xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวสารผ่านโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

‘ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์’ อัญเชิญพระไตรปิฎกสากลสู่ญี่ปุ่น

• ญี่ปุ่น : เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2551 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เสด็จเป็นประธานในพิธีพระราชทานพระไตรปิฎกสากล ให้แก่สมาคมพุทธศาสนาเถรวาทแห่งญี่ปุ่น ณ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นการตามรอยพระราชศรัทธาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระไตรปิฎก ฉบับอักษรสยาม แก่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อศตวรรษที่แล้ว และเป็นการสานสัมพันธ์ที่ดีกับนานาประเทศ
โครงการนี้ถือเป็นพระกรณียกิจด้าน พระไตรปิฎกสากลครั้งสุดท้าย ก่อนที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จะเสด็จสู่สวรรคาลัย โครงการพระไตรปิฎกสากล ดำเนินการโดยกองทุนสนทนา ธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิงม.ล.มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกล มหาสังฆปริณายก
ในการนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า จุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้มีพระดำรัส ความว่า
“ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มามอบพระไตรปิฎกบาฬีอักษรโรมัน 40 เล่ม ชุดนี้แก่ 14 สถาบันสำคัญในประเทศญี่ปุ่นในวันนี้ โอกาสนี้มีความหมายพิเศษ เนื่องด้วยพระไตรปิฎก อักษรโรมันที่จัดพิมพ์โดยกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ เป็นพระไตรปิฎกบาฬี ฉบับสากลชุดสมบูรณ์ชุดแรกของโลก ซึ่งเป็นคลังอารยธรรมทางปัญญาสูงสุดของมนุษยชาติที่สืบทอดอย่างบริสุทธิ์ มากว่า 2,500 ปี เพราะเป็นผลมาจากการประชุมสังคายนาสากลของพระสงฆ์เถรวาท 2,500 รูป ในระดับนานา ชาติเพียงครั้งเดียว เมื่อปีพุทธศักราช 2500
ในปีพุทธศักราช 2548 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เสด็จจาริกไปพระราชทานพระไตรปิฎกสากลชุดปฐมฤกษ์แก่ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ในวันที่ 6 มีนาคม สำหรับประดิษฐาน ณ ทำเนียบประธานาธิบดี กรุงโคลัมโบ ต่อมาได้พระราชทานพระไตรปิฏกชุดปฐมฤกษ์แก่ปวงชนชาวไทย ประดิษฐาน ณ ศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กรุงเทพมหานคร และพระราชทานพระไตรปิฎกชุดปฐมฤกษ์แก่ราชอาณาจักรสวีเดน ประดิษฐาน ณ มหาวิทยาลัยอุปซาลา นครอุปซาลา
การมอบพระไตรปิฎกสากลในประเทศญี่ปุ่น เป็นการบำเพ็ญบุญกิริยาตามการพระราชทานพระไตรปิฎกบาฬี ร.ศ.112 อักษรสยาม พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ชุดแรกของโลก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บรมธัมมิกมหาราช ผู้ทรงเป็นสมเด็จพระบรมปัยกาธิราชของข้าพเจ้า ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์และได้พระราชทานไปยังสถาบันสำคัญทั่วโลกกว่า 260 สถาบัน และได้ประดิษฐานในประเทศญี่ปุ่น ไม่น้อยกว่า 30 สถาบัน เป็นเวลากว่า 112 ปี มาแล้ว
ขออานิสงส์บุญกิริยาแห่งการพิมพ์และประดิษฐานพระไตรปิฎกสากลฉบับ นี้ จงนำมาซึ่งปัญญาความรุ่งเรือง และสันติสุขอันยืนยาวแก่ชาวโลกในปัจจุบัน และในอนาคตตลอดไป”

