xs
xsm
sm
md
lg

บทความจาก นสพ. ผู้จัดการ

x

สื่อใจสมานสร้างสรรค์: ทำดีแล้ว ต้องไม่ถือดี มิเช่นนั้น จะไม่เหลือดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บทความเรื่องที่ 44
หลักธรรมจากพระบรมราโชวาท 9 ประการ

www.dhamaforlife.com มีอายุครบ 6 เดือน แล้วค่ะ เราเพิ่งเปลี่ยนผ้าอ้อม เป็นผ้าผืนใหญ่ (XXL) เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2551 ที่ผ่านมานี้เอง คุณพ่อพันธุ์ (เฉลิมพันธุ์ สมัครพันธ์) ผู้ให้กำเนิดเว็บ เป็นผู้ขยายขนาดให้ โดยแจ้งข่าวดีนี้มาจากถ้ำเทพารักษ์ เมืองสมุทรฯ

ต่อไปนี้ ไม่ว่าจะมีข้อมูลมากมายแค่ไหน เราก็ไม่หวั่น เพราะจ่ายราคาเดียวรวด คือ ราคาเดิม เหมือนอย่างกับซื้อเสื้อยืด Free Size นะคะ จ่ายเงินครั้งเดียวตอนซื้อ แล้วค่อยไปยืดเอาเอง อยากได้ขนาดใหญ่เท่าไรก็ตามใจ... (อะไรจะดีปานนั้น !)

ฉะนั้น ในฐานะ บรรณาธิการฝ่ายข้อมูลของเว็บไซต์นี้ ผู้เขียน จึงขอถือเป็นโอกาส ขยาย Section อัดข้อมูลดีๆ ที่ได้รับจากพันธมิตรทางธรรม นำไปบรรจุลงใน Section มุมที่ลืมมอง และ ผู้จัดการสุขภาพ โดยเฉพาะ Section หลังนี้ เพิ่งจะได้ฤกษ์ แย้มฝาโลงรับขวัญสมาชิกไม้ใกล้ฝั่งไปเมื่อไม่นานมานี้

ขอเรียนเชิญผู้อ่าน หาเวลาว่างแวะเข้าไปเยี่ยมเราบ้าง แล้วอย่าลืมเซ็นสมุดเยี่ยมให้กำลังใจทีมงานนะคะ เรามีปัญญาวุธพร้อมธรรมาวุธมากมายเตรียมไว้เป็นเสมือนผ้าเย็นคอยช่วย ดับร้อนค่ะ

ดังเช่นที่ เจ้าหน้าที่บริหารการศึกษา ของ บริษัทปัญญธาราจำกัด หน่วยงาน ผลิตบุคลากรคุณภาพของ Seven Eleven ได้ส่งมาให้ คือ พระบรมราโชวาท 9 ประการ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยในวาระต่างๆ ถือโอกาสนำมา แบ่งปันกันอ่านกระตุ้นต่อมคุณธรรม ดังนี้

1. ความเพียร
(พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักเรียน นักศึกษา ครู และอาจารย์ในโอกาสเข้าเฝ้าฯเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2516)

*การสร้างสรรค์ตนเอง การสร้างบ้านเมืองก็ตาม มิใช่ว่าสร้างในวันเดียว ต้องใช้เวลา ต้องใช้ความเพียร ต้องใช้ความอดทน เสียสละ แต่สำคัญที่สุดคือความอดทนคือไม่ย่อท้อ ไม่ย่อท้อในสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ดีงามนั้นทำมันน่าเบื่อ บางทีเหมือนว่าไม่ได้ผล ไม่ได้ดังใจ คือดูมันควรทำดีนี่ แต่ขอรับรองว่าการทำให้ดีควรต้อง มีความอดทน เวลาข้างหน้าจะเห็นผลแน่นอนในความอดทนของตนเอง

2. ความพอดี
(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย ขอนแก่น เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2540 )

*ในการสร้างตัวสร้างฐานะนั้นจะต้องถือหลักค่อยเป็นค่อยไป ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และความพอเหมาะพอดี ไม่ทำเกินฐานะและกำลัง หรือทำด้วยความเร่งรีบ เมื่อมีพื้นฐานแน่นหนารองรับพร้อมแล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญก้าวหน้าในระดับสูงขึ้น ตามต่อกันไปเป็นลำดับ ผลที่เกิดขึ้นจึงจะแน่นอน มีหลักเกณฑ์ เป็นประโยชน์แท้และยั่งยืน

