xs
xsm
sm
md
lg

แม่ของแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ความสง่างามของพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ภาพหนึ่ง ซึ่งเขียนขึ้นโดยจิตรกรชาวอินโดนีเชีย นาม‘ระเด่นบาสุกี้ ’ เมื่อยี่สิบปีก่อน เคยเป็นแรงบันดาลใจให้ ‘สมาน คลังจัตุรัส’ หยิบดินสอชนิด EE บันทึกภาพนั้นเก็บไว้ด้วย

นอกจากนั้นภาพที่เทใจเขียนนี้ยังได้รับรางวัลจากการส่งเข้าประกวด สร้างความภาคภูมิใจให้แก่เขาเป็นอย่างยิ่ง

สมานบอกเล่าว่า ในยามนั้นเด็กบ้านนอกเช่นเขา มีโอกาสเห็นภาพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ก็จากภาพปฏิทินที่มีติดอยู่ตามบ้านและตามปกนิตยสารบางฉบับเท่านั้น ยามที่แหงนหน้ามองคราใด พระสิริโฉมอันงดงามที่ตราตรึงใจ ได้สร้างทั้งความประทับใจและความสำนึกรู้ว่า พระองค์ท่านคือบุคคลสำคัญของประเทศ

ถึงวัยที่เข้าศึกษาในรั้วโรงเรียนศิลปะ กระทั่งจบออกมามีอาชีพเป็นศิลปินอิสระ สมานมีโอกาสฝึกฝนเขียนภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ ของพระองค์ท่านบ่อยขึ้น เพราะมีบริษัทห้างร้านต่างๆมาว่าจ้างให้เขียน เพื่อนำไปติดสำนักงาน

ผลงานภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ฝีมือการเขียนของสมาน ชิ้นที่โดดเด่นมีให้พบเห็นในหลายสถานที่ นอกเหนือจากภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ขนาดความสูง 3 เมตร ซึ่งติดตั้งไว้ ณ ศาลาพระมิ่งขวัญ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ยังมีภาพขนาดความสูงราว 5 เมตร ที่มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ที่สมานเขียนภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคียงข้างพระวรกาย สมเด็จพระนางเจ้าฯ

แต่ภาพที่คุ้นตาประชาชนทั่วไปที่สุดคือภาพขนาดความสูง 2 .90 เมตร ที่ติดตั้ง ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมานเขียนภาพนี้ขึ้นโดยการว่าจ้างของธนาคารแห่งประเทศไทย จุดประสงค์เพื่อใช้เป็นภาพต้นแบบตีพิมพ์ลงบนธนบัตร ที่จัดทำขึ้นในวโรกาสเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา

โดยเขียนขึ้นในคราวเดียวกับภาพพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ชิ้นที่ติดตั้งไว้ ณ โรงพิมพ์ธนบัตรแห่งชาติ ย่านพุทธมณฑลสาย 7 ซึ่งก็ถูกนำมาเพื่อใช้ตีพิมพ์ลงบนธนบัตรฉบับเดียวกัน

ธนบัตรฉบับนี้ถูกส่งไปประกวดในงานธนบัตรโลกที่ประเทศเยอรมันในปี พ.ศ.2547 และได้คว้าอันดับหนึ่งมาครอง

“ถือว่าเป็นงานชิ้นสำคัญที่มีโอกาสได้ทำ และตั้งใจทำสุดชีวิต พระองค์ท่านทรงพระราชทานภาพพระบรมฉายาลักษณ์มาเป็นแบบให้เขียนด้วย ยิ่งเมื่อรู้ว่าจะถูกนำไปตีพิมพ์ทำเป็นธนบัตร ผมรู้สึกดีใจและภูมิใจที่สุด”

ก่อนลงมือเขียน สมานบอกว่าเขาต้องทำการบ้านเยอะมาก นอกจากจะต้องคำนึงถึงความงดงามและความถูกต้องของฉลองพระองค์ที่สวมใส่ เพื่อให้ภาพมองดูสง่างามต่อสายตาผู้ชม ยังต้องคำนึงถึงสถานที่ด้วยว่า ภาพนั้นจะถูกนำไปติดตั้ง ณ ที่ใด และที่ความสูงเท่าไหร่

ขณะที่สีและอุปกรณ์ทุกอย่าง ได้เลือกใช้ยี่ห้อที่มีคุณภาพดีที่สุด จึงทำให้ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ที่เขียนขึ้นในแนวเหมือนจริงทั้งสองชิ้นงดงามไร้ที่ติ
“แค่ความเหมือนคงไม่พอ เพราะเราเขียนภาพเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน เราต้องทำให้ดีที่สุด ต้องเหมือนและงดงามด้วยฝีมือของเรา จึงต้องเดินทางไปให้สุดๆ”