ชาวพุทธเขมรสายเถรวาทประชุมเตรียมตั้งสถาบันชาวพุทธเขมรสายเถรวาทในเวียดนาม

• เวียดนาม : ชาวกัมพูชาซึ่งนับถือ พุทธศาสนาสายเถรวาท กว่า 200 คนจากหลายจังหวัดในแถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงและทางตะวันออกเฉียงใต้ของเวียดนามได้มาร่วมประชุมกันเป็นครั้งที่ 3 ณ จังหวัดบักเลียว ของเวียดนาม เมื่อวันที่ 5-6 ต.ค.ที่ผ่านมา
การประชุมครั้งนี้ พุทธศาสนิกชนชาวกัมพูชาซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคณะสงฆ์เวียดนามได้จัดพิมพ์หนังสือสวดมนต์ ซึ่งรวมบทสวด 36 บท จำนวนกว่า 180,000 เล่ม เป็นภาษาเขมร เพื่อแจกจ่ายให้กับวัดกัมพูชาจำนวนหนึ่ง รวมทั้งได้จัดสร้างหลักสูตรการศึกษาพุทธศาสนาเบื้องต้น และก่อตั้งสถาบันพุทธศาสนาสายเถรวาทแห่งใหม่ขึ้นที่เมืองเกิ่นเทอ นอกจากนี้ ยังได้มีส่วนร่วมในการบูรณะปฏิสังขรณ์และพัฒนาวัดหลายแห่ง โดยจังหวัดบักเลียวได้บูรณะวัดไปแล้ว 7 วัดในจำนวนทั้งหมด 22 วัด โดยใช้งบประมาณจากภาครัฐ วัดกัมพูชาเหล่านี้ได้ร่วมบริจาคเงินให้องค์กรการกุศลต่างๆอยู่เสมอ เพื่อช่วยสร้างบ้านให้กับผู้ยากไร้และสร้างอาชีพให้ผู้คนเหล่านี้ด้วย
ทั้งนี้ ในที่ประชุมยังได้เสนอว่าคณะสงฆ์เวียดนามและตัวแทนที่ได้รับมอบหมายควรเพิ่มความใส่ใจในการฝึกอบรมพระสงฆ์ และแม่ชี โดยมุ่งไปที่การเสริมสร้างหลักสูตรการอบรมทุกระดับชั้น เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีความรู้ความสามารถพอที่จะเข้าศึกษาในสถาบันพุทธศาสนาสายเถรวาทแห่งนี้ได้
(จาก VNT)

พบพระธาตุสมัยราชวงศ์ซ้อง

• จีน : นักโบราณคดีได้พบพระธาตุจำนวนหนึ่งพร้อมด้วยโลงศพเงิน พระสถูปทองคำ และศาสนวัตถุอื่นๆในสมัยราชวงศ์ซ้อง(ค.ศ.960-1279) ทั้งนี้ จากภาพถ่ายเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2008 เผยให้เห็นถึงสถูปทองคำบริสุทธิ์ สูง 13 ซม. ซึ่งนักโบราณคดีขุดค้นได้จากใต้ฐานพระเจดีย์องค์หนึ่งในเมืองหยานโจว ทางตะวันออกของมณฑล ชานตงของจีน นอกจากนี้ นักโบราณคดียังได้ค้นพบแผ่นจารึกประวัติของพระเจดีย์องค์ดังกล่าว รวมทั้งพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ในสมัยราชวงศ์ซ้อง ผู้ เชี่ยวชาญกล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับงานวิจัยด้านประวัติศาสตร์พุทธศาสนาของจีน รวมทั้งด้านศิลปวัฒนธรรมด้วย
(จาก Mathaba)

จีนเตรียมบูรณะรูปปั้นหินแกะสลักพระโพธิสัตว์กวนอิมพันมือ อายุ 1,000 ปี

• จีน : เป็นเวลา 3 ทศวรรษแห่งการ ปฏิรูปและการเปิดประเทศของจีน ได้มีความพยายามอีกครั้งที่จะรักษามรดกทางวัฒนธรรมอันเก่าแก่ ที่เมืองดาซู มณฑลเสฉวน นั่นก็คือการบูรณะรูปปั้นหินแกะสลักเจ้าแม่กวนอิมพันมือ อายุ ราว 1,000 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนรูปปั้นหินแกะสลัก 50,000 รูป ในศาสนาพุทธ เต๋า และขงจื่อ นอกจากนี้ยังมีศิลาจารึกอีกกว่า 100,000 แผ่น
การบูรณะครั้งนี้ได้รับการอนุมัติจาก หน่วยงานรัฐที่ดูแลด้านมรดกทางวัฒนธรรมของจีน โดยเบื้องต้นจะทำการตรวจ สอบสภาพของรูปปั้นหินแกะสลักเจ้าแม่กวนอิมพันมือ ก่อนที่จะลงมือบูรณะ ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาทั้งสิ้น 3 ปี
ส่วนรูปปั้นอื่นๆนั้น ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานรัฐที่ดูแลมรดกทางวัฒนธรรมของจีนและจากสถาบันมรดกทางวัฒนธรรมของจีน ได้ทำการตรวจสอบสภาพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
(จาก CCTV)

