“นพ.ชาตรี” ขอลาออกจากราชการ มีผล 2 เม.ย.นี้ ลั่นหมดความอดทนรับราชการเหตุถูกโจมตี พัวพันการเมือง ทุจริตคอม 900 ล้านบาท ถูกตั้งกรรมการสอบวินับร้ายแรงถึง 2 ครั้ง ขณะที่ “ไชยา” อนุมัติไม่ขัดข้อง เตรียมคว้านหาหมอคนใหม่รับตำแหน่งเลขาธิการอย. ไม่เอา “หมอศิริวัฒน์” กลับมา
เมื่อเวลา 16.00 น.วันนี้ (3 มี.ค.) นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวการลาออกจากราชการ ภายหลังถูกสั่งโยกย้ายไปเป็นเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) แทนนพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ถูกย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการว่า ก่อนการแถลงข่าวตนได้เข้าชี้แจงถึงการลาออกในครั้งนี้กับนาย ไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ซึ่งท่านก็เห็นชอบในหลักการด้วยวาจาแล้ว ซึ่งต้องขอบคุณท่านรัฐมนตรี ที่มอบความไว้วางใจให้เป็นเลขาธิการอย. ที่เป็นตำแหน่งสำคัญในสายตาประชาชน ซึ่งตนได้รับทราบเรื่องการแต่งตั้งหลังจากที่มีมติครม. ออกมาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
นพ.ชาตรี กล่าวต่อว่า ตลอดชีวิตราชการตั้งแต่เป็นศัลยแพทย์โรงพยาบาลราชวิถี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี รองอธิบดีกรมการแพทย์ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และอธิบดีกรมการแพทย์ ได้ปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อุทิศตนให้ราชการและตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ ในทุกตำแหน่งที่ได้รับมอบหมายด้วย เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเป็นสำคัญ
“เกียรติยศชื่อเสียงจากผลสัมฤทธิ์ของงานและความภาคภูมิใจที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนคืองานที่ปรารถนาและเป้าหมายของชีวิตราชการไม่ใช่การกำรงตำแหน่งหรือผลประโยชน์ใด” นพ.ชาตรีกล่าว
นพ.ชาตรี กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องโครงการประมูลจัดซื้อและติดตั้งคอมพิวเตอร์ 900 ล้านบาท ซึ่งในที่สุดแล้วไม่ได้มีการจัดซื้อและได้ยกเลิก โดยการคืนงบประมาณให้กับกระทรวงการคลังไปแล้ว เป็นสิ่งที่เจ็บปวดที่สุดในชีวิตข้าราชการ เป็นโชคร้ายในชีวิตข้าราชการคนหนึ่งที่ต้องประสบอย่างที่ตนเองไม่ได้ก่อ เมื่อจำเป็นต้องตัดสินใจ ผมเชื่อมั่นในตนเองว่า ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อราชการด้วยความเที่ยงธรรม มิได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เมื่อถูกตั้งคระกรรมการสอบวินัยอย่างร้ายแรง ซ้ำถึง 2 ครั้ง ในเรื่องเดียวกัน ผมได้ทนต่อสู้ ชี้แจงความจริง จนขณะนี้ถือว่า เรื่องในกระทรวงสาธารณสุข ยุติลงแล้ว
“เมื่อได้รับมอบหมายให้เป็นเลขาธิการอย. ผมเชื่อมั่นในความรู้ความสามารถ ความซื่อสัตย์ สุจริตของผมว่าจะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่ข้อกล่าวหาเรื่องเก่าๆ ที่เกี่ยวพันกับทางการเมือง โดยปราศจากความจริง ความเป็นธรรม ทำให้หมดความอดทนที่จะรับราชการอีกต่อไป และคิดว่าตลอดชีวิตที่ได้อุทิศให้กับราชการ มาจนอายุ 58 ปี ถือว่าเพียงพอ แม้จะเหลืออายุราชการอีกจนถึงปี ก็ตาม จึงขอยืนใบลาออกจากราการตั้งแต่วันที่ 2 เมษา 2551 เป็นต้นไป” นพ.ชาตรีกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังออกจากราชการแล้วสนใจจะลงเล่นการเมืองหรือไม่ นพ.ชาตรีกล่าวว่า ไม่เคยคิดเรื่องเล่นการเมือง วันนี้มีความสุขสบายใจ ส่วนงานหลังจากนี้ก็คงจะไปทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน หรือไม่ก็ไปเป็นโปรกอล์ฟ หรือซีเนียร์กอล์ฟ ส่วนการลาออกในครั้งนี้ตัดสินใจด้วยความรอบคอบ ไม่ได้มีอารมณ์ ไม่มีความน้อยใจหรือกดดันอะไร และไม่เคยคิดว่าจะเป็นเหยื่อของระบบราชการด้วย
“เรื่องทุกอย่างจบลงแล้วไม่มีอะไร ไม่มีผลประโยชน์ ไม่มีเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจ และขออโหสิกรรมให้กับทุกคน” นพ.ชาตรีกล่าว
ข้อชี้แจงการขอลาออกจากราชการ ของ นพ.ชาตรี บานชื่น
1.ขอบคุณท่านรัฐมนตรี ที่มอบความไว้วางใจให้เป็นเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่เป็นตำแหน่งสำคัญในสายตาประชาชน
2.ได้รับทราบหลังมติครม.แล้ว เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2551
3 ตลอดชีวิตราชการตั้งแต่เป็นศัลยแพทย์โรงพยาบาลราชวิถี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี รองอธิบดีกรมการแพทย์ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และอธิบดีกรมการแพทย์ ได้ปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อุทิศตนให้ราชการและตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ ในทุกตำแหน่งที่ได้รับมอบหมายด้วย เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเป็นสำคัญ
4 เกียรติยศชื่อเสียงจากผลสัมฤทธิ์ของงานและความภาคภูมิใจที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนคืองานที่ปรารถนาและเป้าหมายของชีวิตราชการไม่ใช่การกำรงตำแหน่งหรือผลประโยชน์ใด
