ทริปเที่ยวลพบุรีเมื่อปี 50 ของนักออกแบบแก้วและนักปั้นเซรามิก ‘ประพัทธ์ จิวะรังสรรค์’ ไม่ได้เก็บเกี่ยวเอาเฉพาะความสุขที่ได้ไปยืนอยู่ท่ามกลาง สีเหลืองของทุ่งดอกทานตะวันกลับมา แต่ยังเก็บเอาแรงบันดาลใจที่ทำให้อยากจะทำอะไรดีๆเพื่อผู้อื่นกลับมาด้วย
เพราะทริปครั้งนั้นประพัทธ์และเพื่อนได้มีโอกาสแวะไป เยือนวัดพระบาทน้ำพุ ณ ตำบลเขาสามยอด แหล่งพึ่งพิงสุดท้ายของผู้ป่วยโรคเอดส์ ซึ่งมี พระอุดมประชาทร (อลงกต ติกฺขปญฺโญ)เป็นเจ้าอาวาส และท่านได้ทุ่มเท แรงกายแรงใจให้กับสถานที่แห่งนั้นมาเป็นเวลาหลายสิบปี
“ชีวิตของผู้ป่วยที่ไปเห็นที่นั่น ผมไม่เคยเห็นมาก่อนเลยในชีวิต ครั้งแรกที่ไป ได้พบกับท่านเจ้าคุณอลงกต และได้คุยกับท่านบ้าง มีความรู้สึกว่าท่านทำงานเหนื่อยมากเลย แล้วท่านก็สู้เพื่อใครก็ไม่รู้ ญาติท่านก็ไม่ใช่ ที่ผ่านมาท่านมาบิณฑบาตที่กรุงเทพฯ บ่อยมาก แต่ทำไมเราไม่เคยเห็น ก็เลยมีความรู้สึกว่าถ้าเราช่วยอะไรท่านได้ น่าจะช่วย”
จึงก่อเกิดเป็นความตั้งใจที่จะปั้นถ้วยชา จำนวน 100 ใบ เพื่อหารายได้ไปช่วยเหลือวัดพระบาทน้ำพุเท่าที่ความสามารถจะทำได้
“ตอนแรกคิดอยู่นานว่าทำอะไรดีที่จะทำให้ได้เงินมาสักก้อน โดยที่ไม่ต้องใช้วิธีขอเรี่ยไร เพราะเรามีความรู้สึกว่า ตัวเราไม่มีความน่าเชื่อถือพอ เหมือนท่านเจ้าคุณ ที่สามารถไปชักชวนให้คนมาบริจาค เราน่าจะทำอะไรที่เป็น ของแลกเปลี่ยน”
และเหตุที่ต้องเป็นถ้วยชา เพราะประพัทธ์เห็นว่าผู้ใจบุญแต่ละท่านสามารถนำไปใช้งานได้ ไม่ใช่กลายเป็นแค่ของที่ระลึกรกบ้าน
“มันง่ายที่สุดแล้วปั้นถ้วยชา คนซื้อไปใช้งานได้ ดีกว่าซื้อไปเพราะเกรงใจ”
ถ้วยชาแต่ละใบต่างก็มีเสน่ห์แตกต่างกันไป ไม่มีซ้ำกันสักใบเดียว เงินจำนวน 500 บาท แลกกับถ้วยชา 1 ใบ ประพัทธ์เห็นว่าผู้ได้รับไปน่าจะพอใจ เพราะนอกเหนือจากความอิ่มใจที่ได้มีส่วนช่วยเหลือสังคมร่วมกัน ยังได้ครอบครองถ้วยชาใบที่ไม่มีใครเหมือนในโลกอีกด้วย
ถ้วยชาใบน้อยแต่ละใบประพัทธ์ได้ใส่สิ่งที่เรียกว่า ‘สมาธิ’ลงไป แม้ไม่อาจมองเห็นด้วยตา แต่เขาเชื่อว่าในยามที่ผู้ครอบครองคิดหยิบจับมันออกมาใช้ จะสามารถสัมผัสได้ด้วยใจ
“เวลาปั้นถ้วยชาแต่ละใบ ผมต้องใช้สมาธิมากๆ คนที่เรียนปั้นถ้วยชาในครั้งแรก อาจจะปั้นไม่ได้เลย เพราะมือและใจอาจจะยังไม่นิ่งพอ ถ้วยชาอาจจะบิดเบี้ยว ไม่เป็นถ้วยชา” นักปั้นหนุ่มบอกเล่าถึงอุปสรรคภายใน