3. ความรู้ตน
(พระบรมราโชวาท พระราชทานลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็ก พ.ศ. 2521)

*เด็กๆ ทำอะไรต้องหัดให้รู้ตัว การรู้ตัวอยู่เสมอจะทำให้เป็นคนมีระเบียบและคนที่มีระเบียบดีแล้ว จะสามารถเล่าเรียนและทำการงานต่างๆ ได้โดยถูกต้องรวดเร็ว จะเป็นคนที่จะสร้างความสำเร็จและความเจริญให้แก่ตนเอง และส่วนรวมในอนาคตได้อย่างแน่นอน

4. คนเราจะต้องรับและจะต้องให้
(พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น
เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2521)

*คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ หมายความว่าต่อไป และเดี๋ยวนี้ด้วยเมื่อรับสิ่งของใดมา ก็จะต้อง พยายามให้ ในการให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคีให้หมู่คณะและในชาติ ทำให้หมู่คณะและชาติประชาชนทั้งหลายมีความไว้ใจซึ่งกันและกันได้ ช่วยที่ไหนได้ก็ช่วยด้วยจิตใจ ที่เผื่อแผ่โดยแท้

5. อ่อนโยน แต่ไม่อ่อนแอ
(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 25 มิถุนายน 2496 )

*ในวงสังคมนั้นเล่า ท่านจะต้องรักษามารยาทอันดีงามสำหรับสุภาพชน รู้จักสัมมาคารวะ ไม่แข็งกระด้าง มีความอ่อนโยน แต่ไม่อ่อนแอ พร้อมจะเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม

6. พูดจริง ทำจริง
(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2540 )

*ผู้หนักแน่นในสัจจะพูดอย่างไร ทำอย่างนั้น จึงได้รับความ สำเร็จ พร้อมทั้งความศรัทธาเชื่อถือและความยกย่องสรรเสริญ จากคนทุกฝ่าย การพูดแล้วทำ คือ พูดจริง ทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด และสร้างเสริม ความดี ความเจริญ ให้เกิดขึ้นทั้งแก่บุคคลและส่วนรวม

7. หนังสือเป็นออมสิน
(พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะสมาชิกห้องสมุดทั่วประเทศ ในโอกาสที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2514 )

*หนังสือเป็นการสะสมความรู้และทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ได้สร้างมา ทำมา คิดมา แต่โบราณกาลจนทุกวันนี้ หนังสือจึงเป็น สิ่งสำคัญ เป็นคล้ายๆ ธนาคารความรู้และเป็นออมสิน เป็นสิ่งที่จะทำให้มนุษย์ก้าวหน้าได้โดยแท้

8. ความซื่อสัตย์
(พระบรมราโชวาท พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็ก ปีพุทธศักราช 2531)

*ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง เด็กๆ จึงต้องฝึกฝนอบรมให้เกิดมีขึ้นในตนเอง เพื่อจักได้เติบโตขึ้นเป็นคนดีมีประโยชน์ และมีชีวิตที่สะอาด ที่เจริญมั่นคง

9. การเอาชนะใจตน
(พระราชดำรัส พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่าน ในพิธีเปิดการประชุม)

*ในการดำเนินชีวิตของเรา เราต้องข่มใจไม่กระทำสิ่งใดๆ ที่เรารู้สึกด้วยใจจริงว่าชั่ว ว่าเสื่อม เราต้องฝืนต้องต้านความคิดและความประพฤติทุกอย่างที่รู้สึกว่าขัดกับธรรมะ เราต้องกล้าและบากบั่นที่จะกระทำสิ่งที่เราทราบว่าเป็นความดี เป็นความถูกต้อง และเป็นธรรม ถ้าเราร่วมกันทำเช่นนี้ ให้ได้จริงๆ ให้ผลของความดีบังเกิดมากขึ้นๆ ก็จะช่วยค้ำจุนส่วนรวมไว้มิให้เสื่อมลงไป และจะช่วยให้ฟื้นคืนดีขึ้นได้เป็นลำดับ

ค่ะ...สิ่งดีๆ คงไม่เกิดขึ้นแน่ หากเราเฝ้ารอรับแต่สิ่งดีๆ จากผู้อื่น โดยไม่ลงมือกระทำความดีด้วยตนเอง และที่สำคัญยิ่งกว่า คือ เมื่อทำความดีแล้ว ต้องไม่ถือดีอย่างเด็ดขาด มิเช่นนั้น จะไม่เหลือดีให้ใครจดจำไว้ในใจอีกต่อไป...
กำลังโหลดความคิดเห็น