xs
xsm
sm
md
lg

พระบรมราโชวาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

...การที่บุคคลจะทำความดีให้ได้จริง และต่อเนื่องไปโดยตลอดได้ จะต้องอาศัยหลักปฏิบัติที่ถูกต้องแน่นอน ประการแรก จะต้องมีศรัทธาเชื่อมั่นในความดี เห็นว่าความดีหรือสุจริตธรรม ย่อมไม่ทำลายผู้ใด หากแต่ส่งเสริมให้เป็นคนสะอาดบริสุทธิ์และเจริญมั่นคง เมื่อเกิดศรัทธาแน่วแน่ในความดีแล้ว ก็จะต้องตั้งกฎเกณฑ์ตั้งระเบียบให้แก่ตนเอง สำหรับควบคุมประคับประคองให้ปฏิบัติแต่ความดี และรักษาความดีไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ให้บกพร่อง คลอนแคลน พร้อมกันนั้น ก็จะต้องพยายามเพิกถอน ลด ละ การกระทำและความคิด อันจะเป็นเหตุบั่นทอนการกระทำดีของตนด้วยตลอดเวลา สำคัญยิ่งกว่าอื่น ทุกคนจะต้องอาศัยปัญญา ความฉลาดรู้เหตุผล เป็นเครื่องตรวจสอบพิจารณา วินิจฉัยการกระทำความประพฤติทุกอย่างอยู่เสมอโดยไม่ประมาท เพื่อมิให้ผิดพลาดเสื่อมเสีย เมื่อประกอบความดีได้โดยถูกถ้วน ก็ย่อมได้รับประโยชน์ที่สมบูรณ์แท้จริง คือประโยชน์ที่เกื้อกูลให้มีความสุขความเจริญได้ในปัจจุบัน และยั่งยืนมั่นคงตลอดไปถึงภายหน้า...

******

...ความคิดนั้นเป็นแม่บทใหญ่ของคำพูดและการกระทำ เพราะกิจที่จะทำ คำที่จะพูด ทุกอย่างล้วนสำเร็จจากความคิด การคิดก่อน พูดและคิดก่อนทำจึงช่วยให้บุคคลสามารถยับยั้งคำพูดที่ไม่สมควร หยุดยั้งการกระทำที่ไม่ถูกต้อง พูดและทำแต่สิ่งที่จะสัมฤทธิ์ผลเป็นประโยชน์และเป็นความเจริญ...
******

...พระพุทธศาสนาแสดงความจริงของชีวิต แสดงทางปฏิบัติที่จะให้บรรลุความสุขสูงสุดของชีวิต มีวิธีการสั่งสอนที่ยึดหลักเหตุและผลว่าทุกสิ่งเกิดจากเหตุ ผู้ประกอบเหตุอย่างไรเพียงใดก็ได้ผล อย่างนั้นเพียงนั้น หากจะถามว่าพระพุทธศาสนาเป็นอะไร ก็ต้องตอบว่าโดยเนื้อหาเป็นเรื่องความจริงของชีวิต พระพุทธศาสนาเป็นปรัชญาโดยวิธีการสอนที่ยึดหลักเหตุผล พระพุทธศาสนาเป็นศาสตร์ หรือพูดให้ชัดเจนลงไปอีกก็เป็นวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่าการสอนพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง คือการสอนให้คนสามารถพิจารณาขุดค้นหาหลักธรรมจากชีวิต และนำหลักธรรมนั้นมาปฏิบัติให้เป็นประโยชน์...

******

...ความสามัคคีนี้ เป็นคุณธรรมสำคัญประการหนึ่ง ซึ่งหมู่ชนอยู่รวมกันจำเป็นต้องมี ต้องถนอมรักษา และต้องนำมาใช้อยู่สม่ำเสมอ ถ้าแต่ละฝ่ายเข้ามาร่วมกันทำงานด้วยความตั้งใจดี ด้วยความสามัคคี ความรู้ความสามารถ และด้วยความคิดที่สร้างสรรค์ งานก็สำเร็จสมบูรณ์งดงามตามประสงค์ทุกอย่าง...

******

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 90 พ.ค. 51)
กำลังโหลดความคิดเห็น