xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : เปิด ‘บันทึกความเข้าใจ’ ‘7 องค์กรพุทธ’ ร่วมผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางพุทธโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

องค์กรพุทธ 7 องค์กร ได้แก่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักงานใหญ่ องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ได้ร่วมลงนามใน ‘บันทึกความเข้าใจ’ เรื่องความร่วมมือเพื่อพระพุทธศาสนา พ.ศ. 2551 ณ ห้องประชุมพุทธมณฑล จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในบันทึกความเข้าใจดังกล่าวได้ระบุว่าตามที่ที่ประชุมสมัยสามัญแห่งสหประชาชาติ กำหนดให้วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2542 และให้กิจกรรมเฉลิมฉลองในวันสำคัญดังกล่าว ณ สำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาทั่วโลก รัฐบาลไทยจึงได้ร่วมกับคณะสงฆ์ไทยและผู้นำชาวพุทธจากประเทศต่างๆ จัดกิจกรรมและการประชุมนานาชาติ เพื่อฉลองวันวิสาขบูชาโลกติดต่อกันมาเป็นประจำทุกปี ทั้งที่พุทธมณฑล และศูนย์ประชุมแห่งสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร และโดยที่ ที่ประชุม Internation Buddhist Conference ที่กรุงเทพ มหานคร ระหว่างวันที่ 18-20 พฤษภาคม พ.ศ. 2548ได้มีมติ ให้ “ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก”
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำนักงานใหญ่ขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ซึ่งเป็นองค์กรพุทธหลัก 5 องค์กร และมหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 สถาบัน คือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬา ลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย จึงพิจารณาเห็นว่าหากองค์กรและมหาวิทยาลัยสงฆ์ดังกล่าว ได้ประสานความร่วมมือ และร่วมระดมทรัพยากรในการดำเนินงาน เพื่อส่งเสริม เผยแผ่ และแลกเปลี่ยนข้อมูลด้าน พระพุทธศาสนาทั้งในและต่างประเทศกันอย่างใกล้ชิด ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับกิจกรรมเนื่องในวันวิสาขบูชาโลก กิจกรรมอันเนื่องด้วยมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก รวมทั้งภารกิจเพื่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา กิจกรรมดัง กล่าว ย่อมจะบังเกิดผลดีอันจะนำพาสังคมไทยไปสู่การมีศีลธรรม จริยธรรม สันติสุข และสันติภาพอย่างยั่งยืน
จึงเห็นร่วมกันว่า ควรมีบันทึกความเข้าใจไว้ ดังต่อไปนี้
1.บันทึกนี้เรียกว่า “บันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงาน พระพุทธศาสนาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักงานใหญ่ องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก เรื่องความร่วมมือเพื่อพระพุทธศาสนาพ.ศ.2551” หรือเรียกโดย ย่อว่า “บันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือเพื่อพระพุทธศาสนา พ.ศ. 2551”
2.ผู้แทนองค์กรพุทธหลัก 5 องค์กรและมหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 สถาบัน จะจัดให้มีการปรึกษาหารือกันอย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี เพื่อพัฒนาและทบทวนทิศทางของความร่วมมือให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้อย่าง มีประสิทธิภาพ
3.ในการดำเนินงานความร่วมมือองค์กรพุทธหลัก 5 องค์กร และมหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 สถาบัน จะคำนึงถึงบทบาท และภารกิจที่กำหนดไว้ของแต่ละองค์กร และสถาบันเป็นสำคัญ
4. สำนักงานพระพุทธ ศาสนาแห่งชาติ มีบทบาท หลักด้านราชการและคณะสงฆ์
5.มหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 สถาบัน มีบทบาทด้านการศึกษาและการเผยแผ่
6.พุทธสมาคมแห่ง ประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ ในพระ บรมราชูปถัมภ์ และยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีบทบาทหลักด้านองค์กรพุทธและพุทธบริษัทฝ่ายฆราวาสในประเทศไทย
