xs
xsm
sm
md
lg

พระบารมี"พระพี่นางฯ" ฟื้นชีวิตหุ่นละครเล็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงลองจับเชิดหุ่นละครเล็ก
หุ่นละครเล็ก ถือเป็นอีกหนึ่งศิลปะของชนชาติไทยที่เป็นเอกลักษณ์และสมบัติของชาติที่ควรอนุรักษ์รักษาไว้ แต่ทุกวันนี้น้อยคนนักที่จะรู้จักและเห็นคุณค่าของศิลปการแสดงหุ่นละครเล็ก ด้วยทรงเล็งเห็นคุณค่าคู่ควรแก่การอนุรักษ์และเผยแพร่หุ่นละครเล็ก สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงประทานพระกรุณาธิคุณรับเป็นองค์อุปถัมภ์ ทำให้หุ่นละครเล็กได้มีชีวิตสืบไป

แต่เดิม ครูสาคร ยังเขียวสด (โจหลุยส์) ศิลปินแห่งชาติ ปีพ.ศ.2539 สาขาศิลปการแสดงหุ่นละครเล็ก ได้ริเริ่มก่อตั้งโรงละครสำหรับจัดแสดงหุ่นละครเล็กขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ด้วยความตั้งใจที่จะอนุรักษ์และสืบสานศิลปการแสดงหุ่นละครเล็กไว้มิให้คงเหลือแต่เพียงศิลปะที่ไร้ชีวิตอยู่ภายในตู้จัดแสดง
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงรับมอบรางวัลชนะเลิศจากการประกวดหุ่นโลก
ด้วยเหตุนี้ พิสูตรและสุรินทร์ ยังเขียวสด บุตรชายของครูสาคร จึงได้สืบทอดเจตนารมณ์ของบิดาอันนับเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้ง "โรงละคร โจหลุยส์ เธียร์เตอร์" ขึ้นเป็นแห่งแรกที่จังหวัดนนทบุรี ในปี พ.ศ.2542 ก่อนจะย้ายมาตั้งอยู่ที่สวนลุมไนท์บาซาร์ในปี พ.ศ.2545

"เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตอนที่เราย้ายจากนนบุรีมาอยู่ที่สวนลุมไนท์บาซาร์ เรามาแบบลักษณะที่เป็นหุ้นส่วนกับทางโครงการ แต่เมื่อทางโครงการเปลี่ยนบอร์ดเราจึงกลายมาเป็นผู้เช่าแทน วันนั้นเราต้องมานั่งหาเงินเพื่อจ่ายค่าเช่าเดือนหนึ่งประมาณล้านกว่าบาท เราก็เกิดปัญหาขึ้นจนเกือบจะล่มสลายไป"

พิสูตร ยังเขียวสด รองประธานมูลนิธินาฏยศาลาหุ่นละครเล็ก เท้าความให้ฟัง ก่อนเล่าถึงพระกรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ด้วยน้ำเสียงและแววตาอันปลื้มปีติ ว่า

"แล้ววันหนึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ก็เสด็จมาทอดพระเนตร เนื่องมาจากครั้งแรกที่เจอ พวกเราไปเล่นถวายต่อหน้าพระที่นั่งที่ปรีดีพนมยง พระองค์ท่านก็ทรงสนพระทัยและลองจับหุ่นเชิดดู ผมจึงคิดว่าพระองค์ท่านน่าจะชมการแสดงแบบเต็มๆสักครั้งหนึ่ง ผมจึงได้ทำหนังสือกราบทูลเชิญมาทอดพระเนตร หลังจากทอดพระเนตรการแสดงของเราแล้วพระองค์ท่านทรงโปรด

"จากนั้นผมก็กราบทูลพระองค์ท่านเรื่องของปัญหาที่กำลังเผชิญ พระองค์ท่านก็รับทราบแล้วหาทางช่วยเหลือ หลังจากที่วันนั้นพระองค์ท่านเสด็จกลับ วันต่อมาก็มีผู้ใหญ่หลายๆท่านมาให้การช่วยเหลือ ด้วยพระบารมีของพระองค์ท่านในครั้งนั้นทำให้หุ่นละครเล็กกลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง"

และในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2547 โรงละคร โจหลุยส์ เธียร์เตอร์ ก็ได้รับพระกรุณาธิคุณอีกครั้ง โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้พระราชทานชื่อโรงละครให้ใหม่ว่า "นาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก" เพื่อให้ให้เหมาะสมกับงานศิลปะที่เปรียบเสมือนสมบัติของชาติ และได้เสด็จมาเป็นประธานในพิธีเปิดป้ายชื่อเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2547 ซึ่งโรงละครแห่งนี้นับเป็นโรงละครที่เปิดแสดงหุ่นละครเล็กแห่งแรกในประเทศไทย
พิสูตร ยังเขียวสด กับพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ชิ้นสุดท้ายที่พระราชทาน
จากพระกรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ตั้งแต่ครั้งแรกนั้น ทำให้การเสดงหุ่นละครเล็กได้ไปปรากฏในเวทีโลก ซึ่งพิสูตรเล่าว่า "เวลาเราทำงานเราจะกราบทูลให้พระองค์ท่านทราบว่าเราทำอะไร และเมื่อเราจะไปร่วมประกวดหุ่นโลกเราก็กราบทูลพระองค์ พระองค์ท่านรับทราบแล้วก็บอกกับพวกเราว่าไปเอารางวัลกลับมา และหลังจากการประกวดหุ่นโลก หรืองาน WORD FESTIVAL OF PUPPET ART 2006 ที่จัดขึ้น ณ กรุงปราก สาธารณรัฐเชค เราก็ได้รับรางวัลชนะเลิศการแสดงทางวัฒนธรรมยอดเยี่ยม THE BEST TRADITIONAL PERPORMANCE กลับมาเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2549

"หลังจากกลับมาวันนั้นพระองค์ท่านก็เสด็จมาทอดพระเนตร แล้วทรงบอกกับพวกเราว่าการได้แชมป์โลกไม่ยากเท่ากับการรักษาวัฒนธรรมให้คงอยู่ รักษามาตรฐานให้ได้ อย่าทะนงตัวว่าได้แชมป์โลกไปแล้วจะเก่งกล้าสามารถยืนบนอากาศได้ ต้องพัฒนาและอนุรักษ์ไว้ให้ได้"

นอกจากนั้น ด้วยความมุ่งหวังที่จะให้หุ่นละครเล็ก ได้คงอยู่เป็นมรดกของชาติไทยสืบต่อไป สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และโรงละครนาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก จึงได้ร่วมกันสนับสนุนการก่อตั้งมูลนิธินาฏยศาลา หุ่นละครเล็กขึ้น และได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ เพื่อให้มูลนิธิฯ ได้ดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์หุ่นละครเล็กสืบต่อไป

"ที่ทราบมาก็คือ เราเป็นกลุ่มสุดท้ายที่พระองค์ท่านรับอุปถัมภ์แล้วจัดตั้งเป็นมูลนิธิ ก็คือ"มูลนิธินาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางฯ" ซึ่งเหมือนกับน้องใหม่กำลังกระเตาะกระแตะอยู่ทำให้พระองค์ท่านทรงเป็นห่วง สิ่งที่เราต้องทำต่อไปอย่างหนึ่งคือ สิ่งที่พระองค์ท่านทรงห่วง คือเรื่องของโรงละครใหม่กับการแสดงที่มันจะต้องคงอยู่ต่อไป เราจึงต้องนำพระราชดำรัสมาทำให้ได้พยายามทำทุกอย่างให้ทำให้ได้ คิดว่าต่อแต่นี้ไปไม่มีพระองค์ท่านเหมือนเราขาดร่มโพธิ์ร่มไทร ขวัญกำลังใจเราแกว่ง แต่ในเมื่อพระองค์ท่านมีเจตนารมณ์ที่จะอนุรักษ์เหมือนที่พวกเราอยากทำ เราก็จะสู้ให้เต็มที่เต็มตัวไม่ยอมถอย"
ศุภมาศ คารวะพระพุทธ นักแสดง ใต้รูปสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯขณะทรงทอดพระเนตรการแสดงหุ่นละครเล็ก
พิสูตรกล่าวพร้อมเล่าต่อว่า พระองค์ท่านเสด็จมาดูการแสดงหุ่นละครเล็กของเราทั้งสิ้น 4 ครั้ง ตั้งแต่ก่อนที่จะรับเป็นองค์อุปถัมภ์ เรื่องแรก ที่พระองค์ท่านทอดพระเนตรคือเรื่องรามเกียรติ์ ตอน "ศึกไมยราพ" เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2547 เรื่องที่สองคือเรื่องรามเกียรติ์ ตอน "กำเนิดทศกัณฐ์" เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2547 เรื่องที่สามคือเรื่อง "โหมโรง" เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2548 และเรื่องสุดท้ายที่พระองค์ท่านทอดพระเนตรเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2549 คือเรื่อง "กูรมาวตาร ตำนานพระราหู" ที่ได้รับรางวัลแชมป์โลกในการประกวดหุ่นนานาชาติ2006 ณ กรุงปราก

