xs
xsm
sm
md
lg

‘มูลนิธิชีวิตพัฒนา’ ในพระอุปถัมภ์ ‘สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ’ สานฝันผู้สูงอายุ...ใช้ชีวิตอย่างสง่างาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วันที่ 13 เมษายน ของทุกปีถือเป็นวันสงกรานต์หรือ วันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีไทยโบราณ และปัจจุบันยังได้กำหนดให้วันนี้เป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” ด้วย แต่ทุกวันนี้ผู้คนส่วนใหญ่มักนึกถึงผู้สูงอายุเฉพาะวันสงกรานต์ เท่านั้น ทั้งๆที่มีผู้สูงอายุอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังเป็นบุคคลที่มีคุณค่าต่อสังคม ด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิที่ยังสามารถช่วยสังคมและครอบครัวได้

ด้วยการเล็งเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุว่ายังมีศักยภาพในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆกับสังคม พร้อมกับการดำรงชีวิตในบั้นปลายอย่างมีคุณภาพ มีสังคมที่ช่วยสร้างให้จิตใจผ่องแผ้วเบิกบาน จึงได้เกิด “มูลนิธิชีวิตพัฒนา” ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อช่วยเตรียม ความพร้อมให้ผู้ที่จะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือผู้สูงอายุทั้งหลายสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างสง่างามและมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ

• กว่าจะมาเป็นมูลนิธิชีวิตพัฒนา


บนพื้นที่กว่า 6 ไร่เศษ บนถนนบรมราชชนนี บริเวณใจกลางชุมชนเขตตลิ่งชัน กทม. ซึ่งร่มรื่นไปด้วยไม้ดอกไม้ประดับนานาพันธุ์ ต้นไม้ขนาดใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขา สร้างความร่มรื่นและสุขสงบให้กับผู้ที่เข้าเยี่ยมเยียนนิวาศน์สถาน อันสวยงามแห่งนี้ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “มูลนิธิชีวิตพัฒนา”

พลเรือตรีศาสตราจารย์นายแพทย์วิทุร แสงสิงแก้วรองประธานกรรมการมูลนิธิฯ เล่าถึงที่มาในการการตั้งมูลนิธิแห่งนี้ว่า เริ่มจากปี พ.ศ.2520 ซึ่งมีกลุ่มข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และแพทย์อาสาในหน่วยแพทย์หรือ พอ.สว. กลุ่มหนึ่งได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมวางแผนครอบครัวขึ้นมา เพื่อควบคุมปริมาณการเกิดของประชากร

จนเมื่อจำนวนการเกิดของประชากรเริ่มลดลง แต่กลับเกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาแทนที่ นั่นคือจำนวนผู้สูงอายุกลับเพิ่ม มากขึ้น เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์ที่สามารถช่วยชีวิตมนุษย์จากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เป็นการยืดอายุให้ยืนยาวขึ้น จึงกลายมาเป็นปัญหาผู้สูงอายุ เริ่มมีจำนวนมากกว่าคนหนุ่มสาวแล้ว

คณะกรรมการชุดเก่าได้ตระหนักถึงปัญหาทางสังคมของผู้สูงอายุที่จะตามมาจึงได้ผสานกำลังร่วมกันก่อตั้ง “มูลนิธิชีวิตพัฒนา” ขึ้นในวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2538 และได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์มูลนิธิเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2539

โดยตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์อยู่นั้น พระองค์จะเสด็จไปเยี่ยมชมการดำเนินงานของมูลนิธิรวมไปถึงทรงประทานคำชี้แนะเกี่ยวกับการดำเนินงานของมูลนิธิฯ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิของผู้สูงอายุแต่ละคนให้ได้ มีความสงบสุขทั้งกายและใจอยู่เสมอ

“พระองค์ทรงให้ความเมตตากับมูลนิธิเป็นอย่างมาก คณะกรรมการมูลนิธิจะต้องนำผลการดำเนินงานของมูลนิธิ ไปถวายรายงานท่านอยู่เป็นระยะ ทุกครั้งพระองค์มักจะทรง มีรับสั่งถามอยู่เสมอว่ามูลนิธิจะมีจุดกลางในการดำเนินการ อย่างไรบ้าง และถ้าในกิจกรรมใดที่ยังไม่ชัดเจนในเรื่องของการดำเนินงานพระองค์ก็จะทรงประทานคำแนะนำอยู่ เสมอ เพราะมีพระประสงค์ที่จะให้ผู้สูงอายุในบ้านเรามีคุณภาพชีวิตที่ดี เหมือนดั่งปณิธานของมูลนิธิที่ว่า ผู้สูงอายุ ทุกคนสามารถพัฒนาความสามารถของตัวเอง เพื่อทำให้เกิดความสงบสุขทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ตลอดจนเป็นประโยชน์ให้แก่สังคมได้” นายแพทย์วิทุรอธิบาย