7.สำนักงานใหญ่องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์โลก มีบทบาทหลักด้านภาคีเครือข่ายในต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
8.ทั้งองค์กรพุทธหลัก 5 องค์กร และมหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 สถาบัน จะร่วมกันพัฒนามหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก ให้มีความสมบูรณ์ตามเจตนารมณ์โดยเร็ว ทั้งนี้เพื่อเป็นตัวอย่างของความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมอันเกิดจากความร่วมมือที่ดี
9.องค์กรพุทธหลัก 5 องค์กร และมหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 สถาบัน จะร่วมกันขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาแห่งโลก
10.ให้คณะเลขานุการร่วม (Join Secretariat) ประกอบด้วยผู้แทนจากองค์กรพุทธหลัก 5 องค์กร และมหาวิทยาลัย สงฆ์ 2 สถาบัน แห่งละ 2 รูป/คน มีวาระการทำงาน 2 ปี คนเดิมเป็นติดต่อกันได้ไม่มากกว่า 2 วาระ และให้ผู้แทนทั้ง 14 รูป/คน เลือกกันเองให้ 1 รูป/คน เป็นหัวหน้าคณะและ 1 รูป/คน เป็นเลขานุการ ทำงานตามที่องค์กรพุทธหลัก 5 องค์กร และมหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 สถาบันมอบหมาย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติ แผนกิจกรรม โครงการ งบประมาณ และความร่วมมือด้านต่างๆ ต่อที่ประชุมผู้นำ สำนักงานของคณะเลขานุการร่วมหมุนเวียนตั้งอยู่ในแต่ละองค์กรทุกๆ 2 ปี
11.ให้บันทึกความเข้าใจนี้มีผลตั้งแต่วันที่ผู้แทนองค์กรพุทธหลัก 5 องค์กร และมหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 สถาบัน ร่วมลงนามไว้เป็นหลักฐานไว้ ณ ที่นี้
พลโทฉลอง วิศมล รองประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก กล่าวว่า “องค์การพุทธสัมพันธ์แห่งโลกใฝ่ฝันที่จะได้เห็นชาวพุทธทั่วโลกได้ร่วมมือร่วมใจกัน ขอให้ท่านทั้งหลายที่เป็นคนไทยได้ตระหนักว่า เราเป็นชาวพุทธ เราจะต้องทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลกสืบต่อไป”
นายสมพร เทพสิทธา ประธานสภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่าวันนี้เป็นวันประวัติศาสตร์ขององค์การพระพุทธศาสนา ที่องค์กรพุทธศาสนา ทั้ง 5 และสถาบันจากคณะสงฆ์ของมหาวิทยาลัยสงฆ์ได้ มาลงนามร่วมกันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของชาติไทย
“ผมเชื่อว่าวันนี้จะเป็นวันเปิดศักราชใหม่ของการทำงาน ร่วมกันในการขับเคลื่อนพระพุทธศาสนาของเราให้มีบทบาท ที่สำคัญในการที่แก้ไขปัญหาสังคมของไทยและของโลก ในปัจจุบันนี้ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาขาดความสันติสุข และสันติภาพ การที่โลกของเราสังคมของเรายังไม่มีสันติภาพก็เพราะว่าในจิตใจของคนไม่เคยมีสันติภาพให้แก่กัน นี่คือคำตอบที่มันแน่ชัด แต่เราไม่ได้ปฏิบัติตาม ความจริงพระ พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ทั่วโลกยอมรับ ในการที่จะสร้างสันติภาพ สันติสุข ถ้าเราไม่สามารถสร้างสันติภาพและ สันติสุขขึ้นในจิตใจมนุษย์ อย่าหวังเลยครับว่าจะแก้ปัญหาของประเทศและโลกได้ ”
นางจุฬารัตน์ บุณยากร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) เปิดเผยภายหลังการลงนามว่า “หลังจากนี้เราก็จะมีการจัดทำโครงการหรือตั้งคณะทำงานคณะกรรมการแต่ละส่วน เชิญองค์กรเหล่านี้มาร่วมกันประชุม ระดมความคิดกันช่วยกันขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เป็นเอกภาพ”
สำหรับกรมการศาสนา(ศน.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้น นางจุฬารัตน์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจและร่วมมือกันระหว่าง พศ.กับ ศน.แล้ว เพราะฉะนั้นการดำเนินงานต้องมีภาคส่วนเหล่านี้เข้ามาร่วมด้วย

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 94 ก.ย. 51 โดยกองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น