ชาวพั้งค์ร็อกอเมริกันหันมาสนใจพุทธศาสนา

• อเมริกา : ไม่ใช่เรื่องปกติที่พวกพั้งค์จะหันไปสนใจการทำวิปัสสนาภาวนา แต่ในจำนวนผู้ที่หันมานิยมพุทธศาสนาในอเมริกา ซึ่งกำลังเพิ่มขึ้นนั้น มีพวกพั้งค์ร็อกอยู่ด้วย
แบรด วอร์เนอร์ ครูผู้สอนพุทธศาสนา นิกายเซ็น อดีตมือกีตาร์เบสของวงซีโรดีเฟล็กซ์ ในเมืองโอไฮโอ ซึ่งเคยเป็นพั้งค์ ร็อกพันธุ์แท้ กล่าวว่า
“พวกพั้งค์ร็อกรักอิสระไม่ชอบขึ้นกับใคร และมีความเป็นตัวของตัวเองสูง”
วอร์เนอร์ ได้เขียนหนังสือหนังสือขึ้น 2 เล่มคือ “Sit Down and Shut Up” ซึ่งพูดถึงพระพุทธเจ้า ความจริง เซ็กซ์ และความตาย ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือ “Hardcore Zen” ซึ่งวิเคราะห์สิ่งที่เหมือนกันของพุทธศาสนากับชาวพั้งค์ ในเรื่องที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบเดิม
ในบางช่วงเวลาของการใช้ชีวิตแบบครู ผู้สอนเซ็น วอร์เนอร์ยอมรับว่า เขาต้องยุติการดำเนินชีวิตแบบพั้งค์ร็อกเช่นกัน
“ผมฝึกซาเซ็น(วิปัสสนากรรมฐาน) ในบ้านแบบพั้งค์ร็อกที่เต็มไปด้วยขยะโสโครก แต่การฝึกวิปัสสนาเป็นสิ่งที่ยากลำบากกว่าการอยู่ในบ้านสกปรกอย่างนั้น”
ส่วน โนอาห์ เลวีน อดีตพั้งค์ร็อก ผู้เขียนหนังสือบันทึกความจำเรื่อง “Dharma Punk” เล่าว่า แม้ว่าพ่อของเขาจะเป็นชาวพุทธอเมริกันและเป็นครู แต่เขาก็เพิ่งจะเริ่มสนใจฝึกวิปัสสนาหลังจากติดคุก เลวีน บอกว่าเขาเริ่มติดยาเมื่ออายุ 10 ขวบ และติดเหล้าในช่วงวัยรุ่น
“ผมได้ไปฝึกวิปัสสนา เพื่อเลิกยาเสพติด ซึ่งในระหว่างนั้นผมรู้สึกทุกข์ทรมานมาก”
ปัจจุบัน เลวีนเลิกเหล้ามา 20 ปีแล้ว และขณะนี้เขาเป็นครูสอนวิปัสสนาให้กับพวกนักโทษในเรือนจำ คนเร่ร่อน และคนกลุ่มอื่นๆในสังคม วิธีการของเลวีนได้ถูกสรุปไว้ในหนังสือเล่มใหม่ของเขาที่มีชื่อว่า “Against the Stream” (ทวนกระแส) ซึ่งเป็นที่สนใจของนักเรียนหลายพันคนทั่วอเมริกาเหนือและยุโรป
ปรัชญาคำสอนของเลวีนได้ถูกถ่าย ทอดลงในภาพยนตร์สารคดีเรื่องใหม่ชื่อ “Meditate and Destroy” ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับชาวพั้งค์ร็อก จิตวิญญาณ และการต่อสู้ภายในตัวเอง เลวีนบอกว่ามีการต่อต้านในใจเกิดขึ้นเสมอในการปฏิบัติวิปัสสนา ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้การวิปัสสนาคล้ายกับความรู้สึกของชาวพั้งค์
“ในการวิปัสสนา เราพูดว่า ‘หยุดคิด ตามดูลมหายใจ’ แต่ใจของคุณพูดว่า ‘ฉันจะทำสิ่งที่ฉันต้องการ’ เราเริ่มต้นเข้าใจว่า นี่คือความสับสนภายในจิตใจของเรา”
(จาก Day to Day)

