ากลัว หูขาด เขี้ยวโง้งยาวคมกริบ มีนัยน์ตาเสมือนกอง ถ่านไม้ตะเคียนที่ลุกโพลงเต็มที่ มีลิ้นเหมือนกลไกแห่งสายฟ้าที่แลบออกมาไม่ขาดสาย มีเล็บโง้งคม มีขนยาวแข็งน่าเกลียด เดินมาจากสระกัณณมุณฑะด้วยความหิว จัด และไล่กัดกินนางจนเหลือแต่กระดูกและคาบไปทิ้ง ไว้ที่สระโบกขรณี แล้วก็หายไป หลังจากนั้นนางก็กลับมามีชีวิตเหมือนเดิม
แต่ที่ที่พวกนางไปเกิดนั้น ไม่มีผู้ชายเลยแม้แต่คนเดียว พวกนางจึงเกิดความเบื่อหน่าย ใกล้ๆที่พวกนางอยู่ มีแม่น้ำสายหนึ่งไหลออกจากสระกัณณมุณฑะตามช่องภูเขา แล้วไหลต่อไปสู่แม่น้ำคงคา ห่างจากนั้นไม่ไกล มีป่า แห่งหนึ่ง เป็นสวนอันงดงามมีต้นมะม่วง ต้นขนุน และ น้ำเต้า เป็นต้น มีผลเป็นทิพย์ หญิงเหล่านั้นคิดกันว่า พวกเราจะโยนผลมะม่วงเหล่านี้ให้ไหลไปตามแม่น้ำ เผื่อว่าจะมีผู้ชายสักคนเก็บได้ แล้วจะเดินทางมาที่นี้ พวกเราก็จะอภิรมย์กับชายนั้น ว่าแล้วก็พากันโยนผลไม้ลงในน้ำมี ผลหนึ่งลอยไปตามกระแสน้ำในแม่น้ำคงคา จนกระทั่งถึง กรุงพาราณสี
สมัยนั้น พระเจ้าพาราณสีทรงสรงสนานในแม่น้ำคงคาที่ล้อมไว้ด้วยตาข่ายโลหะ ขณะนั้น ผลไม้ทิพย์ได้ลอยมาติดอยู่ที่ตาข่าย พวกราชบุรุษเห็นผลมะม่วงทิพย์ขนาดใหญ่ สมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น และรส จึงนำไปถวายพระราชา พระองค์ทรงเฉือนผลมะม่วงนั้นหน่อยหนึ่งแล้วให้เพชฌฆาตคนหนึ่งในเรือนจำลองชิมก่อน เมื่อเขากินเข้าไปแล้ว รูปร่างหน้าตาก็เปลี่ยนไป หนังไม่เหี่ยวและ ผมไม่หงอก มีรูปร่างสง่างาม เช่นหนุ่มแรกรุ่น พระราชาเห็นดังนั้นจึงลองเสวยผลมะม่วง และได้รับความวิเศษในพระวรกาย จึงตรัสถามราชบุรุษว่า ผลมะม่วงทิพย์นี้ มีอยู่ที่ไหน ราชบุรุษกราบทูลว่าพรานป่าน่าจะรู้
พระราชาจึงมีรับสั่งให้เรียกพวกพรานป่ามาและพระราชทานทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะแก่พรานป่าคนหนึ่ง เพื่อเป็นรางวัลในการไปเอาผลไม้ทิพย์ พรานป่าได้ออกเดินทางไปยังสระกัณณมุณฑะ พอไปถึงสวนผลไม้ทิพย์ พวกหญิงเหล่านั้นที่มองเห็นเขาเดินมาแต่ไกล จึงวิ่งเข้าไปหาด้วยหมายใจว่า คนนี้เป็นที่พึ่งของเรา เมื่อ พรานป่าเห็นเช่นนั้น ก็ตกใจกลัว รีบวิ่งหนีทันที เขากลับไปหาพระราชาและทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ พระราชาทรงอยาก จะเห็นหญิงเหล่านั้นและอยากบริโภคผลไม้ทิพย์ด้วย จึงออกเดินทางไปกับข้าราชบริพาร ๒-๓ คน พอไปถึงพระองค์ทรงให้ทุกคนรออยู่ห่างๆ และทรงเข้าไปสวนผลไม้ทิพย์เพียงลำพัง
พวกหญิงเหล่านั้นพอเห็นพระองค์และรู้ว่าเป็นพระราชา ก็ยิ่งเกิดความรักและความนับถือมาก ได้พา ไปสู่วิมาน ให้บริโภคอาหารทิพย์ มีรสเลิศต่างๆ แล้วพวก นางก็พากันเข้าไปนั่งใกล้ตามที่ตนปรารถนา วันหนึ่งพระราชา เสด็จลุกขึ้นในเวลาเที่ยงคืน ทอดพระเนตรเห็นนางเปรตผู้ประพฤติผิดศีล กำลังเดินไปสระโบกขรณี ก็เกิดความสงสัย จึงตามไปดู แล้วพระองค์ก็ทรงเห็นนางกำลังถูกสุนัขกัด ทรงแอบดูอยู่ ๒-๓ คืน ก็ทรงคิดว่าสุนัขนี้คงจะเป็นศัตรูกับนาง จึงทรงพุ่งหลาวอันคมกริบเสียบสุนัขตาย แล้วให้นางลงไปในสระโบกขรณี นางก็กลับมามีรูปสวยดังเดิม จึงตรัสถามว่านางได้ทำกรรมชั่วอะไรไว้ด้วยกายวาจาใจ หรือเพราะวิบากแห่งกรรมอะไร สุนัขหูด้วนจึงกัดกินอวัยวะน้อยใหญ่เช่นนี้
นางเปรตจึงเล่าว่า นางได้ประพฤตินอกใจสามีที่เป็นผู้มีศีล และโกหกว่าไม่ได้ทำ ถ้าทำเช่นนั้น ขอให้สุนัขหูด้วนจงกัดกินอวัยวะน้อยใหญ่ของนาง ด้วยวิบากแห่งกรรมชั่ว คือการประพฤตินอกใจสามีและมุสาวาทนั้น ทำ ให้นางต้องเสวยทุกข์อยู่ถึง ๗๐๐ ปี พอนางเปรตเล่าจบ ก็กล่าวขอบคุณพระราชาที่ช่วยตนไว้ และวิงวอนให้ พระองค์จงเสวยกามสุขอันเป็นทิพย์ รื่นรมย์อยู่กับนางต่อไป
ฝ่ายพระราชาฟังแล้วรู้สึกอยากกลับไปเมืองของพระองค์ ไม่อยากจะอยู่ที่นั้นอีกต่อไป จึงกล่าวว่า “กามสุขอันเป็นทิพย์ เราได้เสวยและได้รื่นรมย์กับท่านแล้ว ดูก่อนนางผู้ประกอบด้วยความงดงาม ขอให้ท่านช่วยนำเรากลับไปเถิด”
นางเวมานิกเปรตได้ฟังอย่างนั้นก็รู้สึกเสียใจที่ต้องพลัดพรากจากพระราชา ถึงจะอ้อนวอนอย่างไรพระองค์ก็ ไม่ทรงยินยอม นางจึงนำพระราชากลับไปยังพระนคร แล้ว กลับไปยังที่อยู่ของตนตามเดิม เรื่องราวของนางเปรตทำให้พระราชาเกิดความสลดพระทัย จึงทรงบำเพ็ญบุญกุศลต่างๆ มากมาย จนตลอดชีวิตของพระองค์

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 96 พ.ย. 51 โดยมาลาวชิโร)
กำลังโหลดความคิดเห็น