5 เรื่องคอมพิวเตอร์ 900 ล้านบาท ซึ่งในที่สุดแล้วไม่ได้มีการจัดซื้อและกระทรวงได้ยกเลิกโดยการคืนงบประมาณให้กับกระทรวงการคลังไปแล้ว เป็นสิ่งที่เจ็บปวดที่สุดในชีวิตข้าราชการของผม เป็นโชคร้ายในชีวิตข้าราชการคนหนึ่งที่ต้องประสบอย่างที่ตนเองไม่ได้ก่อ เมื่อจำเป็นต้องตัดสินใจ ผมเชื่อมั่นในตนเองว่า ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อราชการด้วยความเที่ยงธรรม มิได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เมื่อถูกตั้งคระกรรมการสอบวินัยอย่างร้ายแรง ซ้ำถึง 2 ครั้ง ในเรื่องเดียวกัน ผมได้ทนต่อสู้ ชี้แจงความจริง จนขณะนี้ถือว่า เรื่องในกระทรวงสาธารณสุข ยุติลงแล้ว
6 เมื่อได้รับมอบหมายให้เป็นเลขาธิการอย.นั้น ตนเชื่อมั่นในความรู้ความสามารถ ความซื่อสัตย์ สุจริตของตนว่าจะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่ข้อกล่าวหาเรื่องเก่าๆ ที่เกี่ยวพันกับทางการเมือง โดยปราศจากความจริง ความเป็นธรรม ทำให้หมดความอดทนที่จะรับราชการอีกต่อไป และคิดว่าตลอดชีวิตที่ได้อุทิศให้กับราชการ มาจนอายุ 58 ปี ถือว่าเพียงพอ แม้จะเหลืออายุราชการอีกจนถึงปี 2553 ก็ตาม
7 จึงขอยืนใบลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 2 เมษา 2551 เป็นต้นไป
ประวัตินพ.ชาตรี บานชื่น
ประวัติการศึกษา
2515 วทบ. , พบ. คณะแพทยศาสตร์ ศิริราช
2519 วุฒิบัตรศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราช
2523 FRCS Edinburgh ประเทศอังกฤษ
2533 Mini MBA in Health คณะแพทยศาสตร์ จุฬา ฯ
2535 การบริหารโรงพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี
2538 นักบริหารสาธารณสุขระดับสูง กระทรวงสาธารณสุข
2541 นักบริหารระดับสูง สำนักงานงาน กพ.
2543 ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง สำนักงานงาน กพ.
2547 หลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร ภาครัฐ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เอกชน และการเมือง ( วปม.)
ประวัติการปฏิบัติงาน
2519 ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี
2530 หัวหน้างานศัลยกรรมทั่วไป โรงพยาบาลราชวิถี
2536 หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลราชวิถี
2536 รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี
2537 รองผู้อำนวยการสถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์ – ม.รังสิต
2538 ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี
2540 รองอธิบดีกรมการแพทย์
2544 รักษาราชการที่ปรึกษาระดับกระทรวง ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข
2545 ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข
2547- ปัจจุบัน อธิบดีกรมการแพทย์
งานพิเศษและผลงาน
กรรมการแพทยสภา
อนุกรรมการจริธรรม ( แพทยสภา )
อนุกรรมการสอบสวน ( แพทยสภา )
กรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน ( สปสช. )
กรรมการการแพทย์ ( ประกันสังคม )
ประธานอนุกรรมการมาตรฐานสถานพยาบาลและระบบข้อมูลบริการทางการแพทย์(ประกันสังคม)
กรรมการบริหาร สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ประเทศไทย
กรรมการมูลนิธิชีวิตพัฒนาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
กรรมการแพทย์ กองทุนเงินทดแทน
กรรมการองค์การเภสัชกรรม
กรรมการฌาปนกิจสงเคราะห์กระทรวงสาธารณสุข
นายกสมาคมแพทย์อุบัติเหตุประเทศไทย
นายกสมาคมนักบริหารโรงพยาบาลแห่งประเทศไทย
ประธานกรรมการมูลนิธิ สถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์ – ม.รังสิต
รองประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์
กรรมการบริหารราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
กรรมการบริหารแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย
ศัลยแพทย์อาสา ในพระราชวโรกาสแปรพระราชฐาน ณ จังหวัดสกลนครและจังหวัดนราธิวาส
ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์–มหาวิทยาลัยรังสิต ปี พ.ศ. 2535
โรงพยาบาลดีเด่นอันดับ 1 ด้านบริการจากการแพทย์ ( ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ) ปี พ.ศ. 2538
โรงพยาบาลประกันสังคมยอดเยี่ยมอันดับ 1 จากกระทรวงแรงงานแลสวัสดิการสังคม ( ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ) ปี พ.ศ. 2539
บุคคลตัวอย่างด้านบริหาร – บริการทางการแพทย์มูลนิธิเพื่อสังคมไทย( ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ) ปี พ.ศ. 2539
โรงพยาบาลพัฒนาระบบบริการด่านหน้าดีเด่นของกระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2540
ผู้ประสานงานดำเนินการโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในเขตกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. 2544-45
ศิษย์เก่าดีเด่นคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ปี พ.ศ. 2547
อกพ.สำนักงานปลัดกระทรวง 1 สมัยโดยการเลือกตั้ง ปี พ.ศ. 2546
อกพ.กระทรวงสาธารณสุข 2 สมัยโดยการเลือกตั้ง ปี พ.ศ. 2547และปี พ.ศ. 2549