นอกจากนี้สูจิบัตรนิทรรศการศิลปกรรมเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ครั้งที่ 12 นิทรรศการที่สมานเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงจัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 เพื่อหารายได้มอบให้แก่สภากาชาดไทย สมานได้อัญเชิญภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่เขียนเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัว มาตีพิมพ์เป็นปกด้วย ในภาพนั้นพระพักตร์มีความอ่อนหวานและฉลองพระองค์อย่างสมพระเกียรติ

ขณะที่ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ที่เขาเขียนติดไว้ชมที่ผนังของห้องเรียนศิลปะ ณ โรงแรมมณเฑียร เป็นภาพในโทนสีหวาน ฉลองพระองค์ด้วยชุดผ้าไหม และอยู่ในพระอิริยาบถที่สบายๆ

นอกเหนือจากการเขียนภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายสิบปี ควบคู่ไปการเขียนภาพในเนื้อหาอื่น สมานยังถูกเลือกให้ทำหน้าที่อาจารย์ผู้ถ่ายทอดความรู้ด้านการเขียนภาพสีน้ำมันให้แก่บรรดานักเรียนศิลปาชีพ ที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร มานานถึง 11 ปี และในหน้าที่นี้เองที่ทำให้เขาได้ทราบถึงพระกรณียกิจอันสำคัญของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ที่ทรงทำเพื่อประชาชนคนไทยผู้ด้อยโอกาส

“ผมเห็นว่าพระองค์ท่านเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ของโลกคนหนึ่ง การที่ผมได้มีโอกาสไปเป็นอาจารย์ในศิลปาชีพ ผมรู้เลยว่าสิ่งที่พระองค์ท่านทรงทำ พระองค์ท่านได้พระราชทานชีวิตใหม่ให้กับผู้คน พระราชทานทั้งความรู้ ที่พักอาศัย อาหาร ทุกๆอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะได้ และบางคนได้เอาความรู้ที่พระองค์ทรงพระราชทาน ไปสร้างเนื้อสร้างตัว สร้างอนาคต สร้างครอบครัวที่ดี

เป็นการให้ที่ไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน ไม่มีข้อผูกมัด และให้อย่างถูกต้อง ตรงเป้าหมาย ลูกเกษตรกร ชาวไร่ ชาวสวนที่ด้อยโอกาส พ่อแม่ไม่มีเงินส่งเสีย หรือบางคนพ่อแม่เสียชีวิต คนเหล่านั้นได้รับการฝึกอาชีพ มีโอกาสที่จะอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่กว่านี้อีกแล้ว และไม่มีชาติไหนที่เหมือนชาติไทย เพราะนอกจากมีพ่อเรายังมีแม่ที่มีความเมตตาอย่างยิ่ง”


พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าฯที่สมานบอกว่าประทับใจและทำให้เขามีกำลังใจที่จะนำลูกศิษย์ศิลปาชีพทุกคนไปถึงฝั่งฝันให้ได้ก็คือ

“พระองค์ท่านตรัสว่า คนไทยมีความปราณีต มีความละเอียดลอออยู่ในตัวอยู่แล้ว ถ้าได้รับการฝึกฝน จะเป็นผู้ที่มีศิลปะได้ไม่ยาก”

ปัจจุบันทั่วโลกมีไม้ในสกุลมหาพรหม 48 ชนิด ในประเทศไทย มี 7 ชนิด รวม‘มหาพรหมราชินี’เป็น 8 ชนิด มหาพรหมราชินีเป็นพันธุ์ไม้ที่มีความคล้ายคลึงกับมหาพรหมเนื่องจากอยู่ในสกุลเดียวกัน จัดอยู่ในพันธุ์ไม้ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์

มหาพรหมราชินีมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mitrephora sirikitiae Weerasooriya,Chalermglin & R.M.K. Saunders เป็นไม้วงศ์กระดังงาชนิดใหม่ของโลก ที่มีความสวยงามเป็นพิเศษ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในบริเวณที่แคบๆ ของยอดเขาสูงชันที่ระดับความสูง 1,100 เมตร ในเขตอำเภอเมืองจังหวัดแม่ฮ่องสอน นับเป็นพรรณไม้เฉพาะถิ่น (endemic) เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ทั้งยังเป็นพรรณไม้หายาก เนื่องจากมีจำนวนต้นในสภาพถิ่นกำเนิดน้อยมากและมีการกระจายพันธุ์ต่ำ

