xs
xsm
sm
md
lg

พุทธลีลา ; ปางห้ามพระแก่นจันทน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พระพุทธรูปปางห้ามพระแก่นจันทน์อยู่ในพระอิริยาบถยืนห้อยพระหัตถ์ขวา ฝ่าพระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นเสมอพระอุระ(อก)เป็นกิริยาทรงห้าม
ปางนี้มีตำนานกล่าวไว้ว่า ครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จจำพรรษาเพื่อโปรดพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์แห่งเมืองสาวัตถี ทรงรำลึกถึงพระพุทธองค์เป็นอย่างมาก จึงโปรดฯให้ช่างหาไม้แก่นจันทน์หอมที่ดีที่สุด มาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปอันงดงาม มีพุทธลักษณะคล้ายพระพุทธองค์ แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานยังพระราชมณเฑียร
เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จกลับจากดาวดึงส์ และเสด็จมายังเมืองสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทูลอาราธนาให้เสด็จทอดพระเนตรพระพุทธรูปองค์ดังกล่าว ครั้นพระพุทธองค์เสด็จไปถึง พระพุทธรูปไม้แก่นจันทน์ได้ขยับองค์จากพระแท่นที่ประดิษฐาน เพื่อถวายความเคารพพระศาสดา ครานั้นพระพุทธองค์จึงทรงยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้นห้าม พระไม้แก่นจันทน์จึงกลับไปประทับยังพระแท่นที่เดิม พระเจ้าปเสนทิโกศลเห็นเช่นนั้นก็ยิ่งเกิดความเลื่อมใสศรัทธา
หากเป็นไปตามตำนานนี้พระไม้แก่นจันทร์องค์นี้ก็ถือว่าเป็นพระพุทธรูปองค์แรกในพระพุทธศาสนา แต่ตามหลักฐานประวัติศาสตร์ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าธรรมเนียมของอินเดียในสมัยนั้น ไม่นิยมการสร้างรูปเคารพ ถือเป็นการไม่สมควร ดังนั้น ในบรรดาโบราณสถานโบราณวัตถุซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างขึ้น จึงไม่ มีพระพุทธรูปอยู่เลย การแสดงพุทธประวัติ ก็ใช้สัญลักษณ์อื่นแทน เช่น ตอนประสูติก็มีแต่รูปพุทธมารดา ประทับยืนเหนี่ยวกิ่งไม้ และมีรูปดอกบัว ๗ ดอกอยู่ข้างๆ ตอนตรัสรู้ก็ทำเฉพาะโพธิบัลลังก์ หรือตอนแสดงธรรมจักรก็ทำเป็นแท่นพระธรรมจักร มีกวางหมอบอยู่สองข้าง
ส่วนผู้สร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นครั้งแรกคือชนชาติกรีก ที่เป็นเจ้าแห่งศิลปะการแกะสลักอันงดงาม ซึ่งนับถือพุทธศาสนาในเวลานั้น ได้แกะสลักพระพุทธรูปที่มีลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด คือพระพักตร์เป็นแบบพวกกรีก เส้นพระเกศาหยักศก เกล้าเป็นเมาลี ครองจีวรเป็นริ้วตามธรรมชาติ จีวรหนา ยุคแรกสร้างจีวรแบบห่มคลุมเท่านั้น ยุคต่อมาจึงมีแบบเฉวียงบ่าหรือลดไหล่ เรียกกันว่าพระพุทธรูปแบบคันธาระ อันเป็นจุดกำเนิดของการสร้างพระพุทธรูปในสมัยต่อมา

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 96 พ.ย. 51 โดยกานต์ธีรา)
กำลังโหลดความคิดเห็น