อินเดียเร่งทำแผนพัฒนาพุทธสถานในรัฐพิหาร

• อินเดีย : ชาวบ้านและผู้แสวงบุญ ต่างรู้สึกเศร้าใจที่เห็นความเสื่อมโทรมของพระสถูปเจดีย์องค์หนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในเกซาเรีย ห่างจากเมืองปัตนะ ราว 110 กม. อันเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวและผู้แสวงบุญที่มาเยือนรัฐพิหาร
พระสถูปเจดีย์องค์ดังกล่าวเชื่อกันว่าสูงที่สุดในประเทศ คือ วัดความสูงครั้งแรกได้ 169 ฟุต แต่หลังจากเกิดแผ่นดินไหวในปี 1934 ความสูงของพระสถูปก็ลดลง จนล่าสุดวัดความสูงได้เพียง 104 ฟุต 10 นิ้ว ในปี1998
ชาวบ้านต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่าแม้พระสถูปจะมีความสำคัญมาก แต่ทางการก็เพิกเฉยต่อการอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเยือนราเชนดา ซิงค์ ซึ่งเป็นชาวบ้านคนหนึ่งกล่าวว่า
“นักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศมาที่นี่ แต่ไม่มีห้องน้ำและน้ำดื่ม พวกเจ้าหน้าที่รัฐมาดูกันหลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่เห็นมีความคืบหน้าใดๆ”
ขณะที่ ใจราม ลัล มีนา, ติรหัต ปาริมานดาล และมุซซาฟาร์เปอร์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เปิดเผยว่า พวกตนได้ทำการสำรวจรายละเอียดเกี่ยวกับพระสถูปเจดีย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้ส่งรายงานไปยังรัฐบาล เพื่อให้มีการพัฒนาสถานที่ดังกล่าว
“เราได้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของกองโบราณคดีและเจ้าหน้าที่ของเมืองปัตนะ และจัดทำแผนงานเพื่อพัฒนาสถานที่แห่งนี้ โดยในแผนดังกล่าวได้รวมถึงการทำถนนหลายสาย และในไม่ช้าเราก็จะมีรถไฟเชื่อมต่อมาที่นี่ โดยเริ่มจากเมืองไพศาลี ครอบคลุมไปถึงบริเวณพุทธสถานโดยรอบ และต่อไปยังเมืองกุสินารา และสารนาถในเมืองพาราณสี”
ใจรามกล่าวเพิ่มเติมว่าแผนพัฒนานี้จะใช้งบประมาณราว 30 ล้านรูปี เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในและโดยรอบบริเวณสถานที่ดังกล่าว
(จาก ANI)

พบวัดพุทธอายุ 1,900 ปีในรัฐคุชราต

• อินเดีย : กองโบราณคดีของรัฐคุชราต ได้ค้นพบวัดทางพระพุทธศาสนาขนาดเล็กแห่งหนึ่ง อายุราว 1,900 ปี ในเมือง วธนาคาร์ ตามรายงานกล่าวว่า วัดแห่งนี้มีขนาดกว้างยาว 55x55 ฟุต มีซากกุฏิพระเล็กๆอยู่ 12 หลังที่ยังหลงเหลืออยู่
ดร.ยาดูเบอร์ซิงค์ ราวัตร ผู้อำนวยการกองโบราณคดีของรัฐคุชราต กล่าวว่า “เป็นไปได้ว่าวัดเก่าแก่แห่งนี้สร้างขึ้นในช่วงสมัยศตวรรษที่ 2-4 และอาจจะใช้งานมาถึง 300 ปี หลังจาก 2 ปีของการขุดค้น ครั้งแรกเราได้พบโครงสร้างของวัด แต่ก็ยังไม่แน่ใจ กระทั่งได้มีการค้นคว้าและศึกษาวิจัย ก็ทำให้เรามั่นใจว่านี่คือวัดพุทธแห่งหนึ่ง”
ตลอดการขุดค้น 2 ปีที่ผ่านมานั้น ได้มีการค้นพบวัตถุสำคัญทางโบราณคดีมากกว่า 2,000 ชิ้น ที่แหล่งขุดค้นกาสกอล ดาร์จาวา ในวธนาคาร์์ รวมทั้งบ้านหลังหนึ่งที่มีอายุราว 2,000 ปี ข้าวของเครื่องใช้ที่ทำด้วยดินเหนียว เหรียญเงิน ลูกปัด เครื่องประดับ รูปปั้นศีรษะสไตล์โรมัน แผ่นจารึกคำปฏิญาณ แผ่นภาพสลักที่พรรณาถึงพระพุทธเจ้า และบางส่วนของภาชนะ ซึ่งเขียนคำสอนทางพุทธศาสนาเป็นภาษาพราหมณ์
ทั้งนี้ พระถังซำจั๋งได้เคยมาเยียนเมืองวธนาคาร์ ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 640-644 และได้บันทึกข้อมูลไว้ว่า ที่เมืองนี้มีพระภิกษุอยู่ 1,000 รูป และมีวัดทางพระพุทธศาสนาอยู่ 10 แห่งตั้งอยู่ทั้งในและรอบเมืองวธนาคาร์หรือที่รู้จักกันในสมัยนั้นว่า อนันปุระ
(จาก ANI)