ภารกิจหลักของมูลนิธิฯคือ สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของผู้สูงอายุ อันเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมสร้างสุขอนามัยและสุขภาพที่แข็งแรง เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้สูงอายุให้สามารถใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างสง่างามสมวัย โดยกิจกรรมทุกอย่างภายในมูลนิธินั้นเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุและประชาชนผู้สนใจทั่วไปเข้าไปใช้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่ประการใด

ปัจจุบันมูลนิธิฯแห่งนี้มีสมาชิกซึ่งเป็นคณะกรรมการบริหารมูลนิธิ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทั้งหมดจำนวน 30 คน และผู้สูงอายุที่เข้ามาร่วมในโครงการเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมหนึ่งพันคน ถัวเฉลี่ยอายุของผู้ที่เข้ามาใช้บริการจะเริ่มตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป

นายแพทย์วิทุร กล่าวเพิ่มเติมว่าทางมูลนิธิฯ เปิดกว้างให้กับผู้สูงอายุทุกคนที่สนใจมาร่วมกิจกรรมได้ ที่สำคัญไม่ต้องเสียค่าสมาชิกหรือค่าบริการใดๆทั้งสิ้น

“ผู้ที่มาใช้บริการที่มูลนิธิโดยเฉพาะเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ ลำดับแรกจะต้องเกิดมาจากความรู้สึกที่อยากเข้ามาเสียก่อนไม่ใช่เข้ามาเพราะถูกใครบังคับ ที่สำคัญต้องเห็นความสำคัญในการดูแลสุขภาพ และเห็นคุณค่าในการใช้ชีวิตของผู้สูงวัย เพราะที่นี่จะเน้นกิจกรรมที่ส่งเสริมในเรื่อง สุขภาพและสุขอนามัยของผู้สูงอายุ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งกายและใจไปพร้อมๆกัน”

• ‘ธรรมานามัย’ คอร์สครองตนของผู้สูงวัยอย่างมีคุณค่า

ตลอดระยะกว่า 10 ปีในการดำเนินงานของมูลนิธิฯมีโครงการต่างๆ หลากหลายที่ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ต่อผู้สูงอายุทั้งทางร่างกาย และจิตใจแทบทั้งสิ้น โดยจัดกิจกรรม ขึ้นทุกเดือน อาทิ โครงการธรรมานามัย, โครงการเวชกรรม ไทยเกี่ยวกับผู้สูงอายุ, โครงการโภชนาการ ฯลฯ

แต่กิจกรรมที่ได้รับความสนใจจากผู้สูงอายุเข้าไปใช้บริการมากที่สุดนั้น นายแพทย์วิทุรบอกว่าคือโครงการธรรมานามัย ซึ่งเป็นโครงการที่จัดกลุ่มอบรมให้แก่ผู้สูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เข้าร่วมการฝึกอบรม โดยการให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติให้มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลง ทางร่างกายและจิตใจ ให้มีความพร้อมในการดำเนินกิจกรรม ในชีวิตประจำวัน โดยใช้หลักธรรมะมาผสมผสานกับการออกกำลังกาย

“โครงการนี้มีผู้สูงอายุสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่มีอายุอยู่ในวัย 50 เศษๆ เพราะวัยนี้ถือเป็นวัยที่กำลังก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุในอนาคต เพราะฉะนั้นเขา จึงต้องเตรียมความพร้อมในการเป็นผู้สูงอายุ ที่มีความสง่างามทั้งร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจในความสูงวัย แต่ก็มากไปด้วยประสบการณ์ และมีศักยภาพเพียงพอในการช่วยคนรอบข้างและสังคมต่อไปตามแต่กำลังและความสามารถที่มีอยู่” นายแพทย์วิทุร สาธยาย

สำหรับโครงการนี้จัดขึ้นทุกสองอาทิตย์ โดยแต่ละครั้งได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาบรรยายให้สมาชิกทุกคนฟังเพื่อนำไปเป็นแนวทางในการใช้ชีวิต ตลอดจนการ นำหลักธรรมะมาใช้ในการฝึกอบรมเพื่อให้ทุกคนละลายกิเลสออกจากตัวเองให้มากที่สุด และเตรียมพร้อมในการใช้ ชีวิตช่วงบั้นปลายอยู่กับลูกหลานอย่างมีความสุขสมบูรณ์

