xs
xsm
sm
md
lg

มณฑป เรือนแห่งฐานานุศักดิ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อกล่าวถึง “มณฑป” คงเป็นที่รู้จักในฐานะอาคารหลังหนึ่งในเขตพุทธาวาส ซึ่งมีความสำคัญ
ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอาคารหลังอื่นๆอย่างอุโบสถหรือวิหาร แม้แต่น้อยเลย

โดยทั่วไป มณฑปมักสร้างเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีหลังคาเป็นเรือนยอดแหลมซ้อนชั้นเรียกว่า “หลังคาทรงบุษบก”

โดยโครงสร้างและรูปแบบของ“บุษบก”นั้น นับว่ามี ความคล้ายคลึงกันกับมณฑปมาก แต่มีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องของขนาด สัดส่วน และหน้าที่การใช้สอย นั่นคือบุษบกนั้นมีองค์ประกอบที่มีขนาดเล็กกว่า ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปที่มีขนาดเล็ก ในขณะที่มณฑป คืออาคารหลังหนึ่งที่สร้างเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ไม่เพียงเท่านั้น ยังพบว่า มณฑปยังเป็นที่ ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทอีกด้วย

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า มณฑปน่าจะมีการสร้างมาตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ และอาจเป็นเครื่องไม้ที่ผุพังไปหมดแล้ว แต่หลักฐานที่เป็นยุคแรกๆ ของการสร้างมณฑปที่ยังพบโครงสร้างมาจนถึงปัจจุบันนั้นพบได้ในสมัยสุโขทัย โดยสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่หรือที่เรียกกันว่า “ปฏิมาฆระ”ซึ่งรูปแบบดังกล่าวปรากฏมาก่อนแล้วในศิลปะอินเดียและศรีลังกาด้วย

ภายในมณฑปสมัยสุโขทัยดูคับแคบมากเมื่อเทียบกับพระพุทธรูปที่มีขนาดเต็มพื้นที่ภายใน จึงมีนักวิชาการ สันนิษฐานว่า อาคารหลังดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่อแสดงถึงพระคันธกุฎี ที่ประทับส่วนพระองค์ของพระพุทธเจ้า เช่น มณฑปวัดศรีชุม จ.สุโขทัย ประดิษฐานพระอจนะ พระพุทธรูปปางมารวิชัยเอาไว้

นอกจากนี้ มณฑปยังใช้เป็นที่ประดิษฐานสิ่งอื่นที่นอกเหนือไปจากพระพุทธรูป อันได้แก่ เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท เช่นที่ พระมณฑปพระพุทธบาท จ.สระบุรี ค้นพบในสมัยอยุธยา มณฑปที่ประดิษฐานพระไตรปิฎก ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพฯ และมณฑปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ในวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าของพระ-อุโบสถ ภายในมณฑปเป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์ทองศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้

ความหมายในทางสถาปัตยกรรมไทย เมื่อกล่าวถึงอาคารที่เป็นเรือนยอดหรือมีเครื่องยอดเป็นเรือนชั้นสูง เช่นเดียวกับการซ้อนชั้นของเครื่องยอดของมณฑปเหล่านี้ ล้วนมีความหมายสะท้อนถึงฐานันดร เป็นอาคาร ที่มีฐานานุศักดิ์สูงสุด จึงใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป รอยพระพุทธบาท และพระไตรปิฎก และเมื่อนำทรงยอดมณฑปนี้ไปเป็นองค์ประกอบกับอาคารอื่นก็มีเฉพาะแต่พระราชวังเท่านั้น เช่น พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งไอศวรรค์ทิพยอาสน์ (บางปะอิน) ซึ่งเป็นยอดบุษบก เป็นต้น

เอกสารอ่านประกอบ
กรมศิลปากร. วัดหลวงสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรม, ๒๕๔๐.
สมคิด จิระทัศนกุล. รูปแบบพระอุโบสถและ พระวิหารในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๔๗.
...........................วัด : พุทธศาสนสถาปัตยกรรมไทย.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๔.

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 89 เม.ย. 51 โดย นฤมล สารากรบริรักษ์)



กำลังโหลดความคิดเห็น