xs
xsm
sm
md
lg

‘สัญญาณอันตราย’ของการ‘ปวดคอ’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ดูซิ..แม่เตือนอะไรนิดอะไรหน่อย เถียงคอเป็นเอ็นเลย เจ้าลูกคนนี้” แม่จ๋าบ่นลูกสาวที่ชอบกลับบ้านดึกๆดื่นๆ

‘คอเป็นเอ็น’ของลูกสาวแม่จ๋าคนนี้ ไม่ใช่เป็นสัญญาณอันตรายของโรคร้ายหรอกนะคะ แต่เป็นลักษณะของการโต้เถียงอย่างไม่ยอมลดละ ซึ่งก็อาจเป็นอันตรายได้เหมือนกันค่ะ หากไม่ฟังคำเตือนของพ่อแม่

ส่วนสัญญาณอันตรายที่ส่งมาจากคอนั้น ก็คืออาการปวดคอ ที่คนส่วนใหญ่มักเป็นกันบ่อยๆจนดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา แต่จริงๆแล้วไม่ธรรมดานะคะ น่ากลัวเชียวค่ะ

ข้อมูลจากสมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทยบอกไว้ว่า คอเป็นอวัยวะที่เชื่อมระหว่างศีรษะกับลำตัว ประกอบไปด้วยกระดูกต้นคอ 7 ชิ้น เส้นประสาทคอ กล้ามเนื้อ เส้นเลือด และเป็นทางผ่านของหลอดลมและหลอดอาหาร การที่คอเคลื่อนไหวได้ก็อาศัยกล้ามเนื้อคอและการเคลื่อนไหวของกระดูกคอทั้ง 7 ชิ้นนี้ กระดูกคอจะทำหน้าที่ห้อมล้อมไขสันหลังและมีช่องระหว่างกระดูกคอให้เส้นประสาทผ่านออกมาเลี้ยงกล้ามเนื้อ

• สาเหตุของการปวดคอที่พบได้บ่อย
1. อิริยาบถหรือท่าทางที่ผิดปกติ เช่น การก้มคอทำงานทั้งวัน (เช่น งานเขียนหนังสือ) การทำงานที่ต้องแหงนคอทำนาน ๆ การนอนหมอนสูงเกินไป จะทำให้กล้ามเนื้อคอทำงานมากเกินไป เกิดอาการอ่อนล้าและเจ็บปวดได้
2. ภาวะคอเคล็ด เป็นภาวะที่คอมีการเคลื่อนไหวผิดทิศทางอย่างรวดเร็วและรุนแรง (เช่น จากอุบัติเหตุรถชนกัน) เป็นผลให้กล้ามเนื้อหรือเอ็นบริเวณคอมีการยืดอย่างมาก หรืออาจมีการฉีกขาดของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ หดเกร็ง เกิดอาการปวดได้
3. ภาวะกระดูกคอเสื่อม เป็นภาวะที่พบได้บ่อยมาก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ กระดูกคอถูกใช้งานมานานตั้งแต่เกิดจะมีการเสื่อมของข้อกระดูก ทำให้เกิดอาการปวดคอเรื้อรัง ในบางรายอาจมีกระดูกงอกไปกดปลายประสาท ทำให้เกิดอาการชาหรืออ่อนแรงของแขนได้
4. ภาวะกระดูกคออักเสบ โรคข้ออักเสบบางชนิด เช่น โรครูมาตอยด์ และโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบติดยึด อาจทำให้ข้อต่อของกระดูกคออักเสบได้
5. ภาวะเครียด พบว่าในปัจจุบันความเครียดจากการทำงาน ทำให้ไม่มีการพักผ่อนที่เพียงพอ อาจทำให้มีการเกร็งของกล้ามเนื้อคอเป็นเวลานาน เกิดการปวดคอได้
6. อาการปวดคอที่เป็นอาการปวดร้าวมาจากอวัยวะอื่นๆ โรคบางชนิด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอาจมีอาการปวดร้าวมาที่บริเวณลำคอได้