“กิจกรรมหลักๆ ส่วนใหญ่ก็คือพัฒนาทางด้านร่างกายและจิตใจให้ผู้สูงอายุมีความสมดุลกัน เริ่มที่การพัฒนาทาง ด้านร่างกาย เราเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการดูแลสุขภาพและโภชนาการ ตลอดจนการสาธิตการออกกำลังกายเพื่อบริหารร่างกายให้มีสุขภาพดี ส่วนทางด้านจิตใจเราได้เชิญวิทยากร หรือพระนักเทศน์มาให้ความรู้กับผู้สูงอายุ เพื่อทำจิตใจให้สงบโล่งสบาย ไม่ยึดติดกับม่านกิเลสที่มาก่อกวนจิตใจ เพราะเราเชื่อว่าทุกคนเมื่อเดินมาถึงจุดหนึ่งในชีวิตคือในช่วงปัจฉิมวัย อันเป็นช่วงเวลาที่เราไม่อยากได้อะไรติดตัวไปอีกแล้ว นอกจากความรักและความอบอุ่นจากลูกหลาน” นพ.วิทุร สรุปทิ้งท้าย

กิจกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ

ภายในมูลนิธิชีวิตพัฒนาในพระอุปถัมภ์ฯนั้นมีกิจกรรมหลากหลายที่เตรียมไว้เพื่อรองรับผู้สูงอายุทุกคนที่จะเข้ามาใช้บริการ ดังนี้

นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา เป็นนิทรรศการถาวรด้านพระกรณียกิจเกี่ยวกับงานสาธารณประโยชน์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ได้ทรงสนับสนุนงานด้านสาธารณประโยชน์ต่างๆ โดยได้จัดแสดงในห้องนิทรรศการของมูลนิธิประกอบไปด้วย พระราชประวัติ, ภาพถ่ายและข้อมูลส่วนพระองค์ในด้านปรัชญา, การศึกษา และอื่นๆ รวมทั้งหนังสืออ้างอิง และข้อมูลต่างๆ ของหน่วยงานที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ทั้ง 64 องค์กร

โครงการธรรมานามัย จัดขึ้นเพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ได้เข้าร่วมการฝึกอบรม โดยการให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติให้มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจโดยใช้หลักธรรมมะและหลักการออกกำลังกายมาผสานกัน ที่สำคัญผู้ที่ผ่านการอบรมแล้ว จะสามารถถ่ายทอดความรู้และนำไปเผยแพร่ให้กับผู้อื่นต่อไปได้

โครงการเวชกรรมไทยเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เป็นโครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล ครูแพทย์ทางเลือกและสมาคมการแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย ซึ่งจะเปิดให้บริการเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและรักษาโรคผู้สูงอายุ และประชาชนทั่วไป โดยใช้วิชาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก เช่นการบำบัดรักษาด้วยการนวดแผนไทย เป็นต้น

โครงการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ จัดขึ้นมาเพื่อให้ชมรมต่างๆ ได้เข้ามาใช้บริเวณสวนสุขภาพของมูลนิธิ ในการออกกำลังกายเพื่อการพัฒนาร่างกายและจิตใจ เช่น ชมรมเดินออกกำลังกาย, ชมรมการออกกำลังกายแบบไท่เก็ก, ชมรมเปตอง เป็นต้น

โครงการโภชนาการ เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้รับความรู้ และโภชนาการที่มีประโยชน์ถูกต้องตามหลักวิชาการให้ได้รับอาหารครบทั้ง 5 หมู่ ในจำนวนและปริมาณที่เหมาะสม โดยมูลนิธิจะรับเป็นเจ้าภาพในการจัดหาอาหารคุณภาพดีไว้บริการให้กับผู้ที่มาเข้าร่วมรับการอบรม

โครงการศูนย์อบโดมทูมาลีนเพื่อสุขภาพ เป็นการดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาพแก่ผู้สูงอายุและบุคคลทั่วไป โดยวิธีการอบร่างกายด้วยทูมาลีนซึ่งมีส่วนช่วยให้ร่างกายสามารถขับของเสีย ลดไขมันส่วนเกิน ช่วยลดการอักเสบของกล้ามเนื้อและข้ออักเสบได้ ช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพแข็งแรง

โครงการเผยแพร่และอบรมความรู้ผู้สูงอายุ ซึ่งได้จัดทำหนังสือเผยแพร่ความรู้สารคดีและบันเทิงคดีแบบมีสารประโยชน์แก่สมาชิก และประชาชนทั่วไปเป็นประจำ เพื่อเผยแพร่กิจกรรม ของมูลนิธิฯ และโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนงานเกี่ยวการดูแลผู้สูงอายุให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

โครงการชมรมผู้สูงอายุผู้มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน เป็นโครงการที่จัดให้มีการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป โดยทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันเป็นประจำ เช่นชมรม การอ่านหนังสือ, ชมรมการฝีมือสิ่งประดิษฐ์, ชมรมอินเตอร์เน็ต, ชมรมการสอนเด็กและเยาวชนให้เป็นคนดีมีวัฒนธรรมไทยอันดีงาม, ชมรมการออกกำลังโดยใช้กิจกรรมเข้าจังหวะ ฯลฯ เป็นต้น

