xs
xsm
sm
md
lg

ลำดวน ดอกไม้นี้มีความหมาย ดอกไม้สัญลักษณ์ผู้สูงอายุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลำดวน มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Melodorum fruticosum Lour. อยู่ในวงศ์Annonaceae ภาคเหนือเรียกว่า หอมนวล มีถิ่นกำเนิดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ สูงราว 3-15 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกสีน้ำตาล เรียบหรือแตกเป็นสะเก็ด แตกกิ่งก้านสาขาตามลำต้น ใบออกเรียงสลับ เป็นใบเดี่ยว รูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบมนขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยงเป็นมันสีเขียวเข้ม ส่วนใต้ใบสีจะอ่อนกว่า ดอกเป็นดอกเดี่ยว สีเหลืองนวลมีกลิ่นหอม ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง กลีบดอกและกลีบรองดอกมีลักษณะคล้ายกัน มีความหนาและแข็ง ดอกหนึ่งมี 6 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบชั้นในจะมีขนาดเล็กกว่าและโค้งกว่า ปลายกลีบแหลม เริ่มออกดอกราวเดือนธันวาคม - มีนาคม ส่วนผลมีสีเขียวอ่อน กลมเล็ก ผิวเรียบเกลี้ยง ภายในมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด ออกรวมกันเป็นกลุ่ม เมื่อสุกสีดำ รสหวานอมเปรี้ยว สรรพคุณทางพืชสมุนไพรนั้น เปลือก ใช้แก้ไข้ ดับพิษร้อนในร่างกาย ดอก แก้ไข้ แก้ลมวิงเวียน เป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต เกสร ผสมเป็นยาบำรุงเลือด บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ และแก้ลม

ปัจจุบัน ลำดวนเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดศรีสะเกษ
รัฐบาลในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ และปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นจึงได้มีมติเมื่อ ปี 2525ให้วันที 13 เมษายน ของทุกปี เป็น ‘วันผู้สูงอายุแห่งชาติ’ และได้เลือก ‘ดอกลำดวน’ เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ สำหรับสาเหตุที่เลือกดอกลำดวน เนื่องจากลำดวนเป็นพืชยืนต้นที่มีอยู่มากในสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นต้นไม้ที่ให้ความร่มเย็น มีอายุยืน มีใบเขียวตลอดปี ให้ร่มเงาดีและดอกมีสีนวล กลิ่นหอม กลีบแข็งไม่ร่วงง่าย เหมือนกับผู้ทรงวัยวุฒิที่ คงคุณธรรมความดีงามไว้ให้เป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานตลอดไป นอกจากนั้นทางด้านพฤกษศาสตร์

ต้นไม้นี้ยังใช้เป็นยาบำรุงหัวใจได้อีกด้วย ประการสำคัญ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงดำริให้จัดสวนนี้ขึ้น เพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้สูงอายุ

นับวันประเทศไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ด้วยอายุขัยโดยเฉลี่ยของประชากรนั้นยืนยาวขึ้น อันเนื่องมาจากระบบการดูแลและพัฒนาการทางการสาธารณสุขที่เจริญก้าวหน้าไป ตามการพัฒนาของประเทศ

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประมาณการสถิติ จำนวนประชากรทั้งประเทศของไทย ปี 2551 ว่า มีจำนวน 63,121,000 คน โดยในจำนวนนี้เป็นประชากรสูงอายุวัยต้น (60-79 ปี) 6,172,000 คน วัยปลาย (80-99 ปี) 648,000 คน และศตวรรษิกชน (100 ปีขึ้นไป) 4,000 คน รวมประชากรสูงอายุทั้งหมด 6,824,000 คน

ส่วนวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่าแนวโน้มในปีพ.ศ. 2553 ประชากรสูงอายุของประเทศไทยจะเพิ่มเป็น 7.6 ล้านคนหรือร้อยละ 11.4 ของประชากรทั้งหมด ทั้งนี้ประชากรสูงอายุเพศหญิงจะมีจำนวนที่สูงกว่าประชากรสูงอายุเพศชาย

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 89 เม.ย. 51 โดย เรณุกา)







กำลังโหลดความคิดเห็น