ลักษณะของต้นมหาพรหมราชินี เป็นไม้ต้นขนาดเล็กสูง 4-6 เมตร ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-8 ซม. เปลือกลำต้นสีน้ำตาล กิ่งอ่อนมีขนอ่อนคลุมอยู่ ใบมีรูปหอก กว้าง 4-9 ซม. ยาว 11-19 ซม.เนื้อใบค่อนข้างหนา ผิวใบ เรียบเป็นมันทั้งสองด้าน โคนใบและปลายใบแหลม มีเส้นใบแขนงใบจำนวน 8-11 คู่ มีดอกดก ลักษณะเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อ 1-3 ดอก ออกที่ใกล้ปลายยอด เป็นพรรณไม้ที่มีดอกใหญ่ที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับดอกของพรรณไม้ในสกุลมหาพรหมเดียวกัน คือ เมื่อบานเต็มที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 ซม.ก้านดอกยาว 1.8-2.7 ซม. กลีบเลี้ยงมี 3 กลีบ รูปไข่กว้าง 2 ซม.ยาว 1.5 ซม.กลีบดอกมี 6 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้น ๆละ 3 กลีบ กลีบดอกชั้นนอกเป็นรูปไข่ กว้าง 4.1-5.3 ซม.โคนกลีบบาน ปลายกลีบเรียวแหลมกลีบบางสีขาวมีลายเส้นเรียงตามความยาวของใบ กลีบดอกชั้นในกว้าง 3.6-4.1 ซม.ยาว 3.7-4.3 ซม. โคนกลีบสีเขียวอ่อน ปลายกลีบสีม่วงเข้ม กระดกงอขึ้นและประกบติดกันเป็นรูปกระเช้า แต่ละดอกบานอยู่ได้ 3-5 วัน กลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกบานเต็มต้นในช่วงเดือนพฤษภาคม ส่วนผล เป็นผลกลุ่มมีผลย่อย 10-15 ผล รูปทรงกระบอกเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.2-2.4 ซม. ยาว 5.5-8 ซม.มีขนอ่อนปกคลุมหนาแน่น ผลจะแก่ในช่วงเดือนตุลาคม ผลสุกหวานรับประทานได้

ผู้ค้นพบมหาพรหมราชินี คือ ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย โดยพบบริเวณยอดเขาในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในกลางปี พ.ศ. 2547การค้นพบดังกล่าวได้รับการรับรองจาก DR. Aruna Weerasooriya ผู้เชี่ยวชาญด้านพรรณไม้สกุลมหาพรหมแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง ซึ่งข้อมูลทางพฤกษาศาสตร์ของมหาพรหมราชินีได้ลงตีพิมพ์ในวารสาร Nordic Journal of Botany แห่งประเทศเดนมาร์ก

และได้รับพระราชานุญาตจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ให้อัญเชิญพระนามาภิไธย เป็นชื่อพรรณไม้ชนิดใหม่นี้ว่า “มหาพรหมราชินี” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติคุณ เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2547

ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้ให้ความหมายของคำว่า “พรหม”ไว้ 3 ความหมายว่า

1.ผู้ประเสริฐ 2.เทพในพรหมโลก เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยกาม มี 2 พวก คือรูปพรหม มี 16 ชั้น และอรูปพรหมมี 4 ชั้น และ3.เทพสูงสุดหรือพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์
ส่วนคำว่า“พรหมวิหารธรรม”หมายถึงธรรมซึ่งเป็นเครื่องอยู่ของพรหม, ธรรมประจำใจอันประเสริฐ หรือธรรมประจำใจของท่านผู้มีคุณความดียิ่งใหญ่ มี 4 ข้อคือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
มีพุทธศาสนสุภาษิตกล่าวถึงความเป็นพรหมของบิดามารดา อันเนื่องจากมีคุณธรรมอันประเสริฐ 4 ประการ ดังกล่าว ว่า
พฺรหฺมาติ มาตาปิตโรปุพฺพาจริยาติ วุจฺจเร
อาหุเนยฺยา จ ปุตฺตานํปชาย อนุกมฺปกา

มารดาบิดาท่านว่าเป็นพรหม เป็นบุรพาจารย์ เป็นที่นับถือของบุตร และเป็นผู้อนุเคราะห์บุตร


(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 93 ส.ค. 51 โดยฮักก้า)


สมาน คลังจัตุรัส
กำลังโหลดความคิดเห็น