ท่านผู้หนึ่งซึ่งถือแรงใจอันสำคัญช่วยให้ประพัทธ์สานต่อความตั้งใจดีของตัวเองให้ลุล่วงคือ ‘ศาสตราจารย์สมถวิล อุรัสยะนันท์’ ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2549 สาขาทัศนศิลป์ (การออกแบบอุตสาหกรรม) อาจารย์ผู้สอน การปั้นเซรามิกให้กับเขา
เพราะนอกเหนือจากท่านจะเห็นดีเห็นงาม อำนวยความ สะดวกในทุกๆทางเพื่อให้เขาได้สร้างสรรค์งานอย่างเต็มที่ เขายังได้นำปรัชญาชีวิตที่ท่านได้ถ่ายทอดให้ระหว่างชั่วโมงเรียน มาคอยเตือนสติให้อยู่กับการสร้างงานอย่างแท้จริง
“อาจารย์สอนดีมากครับ ท่านบอกเสมอว่ามือกับใจต้อง สัมพันธ์กัน สมองยังไม่ต้องก็ได้ เอาแค่มือกับใจก่อน ขณะทำงานเราต้องรู้จักละวางทุกสิ่งทุกอย่าง เรื่องทางบ้าน เรื่องเรียน ต้องทิ้งไปให้หมด เอาใจมาอยู่กับมือ แล้วปั้นดินขึ้นมาให้ได้เป็นงาน ซึ่งงานแต่ละชิ้น เราทำมันอย่างเต็มที่หรือเปล่า มันจะฟ้องด้วยถ้วยชาที่เราปั้น ถ้ามันดี สวย น้ำหนักเบา มันก็คือใช่
บางใบปั้นสวยมาก พอใจวอกแวกนิดหน่อยมือไปเฉี่ยว นิดเดียวถ้วยชาบิ่นทันที ซึ่งทำให้เข้าใจว่า ทำอะไรต้องมีสติ ตลอดเวลา พลาดนิดเดียว มันฟ้องที่งาน อาจารย์จะสอนปรัชญาในการปั้นเยอะมาก เราได้อะไรเยอะกว่าการปั้นถ้วยชา ปั้นหม้อให้เป็น ถ้างานบางชิ้นเราเผลอทำมันเสียหาย อาจารย์จะบอกว่าไม่เป็นไร มันก็เหมือนชีวิตเรา พลาดแล้วก็ลุกขึ้นมาใหม่ ถ้วยชามันก็เป็นแค่ดินที่เราสามารถทำมันให้ ยุบลงไปนวดแล้วก็ปั้นขึ้นมาใหม่”
ทันทีที่นำถ้วยชาออกแสดง ไม่นานถ้วยชาทุกใบก็มีผู้จับจองไปจนหมด ซึ่งประพัทธ์ได้นำเงินจำนวน 50,000 บาท มอบให้แก่ท่านเจ้าคุณอลงกตไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ค่าใช้จ่ายอื่นๆเขาแทบไม่ต้องใช้ เพราะได้อาจารย์สมถวิลช่วยสนับสนุนอีกเช่นกัน ถ้าจะใช้ก็แต่แรงกายและความมุ่งมั่นตั้งใจเท่านั้น
“อาจารย์อนุญาตให้ไปปั้นถ้วยชาที่บ้านอาจารย์ได้เลย ค่าอุปกรณ์อาจารย์ไม่คิดสตางค์ เตาเผา เตาเคลือบใช้ที่บ้านอาจารย์ทั้งหมด ท่านอยากร่วมทำบุญด้วย”
เขาเชื่อโดยส่วนตัวว่า ตลอดมาที่คิดลงมือทำสิ่งใด เมื่อเป็นไปตามที่ตั้งใจ ไม่ใช่เพียงเพราะตนเองหรอกที่คิดดีทำดี ทว่าคนดีๆรอบๆตัวก็มีส่วยช่วยส่งเสริมเป็นอย่างมาก
“ถือเป็นโชคดีของชีวิต ที่ทำให้เจอแต่คนดีๆ สิ่งดีๆ สอนชีวิตเรา เราคงทำบุญมาระดับหนึ่ง เจอคนก็เป็นคนดี เจอพระก็เป็นพระดี อย่างเจออาจารย์สมถวิลถือว่าโชคดีมาก ช่วยเหลือเกื้อกูลทุกอย่าง”
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 91 มิ.ย. 51 โดย ฮักก้า)