ส่วนเรื่องล่าสุดเราทำเรื่อง "กำเนิดพระคเณศ" คิดว่าจะแสดงให้ท่านทอดพระเนตรเป็นครั้งแรกเหมือนที่เคยทำ โดยเราได้ทำหนังสือเข้าไปแล้ว แต่พระองค์ท่านทรงประชวรจึงยังไม่ได้เปิดการแสดง แต่เราคิดว่าอยากจะทำการแสดงชุดนี้เพื่อเชิดชูเกียรติพระองค์ท่านพร้อมทั้งจัดเป็นนิทรรศการ ผมอยากให้คนมาดูอยากให้มาบริจาค ซึ่งรายได้ทั้งหมดจะถวายให้มูลนิธิทั้งหมดของพระองค์ท่านเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์กับที่พระองค์ท่านได้วางไว้กับสังคม ช่วยเหลือสังคม

"เมื่อพระองค์ท่านทอดพระเนตรแล้ว ก็จะทรงให้คำแนะนำในการแสดง ว่าตรงนั้นสมบูรณ์แล้วนะ ตรงนี้ดีแล้วนะ แล้วก็แนะนำว่าควรจะไปช่องทางไหนอย่างไรบ้าง หรือเป็นคำที่ว่าอดทนนะ พยายามรักษาให้ดี พัฒนาให้ยิ่งขึ้นไป อย่าทะนงตัว อย่าท้อแท้ สิ่งนี้ที่พวกเรารู้สึกประทับใจมาก ปกติเราจะไม่ค่อยได้ยินคำแบบนี้จากพระองค์ท่านบ่อยๆ ถือว่าพวกเราโชคดีมาก" พิสูตรเล่า

ด้าน ศุภมาศ คารวะพระพุทธ นักแสดงหญิง อายุ 27 ปี ที่คลุกคลีทำงานตรงนี้มานานถึง 7 ปี ได้เล่าว่า ตนได้ร่วมแสดงในทุกๆครั้งที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เสด็จมาทอดพระเนตร และรู้สึกภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างมาก พร้อมทั้งบอกความรู้สึกและความประทับใจเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เสด็จมาทอดพระเนตรการแสดงว่า