วัดญี่ปุ่นสร้างเครื่องรำลึกบรรพบุรุษสุดไฮเทค

• ญี่ปุ่น : ท่ามกลางสังคมแห่งยุคสมัยที่รวดเร็วของโลกนั้น ชาวญี่ปุ่นสูงวัยกำลังวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องชีวิตและความตาย รวมทั้งการหาที่อยู่ใหม่ให้กับชีวิตหลังความตาย แต่สำหรับเรื่องนี้ เทคโนโลยีกำลังจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้แล้ว
ตามประเพณีของชาวพุทธ ผู้ตายในญี่ปุ่นส่วน ใหญ่จะได้รับการเผา และเก็บอัฐิไว้ในโกศ แล้วนำ ไปฝังไว้ในสุสาน ซึ่งมีป้ายจารึกชื่อ แต่ด้วยปัญหา ราคาที่ดินสำหรับฝังอัฐินั้นโดยเฉลี่ย 18,000-30,000 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่อาคารอเนกประสงค์ไฮเทค นี้มีราคาแค่ 1 ใน 3 ของที่ดิน สิ่งนี้จึงกลายเป็นทางเลือกใหม่ของคนจำนวนมาก
ชินยา ชิมาดะ ชายชราวัย 79 ปี ได้ใช้เวลาไปคารวะบรรพบุรุษที่สุสานสมัยใหม่ ในเทศกาลไหว้บรรพบุรุษประจำปี แทนการไปยังสุสานดั้งเดิม
“แรกๆผมก็รู้สึกอึดอัดใจเล็กน้อยกับสุสานไฮเทคนี้ แต่เดี๋ยวนี้ผมดูด้วยความรู้สึกสบายใจ”
ชิมาดะได้นำอัฐิของบรรพบุรุษจากสุสานใกล้วัดแห่งหนึ่งมาเก็บไว้ที่สุสานไฮเทค ซึ่งจัดวางเหมือนหนังสือในห้องสมุด มีเครื่องกลไกอยู่หลังแท่นเคารพ พร้อมทั้งเสียงดนตรีและรูปภาพของผู้วายชนม์บนหน้าจอทีวีขนาดเล็ก
“เวลามองไปที่รูปของพวกเขา ผมเหมือนได้คุยอะไรมากมายกับพ่อแม่และพี่สาวของผมที่ตายไปแล้ว ไม่เหมือนกับสุสานปกติ สิ่งนี้ทำให้ผมรู้สึกคิดถึงบ้านเกิด”
ทั้งนี้ ศาสนาพุทธในญี่ปุ่นนั้น ตามประเพณีจะมีการไปเคารพศพบรรพบุรุษปีละ 2 ครั้งคือในช่วงฤดูใบไม้ผลิและกลางฤดูร้อน ซึ่งจะมีการนำน้ำไปรดเหนือป้ายชื่อ จุดธูปเทียน วางดอกไม้ และสวดให้กับบรรพบุรุษ
พระโฮยุโกอุ ชิมิซึ พระสงฆ์ในวัดที่ทำสุสานไฮเทค กล่าวว่า สุสานไฮเทคแห่งนี้ทำให้ผู้ที่มารู้สึกอบอุ่น
“อาตมาคิดว่ามันก็เป็นไปตามหลักปฏิบัติในธรรมเนียมทางศาสนาในการไปเคารพบรรพบุรุษดังเช่นปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทุกวันนี้หลายวัดได้ถูกแยกออกจากสังคม แต่ต้องขอบคุณระบบไฮเทคโนโลยีที่ทำให้ประชาชนหันกลับมาสนใจใช้บริการในการรำลึกถึงบรรพบุรุษ”
(จาก Reuters)
กำลังโหลดความคิดเห็น