xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก:

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไม่ว่าเราจะเริ่มต้นการปฏิบัติ
ด้วยการทำสมถะก่อน หรือด้วยการทำวิปัสสนาก่อน
ในที่สุดก็ต้องมีทั้งสมถะและวิปัสสนาจึงจะละสังโยชน์ได้

ครั้งที่ 97 บทที่ 8. ของฝาก
ตอน แก่นคำสอนของพระวัดป่า

ถาม ดิฉันทราบว่าหลวงพ่อเป็นลูกศิษย์ครูบาอาจารย์สายวัดป่า จริงไหมคะ

ตอบ จริง แต่ขอให้คุณเข้าใจให้ถูกต้อง เสียก่อนว่า อาตมาเป็นเพียงผู้ได้รับการอบรม สั่งสอนถึงวิธีการปฏิบัติธรรมจากพ่อแม่ครูอาจารย์สายวัดป่าบางรูปมาตั้งแต่สมัยที่เป็นฆราวาสเท่านั้น เริ่มต้นตั้งแต่หลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อพุธ หลวงปู่เทสก์ หลวงปู่สิม ท่านพระอาจารย์บุญจันทร์ และหลวงปู่สุวัจน์ เป็นต้น และครูบาอาจารย์ท่านคงพิจารณาเห็นว่าอาตมาเป็นพวกทิฏฐิจริต ท่านจึงสอนให้เริ่มต้นการปฏิบัติด้วยการดูจิตตนเอง โดยไม่ได้เน้นหนักเรื่องการทำสมาธิพิจารณา กาย ซึ่งจะแตกต่างจากพระธุดงคกรรมฐานส่วนใหญ่ ที่ท่านทำสมาธิและพิจารณากายกันก่อนแล้วค่อยมาดูจิตในภายหลัง นอกจากนี้อาตมาไม่ใช่พระป่าหรือพระฝ่ายอรัญวาสีเพราะไม่เคยอยู่ป่า แต่เป็นพระบ้านหรือพระฝ่ายคามวาสี และอาตมาไม่ใช่พระธุดงค กรรมฐานเพราะไม่ได้สมาทานธุดงควัตร เป็นแต่เพียงพระกรรมฐานธรรมดาๆ เท่านั้น นอกจากนี้ อาตมาก็ไม่ใช่พระฝ่ายปฏิบัติอย่างเดียว แต่ยังศึกษาพระปริยัติธรรมด้วย ดังนั้น ถ้าคุณต้องการทราบเรื่องราวของ พระป่าหรือพระธุดงคกรรมฐานให้ละเอียดลึกซึ้ง ก็คงต้องไปถามท่านที่เป็นพระป่าแท้ๆ เอาเอง

ถาม เป็นไปได้อย่างไรคะ ที่จะปฏิบัติธรรมโดยไม่เริ่มต้นจากการทำสมาธิก่อน

ตอบ ขอให้คุณอ่าน พระไตรปิฎกเล่ม 31 พระสุตตันตปิฎก ยุคนัทธวรรค ยุคนัทธกถา ในพระสูตรนี้ท่านพระอานนท์กล่าวถึง (1) การเจริญวิปัสสนาอันมีสมถะเป็นเบื้องต้น (2) การเจริญสมถะอันมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น (3) การเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป ท่านว่าทำให้เกิดมรรค ละสังโยชน์และอนุสัยได้ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะเริ่มต้นการปฏิบัติด้วยการทำสมถะก่อน หรือด้วยการทำวิปัสสนาก่อน ในที่สุดก็ต้องมีทั้งสมถะและวิปัสสนาจึงจะละสังโยชน์ได้

ถาม ทำไมครูบาอาจารย์จึงสอนให้หลวงพ่อ ดูจิตคะ

ตอบครูบาอาจารย์ที่อาตมาไปศึกษากับท่านนั้น ท่านสอนกรรมฐานตามจริตลูกศิษย์ อาตมาเป็นพวกทิฏฐิจริตคือพวกคิดมากซึ่งเหมาะกับการดูจิต อาตมาจึงได้กรรมฐานที่ต่างจากศิษย์สายวัดป่าส่วนใหญ่ที่ท่านเป็นตัณหาจริตซึ่งเหมาะกับการรู้กาย

