xs
xsm
sm
md
lg

พระบรมราโชวาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

...คุณธรรมห้าประการ ที่เป็นพละกำลังส่งเสริมและหนุนนำให้ บุคคลประสบผลสำเร็จในการทำงาน กำลังห้าประการนั้น อย่างแรก คือความมีศรัทธาที่ถูกต้อง ได้แก่ความเชื่อถืออันประกอบด้วยความ เพ่งพินิจ ด้วยใจที่มั่นคงเป็นกลาง จนเกิดความกระจ่างแจ่มแจ้ง อย่างที่สองคือความอุตสาหะพากเพียรที่กล้าแข็งไม่ขาดสาย ในอันที่จะกำจัดความเสื่อมและเสริมสร้างความดี ความเจริญ อย่างที่ สามคือความระลึกรู้เท่าทัน ระมัดระวังการกระทำของตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้ประมาทพลาดพลั้งจนการงานต้องบกพร่องเสียหาย อย่างที่สี่คือความตั้งใจมั่นคง ให้ความคิดอ่านเป็นระเบียบ รวมลงในการงานที่ต้องการจะทำไม่ฟุ้งซ่านไปในเรื่องอื่นๆ ที่มิใช่จุดประสงค์ อย่างที่ห้าคือปัญญาความรู้ชัด หรือความรู้ตลอดแจ่มแจ้งในงานและวิธีที่จะปฏิบัติบริหารงานโดยถูกต้องเที่ยงตรง

คุณธรรมทั้งห้าประการนี้ พิจารณาให้ดีแล้ว จะเห็นว่าต่างก็เป็นเหตุเป็นผลต่อเนื่องอาศัยกัน และเกื้อกูลส่งเสริมซึ่งกันและกันอยู่ทั้งหมด เช่น ศรัทธาความเชื่อถือซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดความพากเพียรขวนขวายนั้น จะต้องอาศัยความยั้งคิดและปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาวินิจฉัย ปัญญาความรู้ชัดจะเกิดมีได้ก็ต้องอาศัยความตั้งใจเพ่งพินิจ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างเสริมคุณธรรมทุกๆ ข้อให้ครบ ให้เป็นฐานอันแผ่กว้าง สำหรับรองรับการงานได้ทั่วถึงมั่นคง จึงจะสามารถทำงานสำเร็จผลเลิศได้โดยสมบูรณ์บริบูรณ์ และเป็นประโยชน์ช่วยตัวช่วยผู้อื่นและส่วนรวมได้ด้วย...
******

...เด็ก ต้องทำตัวให้สุภาพอ่อนโยน หมั่นขยันเอาการเอางานเอื้อเฟื้อช่วยเหลือผู้อื่น ด้วยความเต็มใจอยู่เสมอ ให้ติดเป็นนิสัย จักได้เติบโตขึ้นเป็นคนดี มีประโยชน์ และมีความเจริญมั่นคงในชีวิต...
******

...สังคมใดก็ตาม ถ้ามีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ด้วยความมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน สังคมนั้นย่อมเต็มไปด้วยไมตรีจิต มิตรภาพ มีความร่มเย็นเป็นสุข น่าอยู่...
******

...จุดหมายโดยตรงของศาสนาทั้งปวง และโดยเฉพาะพระพุทธศาสนามุ่งจะให้บุคคลศึกษาพิจารณาหลักการ และแนวความคิดในศาสนธรรม แล้วน้อมนำมาเป็นที่ยึดเหนี่ยวและปฏิบัติตนตามความสามารถ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการครองชีวิต คือให้เกิดความผาสุขร่มเย็น และความเจริญในแต่ละบุคคล ในส่วนรวม และให้เกิดความบริสุทธิ์หลุดพ้น อันเป็นปรมัตถประโยชน์ ดังนั้น การบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนา จึงควรกระทำให้ถูกเป้าหมาย...
******

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 91 มิ.ย. 51)
กำลังโหลดความคิดเห็น