• สัญญาณอันตรายของการปวดคอ
เมื่อมีอาการปวดคอร่วมกับอาการอื่นต่อไปนี้ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์
1. มีอาการปวดคอเป็นมานานกว่า 2 สัปดาห์
2. อาการปวดคอภายหลังได้รับอุบัติเหตุ
3. มีอาการอ่อนแรงของแขนและขา หรือมีอาการชา หรือปวดร้าวไปที่แขนร่วมด้วย
4. มีอาการปวดข้อหรือข้ออักเสบอื่น ๆ ของร่างกายร่วมด้วย
5. มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรืออาการเจ็บอกร่วมด้วย
6. ไม่สามารถเคลื่อนไหวคอในทิศทางต่างๆ ได้เป็นปกติ

• การรักษาภาวะปวดคอ
1. ระวังและหลีกเลี่ยงอิริยาบถหรือท่าทางต่างๆ ที่ต้องมีการก้มและเงยคอบ่อยๆ เมื่อมีอาการเมื่อยคอ ควรหยุดพักและบริหารกล้ามเนื้อคอประมาณ 2-3 นาที
2. ใช้กระเป๋าน้ำร้อนหรือผ้าชุบน้ำร้อนประคบบริเวณคอ จะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อหดเกร็งบริเวณคอได้
3. อาจรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอลหรือแอสไพริน เพื่อช่วยระงับอาการปวด ถ้าหากว่ารับประทานยาแล้ว 5-7 วัน อาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์
4. ในรายที่มีอาการปวดเรื้อรัง การทำกายภาพบำบัด การใช้ปลอกคอ การใช้เครื่องอบไฟฟ้า และเครื่องช่วยนวด จะช่วยผ่อนคลายความเจ็บปวดได้
5. การบริหารกล้ามเนื้อคอเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการรักษาอาการปวดคอ เพราะจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อคอ การบริหารกล้ามเนื้อคอควรทำทุกวัน
6. หาทางออกกำลังกายหรือทำงานอดิเรกเพื่อผ่อนคลายความเครียด
เห็นมั้ยคะว่า แค่เรื่องปวดคอ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆที่ปล่อยให้ผ่านไป แต่เป็นเรื่องคอขาดบาดตายเลยละค่ะ

การบริหารกล้ามเนื้อคอ

1.การออกกำลังคอให้เคลื่อนไหวได้ดี แต่ละท่าทำ 5-10 ครั้ง วันละ 2-3 เวลา
• ก้มและเงยหน้า ค่อย ๆ ก้มหน้าให้คางจรดกับอก แล้วเงยช้าๆ ให้มากที่สุด
• ตะแคงซ้ายขวา หน้าตรงค่อยๆ ตะแคงซ้ายจนหูจรดไหล่ซ้าย แล้วตะแคงขวาในลักษณะเดียวกัน
• หันหน้าซ้ายขวา หมุนศีรษะหันหน้าไปทางซ้ายช้าๆ โดยให้ปลายคางอยู่ในแนวเดียวกับไหล่ แล้วหมุนกลับมาด้านขวา
2.การออกกำลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การออกกำลังคอชุดนี้ควรทำหลังจากทำชุด1แล้ว โดยใช้มือต้านการเคลื่อนไหวของศีรษะในทิศตรงกันข้าม เกร็งไว้ 5-10 วินาที แล้วพักแต่ละท่าทำ 5-10 ครั้ง วันละ 2-3 เวลา
• ก้มคอ ใช้มือกดที่หน้าผากต้านกับความพยายามที่จะก้มศีรษะลง
• เงยหน้า เอาฝ่ามือประสานเหนือท้ายทอย กดมาด้านหน้า ขณะที่พยายามเงยศีรษะไปข้างหลัง
• ตะแคงคอ ใช้มือซ้ายวางที่ศีรษะเหนือหูซ้าย ต้านกับความพยายามตะแคงหน้าให้หูซ้ายไปจรดไหล่ แล้วกลับมาใช้มือขวาทำแบบเดียวกัน
• หันหน้า ใช้มือซ้ายออกแรงยันที่หน้าหูซ้าย ขณะที่พยามหันหน้าไปทางซ้าย แล้วสลับใช้มือขวาทำแบบเดียวกัน

(ข้อมูลจาก bangkokhealth.com)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 93 ส.ค. 51 โดยรวิชา)
กำลังโหลดความคิดเห็น