"ในครั้งแรกที่รู้ว่าพระองค์ท่านจะเสด็จมาทอดพระเนตรการแสดงนั้น ในตอนแรกก็ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นอะไรมากนัก แต่เมื่อถึงเวลาแสดงจริงๆจะรู้สึกตื่นเต้นขึ้นมาทันที ตื่นเต้นมากกว่าที่แสดงให้คนทั่วไปชม แต่เราต้องรวบรวมสมาธิ เพราะต้องใช้ทั้งสามคนเชิด ถ้าเราขาดสมาธิสักคนหนึ่งการแสดงก็ไม่สมบูรณ์ พอเรามองไปที่พระพักตร์ท่านจะมีรัศมีแล้วก็จะทรงยิ้มตลอด ทอดพระเนตรด้วยความตั้งใจ
หุ่นละครเล็ก หนึ่งในศิลปะการแสดงอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย
"และหลังจากพระองค์ท่านทอดพระเนตรการแสดงแล้ว พระองค์ท่านจะเดินมาตรงหน้าพวกเรานักแสดงแล้วบอกว่าแสดงเก่งมาก จะทรงกล่าวชมเสมอ พร้อมทั้งทรงกล่าวว่าให้อนุรักษ์ศิลปะตรงนี้ไว้ตลอดไม่ให้ทิ้ง พระองค์ท่านให้ความเป็นกันเองไม่ถือพระองค์ และจะทรงชี้แนะแต่พระองค์ท่านจะชี้แนะกับผู้บริหาร แล้วผู้บริหารก็จะมาแจ้งว่าเราต้องปรับปรุงหรือต้องพัฒนาอย่างไรบ้าง เช่นในรูปแบบของการแสดงให้มีการแสดงที่หลากหลาย ไม่ให้คนดูรู้สึกว่าเป็นการแสดงที่ซ้ำเดิม ต้องพัฒนาขึ้น"

นักแสดงหญิงยังกล่าวต่อว่า "พวกเรารู้สึกดีใจและซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณของพระองค์ท่านมาก และตั้งใจว่าจะทำงานตรงนี้ให้เต็มที่และดีที่สุด หลังจากที่พระองค์ท่านจากไปพวกเรารู้สึกหดหู่ และเสียกำลังใจ แต่พวกเราก็ต้องเข้มแข็งเพราะพวกเราต้องสานปณิธานของพระองค์ท่าน เราต้องทำมูลนิธิของพระองค์ท่านให้คงอยู่ได้นานที่สุด

"นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2550 ที่ผ่านมา พระองค์ท่านยังทรงพระราชทานพระฉายาลักษณ์ ซึ่งตอนนั้นท่านอยู่ที่โรงพยาบาลแล้ว คือเราทำเรื่องขอพระองค์ท่านไป คือเราคิดว่ารูปแบบของพระอุปถัมภ์นี้น่าจะสมบูรณ์ด้วยพระฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านด้วย พระองค์ท่านก็ทรงทราบแล้วพระราชทานมาให้ ซึ่งนับเป็นชิ้นสุดท้ายที่พระองค์ท่านได้พระราชทานให้"

พิสูตร เล่าเพิ่มเติมว่า สิ่งที่นาฏยศาลาหุ่นละครเล็กได้รับพระอุปถัมภ์และที่ได้ยืนอยู่ได้ทุกวันนี้ด้วยตนเอง ก็ด้วยพระบารมีปกเกล้าจากสมเด็จพระพี่นางฯ พระองค์ท่านเปรียบเหมือนหยาดฝนที่มาทำให้เราชุ่มฉ่ำ ซึ่งถือว่าเราเป็นคนไทยที่โชคดี ที่พระองค์ท่านยังเห็นความตั้งใจของพวกเราและโน้มตัวลงมาช่วยพวกเรา เรารู้สึกว่าในโลกนี้เราไม่สามารถเจอแบบนี้อีกแล้ว และทุกอย่างก็เกิดขึ้นหุ่นละครเล็กกลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง อยากให้สิ่งเหล่านี้ที่พระองค์ท่านได้เข้ามาดูแลได้คงอยู่คู่แผ่นดินไทยสืบไป

"ถึงแม้พระองค์ท่านจะสิ้นพระชนม์ไปแล้วแต่พระองค์ท่านยังอยู่ในใจพวกเราคนไทยทุกคนเสมอ ผมคิดว่าโชคดีที่เกิดมาเป็นคนไทยอยู่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทของท่าน ถ้าเกิดได้ใหม่ผมก็อยากเป็นประชาชนของพระองค์ท่านตลอดไป" พิสูตร กล่าวทิ้งท้ายด้วยเสียงสั่นเครือ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

"มูลนิธินาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์" ตั้งอยู่ที่ 1875 สวนลุมไนท์บาซาร์ ถนนพระราม4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ โทร.0-2252-9683-4

กำลังโหลดความคิดเห็น