ถาม ขอทราบแก่นคำสอนของวัดป่า อย่างสั้นๆ ด้วยค่ะ

ตอบแก่นคำสอนของวัดป่าประกอบด้วยการปฏิบัติ 3 ส่วนด้วยกัน คือ (1) ให้ทำความ สงบจิตเข้ามาก่อน โดยใช้อารมณ์กรรมฐานเช่น อานาปานสติ พุทธานุสติ และมรณานุสติ เป็นต้น จนจิตตั้งมั่นเป็นหนึ่งมีอารมณ์เป็นหนึ่ง (2) เมื่อจิตถอดถอนออกจากความ สงบแล้ว ท่านสอนให้เจริญกายคตาสติคือคิดพิจารณากายตามอาการ 32 ในเบื้องต้นอาจจะพิจารณาหยาบๆ ให้เห็นว่ากายแต่ละส่วนเป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ เมื่อสติปัญญาแก่กล้าขึ้นก็พิจารณากายแต่ละส่วนเป็นขันธ์ เป็นธาตุ จนกระทั่งเมื่อสติปัญญาแก่กล้าขึ้นไปอีกก็พิจารณากายแต่ละส่วนเป็นความว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนเป็นลำดับๆ ไป เมื่อพิจารณาไปพอสมควรแล้วก็ให้ทำความ สงบเข้ามาอีก เมื่อสงบแล้วก็ออกพิจารณาอีก ให้เข้าออกสลับกันไปอย่างนี้ อย่าให้จิตไปติด ความสงบเฉยหรือคิดพิจารณากายจนฟุ้งซ่าน เพราะหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตท่านสอนว่า 'ทำความสงบมากก็เนิ่นช้า คิดพิจารณามากก็ฟุ้งซ่าน' ให้พิจารณากายสลับกับการทำ ความสงบเรื่อยๆ ไป จนจิตใจได้รับความ สงบสุข หรือบางท่านจะเกิดปฏิภาคนิมิตของ กาย ก็อาศัยปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ กรรมฐานในขั้นละเอียดต่อไปจนจิตเข้าถึงความสงบแนบแน่น บางท่านสลายกายไปจนหมดแล้วก็เข้ามารู้จิตต่อไป และ (3) เมื่อหมดเวลาที่จะปฏิบัติอย่างเป็นพิธีการในแต่ละวันแล้ว ต่อจากนั้นไม่ว่าจะยืนเดินนั่งนอน ก็จะต้องมีสติรู้รูปยืนเดินนั่งนอน โดยความเป็นรูป เป็นธาตุ หรือเป็นความว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนอยู่เนืองๆ หรือมีสติรู้จิตใจตนเองเมื่อมีการกระทบอารมณ์ทางทวารทั้ง 6 อยู่เสมอ ในขั้นนี้เป็นการรู้สึกถึงสภาวะและเข้าใจถึงลักษณะของรูปนามตามความเป็นจริง ไม่ใช่การคิดพิจารณา อีกแล้ว เรื่องนี้หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ ท่านเคยเล่าว่า หลวงปู่มั่นสอนท่านว่า 'ถ้ารู้กายได้ก็ให้รู้กาย ถ้ารู้จิตได้ก็ให้รู้จิต และที่รู้กายก็เพื่อจะรู้จิตนั่นเอง' นอกจากนี้หลวงปู่มั่นยังเน้นว่า 'การเจริญสติในชีวิตประจำวัน นี่แหละเป็นหัวใจของการปฏิบัติธรรม' ซึ่งก็เป็นความจริงอย่างนั้นเพราะวิปัสสนาแท้ๆ เกิดที่ตรงนี้เอง

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/
จุดที่ควรระวังในการปฏิบัติ)

กำลังโหลดความคิดเห็น