โครงการพัฒนาความรู้ด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ โดยจัดกลุ่มอบรมให้ความรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพเพื่อให้ผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงมูลนิธิชีวิตพัฒนาฯ ให้ได้รับความรู้และนำมาปฏิบัติตนให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง และสังคมโดยเชิญวิทยากรมาบรรยายให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับผู้สูงอายุและบุคคลที่สนใจทั่วไป เช่น บรรยายเรื่อง การดูแลด้านสุขภาพ, โภชนาการ, วัฒนธรรม เป็นต้น

โครงการผู้สูงอายุกับการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม สำหรับโครงการนี้ได้จัดให้มีการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรมและนิทรรศการต่างๆ เช่น ภาพวาด ภาพเขียน และมีการแสดงดนตรีเป็นประจำ ด้านการแสดงทางด้านศิลปะนั้นได้จัดนิทรรศการภาพวาดต่างๆ โดยมีศิลปินผู้มีชื่อเสียง ศิลปินแห่งชาติ ตลอดจนผู้สูงอายุในระดับมืออาชีพ และมือสมัครเล่น มาจัดแสดงภาพ

โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อสุขภาพ จัดทำขึ้นเพื่อทำให้บริเวณภายในมูลนิธิฯ ให้เป็นที่ร่มเย็น สวยงาม มีต้นไม้ ดอกไม้ไว้ให้ศึกษาโดยติดป้ายชื่อพันธุ์ไม้ที่มีทั้งชื่อภาษาไทย ภาษาอังกฤษและ ชื่อทางวิทยาศาสตร์ไว้ด้วย และทำทางเดินเสมือนว่ากำลังเดินในป่าในและในสวน มีสถานที่ออกกำลังกายให้กับชมรมต่างๆ ตลอดจนเป็นสถานที่ให้สมาชิกได้ใช้ในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ตามที่ถนัดและเป็นประโยชน์ร่วมกัน

โครงการศูนย์ต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ จัดทำในลักษณะของศูนย์บริการผู้สูงอายุซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุที่มาใช้บริการ และอาสาสมัครทำงานให้แก่ศูนย์ฯ มีกำลังกายและกำลังใจทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม มีสุขภาพดีจากช่วงอายุหนึ่งไปสู่อีกช่วงอายุหนึ่งต่อไป

โครงการผู้สูงอายุที่สมควรได้รับการยกย่อง โครงการนี้จัดทำขึ้นเพื่อยกย่องให้เกียรติแก่ผู้สูงอายุทั้งชายและหญิงที่มีสุขภาพ แข็งแรงและปฏิบัติงานช่วยเหลือสังคม เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้สูงอายุคนอื่นต่อไป ซึ่งทุกปีจะมีการคัดเลือกผู้สูงอายุแบบอย่างและขอพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ องค์อุปถัมภ์ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับผู้สูงอายุที่ได้รับรางวัลให้มีแรงใจในการทำประโยชน์ต่อผู้อื่นต่อไป

โครงการศูนย์ข้อมูลข่าวสารผู้สูงอายุ ให้บริการข้อมูลในรูปของเวปไซต์ ให้เข้าไปชมและศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ มีคำตอบให้สำหรับทุกข้อข้องใจของผู้สูงอายุในด้านต่างๆ อย่างครบครัน

โครงการสงเคราะห์ผู้สูงอายุที่ยากจน เพื่อศึกษาและสำรวจการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ ในชุมชนที่ขาดแคลนและปราศจากผู้ดูแล โดยทางมูลนิธิจะเข้าไปช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น โครงการอบรมเยาวชนให้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือผู้สูงอายุ รวมทั้งการรับบริจาคสิ่งของจากบุคคลทั่วไป เพื่อนำไปมอบแก่ผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างดีพอ

โครงการวิจัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุแบบบูรณาการผ่านองค์กรชุมชน เพื่อสนับสนุนโครงการของมูลนิธิฯ ในทุกโครงการ ในรูปของการวิจัยและพัฒนา เพื่อขยายผลลงไปสู่ชุมชนต่างๆ ให้กว้างขวางทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มมีการพัฒนารูปแบขึ้นในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและกาญจนบุรี

ทั้งนี้ทางมูลนิธิฯ เปิดให้ผู้สูงอายุและประชาชนทั่วไปเข้าใช้ บริการตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น.ของทุกวัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.0-2448-6563, 0-2448-6461, 0-2448-6050, 0-2448-6942

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 89 เม.ย. 51 โดย ศศิวิมล แถวเพชร)





กำลังโหลดความคิดเห็น